1. หน้าแรก
  2. คณะเทคโนโลยีการเกษตร
  3. AG01(1) - ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง
  4. บทความประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 กลุ่ม AG01(1) กิจกรรมอบรมการทำอาหารสัตว์ และกิจกรรมนักเล่าเรื่องท้องถิ่น ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

บทความประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 กลุ่ม AG01(1) กิจกรรมอบรมการทำอาหารสัตว์ และกิจกรรมนักเล่าเรื่องท้องถิ่น ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

บทความประจำเดือนพฤศจิกายน 2564

กิจกรรมอบรมการทำอาหารสัตว์

และกิจกรรมนักเล่าเรื่องท้องถิ่น

กลุ่ม AG01(1) ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

          ดิฉัน นางสาวกาญจนาภา เสตะจันทน์ ผู้ปฏิบัติงานประเภท ประชาชน ทำงานภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ระยะเวลาโครงการ 11  เดือน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ในเขตพื้นที่ตำบลตูมใหญ่  อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 19 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านกระทุ่ม บ้านกระทุ่มนอก บ้านกรูด บ้านโคกสำราญ บ้านแคนเจริญ บ้านตูมน้อย บ้านตูมใหญ่ บ้านทุ่งสว่าง บ้านโนนเจริญ บ้านปะคำดง บ้านปะคำสำโรง บ้านเมืองกับ บ้านสวายสอ บ้านหนองดุม บ้านหนองตาด บ้านหนองบัว บ้านหนองบัวพัฒนา บ้านหนองไผ่ดง และบ้านใหม่เจริญสุข ซึ่งได้รับมอบหมายในการปฏิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบในเดือนพฤศจิกายน

          กิจกรรมและแผนการดำเนินงานของโครงการ  AG01(1) .ตูมใหญ่ .คูเมือง .บุรีรัมย์

          อาจารย์ประจำหลักสูตรได้มีการจัดประชุมแบบออนไลน์ผ่านระบบ Google Meet เพื่อชี้แจงรายละเอียดแผนการปฏิบัติงานในเดือนพฤศจิกายน และชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการพัฒนานักสื่อสารสร้างสรรค์เล่าเรื่องท้องถิ่น และกิจกรรมการสร้างอาชีพใหม่ด้านการปศุสัตว์

          มีการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลกลุ่มเป้าหมายเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจในชุมชน เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาต่างๆที่พบเจอในสัตว์ ภายใต้กิจกรรมการสร้างอาชีพใหม่ด้านการปศุสัตว์

         มีการประสานงานกับรองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ เพื่อขอใช้สถานที่หอประชุมในการจัดกิจกรรมการอบรม

          เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ “กิจกรรมการพัฒนานักสื่อสารสร้างสรรค์เล่าเรื่องท้องถิ่น และกิจกรรมการสร้างอาชีพใหม่ด้านการปศุสัตว์ จำนวน 2 ครั้ง” และมีการคืนองค์ความรู้สื่อการท่องเที่ยว อาทิ แผ่นพับ โปสเตอร์ และวีดีโอการท่องเที่ยวของตำบลตูมใหญ่ ให้กับทางองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ เพื่อเป็นการนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาต่อไป

          อาจารย์ประจำหลักสูตรมีการจัดประชุมแบบออนไลน์ผ่านระบบ Google Meet เพื่อวางแผนการปฏิบัติงานในครั้งถัดไป และจัดทำบทความรายงานผลการปฏิบัติงานประจำเดือนพฤศจิกายน

          ในส่วนของการพัฒนาทักษะทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านดิจิทัล (Digital Literacy) ด้านภาษาอังกฤษ (Language Literacy) ด้านการเงิน (Financial Literacy) และด้านสังคม (Social Literacy) ดิฉันได้ทำการพัฒนาทักษะครบ 100 เปอร์เซ็นต์ และได้ทำการศึกษาทักษะด้าน TDGA เพิ่มเติมตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์กำหนดครบถ้วนสมบูรณ์

          กิจกรรมอบรมการทำอาหารสัตว์

          กิจกรรมอบรมการทำอาหารสัตว์ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ด้านการทำอาหารสัตว์แก่เกษตรกรที่เลี้ยงปศุสัตว์ เช่น โค กระบือ สุกร แพะ ไก่ เพื่อช่วยลดต้นทุนในการซื้ออาหารปศุสัตว์และยังเป็นการช่วยเพิ่มคุณค่าทางโภชนะให้แก่สัตว์แต่ละประเภท รวมไปถึงการให้ความรู้ที่มีความเกี่ยวข้องแก่เกษตรกรในด้านการเลี้ยงปศุสัตว์ เช่น การเปลี่ยนอาหารสัตว์ในช่วงเวลาที่สัตว์เริ่มเข้าสู่ช่วงผสมพันธุ์เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการติดลูก

          อาหารสัตว์เป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงสัตว์ โดยสามารถคิดเป็นต้นทุนถึงร้อยละ 70-80 ของต้นทุนทั้งหมด ในบางฤดูกาลเกษตรกรอาจประสบปัญหาด้านการขาดแคลนวัตถุดิบที่มีคุณภาพดี จึงมีการศึกษาวิจัยวัตถุดิบที่มีราคาถูกและมีคุณค่าทางโภชนะต่ำมาปรับปรุงเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยมีการปรับปรุงคุณค่าทางโภชนะด้วยกระบวนการหมักโดยใช้เชื้อจุลินทรีย์ เช่น แบคทีเรีย (bacteria) ยีสต์ (yeast) หรือรา (mold) ซึ่งเป็นเชื้อเริ่มต้น (starter) อาจเป็นเชื้อบริสุทธิ์ เชื้อผสมมาเปลี่ยนแปลงสารอินทรีย์ในวัตถุดิบอาหาร ทำให้เกิดเป็นสารต่างๆ เช่น กลิ่นเอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol) กรดอินทรีย์ (organic acid) คาร์บอนไดออกไซด์ การหมักสามารถเกิดได้ทั้งในสภาวะที่มีอากาศหรือไม่มีอากาศ ทำให้อาหารมีคุณค่าทางโภชนะสูงขึ้น และสามารถเก็บได้นานเพื่อใช้ในฤดูที่ขาดแคลนวัตถุดิบ จุลินทรีย์ที่นิยมใช้กันมาก คือ ยีสต์ขนมปัง โดยยีสต์จะมีคุณสมบัติในการเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์และแอลกอฮอล์ จากหลักการทำงานของยีสต์ที่ใส่ลงไปมีการใช้น้ำตาลในแป้ง และระหว่างที่มันกินอาหารก็จะหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปและคายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา

          การทำอาหารสัตว์สูตรการหมักปลายข้าวเม่าด้วยยีสต์ขนมปัง

          วัตถุดิบ

          – ปลายข้าว/รำ/กากมะพร้าว 5 กิโลกรัม

          – เบเกอร์ยีสต์ 0.125 กิโลกรัม

          – กากน้ำตาล 0.25 กิโลกรัม

          – น้ำตาลทรายแดง 0.25 กิโลกรัม

          – น้ำสะอาด 1.5 ลิตร

          – แอมโมเนียมซัลเฟต 0.45 กิโลกรัม

          วิธีการ

          1. เตรียมถัง 100 ลิตร ละลายกากน้ำตาลกับน้ำสะอาด 2.5 ลิตร คนให้เข้ากันประมาณ 10-15 นาที

          2. การขยายยีสต์ นำยีสต์เทลงในถังที่เตรียมไว้และคนให้เข้ากัน แล้วรอให้ยีสต์ขยายตัว อย่างน้อย 1 ชั่วโมง (อุณหภูมิ 26 องศาขึ้นไป) เมื่อยีสต์ขยายตัวจะเห็นฟองเต็มถัง

          3. เตรียมกระบะไว้ผสมวัตถุดิบ/เศษเหลือทางการเกษตรที่เตรียมไว้

          4. ตักวัตถุดิบ/เศษเหลือทางการเกษตรที่เตรียมไว้แล้วตักน้ำหมักเทใส่ให้ทั่วถึง หลังจากนั้นคลุกเคล้าและตักส่วนผสมใส่ถุงที่เตรียมไว้ ปิดถุงกากมะพร้าวสดไม่ให้อากาศเข้าได้ใช้เวลาในการหมัก 7-14 วัน

          หากเป็นอาหารที่ใช้เลี้ยงไก่พื้นเมืองควรเป็นอาหารที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เพราะไก่พื้นเมืองสามารถหากินเองได้ แต่หากเลี้ยงแบบกึ่งขังกึ่งปล่อย การจัดอาหารที่มีคุณภาพดีจะช่วยเพิ่มการเจริญเติบโต ไก่จะมีน้ำหนักดี สามารถจำหน่ายได้เร็ว ในที่นี้จะมุ่งใช้แหล่งอาหารโปรตีนจากทั้งพืชและสัตว์ ตลอดจนอาหารหมักรวมถึงการใช้สมุนไพรเสริมในอาหารด้วยดังนี้

          การใช้พืชเสริมโปรตีน

          ใช้พืชที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น เช่น ใบกระถิน ใบมะรุม สามารถนำมาตากแห้งและบดละเอียด ผสมในอาหารได้ถึงร้อยละ 4 และใบมะรุมสามารถใช้ได้ถึงร้อยละ 5-10 ส่วนใบมันสำปะหลัง สามารถใช้ผสมในอาหารได้ แต่ต้องนำมาตากแห้ง 2-3 แดด ก่อนใช้ เนื่องจากมีสารพิษไซยาไนด์ที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ โดยสามารถใช้ได้ร้อยละ 5

          การปรับปรุงเศษเหลือทางการเกษตรหรืออุตสาหกรรมเพื่อเป็นอาหารไก่พื้นเมือง

          1. การหมักหยวกกล้วยด้วยกากน้ำตาล ทำได้โดยการหั่นหยวกกล้วยเป็นชิ้นเล็กละเอียด นำกากน้ำตาลละลายน้ำเล็กน้อยมาผสมกับหยวกกล้วยที่หั่นไว้ หมักไว้ในถุงปิดสนิท 7 วัน สามารถนำออกมาเลี้ยงไก่ได้

          2. การหมักใบมันสำปะหลัง ทำได้โดยนำใบมันสำปะหลังมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ และอัดลงในถุงดำ ปิดปากถุงให้แน่น หมักไว้ 7-14 วัน สามารถนำออกมาให้ไก่กินได้

          3. กากมะพร้าวคั้นกะทิหมักร่วมกับยีสต์ขนมปัง เป็นการเพิ่มระดับโปรตีนในกากมะพร้าว สามารถทำได้ดังนี้

          – นำกากมะพร้าวมาตากแดด 2-3 วัน จนเหลือความชื้นประมาณร้อยละ 14-16 สำหรับกากมะพร้าวแห้ง ก่อนนำมาหมักให้ผสมกับน้ำในอัตราส่วน 1 ต่อ 4 กิโลกรัม ส่วนกากมะพร้าวสด สามารถหมักกับน้ำหมักยีสต์ที่เตรียมไว้ได้เลย

          – การทำน้ำหมักยีสต์ ทำโดยชั่งยีสต์ขนมปังสำเร็จรูป (baker yeast) ที่ประกอบด้วย Saccharomyces cerevisae 0.5 กิโลกรัม น้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม น้ำ 10 ลิตร ยูเรีย 4 กิโลกรัม และกากน้ำตาล 5 ลิตร ผสมเข้าด้วยกันให้เป็นเนื้อเดียวด้วยการใช้ไม้พายร่วมกับการใช้ปั้มออกซิเจนเป่าลมทิ้งไว้เป็นเวลา 1 ชั่วโมง

          – คลุกเคล้ากากมะพร้าวน้ำหนัก 100 กิโลกรัม กับน้ำหมักยีสต์ให้เข้ากันแล้วบรรจุกากมะพร้าวในถุงพลาสติกสีดำซ้อน 2 ชั้น เพื่อกันการรั่วซึม แล้วบีบไล่อากาศออกหรือใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดอากาศออก ใช้เชือกฟางมัดปากถุงหมักให้แน่นและหมักไว้เป็นเวลา 10-14 วัน จะได้กากมะพร้าวหมักยีสต์ที่มีโปรตีนถึงร้อยละ 34.40 สามารถนำไปผสมอาหารไก่ได้ในระดับร้อยละ 5 เพื่อเป็นอาหารเสริมโปรตีน ทั้งนี้เกษตรกรสามารถลดสัดส่วนลงได้ตามต้องการ

          การใช้แมลงตามธรรมชาติเป็นอาหาร

          ตามธรรมชาติไก่พื้นเมืองสามารถหาอาหารกินเองได้ แต่หากเลี้ยงแบบกึ่งขังกึ่งปล่อย การล่อแมลงให้ไก่กินเป็นอาหารโปรตีนเสริมเป็นทางหนึ่งในการเพิ่มโปรตีน การล่อแมลงด้วยการเปิดไฟใช้หลอดแสงเทียนขนาด 20-40 วัตต์ ทุกๆวัน นอกจากจะสร้างความอบอุ่นภายในคอกและยังได้แมลงเป็นอาหารไก่อีกด้วย

          การใช้สมุนไพรในการเลี้ยงไก่พื้นเมือง

          สมุนไพรมีฤทธิ์ในการป้องกันการเกิดโรคของระบบทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ รวมไปถึงการกระตุ้นภูมิต้านทานต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นการเจริญเติบโต ถ่ายพยาธิภายในและกำจัดพยาธิภายนอก ดังนี้

          – ฟ้าทะลายโจร มีฤทธิ์ในการลดไข้ ต้านการอักเสบ และยังมีสารออกฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคท้องร่วง เพิ่มสมรรถภาพ การเจริญเติบโต และช่วยเพิ่มสีไข่แดงด้วย

          – ขมิ้นชัน การนำมาใช้ในสัตว์นั้น ส่วนมากจะใช้ในรูปแบบของผงซึ่งมีผลช่วยในเรื่องสุขภาพของไก่ในภาวะที่กระทบกับความเครียด โดยไม่มีผลต่อองค์ประกอบทางโภชนะในอาหารสัตว์

          – กวาวเครือขาว การใช้ในไก่พื้นเมือง จะใช้ในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตทั้งเพศผู้และเพศเมีย ในไก่พื้นเมืองเพศผู้ จะลดพฤติกรรมก้าวร้าวลง เพิ่มการกินอาหาร ระดับการใช้ผสมในอาหารไม่เกินร้ายละ 1.0

          – มะรุม การใช้มะรุมเป็นอาหารสัตว์จะใช้ในแง่ของการเป็นใบพืชเสริมโปรตีน ที่สามารถผสมในอาหารได้สูงถึงร้อยละ 10

          กิจกรรมนักเล่าเรื่องท้องถิ่น

          กิจกรรมนักเล่าเรื่องท้องถิ่นมีวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรมคนในท้องถิ่นให้มีความสามารถในการเล่าเรื่องราววิถีชีวิตในชุมชนแก่นักท่องเที่ยวที่สนใจ เพื่อเป็นการให้ความรู้และดึงดูดนักท่องเที่ยวในการเที่ยวชมวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน โดยมีวิทยากรมาให้ความรู้ด้านการพูดเล่าเรื่องให้น่าสนใจแก่คนในชุมชนโดยการเลือกหัวข้อเรื่องที่คนในชุมชนมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีมาใช้เช่น การทอผ้า แหล่งท่องเที่ยวในชุมชน เพื่อเขียนเป็นบทพูดไว้สำหรับนำเสนอแก่นักท่องเที่ยว

          ปัญหา อุปสรรคในการทำงาน และการแก้ไขปัญหา

          จากการลงพื้นที่ในเดือนพฤศจิกายนพบว่า กิจกรรมการอบรมที่จัดขึ้นบางกิจกรรมมีช่วงเวลาตรงกับฤดูเก็บเกี่ยวข้าวของชาวบ้าน อาจทำให้จำนวนผู้เข้าอบรมลดลง จึงได้มีการชักชวนชาวบ้านและย่นระยะเวลาของกิจกรรมลงเพื่อให้สามารถมาร่วมกิจกรรมได้

            สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่ตำบลตูมใหญ่

           สิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมการลงพื้นที่ในเดือนพฤศจิกายน ได้รู้ว่าชาวบ้านที่ทำการเลี้ยงปศุสัตว์แต่ละรายมีปัญหาการเลี้ยงที่หลากหลายตามแต่ละชนิดของสัตว์ที่เลี้ยง เช่น การเลี้ยงโคจะเจอปัญหาเรื่องโรคที่ชาวบ้านไม่รู้จักและไม่รู้วิธีรักษา หรือการที่สัตว์ไม่ออกลูก ได้เรียนรู้วิธีแก้ไขบางอย่างที่สามารถใช้อาหารสัตว์ในการช่วยได้ ได้เรียนรู้ถึงวิธีการทำอาหารสัตว์โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อเป็นการลดต้นทุนเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และการแก้ไขปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ขาดแคลนด้วยการหมักวัตถุดิบเก็บไว้ใช้ในภายหลัง

          แผนการดำเนินงานต่อไป

          ภายในเดือนธันวาคม 2564 คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีการวางแผนการดำเนินงาน ดังนี้

          1. ประชุมสรุปการทำงานและวางแผนการดำเนินงานในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เดือนธันวาคม โดยมุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนผ้าทอมือ เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้การย้อมสีธรรมชาติประจำตำบล การจัดกิจกรรม One Day Trip การพัฒนาตลาดออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม Facebook อย่างต่อเนื่อง และสรุปแผนการดำเนินงานเมื่อสิ้นสุดโครงการ

          2. ประชุมวางแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนผ้าทอมือบ้านหนองดุม และจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้การย้อมสีธรรมชาติประจำตำบล

          3. จัดกิจกรรม One Day Trip โดยการพาเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ชุมชนที่น่าสนใจแบบวันเดียวไปเช้าเย็นกลับ ตามแผนที่วางไว้

          4. จัดทำรายงานสรุปแผนการดำเนินงาน เพื่อจัดทำรูปเล่มรายงานปิดโครงการ และคืนองค์ความรู้ทั้งหมดให้กับชุมชน เพื่อเป็นการนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาต่อไป

          หมายเหตุ แผนการดำเนินงานอาจมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมตามสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

 

อื่นๆ

เมนู