1. หน้าแรก
  2. คณะเทคโนโลยีการเกษตร
  3. AG01(1) - ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง
  4. บทความประจำเดือนธันวาคม 2564 กลุ่ม AGO1(1) กิจกรรมการสร้างอาชีพใหม่ด้านการปศุสัตว์ (สัตว์น้ำ) การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้กลุ่มผ้าทอมือและกล้วยฉาบ และกิจกรรมการทดสอบ One Day Trip ท่องเที่ยวศูนย์การเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของตำบล

บทความประจำเดือนธันวาคม 2564 กลุ่ม AGO1(1) กิจกรรมการสร้างอาชีพใหม่ด้านการปศุสัตว์ (สัตว์น้ำ) การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้กลุ่มผ้าทอมือและกล้วยฉาบ และกิจกรรมการทดสอบ One Day Trip ท่องเที่ยวศูนย์การเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของตำบล

บทความประจำเดือนธันวาคม 2564

กิจกรรมการสร้างอาชีพใหม่ด้านการปศุสัตว์ (สัตว์น้ำ)

การนำความรู้สู่ชุมชน การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้กลุ่มผ้าทอมือและกล้วยฉาบ

และกิจกรรมการทดสอบ One Day Trip ท่องเที่ยวศูนย์การเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของตำบล

กลุ่ม AGO1(1) ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

          ดิฉัน นางสาวบุณฑริกา ต้ายไธสง ผู้ปฏิบัติงานประเภทบัณฑิตจบใหม่ ทำงานภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ระยะเวลาโครงการ 11 เดือน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ในเขตพื้นที่ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 19 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองบัว บ้านสวายสอ บ้านกระทุ่ม บ้านปะคำสำโรง บ้านตูมน้อย บ้านตูมใหญ่ บ้านทุ่งสว่าง บ้านหนองดุม บ้านหนองตาด บ้านโนนเจริญ บ้านปะคำดง บ้านกรูด บ้านหนองไผ่ดง บ้านกระทุ่มนอก บ้านโคกสำราญ บ้านเมืองกับ บ้านแคนเจริญ บ้านหนองบัวพัฒนา และบ้านใหม่เจริญสุข

          ในการปฏิบัติงานดิฉันและสมาชิกคณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) ได้รับมอบหมายในการปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมการสร้างอาชีพใหม่ด้านการปศุสัตว์ (สัตว์น้ำ) การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้กลุ่มผ้าทอมือและกล้วยฉาบ และกิจกรรมการทดสอบ One Day Trip ท่องเที่ยวศูนย์การเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของตำบล โดยแผนการดำเนินงานมีเป้าหมายในการส่งเสริมการสร้างอาชีพใหม่ด้านการปศุสัตว์ให้กับคนในชุมชน โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรสามารถพัฒนาการเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อสร้างรายได้หลักหรือรายได้เสริมให้แก่ครอบครัว ทำให้เกิดรายได้ในชุมชนและชุมชนรอบข้างจนถึงระดับจังหวัดและภูมิภาคได้อย่างยั่งยืน รวมไปถึงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เชิงอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทอผ้าไทย ด้านการย้อมสีธรรมชาติ และด้านการแปรรูปอาหารเพื่อเป็นแหล่งประชาสัมพันธ์เผยแพร่องค์ความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นแก่นักท่องเที่ยว เยาวชน นักเรียน นักศึกษา เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป อีกทั้งยังมีการพาเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของตำบล แบบวันเดียวไปเช้าเย็นกลับ ตามแผนที่วางไว้ เพื่อเป็นการดึงดูดใจและสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวอีกด้วย

1. กิจกรรมและแผนการดำเนินงานของโครงการ

  • อาจารย์ประจำหลักสูตรได้มีการจัดประชุมแบบออนไลน์ผ่านระบบ Google Meet เพื่อชี้แจงรายละเอียดแผนการปฏิบัติงานในเดือนธันวาคม และชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมต่างๆ พร้อมกับมีการมอบหมายหน้าที่ในการปฏิบัติงานให้ทุกฝ่ายงานได้อย่างชัดเจน
  • ลงพื้นที่เก็บแบบสอบถามข้อมูลทั่วไปของเกษตรกร เพื่อให้ได้ข้อมูลในการนำไปใช้ในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อยกระดับรายได้ของเศรษฐกิจฐานราก ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
  • มีการประสานงานกับรองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ เพื่อขอใช้สถานที่หอประชุมในการจัดกิจกรรมการอบรม
  • เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ “กิจกรรมการสร้างอาชีพใหม่ด้านการปศุสัตว์ (สัตว์น้ำ)”
  • ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานในการจัดเตรียมศูนย์การเรียนรู้กลุ่มผ้าทอมือและกล้วยฉาบ
  • ลงพื้นที่ทดสอบกิจกรรม One Day Trip ท่องเที่ยวศูนย์การเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของตำบล ตามแผนที่วางไว้

          ในส่วนของการพัฒนาทักษะทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านดิจิทัล (Digital Literacy) ด้านภาษาอังกฤษ (Language Literacy) ด้านการเงิน (Financial Literacy) และด้านสังคม (Social Literacy) ดิฉันได้ทำการพัฒนาทักษะครบ 100 เปอร์เซ็นต์ และได้ทำการศึกษาทักษะด้าน TDGA เพิ่มเติมตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์กำหนดครบถ้วนสมบูรณ์

2. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการจัดกิจกรรมการสร้างอาชีพใหม่ด้านการปศุสัตว์ (สัตว์น้ำ) การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้กลุ่มผ้าทอมือและกล้วยฉาบ และกิจกรรมการทดสอบ One Day Trip ท่องเที่ยวศูนย์การเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของตำบล

2.1 กิจกรรมการสร้างอาชีพใหม่ด้านการปศุสัตว์ (สัตว์น้ำ)

          คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) พร้อมกับอาจารย์ประจำหลักสูตรได้มีการจัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การสร้างอาชีพใหม่ด้านการปศุสัตว์ (สัตว์น้ำ)” ขึ้น โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรสามารพัฒนาการเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อสร้างรายได้หลักหรือรายได้เสริมให้แก่ครอบครัว ทำให้เกิดรายได้ในชุมชนและชุมชนรอบข้างจนถึงระดับจังหวัดและภูมิภาคได้อย่างยั่งยืน

          จากการจัดกิจกรรม เบื้องต้นพบว่าเกษตรกรผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในชุมชน ประสบกับปัญหาราคาอาหารสัตว์ หรือวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาแพง ในขณะเดียวกันผลผลิตที่ได้จากการเลี้ยงสัตว์กลับมีราคาไม่สมดุลกับต้นทุนค่าอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น ทางคณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) พร้อมกับอาจารย์ประจำหลักสูตร และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการปศุสัตว์ อาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สอนสุภาพ จึงได้มีการแนะนำและสาธิตวิธีการประกอบสูตรอาหารสัตว์น้ำที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ และสามารถหาวัตถุดิบได้ง่ายทั่วไปในชุมชน เพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าอาหาร และช่วยเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของวัตถุดิบอาหาร อีกทั้งยังสามารถเก็บไว้ได้เป็นเวลานานอีกด้วย

2.2 การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้กลุ่มผ้าทอมือและกล้วยฉาบ

          1. ศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอมือบ้านหนองดุมและการย้อมสีธรรมชาติ

ข้อมูล/ที่มา

          ผ้าทอมือตูมใหญ่เป็นศิลปะหัตกรรมพื้นบ้านตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบีรัมย์มีการทอแบบภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบสานกันมาหลายร้อยปี ผ้าทอมือที่มีความสวยงามด้วยการสอดใส่ลวดลายที่เป็นเอกลักลักษณ์ที่โดดเด่นมีย้อมจากสีธรรมชาติและทอมือแท้100% มีสีสันที่สวยงามสบายตาอ่อนโยนแสดงถึงคนที่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย 

          กลุ่มทอผ้าไทยบ้านหนองดุม เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2561 ประธานกลุ่ม คือ นางอำพร หนองหล้า เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมนชมชนโดยมีโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล แบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ)กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้และสร้างอาชีพใหม่ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และภายหลังได้มีการจัดตั้งให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอมือบ้านหนองดุมและการย้อมสีธรรมชาติ ณ บ้านหนองดุม หมู่ที่ 8 ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

          วัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการยกระดับการผลิตผ้าทอพื้นบ้านย้อมสีจากธรรมชาติให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น รวมถึงเพื่อเป็นแหล่งให้บริการเผยแพร่ ข้อมูลและองค์ความรู้เรื่องการผลิตผ้าทอมือ การยกขิดผ้าทอมือตูมใหญ่และการย้อมสีธรรมชาติอย่างครบวงจร และสร้างรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าแบบดั้งเดิมและการย้อมสีจากเปลือกไม้ธรรมชาติให้คงอยู่สืบไป

สตอรี่/ลายเอกลักษณ์

          ภูมิปัญญาผ้าทอมือบ้านหนองดุม เป็นหัตถกรรมที่ต้องมีการใช้ฝีไม้ลายมือในการทอผ้า มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ “ยกขิดลายดอกหญ้า” ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “หญ้าตีนตุ๊กแก” (Coat Buttons, หรือ Mexican daisy) ซึ่งเป็นไม้ล้มลุกที่พบมากในแถวบ้านเรา หญ้าตีนตุ๊กแกเป็นพืชที่ออกดอกตลอดทั้งปีและทนแล้งได้ดี ความพิเศษของดอกหญ้าชนิดนี้ คือ เมื่อพระอาทิตย์ลาลับไปแล้ว ดอกหญ้าก็จะก้มหน้าและโค้งงอลง เปรียบเหมือนการแสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนของต้นหญ้า ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยของคนในท้องถิ่นบ้านหนองดุม ที่สะท้อนออกมาผ่านลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม

          2. ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาผ้าขาวม้าทอมือบ้านตูมน้อย

ข้อมูล/ที่มา

          ผ้าทอมือตูมใหญ่เป็นศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้านตำบลตูมใหญ่ และการทอผ้าเองก็ยังเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่สืบทอดกันมา นอกจากคุณค่าทางศิลปะแล้วยังเป็นการแสดงถึงแบบแผนความเป็นอยู่ในสังคม กรรมวิธีและเทคนิคในการทอผ้าให้เกิดลวดลายต่างๆ จึงเป็นเทคนิคและความสามารถของแต่ละคน ซึ่งผู้ทอสามารถจดจำลวดลายที่ตนคิดประดิษฐ์ได้ถึง แม้แต่ละลวดลายจะมีความซับซ้อนและหลากหลาย แต่เขาก็สามารถนำมาประสานกันได้อย่างเหมาะเจาะ งดงามแสดงถึงภูมิปัญญา และความสามารถของชาวชนบทเป็นอย่างดี ผ้าทอมือจึงมีเทคนิคการทอและความสวยงามเป็นที่สุด

          กลุ่มทอผ้าไหมบ้านตูมน้อย เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ 2559 ประธานกลุ่มคือ นางปัณฑิตา แก้วกูล เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 25 คน กลุ่มทอผ้าบ้านตูมน้อย เป็นกลุ่มแม่บ้านช่างทอผ้าที่รวมตัวกันทอผ้าเป็นอาชีพเสริม และนำออกขายในลักษณะสหกรณ์ โดยมีโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล แบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ)กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ หน่วยงาน อว.ร่วมกับ มหาวิทยาลัย​ลัย​ราชภัฏ​บุรีรัมย์จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้และเสริมสร้างอาชีพ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาต่อยอดสิ่งที่มีในพื้นที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้และภายหลังได้มีการจัดตั้งให้ เป็นศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาผ้าขาวม้าทอมือบ้านตูมน้อย

วัตถุประสงค์ 

          เพื่อเป็นการเสริมสร้างการถ่ายทอดองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนความคิด ระดมความคิด ประสบการณ์ของทางกลุ่มไปยังผู้ที่สนใจภายนอกชุมชน รวมถึงเพื่อเป็นแหล่งให้บริการเผยแพร่ และการยกระดับการผลิตผ้าทอมือพื้นบ้านผ้าขาวม้าทอมือสู่สากล รวมถึง รายละเอียดแต่ละขั้นตอน มีกรรมวิธีการผลิตอย่างไรบ้างกว่าจะมาเป็นผ้าขาวม้าแต่ละผืน และมุ่งพัฒนาผ้าทอมือให้ตรงกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนเพิ่มทักษะด้านความคิดด้านฝีมือและสร้างองค์ความรู้การออกแบบ เพื่อเอามาเป็นจุดขายและสร้างรายได้ให้กับชุมชน และเพื่อให้เกิดการสืบสานภูมิปัญญาและรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมสืบต่อไป 

สตอรี่/ลายเอกลักษณ์ 

          ภูมิปัญญาผ้าขาวม้าทอมือบ้านตูมน้อย เป็นงานหัตถกรรมที่พัฒนารูปแบบ ลวดลาย สี ด้วยการสร้างจากนวัตกรรมจากวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้มีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว โดยการพลิกโฉมจากผ้าขาวม้าสไตล์เดิมๆ เพิ่มเอกลักษณ์โดยการใช้สีพาสเทลที่มีความทันสมัยทอลายด้วยโทนสีต่างๆ โดยใช้สีหวานๆ เก๋ๆ ลวดลายของผ้าออกแบบเฉพาะตัว ไม่ซ้ำใคร จนได้ผ้าขาวม้าสีพาสเทลที่ให้ความหวานละมุนในแบบฉบับของกลุ่มตูมน้อยผ้าไทย นอกจากนี้ผ้าไทยของกลุ่มยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสีสันสวยงามและมีเสน่ห์ มองแล้วรู้สึกสบายตา และยังเป็นโทนสีของผ้าขาวผ้าที่สุภาพหรือโทนสีที่ไม่ฉูดฉาดจนเกินไป สามารถสวมใส่ใช้ได้ทุกเพศทุกวัย และทุกโอกาส

          3. ศูนย์การเรียนรู้การแปรรูปอาหาร (กล้วยฉาบ) กลุ่มสัมมาชีพชุมชนบ้านใหม่เจริญสุข

ข้อมูล/ที่มา

          นายสมพร ดารินรัมย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 19 บ้านใหม่เจริญสุข ได้รับงบประมาณจากพัฒนาชุมชน อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อที่จะนำมาเสริมสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านและผู้สูงอายุในชุมชนจึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมา โดยเสนอเป็นการทำกล้วยฉาบ ในชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มสัมมาชีพชุมชนบ้านใหม่เจริญสุข” กล้วยฉาบบ้านใหม่เจริญสุขเป็นกล้วยฉาบสูตรดั้งเดิมซึ่งมี “แม่เกิด” คุณแม่เกิด บัวบุญมา เป็นคนในชุมชนมีฝีมือทางด้านการทำขนมต่างๆ ได้นำสูตรการทำกล้วยฉาบมาถ่ายทอดให้กับกลุ่มสัมมาชีพชุมชนบ้านใหม่เจริญสุข ซึ่งแต่เดิมกล้วยฉาบสูตรของ“แม่เกิด” มีเพียง 1 สูตร เท่านั้น คือ รสหวาน ต่อมามีการดัดแปลงสูตรของ“แม่เกิด”โดยคิดค้นสูตรกล้วยฉาบขึ้นมาอีก 3 รสชาติ คือ กล้วยฉาบรสดั้งเดิม กล้วยฉาบรสเค็ม และกล้วยฉาบรส 3 รส เพื่อให้มีความหลากหลายต่อความต้องการของตลาด

          ปัจจุบันกลุ่มสัมมาชีพชุมชนบ้านใหม่เจริญสุข มีสูตรกล้วยฉาบอยู่ทั้งหมด 4 สูตร ได้แก่ กล้วยฉาบรสดั้งเดิม กล้วยฉาบรสหวาน กล้วยฉาบรสเค็มและกล้วยฉาบรส 3 รส 

วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งกลุ่ม

  • เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนมีอาชีพและมีรายได้เสริม
  • เพื่อนำทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

2.3 กิจกรรมการทดสอบ One Day Trip ท่องเที่ยวศูนย์การเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของตำบล

          คณะผู้ปฏิบัติงานพร้อมกับอาจารย์ประจำหลักสูตรมีการจัดทริปท่องเที่ยวศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของตำบลแบบวันเดียวไปเช้าเย็นกลับ โดยการพาเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ตามแผนที่วางไว้ โดยมีการจัดระยะเวลาในการเดินทางให้เหมาะสม และมีการจัดเส้นทางการเดินทางท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบแบบแผน ทำให้สามารถเดินทางได้หลายสถานที่ภายในวันเดียว จึงเป็นการช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างมาก โดยมีการวางแผนที่ท่องเที่ยวแบบวันเดียวไปเช้าเย็นกลับ ดังนี้

09:00 – 09:50 น.         วัดบ้านปะคำสำโรง

10:00 – 10:50 น.         ป่าอนุรักษ์สมุนไพร

11:00 – 11:50 น.         แกรนด์แคนยอนบุรีรัมย์ หรือ ละลุ

12:00 – 12:50 น.         ร้านอาหารครัวตูมใหญ่ 

13:00 – 13:50 น.         วัดบ้านโนนเจริญ

14:00 – 14:30 น.         กลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองดุม

14:30 – 15:00 น.         แหล่งท่องเที่ยวหนองสิม 

15:20 – 15:50 น.         กล้วยเบรกแตกบ้านใหม่เจริญสุข

16:00-Free                ตลาดตูมใหญ่รักศรัทธา

ข้อมูลศูนย์การเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของตำบล ตามแผนที่ท่องเที่ยว One Day Trip

1.วัดบ้านปะคำสำโรง 

          วัดบ้านปะคำสำโรง ตั้งอยู่บ้านปะคำสำโรง หมู่ที่ 4 ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชนตำบลตูมใหญ่ โดย พระมหาวินัย ธรชาติ กิติธโร ท่านได้บูรณะพระนอน ปางไสยาสน์ หรือที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่า “หลวงพ่อตาหวาน” นอกจากความงามขององค์พระนอนแล้ว ยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวของคนในชุมชน เพื่อขอพร สักการะ เพื่อเสริมเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิต ในส่วนประเพณี จะมีพิธีเปลี่ยนพระจีวร ในช่วงเดือนพฤศจิกายน หลังออกพรรษาของทุกปี

          นอกจากนี้วัดประคำสำโรงยังมีองค์เทพทันใจ หรือนัตโบโบยี ซึ่งเป็นเทวดาที่คอยอำนวยโชคลาภ เป็นที่ศรัทธาของคนทั่วไป เชื่อว่าเมื่อมากราบไหว้ขอพร จะได้รับพรสมใจสมชื่อเทพ เมื่อสมหวังจากการขอพรจะนำผลไม้ มะพร้าว กล้วยนาคสีแดง มาเป็นเครื่องบูชา เพราะเชื่อว่าเป็นผลไม้มงคล และเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ของชีวิต

          ทั้งนี้ยังมีต้นตะเคียน ที่มีอายุกว่า 100 ปี โดยมีที่มาของชาวบ้านเล่าขานกันว่ามีคนฝันว่ามีผู้หญิงอุ้มเด็กมาบอกว่าอยากขึ้นจากน้ำ โดยในฝันบอกว่ามีต้นตะเคียน จำนวน 6 ท่อน เมื่อรถแบคโฮเข้าไปทำงานก็พบไม้ขนาดเส้นรอบลำต้นประมาณ 200 ซม. ยาว 25 เมตร ทั้ง 6 ต้นตามที่ฝัน จากนั้นชาวบ้านได้ลงความเห็นว่าจะต้องเอามาเก็บไว้ที่วัดประคำสำโรง เพื่อให้เป็นสิริมงคลต่อหมู่บ้าน จากนั้นพระมหาวินัย ธรชาติ กิติธโร จึงสร้างพระนอนขึ้นมาโดยใช้ต้นตะเคียนทั้ง 6 ต้น ทำเป็นเสาอาคารพระนอน เพื่อให้เป็นสถานที่กราบไว้ขอพรและสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านตำบลตูมใหญ่สืบไป

2. ป่าอนุรักษ์สมุนไพร

          ป่าอนุรักษ์สมุนไพร ตั้งอยู่บ้านตูมใหญ่ หมู่ที่ 6 ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ในตำบลตูมใหญ่ ปัจจุบันเหลือป่าไม้ไม่มากนัก เนื่องจากเกิดการบุกรุกของชาวบ้านในพื้นที่ในอดีต ส่งผลให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงจัดตั้งโครงการพัฒนาชุมชนนี้ขึ้น เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทุกคนลงพื้นที่ติดป้ายชื่อพันธุ์พืชร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่และปราชญ์ชาวบ้านในเขตพื้นที่ปกป้องทรัพยากรท้องถิ่นบ้านตูมน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ในป่าอนุรักษ์นี้จะมีต้นไม้เล็กใหญ่มากมายหลากหลายพันธุ์ ซึ่งประกอบไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด ทั้งเถาวัลย์ ไม้เลื้อย และไม้ยืนต้น อาทิ ต้นแดง ต้นมะค่า ต้นติ้ว ต้นประดู่ ต้นดูกหิน ต้นโพธิ์ ต้นเครือไทรโยง ต้นเครือผักหวาน เป็นต้น ซึ่งพันธุ์พืชแต่ละชนิดก็จะมีลักษณะเด่นและมีสรรพคุณประโยชน์ที่แตกต่างกันไป

3. แกรนด์แคนยอนบุรีรัมย์ หรือ ละลุ

          แกรนด์แคนยอนบุรีรัมย์ หรือ ละลุ ตั้งอยู่บ้านกระทุ่มนอก หมู่ที่ 14 ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ การเดินทางเริ่มต้นจากศาลเจ้าพ่อหลวงอุดม เลี้ยวเข้าหมู่บ้านกระทุ่มนอกไปตามขอบสระของหมู่บ้าน จากนั้นเข้าไปลึกอีกประมาณ 300 เมตร จะสังเกตเห็นธารน้ำเล็กๆ ทางด้านขวามือ เพื่อเป็นการเพิ่มความท้าทายสำหรับคนที่ชอบธรรมชาติและรักในการเดินป่า เราจะใช้วิธีการเดินเท้าข้ามธารน้ำเล็กๆ ก่อนเข้าสู่พื้นที่จะมีเส้นทางการเดินเท้าขนาดเล็กให้ผู้ที่มาสัมผัสเดินเรียงแถวกันเหมือนมด เข้าสู่แกรนด์แคนยอน หรือละลุ

          แกรนด์แคนยอน หรือละลุ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ มีเนื้อที่ขนาดกว้าง สภาพดินเป็นดินผสม เมื่อถูกกัดเซาะจะมีลักษณะเป็นรูปทรงต่างๆ มีรูปทรงคล้ายกำแพงเมือง หรือหน้าผา ด้านบนมีต้นไม้ขนาดเล็กและมีหญ้าปกคลุมชั้นดิน ทำให้เกิดความสวยงาม และแปลกตาต่อผู้พบเห็น เวลาที่เหมาะสมต่อการไปท่องเที่ยว ถ่ายภาพ หรือพักผ่อน คือช่วงเช้าและช่วงเย็น ยามแสงแดดอ่อนๆ ของทุกวัน

          นับได้ว่าแกรนด์แคนยอน หรือละลุ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติของตำบลตูมใหญ่ ซึ่งควรแก่การอนุรักษ์ไว้สืบไป

4. ร้านอาหารครัวตูมใหญ่

          ร้านอาหารครัวตูมใหญ่ ตั้งอยู่บ้านตูมใหญ่ หมู่ที่ 6 ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นร้านอาหารตามสั่งในชุมชน มีเมนูที่หลากหลาย ทำสะอาด สดใหม่ อร่อยถูกปาก และราคาเป็นกันเอง เปิดให้บริการเวลา 08.00 – 19.00 น. เมนูแนะนำของทางร้าน คือ ข้าวขาหมู ขาหมู (กับข้าว) และกะเพราขาหมู อีกทั้งยังมีเมนูเส้นและเมนูอาหารตามสั่งต่างๆอีกมากมาย

5. วัดบ้านโนนเจริญ

          วัดบ้านโนนเจริญ ตั้งอยู่บ้านโนนเจริญ หมู่ที่ 10 ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์………………………………………………………………………………………………………………………………………………………

6. กลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองดุม

          กลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองดุม ตั้งอยู่บ้านหนองดุม หมู่ที่ 8 ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทอผ้ามือ และการย้อมสีธรรมชาติ เป็นหัตถกรรมที่ต้องมีการใช้ฝีไม้ลายมือในการทอผ้า มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ “ยกขิตลายดอกหญ้า” ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “หญ้าตีนตุ๊กแก” (Coat Buttons, หรือ Mexican daisy) ซึ่งเป็นไม้ล้มลุกที่พบมากในแถวบ้านเรา หญ้าตีนตุ๊กแกเป็นพืชที่ออกดอกตลอดทั้งปีและทนแล้งได้ดี

          ความพิเศษของดอกหญ้าชนิดนี้ คือ เมื่อพระอาทิตย์ลาลับไปแล้ว ดอกหญ้าก็จะก้มหน้าและโค้งงอลง เปรียบเหมือนการแสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนของต้นหญ้า ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยของคนในท้องถิ่นบ้านหนองดุม ที่สะท้อนออกมาผ่านลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม

          กรรมวิธีการทอและย้อมสีธรรมชาติ เป็นภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม สีที่นำมาย้อมจะเป็นสีที่ได้จากเปลือกไม้และใบไม้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น สีเขียวจากใบมะม่วง สีแดงจากเปลือกประดู่ สีเหลืองจากแก่นขนุน และสีน้ำตาลจากเปลือกมะพร้าว

          นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยจะมีผลิตภัณฑ์หลัก คือ ผ้าคลุมไหล่ และผ้าพันคอ เหมาะสำหรับคนรักษ์โลก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ราคาจับต้องได้ สินค้าดี มีคุณภาพ และได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน

7. แหล่งท่องเที่ยวหนองสิม

          หนองสิม ตั้งอยู่บ้านหนองดุม หมู่ที่ 8 ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพื้นที่แหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งมีบัวสีขาวนานาชนิดเกิดขึ้นเองภายในแหล่งน้ำ เมื่อถึงฤดูออกดอกหรือช่วงหน้าฝน จะพบว่ามีพันธุ์บัวสีขาวสวยขึ้นปกคลุมอยู่เต็มผืนน้ำ ซึ่งถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบที่น่าสนใจต่อการศึกษาระบบนิเวศ

8. กล้วยเบรกแตกบ้านใหม่เจริญสุข

          ผลิตภัณฑ์ชุมชนแปรรูปกล้วยเบรกแตก ตั้งอยู่บ้านใหม่เจริญสุข หมู่ที่ 19 ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ นายสมพร ดารินรัมย์ ได้คิดค้นสูตรการทำกล้วยฉาบเบรกแตก เพื่อเป็นการเสริมสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชน โดยคิดค้นกล้วยฉาบ 4 รสชาติ คือ กล้วยฉาบรสดั้งเดิม กล้วยฉาบรสหวาน กล้วยฉาบรสเค็ม และกล้วยฉาบรส 3 รส ดังนี้

กล้วยฉาบรสดั้งเดิม

          – มีกลิ่นหอมจากใบเตย

          – รสชาติกรอบมัน

          – เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพ

กล้วยฉาบรสหวาน

          – มีรสหวานจากน้ำตาลทรายขาว

          – รสชาติหวานกำลังดี ไม่หวานจนเกินไป

กล้วยฉาบรสเค็ม

          – อร่อยกลมกล่อม รสชาติเค็มกำลังดี

กล้วยฉาบรส 3 รส

          – รสชาติหอม หวาน เค็ม และมีกลิ่นเครื่องเทศเป็นเอกลักษณ์

กล้วยที่ใช้

          – เป็นกล้วยที่ปลูกในชุมชนโดยเฉพาะบ้านตูมน้อย หมู่ที่ 5

          – กล้วยที่ใช้เป็นการปลูกแบบปลอดสารพิษ

– กล้วยลูกใหญ่ เนื่องจากใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากธรรมชาติ (กล้วย 1 เครือ จะได้ประมาณ 8-10 หวี โดย 1 หวี จะมีถึง 10-15 ลูก)

การทำกล้วย

          – ปอกเปลือกแช่กล้วยในน้ำมะนาวเพื่อไม่ให้ฝาดและดำ แล้วนำไปล้างน้ำเปล่า

          – ฝานกล้วยและนำไปทอดในน้ำมันที่สะอาดและใหม่

          – เพิ่มกลิ่นหอมโดยการใช้ใบเตยสดและเนยหอมลงไปในน้ำมันขณะทอด

บรรจุภัณฑ์

          – บรรจุกล้วยฉาบเบรกแตกในถุงซิปล็อค

          – มีฉลาก ว/ด/ป ที่ผลิต

          – ขนาดห่อละ 180 กรัม ราคาห่อละ 35 บาท 4 ห่อ 100 บาท

          – 1 กิโลกรัม ราคา 120 บาท

สถานที่จำหน่าย

          – สามารถสั่งซื้อได้ที่กลุ่มสัมมาชีพชุมชนบ้านใหม่เจริญสุข ตั้งอยู่หมู่ที่ 19 บ้านใหม่เจริญสุข

          – หรือสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ที่ เพจ “ของดีตูมใหญ่”

9. ตลาดตูมใหญ่รักศรัทธา

          ตลาดตูมใหญ่รักศรัทธา ตั้งอยู่บ้านตูมน้อย หมู่ที่ 5 ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เปิดตัวขึ้นเมื่อปี 2563 เป็นตลาดนัดชุมชนที่เปิดทุกวัน เวลา 15.00 – 19.00 น. ปัจจุบันเป็นถนนคนเดินตูมใหญ่รักศรัทธา มีร้านค้ามากกว่า 116 ร้าน ตั้งอยู่บริเวณบ้านกรูด หมู่ที่ 12 บนถนนเส้นหลังโรงเรียนบ้านตูม ช่วงศูนย์เด็กเล็กเก่าไปจนถึงประตูหลังโรงเรียนบ้านตูม

          ภายในตลาดมีการตกแต่งที่สร้างสรรค์สวยงาม ให้ความรู้สึกถึงบรรยากาศแบบพื้นบ้าน โดยมีการใช้หวดนึ่งข้าวมาตกแต่งเป็นโคมไฟ รวมถึงมีการตกแต่งภายในตลาดด้วยผ้าขาวม้าและหลอดไฟดวงเล็กเพื่อความสวยงาม เมื่อท่านมาถึงตลาด จะได้พบสินค้าและอาหารมากมายหลากหลายอย่าง ซึ่งเอกลักษณ์ของตลาดถนนคนเดินตูมใหญ่รักศรัทธา คือ พืชผักพื้นบ้าน หรือพืชผักตามฤดูกาลที่มีความสดใหม่และสะอาด หากท่านมาเยือนช่วงฤดูร้อน ท่านจะได้เลือกซื้ออาหารพื้นบ้านตามฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็น ไข่มดแดง แมงดา หรือแมงตับเต่า อาหารพื้นบ้านช่วงฤดูฝนจะพบ หน่อไม้ ผักติ้ว ผักหวาน หรือดอกกระเจียว ช่วงปลายฝนต้นหนาวจะพบ เห็ดขอน เห็ดขม เห็ดไค เห็ดปลวก หรือเห็ดละโงก ส่วนช่วงฤดูหนาวท่านจะได้เลือกซื้อปูนา ปลาน้ำแห้ง แมงจีซอน หรือหนูนา เป็นต้น

          ลูกค้าแต่ละท่านที่มาเลือกจับจ่ายใช้สอยมีหลากหลายกลุ่มทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มคนชอบสังสรรค์ ภายในตลาดจะมีอาหารจำพวกหมึกย่างน้ำจิ้มรสเด็ด หม่าล่า ต้มแซ่บ ต้มขม หรือลาบเป็ด กลุ่มคนรักครอบครัว จะมีอาหารจำพวกข้าวแกงปักษ์ใต้ หรือไก่ทอด กลุ่มสายหวาน จะมีร้านขนมเบเกอรี่ โรตี ขนมดอกบัว ดอกจอก และขนมครกให้เลือกซื้อ ซึ่งลูกค้าที่มาเลือกซื้อสินค้าชุมชนที่ตลาดถนนคนเดินตูมใหญ่รักศรัทธา สามารถเลือกซื้อสินค้าที่อร่อย สดใหม่ สะอาด และราคาถูกได้มากมายหลากหลายประเภทตามความต้องการ นอกจากนั้นยังได้สัมผัสกับบรรยากาศชุมชนท้องถิ่นที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มของพ่อค้าแม่ค้าภายในตลาดอีกด้วย

3. ผลจากการสำรวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19

          จากการสำรวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ในเดือนธันวาคม พบว่า ชาวบ้านในชุมชนทราบถึงข่าวเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดในปัจจุบัน และตระหนักถึงการป้องกันตนเองเป็นอย่างดี ว่าควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อต้องไปอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของโรคระบาด เช่น การเว้นระยะห่าง การล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ การสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการประชุมหมู่บ้าน การเข้าวัดทำบุญ การจ่ายตลาดในชุมชน รวมไปถึงการใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร เป็นต้น

          ทั้งนี้ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่ไม่มีการออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ อาจสืบเนื่องมาจากลักษณะของการทำงาน กลุ่มอาชีพ และข้อจำกัดด้านเวลาหรือการประกอบอาชีพที่แตกต่างกัน รวมถึงชาวบ้านบางส่วนไม่สามารถสวมหน้ากากอนามัยได้ตลอดเวลา เนื่องจากสภาพอากาศร้อน ทำให้การหายใจไม่สะดวก นอกจากนั้นชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีภาวะความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 และการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งควรมีแผนการพัฒนาด้านสุขภาพของคนในชุมชนต่อไป โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจัดตั้งโครงการเต้นแอโรบิคเพื่อสุขภาพ เพื่อให้คนในชุมชนและกลุ่มผู้สูงอายุหันมาออกกำลังกายเพื่อให้มีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดี

          นอกจากนี้การลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ยังส่งผลให้ทราบถึงความคิดเห็นของชาวบ้านตำบลตูมใหญ่เกี่ยวกับการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ในรูปแบบต่างๆ ทั้งด้านบวกและด้านลบ ซึ่งวัคซีนที่รัฐบาลนำเข้ามาทุกชนิด เป็นวัคซีนที่มีคุณภาพ ได้มีการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขว่ามีความปลอดภัย และเป็นวัคซีนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกในทุกวันนี้ แต่ยังมีชาวบ้านบางส่วนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับตัววัคซีนที่รัฐบาลนำเข้ามา เนื่องจากมีการเสพข่าวสารในสื่อสังคม หรือโซเชียลมีเดียค่อนข้างมากและหลากหลายช่องทาง ส่งผลให้ทางคณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) ได้เข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 พร้อมกับให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจในการลงชื่อเข้ารับวัคซีน การปฏิบัติตนก่อนและหลังการเข้ารับวัคซีน และผลข้างเคียงหลังจากการเข้ารับวัคซีน ให้กับผู้ใหญ่บ้านตำบลตูมใหญ่ทุกหมู่บ้าน ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง และสามารถนำข้อมูลไปเผยแพร่ให้กับลูกบ้านหรือประชาชนในตำบลตูมใหญ่ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต่อไป

4. ปัญหา อุปสรรคในการทำงาน และการแก้ไขปัญหา

          จากการลงพื้นที่ในช่วงเดือนธันวาคม ในส่วนของกิจกรรมการสร้างอาชีพใหม่ด้านการปศุสัตว์ (สัตว์น้ำ) พบปัญหาด้านการเชิญชวนให้เกษตรกลุ่มเป้าหมายมาเข้าร่วมกิจกรรมค่อนข้างยากพอสมควร เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆที่มีความรุนแรงมากขึ้น และมีอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนเกิดความวิตกกังวลในการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกัน ทางคณะผู้ปฏิบัติงานจึงมีการแก้ไขปัญหาโดยมีมาตรการในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างดี โดยมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนการเข้าร่วมกิจกรรมการอบรม การให้ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากากอนามัย และมีการจัดที่นั่งในการอบรมแบบเว้นระยะห่าง เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เบื้องต้น

5. สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

          จากการลงพื้นที่ในเดือนธันวาคม ได้เรียนรู้วิธีการผลิตสูตรอาหารสัตว์น้ำแบบพื้นบ้าน เพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าอาหาร และช่วยเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชน ได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมทั้งได้เรียนรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและวิธีการแก้ไขปัญหาของการลงพื้นที่ในช่วงโรคโควิด-19 แพร่ระบาด

6. แผนการดำเนินงานต่อไป

          คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีการวางแผนการดำเนินงานต่อไป ดังนี้

1. คืนองค์ความรู้ทั้งหมดให้กับชุมชน เพื่อเป็นการนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาต่อไป

2. จัดกิจกรรม One Day Trip ท่องเที่ยวศูนย์การเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของตำบล โดยการพาเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ชุมชนที่น่าสนใจแบบวันเดียวไปเช้าเย็นกลับ ตามแผนที่วางไว้

3. จัดทำรายงานสรุปแผนการดำเนินงาน เพื่อจัดทำรูปเล่มรายงานปิดโครงการ

4. นำเสนอผลการปฏิบัติงานประจำเดือนธันวาคมต่อคณะกรรมการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 มหาวิทยาลัย 1 ตำบล (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ)

 

 

 

 

อื่นๆ

เมนู