1. หน้าแรก
  2. คณะเทคโนโลยีการเกษตร
  3. AG01(1) - ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง
  4. AGO1(1) บทความประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 – เล่าเรื่องท้องถิ่นและการสร้างอาชีพใหม่ด้านการปศุสัตว์ ต.ตูมใหญ่ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์

AGO1(1) บทความประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 – เล่าเรื่องท้องถิ่นและการสร้างอาชีพใหม่ด้านการปศุสัตว์ ต.ตูมใหญ่ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์

AGO1(1) บทความประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 – เล่าเรื่องท้องถิ่นและการสร้างอาชีพใหม่ด้านการปศุสัตว์ ต.ตูมใหญ่ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์

          ดิฉัน นางสาวนารีรัตน์ ดวงนิล ผู้ปฏิบัติงานประจำพื้นที่ AG01(1) ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ประเภทนักศึกษา โดยในเดือนพฤศจิกายนนี้ได้มีการปฏิบัติงานร่วมกับอาจารย์ และทีมงาม AG01(1) ตำบลตูมใหญ่ในการดำเนินงานในพื้นที่ ดังนี้

เล่าเรื่องท้องถิ่น

  1. ภูมิปัญญาผ้าทอมือบ้านหนองดุม

ภูมิปัญญาผ้าทอมือบ้านหนองดุม เป็นหัตถกรรมที่ต้องมีการใช้ฝีไม้ลายมือในการทอผ้า มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ “ยกขิตลายดอกหญ้า” ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “หญ้าตีนตุ๊กแก” (Coat Buttons, หรือ Mexican daisy) ซึ่งเป็นไม้ล้มลุกที่พบมากในแถวบ้านเรา หญ้าตีนตุ๊กแกเป็นพืชที่ออกดอกตลอดทั้งปีและทนแล้งได้ดี

ความพิเศษของดอกหญ้าชนิดนี้ คือ เมื่อพระอาทิตย์ลาลับไปแล้ว ดอกหญ้าก็จะก้มหน้าและโค้งงอลง เปรียบเหมือนการแสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนของต้นหญ้า ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยของคนในท้องถิ่นบ้านหนองดุม ที่สะท้อนออกมาผ่านลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม

กรรมวิธีการทอและย้อมสีธรรมชาติ เป็นภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม สีที่นำมาย้อมจะเป็นสีที่ได้จากเปลือกไม้และใบไม้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น สีเขียวจากใบมะม่วง สีแดงจากเปลือกประดู่ สีเหลืองจากแก่นขนุน และสีน้ำตาลจากเปลือกมะพร้าว

นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยจะมีผลิตภัณฑ์หลัก คือ ผ้าคลุมไหล่ และผ้าพันคอ เหมาะสำหรับคนรักษ์โลก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ราคาจับต้องได้ สินค้าดี มีคุณภาพ ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ใครไม่ซื้อกลับถือว่ามาไม่ถึงตูม ใหญ่ ไม่ซื้อไม่ได้แล้ว! สนใจสั่งซื้อหรือสอบถามรายละเอียดสินค้าคลิกลิงก์ m.me/timyaimarket หรือผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก “ของดีตูมใหญ่”

  1. ร้านดวงตาผ้าไทย

ร้านดวงตาผ้าไทย ตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัวพัฒนา หมู่ที่ 18 ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีสมาชิกในกลุ่มจำนวน 8 คน

ผ้าที่จำหน่ายในร้าน คือ ผ้าพันคอ ผ้ามัดหมี่ และผ้าขาวม้า ซึ่งผ้าแต่ละประเภทมีความโดดเด่นและน่าสนใจแตกต่างกัน เช่น ผ้าพันคอ มีลายหมากรุกเป็นลายพื้นบ้าน ผ้ามัดหมี่ มีลายข้าวหลามตัดที่มีความเรียบง่ายและเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม ผ้าขาวม้า มีลายพื้นบ้าน Basic คือ ลายหมากรุก ที่นิยมสำหรับผู้สวมใส่มากที่สุด

ผ้าไทยภายในร้านมีกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมที่มีการสืบทอดมาแต่โบราณและเป็นงานหัตถกรรมที่ทำด้วยมือทุกขั้นตอน ส่งผลให้การผลิตมีความปราณีตสวยงามและเกิดคุณค่าทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีการนำเศษผ้าที่ไม่ได้ใช้มาประยุกต์ตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า และกระเป๋าถือ เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ชื้อมากขึ้น

ราคาสินค้าที่จัดจำหน่าย

ผ้าพันคอ  ราคาเริ่มต้นผืนละ 200 บาท

ผ้ามัดหมี่  ราคาเริ่มต้นผืนละ 600 บาท

ผ้าขาวม้า ราคาเริ่มต้นผืนละ 150 บาท

ร้านดวงตาผ้าไทย มีการจัดจำหน่ายสินค้า  2 ช่องทาง คือ จัดจำหน่ายหน้าร้านและจัดจำหน่ายผ่านทางแพลตฟอร์มเฟสบุ๊ก (ของดีตูมใหญ่) เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น

  1. กลุ่มตูมน้อยผ้าไทยกับผ้าขาวม้าสีพาสเทล

พลิกโฉมจากผ้าขาวม้าสไตล์เดิมๆ เพิ่มเอกลักษณ์โดยการใช้สีพาสเทลที่มีความทันสมัยทอลายด้วยโทนสีต่างๆ โดยใช้สีหวานๆ เก๋ๆ ลวดลายของผ้าออกแบบเฉพาะตัว ไม่ซ้ำใคร จนได้ผ้าขาวม้าสีพาสเทลที่ให้ความหวานละมุนในแบบฉบับของกลุ่มตูมน้อยผ้าไทย นอกจากนี้ผ้าไทยของกลุ่มยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสีสันสวยงามและมีเสน่ห์ มองแล้วรู้สึกสบายตา เหมาะกับผู้สวมใส่ทุกเพศทุกวัย

ผ้าขาวม้าสีพาสเทล มี 2 ขนาด คือ

– ขนาด 85×225 เซนติเมตร ราคาผืนละ 299 บาท เหมาะสำหรับนำไปตัดเสื้อ

– ขนาด 75×225 เซนติเมตร ราคาผืนละ 199 บาท เหมาะสำหรับใช้สอยทั่วไป

สนใจสั่งซื้อได้ที่ Page Facebook “ของดีตูมใหญ่”

  1. กลุ่มกล้วยฉาบเบรกแตก บ้านใหม่เจริญสุข

นายสมพร ดารินรัมย์ ได้คิดค้นสูตรการทำกล้วยฉาบเบรกแตก เพื่อเป็นการเสริมสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชน โดยคิดค้นกล้วยฉาบ 4 รสชาติ คือ กล้วยฉาบรสดั้งเดิม กล้วยฉาบรสหวาน กล้วยฉาบรสเค็ม และกล้วยฉาบรส 3 รส ดังนี้

กล้วยฉาบรสดั้งเดิม

– มีกลิ่นหอมจากใบเตย

– รสชาติกรอบมัน

– เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพ

กล้วยฉาบรสหวาน

– มีรสหวานจากน้ำตาลทรายขาว

– รสชาติหวานกำลังดี ไม่หวานจนเกินไป

กล้วยฉาบรสเค็ม

– อร่อยกลมกล่อม รสชาติเค็มกำลังดี

กล้วยฉาบรส 3 รส

– รสชาติหอม หวาน เค็ม และมีกลิ่นเครื่องเทศเป็นเอกลักษณ์

กล้วยที่ใช้

– เป็นกล้วยที่ปลูกในชุมชนโดยเฉพาะบ้านตูมน้อย หมู่ที่ 5

– กล้วยที่ใช้เป็นการปลูกแบบปลอดสารพิษ

– กล้วยลูกใหญ่ เนื่องจากใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากธรรมชาติ (กล้วย 1 เครือ จะได้ประมาณ 8-10 หวี โดย 1 หวี จะมีถึง 10-15 ลูก)

การทำกล้วย

– ปอกเปลือกแช่กล้วยในน้ำมะนาวเพื่อไม่ให้ฝาดและดำ แล้วนำไปล้างน้ำเปล่า

– ฝานกล้วยและนำไปทอดในน้ำมันที่สะอาดและใหม่

– เพิ่มกลิ่นหอมโดยการใช้ใบเตยสดและเนยหอมลงไปในน้ำมันขณะทอด

บรรจุภัณฑ์

– บรรจุกล้วยฉาบเบรกแตกในถุงซิปล็อค

– มีฉลาก ว/ด/ป ที่ผลิต

– ขนาดห่อละ 180 กรัม ราคาห่อละ 35 บาท 4 ห่อ 100 บาท

– 1 กิโลกรัม ราคา 120 บาท

สถานที่จำหน่าย

– สามารถสั่งซื้อได้ที่กลุ่มสัมมาชีพชุมชนบ้านใหม่เจริญสุข ตั้งอยู่หมู่ที่ 19 บ้านใหม่เจริญสุข

– หรือสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ที่ เพจ “ของดีตูมใหญ่”

  1. วัดประคำสำโรง

วัดประคำสำโรง  เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชนตำบลตูมใหญ่ โดย พระมหาวินัย ธรชาติ กิติธโร ท่านได้บูรณะพระนอน ปางไสยาสน์ หรือที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่า “หลวงพ่อตาหวาน” นอกจากความงามขององค์พระนอนแล้ว ยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวของคนในชุมชน เพื่อขอพร สักการะ เพื่อเสริมเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิต ในส่วนประเพณี จะมีพิธีเปลี่ยนพระจีวร ในช่วงเดือนพฤศจิกายน หลังออกพรรษาของทุกปี

นอกจากนี้วัดประคำสำโรงยังมีองค์เทพทันใจ หรือนัตโบโบยี ซึ่งเป็นเทวดาที่คอยอำนวยโชคลาภ เป็นที่ศรัทธาของคนทั่วไป เชื่อว่าเมื่อมากราบไหว้ขอพร จะได้รับพรสมใจสมชื่อเทพ เมื่อสมหวังจากพร ก็จะนำผลไม้ มะพร้าว กล้วยนาคสีแดง มาเป็นเครื่องบูชา เพราะเชื่อว่าเป็นผลไม้มงคล และเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ของชีวิต

ทั้งนี้ยังมีต้นตะเคียน ที่มีอายุกว่า 100 ปี โดยมีที่มาของชาวบ้านเล่าขานกันว่ามีคนฝันว่ามีผู้หญิงอุ้มเด็กมาบอกว่าอยากขึ้นจากน้ำ โดยในฝันบอกว่ามีต้นตะเคียน จำนวน 6 ท่อน เมื่อรถแบคโฮเข้าไปทำงานก็พบไม้ขนาดเส้นรอบลำต้นประมาณ 200 ซม. ยาว 25 เมตร ทั้ง 6 ต้นตามที่ฝัน จากนั้นชาวบ้านได้ลงความเห็นว่าจะต้องเอามาเก็บไว้ที่วัดประคำสำโรง เพื่อให้เป็นสิริมงคลต่อหมู่บ้าน จากนั้นพระมหาวินัย ธรชาติ กิติธโร จึงสร้างพระนอนขึ้นมาโดยใช้ต้นตะเคียนทั้ง 6 ต้น ทำเป็นเสาอาคารพระนอน เพื่อให้เป็นสถานที่กราบไว้ขอพรและสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านตำบลตูมใหญ่สืบไป

  1. ตลาดท้องถิ่นสุขใจ ตูมใหญ่รักศรัทธา

ตลาดท้องถิ่นสุขใจ ตูมใหญ่รักศรัทธา เปิดตัวขึ้นเมื่อปี 2563 เป็นตลาดนัดชุมชนที่เปิดทุกวัน เวลา 15.00 – 19.00 น. ปัจจุบันเป็นถนนคนเดินตูมใหญ่รักศรัทธา มีร้านค้ามากกว่า 116 ร้าน ตั้งอยู่บริเวณบ้านกรูด หมู่ที่ 12 บนถนนเส้นหลังโรงเรียนบ้านตูม ช่วงศูนย์เด็กเล็กเก่าไปจนถึงประตูหลังโรงเรียนบ้านตูม

ภายในตลาดมีการตกแต่งที่สร้างสรรค์สวยงาม ให้ความรู้สึกถึงบรรยากาศแบบพื้นบ้าน โดยมีการใช้หวดนึ่งข้าวมาตกแต่งเป็นโคมไฟ รวมถึงมีการตกแต่งภายในตลาดด้วยผ้าขาวม้าและหลอดไฟดวงเล็กเพื่อความสวยงาม เมื่อท่านมาถึงตลาด จะได้พบสินค้าและอาหารมากมายหลากหลายอย่าง ซึ่งเอกลักษณ์ของตลาดถนนคนเดินตูมใหญ่รักศรัทธา คือ พืชผักพื้นบ้าน หรือพืชผักตามฤดูกาลที่มีความสดใหม่และสะอาด หากท่านมาเยือนช่วงฤดูร้อน ท่านจะได้เลือกซื้ออาหารพื้นบ้านตามฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็น ไข่มดแดง แมงดา หรือแมงตับเต่า อาหารพื้นบ้านช่วงฤดูฝนจะพบ หน่อไม้ ผักติ้ว ผักหวาน หรือดอกกระเจียว ช่วงปลายฝนต้นหนาวจะพบ เห็ดขอน เห็ดขม เห็ดไค เห็ดปลวก หรือเห็ดละโงก ส่วนช่วงฤดูหนาวท่านจะได้เลือกซื้อปูนา ปลาน้ำแห้ง แมงจีซอน หรือหนูนา เป็นต้น

ลูกค้าแต่ละท่านที่มาเลือกจับจ่ายใช้สอยมีหลากหลายกลุ่มทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มคนชอบสังสรรค์ ภายในตลาดจะมีอาหารจำพวกหมึกย่างน้ำจิ้มรสเด็ด หม่าล่า ต้มแซ่บ ต้มขม หรือลาบเป็ด กลุ่มคนรักครอบครัว จะมีอาหารจำพวกข้าวแกงปักษ์ใต้ หรือไก่ทอด กลุ่มสายหวาน จะมีร้านขนมเบเกอรี่ โรตี ขนมดอกบัว ดอกจอก และขนมครกให้เลือกซื้อ ซึ่งลูกค้าที่มาเลือกซื้อสินค้าชุมชนที่ตลาดถนนคนเดินตูมใหญ่รักศรัทธา สามารถเลือกซื้อสินค้าที่อร่อย สดใหม่ สะอาด และราคาถูกได้มากมายหลากหลายประเภทตามความต้องการ นอกจากนั้นยังได้สัมผัสกับบรรยากาศชุมชนท้องถิ่นที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มของพ่อค้าแม่ค้าภายในตลาดอีกด้วย

  1. แกรนด์แคนยอน หรือละลุ

แกรนด์แคนยอน หรือละลุ ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านกระทุ่มนอก หมู่ที่ 14 การเดินทางเริ่มต้นจากศาลเจ้าพ่อหลวงอุดม เลี้ยวเข้าหมู่บ้านกระทุ่มนอกไปตามขอบสระของหมู่บ้าน จากนั้นเข้าไปลึกอีกประมาณ 300 เมตร จะสังเกตเห็นธารน้ำเล็กๆ ทางด้านขวามือ เพื่อเป็นการเพิ่มความท้าทายสำหรับคนที่ชอบธรรมชาติและรักในการเดินป่า เราจะใช้วิธีการเดินเท้าข้ามธารน้ำเล็กๆ ก่อนเข้าสู่พื้นที่จะมีเส้นทางการเดินเท้าขนาดเล็กให้ผู้ที่มาสัมผัสเดินเรียงแถวกันเหมือนมด เข้าสู่แกรนด์แคนยอน หรือละลุ

แกรนด์แคนยอน หรือละลุ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ มีเนื้อที่ขนาดกว้าง สภาพดินเป็นดินผสม เมื่อถูกกัดเซาะจะมีลักษณะเป็นรูปทรงต่างๆ มีรูปทรงคล้ายกำแพงเมือง หรือหน้าผา ด้านบนมีต้นไม้ขนาดเล็กและมีหญ้าปกคลุมชั้นดิน ทำให้เกิดความสวยงาม และแปลกตาต่อผู้พบเห็น เวลาที่เหมาะสมต่อการไปท่องเที่ยว ถ่ายภาพ หรือพักผ่อน คือช่วงเช้าและช่วงเย็น ยามแสงแดดอ่อนๆ ของทุกวัน

นับได้ว่าแกรนด์แคนยอน หรือละลุ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติของตำบลตูมใหญ่ ซึ่งควรแก่การอนุรักษ์ไว้สืบไป

 

การสร้างอาชีพใหม่ด้านการปศุสัตว์

1.กลุ่มเป้าหมายเกษตรกรที่เลี้ยงไก่พื้นเมือง

มีความต้องการในการพัฒนา ได้แก่  วิธีการรักษาไก่เหงา วิธีการรักษาไก่ตัวซีด วิธีการรักษาไก่เบื่ออาหาร และช่องทางการขายไก่ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

  1. กลุ่มเป้าหมายเกษตรกรที่เลี้ยงโคและกระบือ

มีความต้องการในการพัฒนา ได้แก่ วิธีการป้องกันการเกิดโรคทางผิวหนังของโคและกระบือ วิธีการลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารของโคและกระบือ วิธีการเลี้ยงโคและกระบือให้อายุยืนยาว ช่องทางการขายโคและกระบือให้ได้ราคาสูง

  1. กลุ่มเป้าหมายเกษตรกรที่เลี้ยงแพะ

มีความต้องการในการพัฒนา ได้แก่ การหาตลาดในการขายสัตว์เศรฐกิจที่เลี้ยงให้ได้ราคาสูง การจัดหาวัคซีนและตารางการทำวัคซีนตามฤดูกาล การเลี้ยงสัตว์ยังไงให้ง่ายและมีความชัดเจนในเรื่องต้นทุนการผลิตและราคาขาย

  1. กลุ่มเป้าหมายเกษตรกรที่เลี้ยงสุกร

มีความต้องการในการพัฒนา ได้แก่ การเรียนรู้วิธีการผสมเทียมสุกร และวิธีการผสมอาหารสัตว์สำเร็จรูปเพื่อเป็นการลดต้นทุนอาหาร

ปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงาน

ปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ประกอบด้วย ปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีการแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติงาน

สิ่งที่ดิฉันได้เรียนรู้จากการปฏิบัติงานประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 คือ จากการทำงานทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการประสานงานกับชุมชน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติงาน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็นหมู่คณะ ได้เรียนรู้แนวทางการป้องกันตนเองขณะลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคการเล่าเรื่องราว และได้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับปศุสัตว์

แผนการดำเนินงานในเดือนถัดไป

แผนปฏิบัติงานต่อไป มีการวางแผนการดำเนินงานต่อไปของทีม AG01(1) ตำบลตูมใหญ่ ในเดือนธันวาคม 2564 ดังนี้

  1. ประชุมสรุปการทำงานและวางแผนการดำเนินงานในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เดือนธันวาคม โดยมุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนผ้าทอมือ เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้การย้อมสีธรรมชาติประจำตำบล การจัดกิจกรรม One Day Trip การพัฒนาตลาดออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม Facebook อย่างต่อเนื่อง และสรุปแผนการดำเนินงานเมื่อสิ้นสุดโครงการ
  2. ประชุมวางแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนผ้าทอมือบ้านหนองดุม และจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้การย้อมสีธรรมชาติประจำตำบล
  3. จัดกิจกรรม One Day Trip โดยการพาเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ชุมชนที่น่าสนใจแบบวันเดียวไปเช้าเย็นกลับ ตามแผนที่วางไว้
  4. จัดทำรายงานสรุปแผนการดำเนินงาน เพื่อจัดทำรูปเล่มรายงานปิดโครงการ และคืนองค์ความรู้ทั้งหมดให้กับชุมชน เพื่อเป็นการนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาต่อไป

วิดีโอการปฏิบัติงานของกลุ่ม AG01(1) ประจำเดือนพฤศจิกายน (One Day Trip)

อื่นๆ

เมนู