1. หน้าแรก
  2. คณะเทคโนโลยีการเกษตร
  3. AG01(1) - ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง
  4. บทความประจำเดือนสิงหาคม 2564 กลุ่ม AGO1(1) กิจกรรมการย้อมสีธรรมชาติ และกิจกรรมการออกแบบลายผ้า ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

บทความประจำเดือนสิงหาคม 2564 กลุ่ม AGO1(1) กิจกรรมการย้อมสีธรรมชาติ และกิจกรรมการออกแบบลายผ้า ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

บทความประจำเดือนสิงหาคม 2564

กิจกรรมการย้อมสีธรรมชาติ และกิจกรรมการออกแบบลาย

กลุ่ม AGO1(1) ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

 

            ดิฉัน นางสาวอธิฏฐา สุทธิมาลา ผู้ปฏิบัติงานประเภทประชาชน ทำงานภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ระยะเวลาโครงการ 11 เดือน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ในเขตพื้นที่ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 19 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองบัว บ้านสวายสอ บ้านกระทุ่ม บ้านปะคำสำโรง บ้านตูมน้อย บ้านตูมใหญ่ บ้านทุ่งสว่าง บ้านหนองดุม บ้านหนองตาด บ้านโนนเจริญ บ้านปะคำดง บ้านกรูด บ้านหนองไผ่ดง บ้านกระทุ่มนอก บ้านโคกสำราญ บ้านเมืองกับ บ้านแคนเจริญ บ้านหนองบัวพัฒนา และบ้านใหม่เจริญสุข

            ในการปฏิบัติงานดิฉันได้รับมอบหมายในการปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบในกิจกรรมการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติ และการออกแบบลายผ้าทอมือ ของกลุ่มทอผ้ามือ (ผ้าไหม/ผ้าฝ้าย) จำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทอผ้ามือบ้านหนองบัว บ้านตูมน้อย บ้านหนองดุม และบ้านปะคำดง โดยจัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือของกลุ่มให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของกลุ่มผู้บริโภคและผู้สวมใส่ โดยใช้วัสดุทางธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรที่มีในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ การใช้สีธรรมชาติในการย้อมเส้นใยผ้า เพื่อความปลอดภัยจากสารเคมีและสีสังเคราะห์  โดยใส่ใจสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ผลิตและผู้สวมใส่เป็นหลัก รวมทั้งการฝึกให้ผู้เข้าร่วมอบรมเรียนรู้กระบวนการในการออกแบบลายผ้าอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถออกแบบลายผ้าที่มีเอกลักษณ์เป็นของกลุ่มหรือตนเองได้ โดยใช้เทคนิคการใช้กราฟเพื่อช่วยในการออกแบบลายผ้า และการพัฒนาลายผ้าเดิมให้สวยงามมากขึ้น

            นอกจากนี้ยังมีการจัดทำสื่อวีดีทัศน์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์ชุมชนในท้องถิ่น การจัดทำโปสเตอร์ การจัดทำแผ่นพับ และการเผยแพร่สื่อต่างๆ ผ่านระบบ Facebook และสื่อออนไลน์ต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อให้มีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น

            ทั้งนี้ยังมีการรณรงค์ให้คนในชุมชนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค Covid-19 เพื่อเป็นการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงชื่อในการเข้ารับวัคซีน การปฏิบัติตนก่อนและหลังการเข้ารับการฉีดวัคซีน และผลข้างเคียงหลังจากการฉีดวัคซีน Covid-19 ให้กับชาวตำบลตูมใหญ่ โดยผู้อำนวยการสาธารณะสุขชุมชนตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ อีกด้วย

1.กิจกรรมและแผนการดำเนินงานของโครงการAG01(1) ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

            อาจารย์ประจำหลักสูตรได้จัดประชุมแบบออนไลน์ผ่านระบบ Google Meet เพื่อชี้แจงรายละเอียดแผนการปฏิบัติงานในเดือนสิงหาคม และชี้แจงรายละเอียดกำหนดการเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการย้อมสีธรรมชาติ และการออกแบบลายผ้าทอมือ

            คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) ได้มีการประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านและเจ้าอาวาสผู้ดูแลวัดบ้านหนองดุม เพื่อขอใช้พื้นที่หอประชุมในการจัดกิจกรรมการอบรม

            คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) พร้อมกับอาจารย์ประจำหลักสูตร เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการย้อมสีธรรมชาติ โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ

            คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) พร้อมกับอาจารย์ประจำหลักสูตร เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบลายผ้าทอมือ โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ

            คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) พร้อมกับคณะผู้ปฏิบัติงานองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่บางส่วน ลงพื้นที่จิตอาสาเพื่อสำรวจพรรณไม้ชนิดต่างๆ และติดป้ายต้นไม้พร้อมกับบันทึกข้อมูลต้นไม้ ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ

            อาจารย์ประจำหลักสูตรมีการจัดประชุมแบบออนไลน์ผ่านระบบ Google Meet เพื่อวางแผนการปฏิบัติงานในครั้งถัดไป คือ การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในเรื่องของการออกแบบโครงสีสำหรับผ้าทอมือของกลุ่มหรือชุมชน การออกแบบโลโก้ การขอขึ้นทะเบียนตราสินค้าผ้าทอมือ และจัดทำบทความรายงานผลการปฏิบัติงานประจำเดือนสิงหาคม

            ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลแต่ละครั้ง ได้ทำการประสานงานกับรองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ เพื่อแจ้งรายละเอียดในการขอลงพื้นที่และการขอใช้สถานที่ เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมการอบรมทุกครั้ง

          ในส่วนของการพัฒนาทักษะทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านดิจิทัล (Digital Literacy) ด้านภาษาอังกฤษ (Language Literacy) ด้านการเงิน (Financial Literacy) และด้านสังคม (Social Literacy) ดิฉันได้ทำการพัฒนาทักษะครบ 100% และได้ทำการศึกษา TDGA เพิ่มเติมตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์กำหนดครบ 100%

2.ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการย้อมสีธรรมชาติ และการออกแบบลายผ้าทอมือ ของกลุ่มทอผ้ามือ (ผ้าไหม/ผ้าฝ้าย)

การทอผ้ามือของตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีกลุ่มทอผ้ามือทั้งหมดจำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่

    1. กลุ่มทอผ้ามือบ้านหนองบัว
    2. กลุ่มทอผ้ามือบ้านตูมน้อย
    3. กลุ่มทอผ้ามือบ้านหนองดุม
    4. กลุ่มทอผ้ามือบ้านปะคำดง

กิจกรรมการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติ

            จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการทอผ้ามือมาวิเคราะห์สังเคราะห์ปัญหา พบว่า กลุ่มทอผ้ามือทั้ง 4 หมู่บ้าน สมาชิกกลุ่มยังมีการใช้สารเคมีและสีสังเคราะห์ในการย้อมเส้นใยผ้า และมีการใช้ในปริมาณที่มาก เพื่อต้องการให้ได้สีที่มีความชัดเจนสวยงาม ส่งผลให้อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ผลิตและผู้สวมใส่ได้เป็นอย่างมาก คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) พร้อมกับอาจารย์ประจำหลักสูตรจึงอยากให้มีการผลิตอุตสาหกรรมผ้าที่ถูกต้องและปลอดภัยให้แก่ชุมชน โดยได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการย้อมสีธรรมชาติ โดยฝึกให้ผู้เข้าร่วมอบรมเรียนรู้กระบวนการในการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติ เพื่อที่จะนำความรู้และวิธีการที่ได้ไปใช้ในการผลิตอุสาหกรรมผ้าของกลุ่มหรือของตนเองได้ ซึ่งให้ความรู้ความเข้าใจโดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์ ในเรื่องของการฟอกและการย้อมสีเส้นด้ายเรยอน โดยให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชนิดของเส้นใย การฟอกเส้นด้ายด้วยวิธีต่างๆ และขั้นตอนในการย้อมสีธรรมชาติ

กิจกรรมการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย

            จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการทอผ้ามือมาวิเคราะห์สังเคราะห์ปัญหา พบว่า กลุ่มทอผ้ามือทั้ง 4 หมู่บ้าน นอกจากสมาชิกกลุ่มยังมีการใช้สารเคมีและสีสังเคราะห์ในการย้อมเส้นใยผ้าแล้ว กลุ่มยังไม่มีลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของกตนเอง คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) พร้อมกับอาจารย์ประจำหลักสูตรจึงได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย โดยฝึกให้ผู้เข้าร่วมอบรมเรียนรู้กระบวนการในการออกแบบลายผ้าอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถออกแบบลายผ้าที่มีเอกลักษณ์เป็นของกลุ่มหรือตนเองได้ และสามารถใช้กราฟเพื่อช่วยในการออกแบบลายผ้าและการพัฒนาลายผ้าเดิมให้สวยงามมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาลายผ้าให้มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์จะช่วยทำให้สินค้ามีคุณค่าและน่าสนใจ ทำให้เพิ่มโอกาสในการเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น โดยให้ความรู้ความเข้าใจโดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอ ในเรื่องของการออกแบบลายผ้าทอมือ

รูปแบบลวดลาย

    1. ลายแถบแนวนอน เกิดจากการผูกประกอบลายเรียงต่อกันในแนวนอน
    2. ลายแถบแนวตั้ง เกิดจากการผูกประกอบลายเรียงต่อกันยาวตามแนวตั้ง
    3. ลายแถบแนวเฉียง เกิดจากการผูกประกอบลายเรียงต่อกันเอียงจากแนวไปทางใดทางหนึ่ง
    4. ลายแถบลักษณะเส้นหยก หรือเส้นซิกแซก เกิดจากการผูกประกอบลายเรียงต่อกันในลักษณะสลับฟันปลา
    5. ลายแถบลักษณะตาหมากรุก เกิดจากการผูกประกอบลายลงในพื้นที่ที่เป็นช่องสี่เหลี่ยมตารางเล็กๆ ที่เท่ากัน โดยสลับลายกับช่องว่างเหมือนตารางหมากรุก
    6. ลายแถบลักษณะขั้นบันได เกิดจากการผูกประกอบลายเรียงต่อกันลดหลั่นกันเป็นลำดับไปตามแนวเฉียง
    7. ลายที่มีลักษณะเป็นแผ่นผืน เกิดจากการจัดประกอบตัวลาย หรือแม่ลายต่อเข้าด้วยกันจนเต็มพื้นที่ต่อเนื่องสัมพันธ์กัน

การจัดวางทิศทางของลวดลาย

    1.  วางลายตั้งขึ้นในทิศทางเดียวกัน (One way)
    2. วางลายสลับหัวท้ายกัน (Two way)
    3. วางลายสลับบน-ล่าง ซ้าย-ขวา (Four way)
    4. วางลายในทุกทิศทาง (Tossed)

เทคนิคการออกแบบลวดลายจากแม่ลาย

          เทคนิคการออกแบบลวดลายจากแม่ลาย คือ การสร้างลายธรรมดาที่มีลักษณะเรียบง่ายขึ้นเพียง 1 รูป แล้วผูกเป็นลวดลายต่างๆ ด้วยวิธีการ เช่น การเรียงลำดับ การสลับซ้ายขวา การหมุนรอบจุด จนทำให้เกิดลวดลายใหม่ได้ต่อไปอีก

    1. การหาแม่ลายจากส่วนหนึ่งของลาย และสร้างลายลงในตาราง
    2. การจัดวางทิศทางของแม่ลาย
    3. การประกอบแม่ลายเป็นรูปร่าง
    4. การดัดแปลง
    5. การวางลาย
    6. การวางลายให้สัมพันธ์กับความกว้างของหน้าผ้า
    7. การกำหนดขนาดของลาย = การนับลำหมี่

3.ผลจากการสำรวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19

            จากการสำรวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ในเดือนสิงหาคม พบว่า ชาวบ้านในชุมชนทราบถึงข่าวเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดในปัจจุบัน และตระหนักถึงการป้องกันตนเองเป็นอย่างดี ว่าควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อต้องไปอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของโรคระบาด เช่น การเว้นระยะห่าง การล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ การสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการประชุมหมู่บ้าน การเข้าวัดทำบุญ การจ่ายตลาดในชุมชน รวมไปถึงการใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร เป็นต้น

            ทั้งนี้ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่ไม่มีการออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ อาจสืบเนื่องมาจากลักษณะของการทำงาน กลุ่มอาชีพ และข้อจำกัดด้านเวลาหรือการประกอบอาชีพที่แตกต่างกัน รวมถึงชาวบ้านบางส่วนไม่สามารถสวมหน้ากากอนามัยได้ตลอดเวลา เนื่องจากสภาพอากาศร้อน ทำให้การหายใจไม่สะดวก นอกจากนั้นชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีภาวะความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 และการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง

4.ปัญหา อุปสรรคในการทำงาน และการแก้ไขปัญหา

           จากการลงพื้นที่ในช่วงเดือนสิงหาคม ในส่วนของกิจกรรมการย้อมสีธรรมชาติ และกิจกรรมการออกแบบลายผ้าทอมือ พบปัญหาด้านการเชิญชวนให้สมาชิกกลุ่มทอผ้ามือแต่ละกลุ่มมาเข้าร่วมกิจกรรมค่อนข้างยากพอสมควร เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆที่มีความรุนแรงมากขึ้น และมีอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง ส่งผลให้สมาชิกบางส่วนเกิดความวิตกกังวลในการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกัน ทางคณะผู้ปฏิบัติงานจึงมีการแก้ไขปัญหาโดยมีมาตรการในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างดี โดยมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ก่อนการเข้าร่วมกิจกรรมการอบรม การให้ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากากอนามัย และมีการจัดที่นั่งในการอบรมแบบเว้นระยะห่าง เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เบื้องต้น

5.สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

            1.ได้เรียนรู้วิธีการย้อมสีจากธรรมชาติ

            2.ได้เรียนรู้วิธีการออกแบบลายเพื่อให้เกิดความแปลกใหม่

            3.ได้เรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกัน

            4.ได้เรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อต้องตัดสินใจ

6. แผนการดำเนินงานต่อไป

คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีการวางแผนการดำเนินงานในเดือนถัดไป ดังนี้

  1. นำเสนอโครงการต่อองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ เพื่อพิจารณาการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบโครงสีสำหรับผ้าทอมือของกลุ่มหรือชุมชน การออกแบบโลโก้ การขอขึ้นทะเบียนตราสินค้าผ้าทอมือ และกิจกรรมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ผ้าทอมือ โดยกลุ่มทอผ้ามือ จำนวน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองบัว บ้านตูมน้อย บ้านหนองดุม และบ้านปะคำดง
  2. วันที่ 20 สิงหาคม 2564 การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบโครงสีสำหรับผ้าทอมือของกลุ่มหรือชุมชน
  3. วันที่ 27 สิงหาคม 2564 การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบโลโก้ การขอขึ้นทะเบียนตราสินค้าผ้าทอมือ
  4. วันที่ 17 กันยายน 2564 การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ผ้าทอมือ

หมายเหตุ : แผนการดำเนินงานอาจมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมตามสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

อื่นๆ

เมนู