การย้อมสีเส้นไหม

การย้อมสีเส้นไหม คือ กรรมวิธีทำให้ผ้าไหมมีสีต่าง ๆ โดยนำปอยหมี่ที่มัดหมี่เรียบร้อยแล้วไปย้อมสีในน้ำต้ม โดยสีย้อมไหมที่มีคุณภาพดี ถ้าหากต้องการให้ผ้าไหมมีหลาย ๆ สีเพิ่มขึ้น เมื่อย้อมหมี่ด้วยสีย้อมไหมเรียบร้อยแล้ว จะต้องนำไป “โอบหมี่” คือการใช้เชือกฟางเล็ก ๆ พันลำหมี่ตรงส่วนที่ยังไม่ถูกมัดหมี่ ตามแบบลายมัดหมี่ การโอบ (พัน) ต้องโอบ (พัน) ให้เชือกฟางแน่นที่สุดและหลาย ๆ รอบ นำหมี่ที่โอบหมี่เรียบร้อย แล้วไปล้างสีออกในน้ำเดือด (จะล้างออกเฉพาะบริเวณที่ไม่ถูกมัดหรือโอบเท่านั้น) โดยเติม “ด่างเหม็น” (ผงด่างที่มีกลิ่นเหม็น) หมี่ส่วนที่โอบหรือมัดไว้ จะคงสีตามเดิมส่วนที่ไม่ถูกโอบหรือมัดจะถูกล้างออกเป็นสีขาว นำไปย้อมเป็นสีอื่นอีกครั้งหนึ่งตามต้องการ บางสีเมื่อย้อมและนำไปโอบ (พัน) เรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องนำไปล้างออก ใช้สีอื่นย้อมทับลงไปเลยก็ได้ เช่น ย้อมสีฟ้าหรือสีน้ำเงินแล้ว ต้องการให้ผ้าไหมเป็นสีเขียว ต้องใช้สีเหลืองย้อมทับอีกทีหนึ่ง เป็นต้น

ปอยไหมมัดหมี่แล้ว พร้อมสำหรับการย้อมสี

การมัดหมี่ย้อมสีสังเคราะห์หรือสีเคมี

เริ่มต้นโดยการกำหนดสีของลวดลายที่ได้ออกแบบไว้ อย่างเช่น ลวดลายที่ออกแบบไว้จะประกอบด้วยสีทั้งหมดจำนวน 4 สี คือ สีเหลือง สีแดง สีขาว และสีน้ำตาลแดง ให้เริ่มทำการมัดเก็บส่วนของลวดลายที่เป็นสีขาวทั้งหมด จากนั้นนำไปย้อมสีเหลือง และทำการมัดเก็บสีเหลืองตามลวดลายที่ออกแบบไว้ ทำการย้อมทับสีเหลืองส่วนที่เปิดไว้ด้วยสีแดง ทำการมัดเก็บส่วนสีแดงที่ต้องการไว้ตามลวดลาย ส่วนสีแดงที่เหลือก็คือส่วนที่เป็นสีพื้นของผ้ามัดหมี่ จากนั้นให้นำหัวหมี่ไปต้มกับสารกันด่างเพื่อที่จะลดความเข้มของระดับสีแดงลง จากนั้นทำการย้อมสีเทาทับสีแดง ส่วนที่เป็นสีพื้นก็จะทำให้สีพื้นเป็นสีน้ำตาลแดง จากนั้นนำหัวหมี่ไปล้างน้ำสะอาดจนกระทั่งแน่ใจว่าน้ำสีออกหมดก็จะได้สีพื้นเป็นสีน้ำตาลแดง นำหัวหมี่ที่มัดลวดลายและย้อมครบทั้ง 4 สีตามกำหนดแล้ว ไปตากผึ่งให้แห้ง จากนั้นให้ทำการแกะเชือกฟางส่วนที่เหลือออกทั้งหมด พร้อมทั้งใช้มือทำการแยกเส้นไหมที่เกาะติดกันอันเนื่องมาจากการมัดและการย้อมสี ทำการกรอเส้นไหมเข้าหลอด พร้อมทั้งเรียงหลอดตามลำดับที่กรอไว้ นำหลอดเส้นไหมที่เตรียมไว้เรียบร้อยแล้วไปใส่ในกระสวยเพื่อทอต่อไป

แก้เชือกมัดหมี่ออกตามลาย แล้วย้อมทีละสี

ชาวบ้านสมพรรัตน์ เล่าว่า การติดสีของเส้นไหม ถ้าเส้นไหมไจเดียวกันมีเส้นไหมหลายขนาดทั้งเล็กและใหญ่ เส้นเล็กจะติดสีเข้มกว่าเส้นใหญ่ ไหมไจสุดท้ายส่วนใหญ่จะเส้นเล็ก เพราะสาวตอนใกล้จะเทหม้อแล้ว ฉะนั้นควรมีการคัดเลือกเส้นไหมก่อนนำเส้นไหมมาใช้ โดยการกวักเอาเฉพาะเส้นไหมให้มีขนาดเดียวกัน แบบนี้เมื่อนำไปย้อมจะย้อมติดสีสม่ำเสมอ นอกจากนั้นแล้วควรแช่เส้นไหมให้ชุ่มด้วยน้ำด่างหรือน้ำสะอาดก่อน จะช่วยให้ติดสีได้ดีและสม่ำเสมอขึ้น

ถ้าเส้นไหมแห้งเมื่อนำไปย้อม จะติดสีไม่สม่ำเสมอ เรียกว่า “สีด่าง “

การย้อมเส้นไหมด้วยสีธรรมชาติ

หากต้องการเส้นไหมหลายสี จะย้อมสีเข้มก่อน ความพิเศษของการย้อมสีเส้นไหมด้วยวัสดุธรรมชาติ คือ เมื่อเส้นไหมย้อมติดสีหรือกินสีอิ่มแล้ว จะไม่ติดสีอื่น นั่นคือ เมื่อเราย้อมหนึ่งสีได้ตามที่ต้องการแล้ว แก้มัดย้อมออก เพื่อย้อมสีต่อไปในส่วนต่อไปตามแบบที่วางไว้ สีที่ย้อมใหม่กับสีที่ย้อมเส้นไหมเดิมจะไม่กลืนหรือเลอะ หรือทำให้สีที่ย้อมก่อนเปลี่ยนสีไป การย้อมจึงไม่จะเป็นต้องโอบหรือมัดส่วนที่ย้อมไปแล้วไว้อีกจึงค่อยย้อมสีใหม่ ทำให้สามารถย้อมสีได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องกังวลว่าสีที่ย้อมไปแล้วจะเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเป็นสีเคมีถ้าต้องการย้อม 4 สี จะต้องทำการมัดหมี่หรือโอบหมี่อย่างน้อย 5 รอบ จึงจะได้สีตามที่ต้องการ

เส้นไหมย้อมเปลือกลูกมะพร้าวสด

นอกจากนั้นแล้วยังเล่าว่า การย้อมเส้นไหมใจหนึ่ง ๆ ทั้งสีธรรมชาติและสีเคมีนั้น ชาวบ้านจะไม่นิยมย้อมทำกัน เพราะสีย้อมจะไม่เข้ากัน เส้นไหมที่ย้อมแล้วจะเกิดรอยด่าง หรือสีเส้นไหมไม่สม่ำเสมอ หากเลี่ยงไม่ได้ เมื่อทำการย้อมสีธรรมชาติแล้ว อยากได้สีเคมีอีกจะต้องใช้วิธีแต้มสีที่เส้นไหมนั้น ๆ

เส้นไหมย้อมสีด้วยครั่ง

ชาวบ้านสมพรรัตน์ไม่ค่อยมีความเชื่อใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการย้อมสีไหม ยกเว้น การย้อมสีด้วยครั่ง จะมีความเชื่อว่า ในขณะที่ย้อมเส้นไหมนั้นจะห้ามไม่ให้คนท้อง หญิงมีประจำเดือน คนผมสองสี (ผมหงอก) เดินผ่าน และวันที่ย้อมต้องไม่ใช่วันพระ เพราะเส้นไหมจะย้อมไม่ติดสี หรือติดสีย้อมไม่ได้ ซึ่งมีชาวบ้านบางรายได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นจริง ฉะนั้น ในขณะที่ทำการย้อมเส้นไหมด้วยครั่ง ชาวบ้านจะทำในสถานที่เงียบ ๆ และห้ามบุคคลใดเดินผ่านหรือรบกวนโดยเด็ดขาด

อื่นๆ

เมนู