ข้าพเจ้านายสหรัฐ ศิลปการ ประเภทบัณฑิตจบใหม่ AG 02(2) ต.นาโพธิ์ อ.นาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์
หลักสูตร : AG02(2) โครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกร ยุค 4.0 และยกระดับมาตรฐานสินค้า OTOP โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมของชาวบุรีรัมย์ ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน เริ่มส่งเสริมอย่างจริงจังตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ มีการจัดตั้งสถานีเลี้ยงไหมปลูกหม่อนที่จังหวัดบุรีรัมย์ มีการเสด็จตรวจเยี่ยมไหมบุรีรัมย์ โดยกรมหมื่นพิชัยมหิตโรดม พระราชโอรส ลำดับที่ ๓๘ อธิบดีกรมช่างไหมคนแรก ที่ระหว่างทางที่เสด็จทรงแต่งเพลง “ลาวดำเนินเกวียน” ขึ้น ปัจจุบันเรียกว่า “เพลงลาวดวงเดือน” จึงเป็นเพลงที่มีตำนานเกี่ยวข้องกับไหมบุรีรัมย์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ก็ได้เสด็จตรวจเยี่ยมไหมที่หน่วยพุทไธสง และตั้งที่พักที่บริเวณที่ตั้งโรงเลี้ยงไหมพุทไธสง (บริเวณโรงพยาบาลพุทไธสงในปัจจุบัน) มีการตั้งโรงสาวไหมขึ้น ณ ที่ว่าการอำเภอและศาลาวัดในพื้นที่นาโพธิ์ พุทไธสง เพื่อสอนให้กุลบุตรกุลธิดารู้จักทำไหมครบวงจร และกรมช่างไหมได้ย้ายการทดลองเลี้ยงไหมจากกรุงเทพฯมาสมทบกับหน่วยเมืองพุทไธสง ทำให้ ไหมบุรีรัมย์มีชื่อเสียงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และในปี พ.ศ.๒๕๒๐ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้รับเอากลุ่มทอผ้าไหมนาโพธิ์เป็นสมาชิกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปชีพในพระองค์ ในปี ๒๕๔๒ มีการก่อสร้างศูนย์หัตกรรมพื้นบ้านอำเภอนาโพธิ์ เพื่อรองรับแผนงานด้านการพัฒนาอาชีพตามโครงการส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งที่อำเภอนาโพธิ์ ซึ่งทรงสด็จเยี่ยม จำนวน ๕ ครั้ง จึงยกระดับฝีมือทอผ้าชาวบุรีรัมย์ให้ดียิ่งขึ้นเป็นต้นมา

ไหมมีการเจริญเติบโตแบบสมบูรณ์
การทอผ้า
เครื่องมือสำหรับการทอผ้าไหม เรียกว่า กี่พื้นบ้าน
โครงหูก หรือโครงกี่ ประกอบด้วยเสา 4 ต้น มีรางหูก หรือรางกี่ 4 ด้าน ทั้งด้านบน และด้านล่าง เสาแต่ละด้านมีไม้ยึดติดกันเป็นแบบดั้งเดิม
ฟีม หรือ ฟันหวี มีฟันเป็นซี่ คล้ายหวี ใช้สำหรับสอดเส้นไหมยืน เพื่อจัดเส้นไหมให้อยู่ห่างกัน และใช้กระทบไหมเส้นพุ่งให้สานขัดกับไหมเส้นยืนที่อัดแน่นเป็นเนื้อผ้า
เขาหูก หรือตะกอ คือ เชือกทำด้วยด้ายไนลอน ที่ร้อยคล้องไหมยืน เพื่อแบ่งเส้นไหมเป็นหมวดหมู่ที่ต้องการ เมื่อยกหูก หรือตะกอขึ้น ก็จะดึงเส้นไหมยืนเปิดเป็นช่อง สามารถพุ่งกระสวยเข้าไปให้เส้นไหมพุ่งสานขัดกับเส้นไหมยืนได้ เวลาสอดเส้นไหมยืนต้องสอดสลับกันไปเส้นหนึ่งเว้นเส้นหนึ่ง และมีเชือกผูกเขาหูกแขวนไว้กับโครงกี่ด้านบนสามารถเลื่อนไปมาได้ ส่วนด้านล่างผูกเชือกติดกับคานเหยียบ เมื่อต้องการดึงแยกเส้นไหมให้เป็นช่องจะใช้เท้าเหยียบที่คานเหยียบทำให้เขาหูกเลื่อนขึ้น – ลง เกิดเป็นช่องสำหรับใส่เส้นไหมพุ่ง
กระสวย ใช้บรรจุหลอดเส้นไหมพุ่ง มีหลายแบบ อาจจะทำจากไม้ไผ่ ไม้เนื้อแข็ง หรือพลาสติกให้มีน้ำหนักพอประมาณจะได้ไม่พลิกเวลาพุ่งกระสวย มีความลื่น และไม่มีเสี้ยน ขนาดกว้างประมาณ 3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร เจาะรูตรงกลาง ทำปลายทั้งสองด้านให้งอนเล็กน้อย เพื่อให้ลอดผ่านเส้นไหมยืนได้ง่ายขึ้น