1. หน้าแรก
  2. คณะเทคโนโลยีการเกษตร
  3. AG01(1) - ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง
  4. บทความประจำเดือน สิงหาคม 2564 กลุ่ม AGO1(1) กิจกรรมการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติ และกิจกรรมการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

บทความประจำเดือน สิงหาคม 2564 กลุ่ม AGO1(1) กิจกรรมการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติ และกิจกรรมการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

บทความประจำเดือน สิงหาคม 2564

กิจกรรมการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติ

และกิจกรรมการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย

กลุ่ม AGO1(1) ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

          ดิฉัน นางสาวบุณฑริกา ต้ายไธสง ผู้ปฏิบัติงานประเภทบัณฑิตจบใหม่ ทำงานภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ระยะเวลาโครงการ 11 เดือน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ในเขตพื้นที่ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 19 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองบัว บ้านสวายสอ บ้านกระทุ่ม บ้านปะคำสำโรง บ้านตูมน้อย บ้านตูมใหญ่ บ้านทุ่งสว่าง บ้านหนองดุม บ้านหนองตาด บ้านโนนเจริญ บ้านปะคำดง บ้านกรูด บ้านหนองไผ่ดง บ้านกระทุ่มนอก บ้านโคกสำราญ บ้านเมืองกับ บ้านแคนเจริญ บ้านหนองบัวพัฒนา และบ้านใหม่เจริญสุข

          ในการปฏิบัติงานดิฉันได้รับมอบหมายในการปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบในกิจกรรมการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติ และการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย ของกลุ่มทอผ้ามือ (ผ้าไหม/ผ้าฝ้าย) จำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทอผ้ามือบ้านหนองบัว บ้านตูมน้อย บ้านหนองดุม และบ้านปะคำดง โดยจัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือของกลุ่มให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของกลุ่มผู้บริโภคและผู้สวมใส่ โดยใช้วัสดุทางธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรที่มีในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ การใช้สีธรรมชาติในการย้อมเส้นใยผ้า เพื่อความปลอดภัยจากสารเคมีและสีสังเคราะห์  โดยใส่ใจสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ผลิตและผู้สวมใส่เป็นหลัก รวมทั้งการฝึกให้ผู้เข้าร่วมอบรมเรียนรู้กระบวนการในการออกแบบลายผ้าอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถออกแบบลายผ้าที่มีเอกลักษณ์เป็นของกลุ่มหรือตนเองได้ โดยใช้เทคนิคการใช้กราฟเพื่อช่วยในการออกแบบลายผ้า และการพัฒนาลายผ้าเดิมให้สวยงามมากขึ้น

          นอกจากนี้ยังมีการจัดทำสื่อวีดีทัศน์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์ชุมชนในท้องถิ่น การจัดทำโปสเตอร์ การจัดทำแผ่นพับ และการเผยแพร่สื่อต่างๆ ผ่านระบบ Facebook และสื่อออนไลน์ต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อให้มีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น

          ทั้งนี้ยังมีการรณรงค์ให้คนในชุมชนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค Covid-19 เพื่อเป็นการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงชื่อในการเข้ารับวัคซีน การปฏิบัติตนก่อนและหลังการเข้ารับการฉีดวัคซีน และผลข้างเคียงหลังจากการฉีดวัคซีน Covid-19 ให้กับชาวตำบลตูมใหญ่ โดยผู้อำนวยการสาธารณะสุขชุมชนตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ อีกด้วย

 

1. กิจกรรมและแผนการดำเนินงานของโครงการAG01(1) ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

          อาจารย์ประจำหลักสูตรได้มีการจัดประชุมแบบออนไลน์ผ่านระบบ Google Meet เพื่อชี้แจงรายละเอียดแผนการปฏิบัติงานในเดือนสิงหาคม และชี้แจงรายละเอียดกำหนดการเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติ และการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย

          คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) ได้มีการประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านและเจ้าอาวาสผู้ดูแลวัดบ้านหนองดุม เพื่อขอใช้พื้นที่หอประชุมในการจัดกิจกรรมการอบรม

          คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) พร้อมกับอาจารย์ประจำหลักสูตร เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติ โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์

          คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) พร้อมกับอาจารย์ประจำหลักสูตร เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์

          คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) พร้อมกับคณะผู้ปฏิบัติงานองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่บางส่วน ลงพื้นที่จิตอาสาเพื่อสำรวจพรรณไม้ชนิดต่างๆ และติดป้ายต้นไม้พร้อมกับบันทึกข้อมูลต้นไม้ ในเขตปกปักษ์รักษาทรัพยากรท้องถิ่น ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ

          อาจารย์ประจำหลักสูตรมีการจัดประชุมแบบออนไลน์ผ่านระบบ Google Meet เพื่อวางแผนการปฏิบัติงานในครั้งถัดไป คือ การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในเรื่องของการออกแบบโครงสีสำหรับผ้าทอมือของกลุ่มหรือชุมชน การออกแบบโลโก้ การขอขึ้นทะเบียนตราสินค้าผ้าทอมือ และจัดทำบทความรายงานผลการปฏิบัติงานประจำเดือนสิงหาคม

          ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลแต่ละครั้ง ได้ทำการประสานงานกับรองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ เพื่อแจ้งรายละเอียดในการขอลงพื้นที่และการขอใช้สถานที่ เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมการอบรมทุกครั้ง

          ในส่วนของการพัฒนาทักษะทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านดิจิทัล (Digital Literacy) ด้านภาษาอังกฤษ (Language Literacy) ด้านการเงิน (Financial Literacy) และด้านสังคม (Social Literacy) ดิฉันได้ทำการพัฒนาทักษะครบ 100% และได้ทำการศึกษา TDGA เพิ่มเติมตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์กำหนดครบ 100%

2. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติ และการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย ของกลุ่มทอผ้ามือ (ผ้าไหม/ผ้าฝ้าย)

          การทอผ้ามือของตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีกลุ่มทอผ้ามือทั้งหมดจำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่มทอผ้ามือบ้านหนองบัว

2. กลุ่มทอผ้ามือบ้านตูมน้อย

3. กลุ่มทอผ้ามือบ้านหนองดุม

4. กลุ่มทอผ้ามือบ้านปะคำดง

กิจกรรมการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติ

          จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการทอผ้ามือมาวิเคราะห์สังเคราะห์ปัญหา พบว่า กลุ่มทอผ้ามือทั้ง 4 หมู่บ้าน สมาชิกกลุ่มยังมีการใช้สารเคมีและสีสังเคราะห์ในการย้อมเส้นใยผ้า และมีการใช้ในปริมาณที่มาก เพื่อต้องการให้ได้สีที่มีความชัดเจนสวยงาม ส่งผลให้อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ผลิตและผู้สวมใส่ได้เป็นอย่างมาก คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) พร้อมกับอาจารย์ประจำหลักสูตรจึงอยากให้มีการผลิตอุตสาหกรรมผ้าที่ถูกต้องและปลอดภัยให้แก่ชุมชน โดยได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติ โดยฝึกให้ผู้เข้าร่วมอบรมเรียนรู้กระบวนการในการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติ เพื่อที่จะนำความรู้และวิธีการที่ได้ไปใช้ในการผลิตอุสาหกรรมผ้าของกลุ่มหรือของตนเองได้ ซึ่งให้ความรู้ความเข้าใจโดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์ ในเรื่องของการฟอกและการย้อมสีเส้นด้ายเรยอน โดยให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชนิดของเส้นใย การฟอกเส้นด้ายด้วยวิธีต่างๆ และขั้นตอนในการย้อมสีธรรมชาติ ดังนี้

ชนิดของเส้นใย

          1. ซีกวง หรือ เรยอน ถือว่าเป้นเส้นด้ายยอดนิยมในการย้อมสีธรรมชาติ เพราะย้อมติดสีง่าย เมื่อทอเป็นผืนผ้าแล้วมีน้ำหนัก เงาวาว เนื้อนุ่มลื่น และเย็น จึงเป็นที่ชื่นชอบทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เรยอนเป็นเส้นใยไฟเบอร์ที่สร้างขึ้นโดยการนำเอาเปลือกไม้ในสารเคมีแล้วจึงเอาเรยอนเหลวมาฉีดออกมาเป็นเส้นใย วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมักจะใช้เศษเส้นด้าย หรือเปลือกไม้ต่างๆ นำมาปั่น และใส่ใช้สารเคมีในปริมาณสูง ทำให้เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้สารโซดาไฟมาย่อยสลาย และใส่กรดกำมะถันเข้มข้น ช่วยทำให้ผ้ามีความเงางาม นุ่มลื่น เส้นใยมีความเงามันคล้ายไหม ดูดความชื้นและระบายความร้อนออกได้ดี ดูดซับน้ำได้ดี เปื่อยง่าย ทนความร้อน ทำให้รู้สึกมีมูลค่ามากกว่าฝ้ายธรรมดา เส้นใยเรยอนมีจำหน่ายทั้งเป็นหลอดและไจ

          2. ฝ้ายระหัน หรือ ฝ้ายทีซี เป็นเส้นใยที่ผสมกันระหว่างเส้นใยฝ้าย Cotton 100% กับเส้นใยสังเคราะห์ ผ่านกระบวนการจากโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้มีขนาดเท่ากันตลอดทั้งเส้น โดยมีขนาดเส้นเล็กและมีการตีเกลียวให้แน่นกว่าปกติ จึงนิยมใช้ในการทอผ้าเนื่องจากมีความเหนียวมากกว่าด้ายที่ปั่นเองตามหมู่บ้าน

การฟอกเส้นด้าย

          ฝ้ายเป็นเส้นใยที่รู้จักและใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณจนกระทั่งถึงปัจจุบัน แม้จะมีเส้นใยชนิดใหม่ๆ เกิดขี้นมาก แต่ฝ้ายก็ยังคงเป็นที่นิยมใช้กันมากที่สุด และจัดเป็นเส้นใยธรรมชาติที่ได้จากพืช เป็นเส้นใยของเซลลูโลส ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ของกลูโคส ฝ้านมีความคงทนต่อสารฟอกขาวทุกชนิด ทั้งชนิดที่เป็นสารฟอกขาวประเภทคลอรีน เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรท์ และสารฟอกขาวประเภทออกซิเจน เช่น ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ มีความทนต่อด่างได้ดี แต่ไม่ทนต่อกรดแก่ ทนต่อความร้อนแสงแดดได้ดี แสงแดดไม่ทำอันตรายต่อผ้าที่ตากแดดจนแห้ง แต่ถ้าปล่อยให้ถูกแสงสว่างเป็นระยะเวลานานและตลอดเวลา จะทำให้เซลลูโลสถูกออกซิไดซ์ ส่งผลให้ผ้าลดความเหนียวได้ และเปลี่ยนเป็นสีเหลือง การซักตากผ้าฝ้ายควรให้แห้งสนิท การรีดควรรีดใช้อุณหภูมิ 200 องศาเซลเซียส

          การทำความสะอาดเส้นด้ายฝ้ายเพื่อกำจัดแว็กซ์ไขมันหรือสิ่งสกปรกที่เคลือบอยู่บนเส้นด้าย มี 2 วิธี คือ

1. วิธีปกติ

          1.1 นำเส้นฝ้าย/ผ้าฝ้าย มาซักกับน้ำและผงซักฟอก โดยใช้ผงซักฟอก 100 กรัม ต่อฝ้ายดิบ 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 30 ลิตร

          1.2 แช่ทิ้งไว้ 30-60 นาที

          1.3 นำมาซักน้ำเพื่อล้างเอาผงซักฟอกออก

2. วิธีเพิ่มด่าง

          2.1 ละลายผงซักฟอก (หรือใช้สบู่ซักผ้า) 50 กรัม เติมโซดาไฟ 1 ช้อนโต๊ะ และโซดาแอช 20 ช้อนโต๊ะ ในน้ำ 20 ลิตร ต่อฝ้าย 1 กิโลกรัม

          2.2 นำฝ้ายดิบลงซักในน้ำเย็น ให้เส้นฝ้ายเปียกน้ำให้ทั่ว

          2.3 ค่อยๆ เพิ่มความร้อนจนเดือนเบาๆ ต้มต่อไปอีกครึ่งชั่วโมง

          2.4 นำเส้นฝ้ายขึ้นมาวางทิ้งไว้ เพื่อให้เย็นตัวลง ก่อนนำไปล้างโดยล้างจากน้ำอุ่น ไปหาน้ำเย็น (ล้างด้วยน้ำอุ่น 60 องศาเซลเซียส ประมาณ 2-3 ครั้ง ก่อนนำไปล้างด้วยน้ำเย็นอุณหภูมิห้อง) บิดหมาดๆ และกระตุกเส้นฝ้าย 2-3 ครั้ง เพื่อให้เส้นฝ้ายเรียงตัว นำไปตากแห้ง หากยังไม่ย้อมให้เก็บไว้อย่าให้โดนฝุ่น

          ทั้งนี้ สามารถทดสอบเส้นด้ายฝ้ายก่อนย้อมว่าล้างไขมันออกหมดหรือไม่ โดยเส้นด้ายที่ล้างไขมันออกหมดแล้วจะจมน้ำทั้งหมด และเส้นด้ายฝ้ายที่ผึ่งแห้งแล้วควรจมน้ำภายใน 10 นาที ปัจจัยที่มีผลต่อการล้างไขมันคือ อุณหภูมิ เวลา ความเข้มข้น (ของสบู่ ผงซักฟอก ด่าง) การเพิ่มปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งสามารถลดปัจจัยอื่นๆ ได้ เช่น การใช้เวลาในการแช่เส้นด้ายฝ้ายนานขึ้น ทำให้สามารถใช้สบู่น้อยลง และใช้อุณหภูมิต่ำลงได้ ซึ่งต้องทำความสะอาดเส้นด้ายฝ้ายทุกครั้งไม่ว่าจะย้อมสีประเภทใดก็ตาม

การย้อมสีธรรมชาติ

1. อุปกรณ์ที่ใช้ในการย้อม

          1. หม้อย้อมควรใช้หม้อสแตนเลส หม้อเคลือบ หรือกระทะใบบัว ไม่ควรใช้หม้ออะลูมิเนียม และควรเลือกขนาดหม้อให้เหมาะสมกับการย้อมผ้า หรือเส้นด้าย

          2. ไม้กวนผ้า โดยไม้ควรมีขนาดใหญ่พอที่จะรับน้ำหนักเส้นด้ายเส้นเปียกในหม้อย้อมได้

          3. ห่วงที่ทำจากสแตนเลส หรือท่อพลาสติกอ่อน ไว้สำหรับแขวน หรือคล้องเส้นไหม/เส้นฝ้าย

          4. ถุงมือยาง เทอร์โมมิเตอร์ เขียง มีด ครก (สำหรับตำครั่ง) ราว (สำหรับตาก)

          5. กะละมัง หรือถังพลาสติก สำหรับล้างผ้า หรือเส้นด้ายก่อนย้อมและหลังย้อม

          6. เตาไฟจะเป็นเตาฟืน หรือเตาแก๊สก็ได้

          พืชที่ให้สีและสามารถนำมาผลิตสีเพื่อการย้อมนี้ มีได้ตั้งแต่ต้นหญ้าไปจนถึงต้นไม้ขนาดใหญ่และทุกส่วนของพืช ได้แก่ ใบ ดอก ผล ลำต้น เปลือก แก่น ราก หัวหรือเหง้าในดิน ซึ่งแต่ละชนิด แต่ละส่วนของพืชจะให้สีสันที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับความอ่อน แก่ สด แห้ง ช่วงเวลา เดือน และฤดูกาลที่เก็บด้วย พืชที่ให้สีติดเส้นฝ้ายดีนั้นมักเป็นพืชที่ให้รสฝาด เพราะความฝาดจะมีฤทธิ์เป็นด่าง ข้อสังเกตง่ายๆ ของพืชที่ให้รสฝาด คือ ใบหรือดอกที่ถูกขยี้จะมียางติดมือ ถ้าเป็นผลหรือเปลือก หากใช้มีดขูดจะมียางออกมา ซึ่งเมื่อถูกกับอากาศจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล

2. ปริมาณของวัตถุดิบที่ต้องการสกัดสี

          – กรณีที่ใช้วัตถุดิบให้สีเป็นใบไม้ จะใช้ใบไม้จำนวน 5 กิโลกรัมต่อฝ้าย/ไหม 1 กิโลกรัม

          – กรณีที่ใช้วัตถุดิบให้สีเป็นเปลือกไม้ จะใช้เปลือกไม้จำนวน 3 กิโลกรัมต่อฝ้าย/ไหม 1 กิโลกรัม

3. การเตรียมน้ำย้อมสีธรรมชาติ

          1. หากวัตถุดิบที่ให้เป็นสีจากเปลือกไม้ แก่นไม้ กิ่งไม้ เช่น แก่นฝางแดง แก่นขนุน เปลือกต้นประดู่ เป็นต้น ให้ทำการสับหรือผ่าให้เป็นชิ้นเล็กๆ

          2. ชั่งเปลือก/ชิ้นไม้ที่สับเป็นชิ้นเล็กๆ ประมาณ 3 กิโลกรัม ใส่ลงในกะละมัง/หม้อสแตนเลส เติมน้ำปริมาณ 20 ลิตร แล้วแช่ค้างคืนไว้

          3. นำกะละมัง/หม้อสแตนเลส ที่แช่เปลือกไม้ ไปต้มให้เดือด ประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อให้สีที่อยู่ในเปลือก/ชิ้นไม้ละลายออกมาให้มากที่สุด (ระหว่างต้มหากน้ำลดลงให้เติมน้ำลงไปให้อยู่ในปริมาณเท่าเดิม) เมื่อครบเวลาใช้กระชอนตักเปลือก/ชิ้นไม้ออก แล้วกรองน้ำสีด้วยผ้าขาวบาง

4. การเตรียมสารช่วยย้อม หรือสารช่วยติดสี

          พืชแต่ละชนิดที่นำมาใช้ย้อมเส้นด้ายมีความสามารถในการติดสี ความคงทนต่อการขัดถูหรือความคงทนต่อแสงได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางชีวเคมีภายในของพืชและเส้นด้ายที่นำมาใช้ย้อม จึงต้องใช้สารช่วยย้อมมาเป็นตัวช่วยในการทำให้เส้นด้ายดูดซับสีได้ดี มีความคงทนต่อแสงและการขัดถูเพิ่มขึ้น ซึ่งคุณสมบัติสารช่วยย้อมนอกจากจะเป็นสารที่ช่วยในการยึดและจับสีแล้ว บางครั้งสารช่วยย้อมยังทำให้ได้เฉดสีใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม การใช้สารช่วยย้อมในการย้อมสี มี 3 วิธี คือ

วิธีที่ 1 การใช้สารช่วยย้อมก่อนการย้อมสี เพื่อให้สีติดยึดแน่นกับเส้นด้ายและช่วยเพิ่มความคงทนของสี ทำได้โดยการนำเส้นด้ายที่ผ่านการทำความสะอาด แล้วไปชุบหรือต้มย้อมกับสารช่วยย้อมก่อนนำไปย้อมด้วยน้ำย้อมสีธรรมชาติ

          สารช่วยย้อมก่อนการย้อมสี ที่นิยมใช้มักเป็นพืชที่ให้สารฝาดหรือสารแทนนิน น้ำถั่วเหลือง เกลือแกง

          1. สารแทนนิน ได้จากพืชที่ให้รสฝาดและขม เช่น ใบฝรั่ง ใบยูคาลิปตัส เปลือกสีเสียด เปลือกผลทับทิม เปลือกประดู่ ใบเหมือดแอ เป็นต้น ซึ่งสารดังกล่าวมีคุณสมบัติช่วยให้สีติดกับเส้นด้ายได้ดีขึ้น โดยการต้มสกัดน้ำฝาด หรือแทนนินจากพืชดังกล่าว แล้วนำเส้นด้ายลงไปต้มย้อมกับน้ำฝาดก่อน จากนั้นจึงนำเส้นด้ายไปย้อมกับน้ำสีย้อมอีกครั้ง

          2. โปรตีนจากถั่วเหลือง ใช้ต้มกับเส้นด้ายก่อนการย้อมสี เพื่อช่วยในการเพิ่มโปรตีนบนเส้นด้าย ทำให้สามารถย้อมสีติดได้ดีมากขึ้น ทางญี่ปุ่นจะชุบฝ้ายไหมด้วยน้ำถั่วเหลืองก่อนเสมอ โดยแช่ไว้ 1 คืน ยิ่งทำให้สีติดมาก

          3. เกลือแกง จะใช้ผสมกับน้ำสีย้อมเพื่อช่วยให้สีติดเส้นด้ายได้ง่ายขึ้น มักจะใช้ในกรณีที่ต้องการย้อมสีด้วยครั่ง

วิธีที่ 2 การใช้สารช่วยย้อมพร้อมกับการย้อมสี วิธีนี้เป็นการใส่สารช่วยย้อมลงไปในน้ำสี ทำให้เกิดเม็ดสีขึ้น จากนั้นจึงนำเส้นด้ายลงไปย้อม

วิธีที่ 3 การใช้สารช่วยย้อมหลังการย้อมสี เป็นการนำเส้นด้ายลงไปย้อมสีก่อนแล้วจึงนำไปชุบหรือย้อมด้วยสารช่วยย้อมในการภายหลัง วิธีการนี้จะช่วยทำให้เกิดเฉดสีใหม่ขึ้น

ตัวอย่างสารช่วยย้อม หรือสารช่วยติดสี ได้แก่

          1. สารส้ม มีคุณสมบัติช่วยจับยึดกับเส้นด้าย และช่วยให้สีสดสว่างขึ้น มักใช้กับการย้อมด้วยพืชที่ให้เฉดสีน้ำตาล-เหลือง-เขียว เช่น แก่นแข ใบหูกวาง เปลือกประดู่ เปลือกมะพร้าว เป็นต้น

          2. สนิมเหล็ก ช่วยให้สีติดเส้นด้ายและช่วยเปลี่ยนเฉดสีธรรมชาติเดิมเป็นสีโทน เทา-ดำ แต่มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่กินไป เพราะเหล็กจะทำให้เส้นด้ายเปื่อยง่าย

          3. น้ำปูนใส ได้จากปูนขาวที่ใช้กินกับหมาก หรือทำจากการเผาเปลือกหอย โดยการละลายปูนขาวหรือเปลือกหอยที่ผ่านการเผาในน้ำสะอาด ทิ้งไว้ให้ตกตะกอน จะได้น้ำปูนใสมาใช้เป็นสารช่วยย้อมต่อไป ถ้ามใช้ปูนแดงมาทำน้ำปูน ต้องเป็นปูนที่ผสมด้วยขมิ้นเท่านั้น (สีปูนจะเป็นสีแดงอิฐ) ห้ามเป็นปูนแดงที่ได้จากการนำปูนขาวผสมด้วยสีแดงผสมอาหาร

          4. น้ำด่าง หรือน้ำขี้เถ้า ได้จากขี้เถ้าพืชเนื้ออ่อน เช่น ส่วนต่างๆ ของกล้วย เปลือกของผลนุ่น กากมะพร้าว เป็นต้น ทำได้โดยเลือกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งที่ยังสดๆ นำมาผึ่งแดดให้หมาด แล้วเผาให้เป็นขี้เถ้าสีขาว นำขี้เถ้าที่ได้ไปใส่ในอ่างที่มีน้ำอยู่ กวนให้ทั่วทิ้งไว้ 4-5 ชั่วโมง ขี้เถ้าจะตกตะกอน นำน้ำที่ได้ไปกรองให้สะอาดแล้วจึงนำไปใช้งาน

          5. น้ำบาดาล หรือน้ำสนิมเหล็ก จะใช้น้ำบ่อบาดาลที่เป็นสนิม หรือนำเหล็กไปเผาไฟให้แดงแล้วนำไปแช่ในน้ำทิ้งไว้ 3 วัน จึงนำน้ำสนิมมาใช้ได้ น้ำสนิมจะชวยให้สีเข้มขึ้น ให้เฉดสี เทา-ดำ เหมือนเกลือเหล็ก

          6. น้ำโคลน ใช้ดินโคลนจากก้นสระที่มีน้ำขังตลอดปีมาละลายในน้ำเปล่า สัดส่วนน้ำ 1 ส่วนต่อดินโคลน 1 ส่วน จะช่วยให้สีเข้มหรือโทนสีเทา-ดำ เช่นเดียวกับน้ำสนิม (กรองเอาสิ่งแปลกปลอมออกให้เหลือแต่ดินโคลนเหลวๆ)

5. การย้อมสี

การย้อมสีมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

          1. นำน้ำย้อมที่ผ่านการกรองแล้ว มาตั้งไฟปานกลาง พอร้อนมีควันไม่ถึงกับเดือด ใส่สารช่วยย้อมสีอย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องการ โดยการทดลองสีกันก่อน หากต้องการสารช่วยย้อมอย่างใดอย่างหนึ่งจึงลือกใส่ลงไปพร้อมน้ำย้อมที่ได้ โดยปริมาณการใช้สารช่วยย้อม มีดังนี้

          – ถ้าต้องการใช้น้ำปูน เป็นสารช่วยย้อม จะใช้ปริมาณ 1/2 ขัน ต่อเส้นด้ายที่จะย้อม 1 กิโลกรัม

          – ถ้าต้องการใช้น้ำด่าง เป็นสารช่วยย้อม จะใช้ปริมาณ 2 ขัน ต่อเส้นด้ายที่จะย้อม 1 กิโลกรัม

          – ถ้าต้องการใช้สารส้ม เป็นสารช่วยย้อม จะใช้ปริมาณ 50 กรัม ต่อเส้นด้ายที่จะย้อม 1 กิโลกรัม

          2. นำเส้นด้ายที่จะย้อม ที่เตรียมไว้ (ทำความสะอาดแล้ว) ลงย้อมในน้ำสีนานประมาณ 1 ชั่วโมง ต้องหมั่นพลิกเส้นด้ายให้ถูกน้ำย้อมเสมอกันทุกๆ 10 นาที

          3. นำเส้นด้ายขึ้นผึ่งให้เย็น

          – ถ้าเป็นเส้นฝ้าย/ผ้าฝ้าย ให้นำใส่ถุงพลาสติกปิดให้แน่นหมักไว้ 1 คืนก่อนแล้วค่อยเอาออกมาซักด้วยน้ำเปล่าจนน้ำที่ล้างนั้นใส

          – ถ้าเป็นเส้นไหม เมื่อผึ่งให้แห้งแล้วซักด้วยน้ำเปล่าจนน้ำที่ล้างนั้นใส

          4. บิดเส้นด้ายที่ล้างสะอาดแล้วให้หมาด กระตุกให้ตึง 2-3 ครั้ว แล้วนำไปผึ่งในที่ร่มจนแห้ง ถ้ายังไม่ทอควรนำไปเก็บไว้ในถุงเพื่อไม่ให้ฝุ่นเกาะและป้องกันสีซีด

          การใช้สารช่วยย้อมหลังการย้อมสี โดยนำเส้นด้ายไปย้อมสีก่อน แล้วจึงนำไปย้อมกับสารช่วยย้อมภายหลัง วิธีการนี้จะช่วยทำให้เกิดเฉดสีใหม่ขึ้น โดยมีขั้นตอน คือ

          – นำเส้นด้าย/ผ้า ที่ผ่านการย้อมสีที่บิดให้หมาดแล้วกระตุก 2-3 ครั้ง จึงนำมาขยำในน้ำสารช่วยย้อม เวลาใช้ขึ้นอยู่กับว่าต้องการสีเข้มหรือสีจาง โดยทั่วไปประมาณ 15-30 นาที แต่ถ้าเป็นแทนนินจากพืชจะใช้เวลาน้อย เช่น การย้อมฝางแล้วนำมาย้อมต่อในน้ำผลมะเกลือจะใช้เวลาประมาณ 1 นาที จะเปลี่ยนจากสีชมพูเป็นสหีบานเย็นนานกว่านี้จะเป็นสีมืด

          – บิด เส้นด้าย/ผ้า ให้หมาดกระตุก 2-3 ครั้ง แล้วผึ่งให้แห้ง

          – นำ เส้นด้าย/ผ้า ที่ผึ่งแห้งแล้วมาซักในน้ำสะอาดจนน้ำใส แล้วนำไปสะบัดโดยใช้แขนสองข้างดึงเส้นด้ายแล้วกระตุก 2-3 ครั้ง นำไปตากในที่ร่ม (เส้นไหม) หรือกลางแดด (เส้นฝ้าย)

          การย้อมซ้ำ ถ้าสีที่ย้อมเสร็จแล้วยังได้สีที่จางหรือมีรอยด่างเนื่องจากสีติดไม่เสมอกัน สามารถแก้ไขได้โดยนำไปย้อมซ้ำสีเดิม ก็จะได้สีที่เข้มและมีความคงทนมากขึ้น หรือจะเปลี่ยนเป็นสีอื่นย้อมทับกันก็ได้จะให้สีใหม่ที่แปลกตา ซึ่งการย้อมสีธรรมชาติให้สวยงามในแต่ละสีนั้น บางครั้งจะต้องผ่านการทดลองย้อมนับครั้งไม่ถ้วน และผู้ย้อมต้องเป็นคนช่างสังเกต ควรจดบันทึกข้อมูล และเก็บตัวอย่างการย้อมไว้ทุกครั้ง เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในครั้งต่อไป เมื่อได้ผ้าที่ย้อมสีตามความต้องการแล้วสามารถนำไปทดสอบหาความทนต่อแสงอย่างง่ายๆ ด้วยการตัดตัวอย่างผ้าชิ้นเล็กๆ นำวัสดุทึบแสงมาปิดผ้าตัวอย่างครึ่งหนึ่งแล้วนำไปวางแตกแดด 7 วัน นำผ้าที่โดนแสงมาเปรียบเทียบกับผ้าที่ไม่โดนแสง ถ้าผ้าที่โดนแดดสีซีดน้อยมากหรือแทบสังเกตไม่ออก แสดงว่า สีที่ได้จากต้นไม้ชนิดนี้และวิธีการย้อมใช้ได้ แต่ถ้าสีซีดมากแสดงว่า ต้นไม้หรือวิธีการย้อมไม่เหมาะสม ต้องทดลองและปรับปรุงให้มีคุณภาพตามความต้องการต่อไป

6. วิธีการหมักโคลน มีขั้นตอน คือ

          1. นำเส้นไหม/เส้นฝ้าย/ผ้า ที่ย้อมสีแล้ว มาแช่น้ำให้ชุ่มแล้วบิดน้ำออกให้หมด กระตุกให้ไหม/ฝ้ายเรียงเส้น (ถ้าเป็นชิ้นผ้าก็ต้องสะบัดให้เรียบ)

          2. กวนโคลน (ที่ได้กรองเอาสิ่งแปลกปลอมออกให้เหลือแต่ดินโคลนเหลวๆ) ให้เข้ากัน นำเส้นไหม/เส้นฝ้าย/ผ้า ลงย้อมในน้ำโคลน โดยขยำให้ทั่วเพื่อให้เส้นไหม/เส้นฝ้าย/ผ้า สัมผัสน้ำโคลนได้ทั่วถึง ประมาณ 1 ชั่วโมง โดยให้กลับเส้นไหม/เส้นฝ้าย/ผ้า ทุก 10 นาที ครบเวลาจึงนำเส้นไหม/เส้นฝ้าย/ผ้า ขึ้นจากน้ำโคลน

          3. ล้างเส้นไหม/เส้นฝ้าย/ผ้า ให้สะอาด บิดให้หมาด แล้วกระตุกให้ไหม/ฝ้ายเรียงเส้น ผึ่งให้แห้งหากต้องการห้ได้สีที่เข้มขึ้น ให้นำเส้นไหม/เส้นฝ้าย/ผ้า ไปผึ่งกลางแดดจนแห้ง

          4. นำเส้นไหม/เส้นฝ้าย/ผ้า ไปล้างในน้ำสะอาด แล้วกระตุกเส้นไหม/เส้นฝ้ายให้เรียงเส้น ผึ่งให้แห้ง

เอกสารอ้างอิง

กองเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อุปโภค กรมวิทยาศาสตร์บริการ. ขั้นตอนในการย้อมสีธรรมชาติ.

เอกสารประกอบการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอด้วยสีย้อมธรรมชาติ

ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ในโครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) ประเภทผ้าทอ

สู่การรับรองมาตรฐาน, กรุงเทพฯ : กรมวิทยาศาสตร์บริการ, 2559, หน้า 4-11.

การฟอกและย้อมสีด้ายเรยอน

วัสดุอุปกรณ์

1. เส้นด้ายเรยอน (น้ำหนัก 2.25 กก.) หรือเส้นฝ้ายระหัน 20 ไจ

2. สารฟอกขาว 1 ซอง

3. น้ำยาล้างจานซัลไลท์ 20 ช้อนโต๊ะ

4. เกลือแกง 3 ช้อนโต๊ะ

ขั้นตอนการฟอก

1. ต้มน้ำสะอาดในภาชนะ โดยกะให้ปริมาณน้ำให้ท่วมเส้นด้าย รออุณหภูมิน้ำให้ร้อนปานกลาง พอน้ำร้อนแล้วให้ใส่สารฟอกขาว 1 ซอง น้ำยาล้างจานซัลไลท์ 20 ช้อนโต๊ะ คนให้ละลาย

2. นำเส้นด้ายเรยอนหรือฝ้ายระหันลงต้ม ให้ความร้อนปานกลางนาน 30 นาที พอครบเวลาให้นำเส้นด้ายขึ้นมาล้างน้ำจนเส้นด้ายสะอาด

3. ตั้งน้ำให้ร้อนปานกลางแล้วใส่เกลือแกง 3 ช้อนโต๊ะ นำเส้นด้ายที่ล้างน้ำสะอาดแล้วลงต้มนาน 15 นาที พอครบเวลาให้นำเส้นด้ายขึ้นมาแขวนตากที่ราวรอขั้นตอนต่อไป

การย้อมสีธรรมชาติ

วัสดุอุปกรณ์

1. เส้นด้ายเรยอน (น้ำหนัก 2.25 กก.) หรือเส้นฝ้ายระหัน 20 ไจ

2. น้ำสีธรรมชาติ เช่น จากเปลือกมะพร้าวสด ใบสัก หรือแก่นฝาง ฯลฯ (น้ำย้อม 20 ลิตรต่อเส้นด้าย 1 กก.)

3. เกลือแกง 1 ส่วน 2 กิโลกรัม

4. สารส้ม 125 กรัม

ขั้นตอนการย้อมสีธรรมชาติ

1. เตรียมน้ำสีธรรมชาติให้พอย้อมเส้นด้าย 20 ไจ ตั้งเตาไฟ (น้ำย้อม 20 ลิตรต่อเส้นด้าย 1 กก.)

2. ใส่เกลือแกง 1 ส่วน 2 กิโลกรัม ในน้ำย้อม เพิ่มอุณหภูมิให้น้ำอุ่นๆ จึงใส่สารส้ม จะใช้ปริมาณ 50 กรัมต่อเส้นด้ายที่จะย้อม 1 กิโลกรัม หรือสารช่วยติดอื่นๆ

3. นำส้นด้ายที่จะย้อมที่เตรียมไว้ (ทำความสะอาดแล้ว) ลงย้อมในน้ำสีนานประมาณ 1 ชั่วโมง ต้องหมั่นพลิกเส้นด้ายให้ถูกน้ำย้อมเสมอกันทุกๆ 10 นาที

4. นำเส้นด้ายขึ้นผึ่งให้เย็น

5. ถ้าเป็นเส้นฝ้าย/ผ้าฝ้าย ให้นำใส่ถุงพลาสติกปิดให้แน่นหมักไว้ 1 คืนก่อนแล้วค่อยเอาออกมาซักด้วยน้ำเปล่าจนน้ำที่ล้างนั้นใส

6. บิดเส้นด้ายที่ล้างสะอาดแล้วให้หมาด กระตุกให้ตึง 2-3 ครั้ง แล้วนำไปผึ่งในที่ร่มจนแห้ง ถ้ายังไม่ทอควรนำไปเก็บไว้ในถุงเพื่อไม่ให้ฝุ่นเกาะและป้องกันสีซีด

          จากขั้นตอนในการย้อมสีธรรมชาติ คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) ได้นำวัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ทั่วไปในชุมชนมาใช้ในการย้อมสี ได้แก่ เปลือกมะพร้าวสด ใบสัก และแก่นฝาง โดยใช้สารช่วยย้อม หรือสารช่วยติดสี ในการย้อมสีธรรมชาติ เนื่องจากพืชแต่ละชนิดที่นำมาใช้ย้อมเส้นด้ายมีความสามารถในการติดสี ความคงทนต่อการขัดถูหรือความคงทนต่อแสงได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางชีวเคมีภายในของพืชและเส้นด้ายที่นำมาใช้ย้อม จึงต้องใช้สารช่วยย้อมมาเป็นตัวช่วยในการทำให้เส้นด้ายดูดซับสีได้ดี มีความคงทนต่อแสงและการขัดถูเพิ่มขึ้น ซึ่งคุณสมบัติสารช่วยย้อมนอกจากจะเป็นสารที่ช่วยในการยึดและจับสีแล้ว บางครั้งสารช่วยย้อมยังทำให้ได้เฉดสีใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยการใช้สารช่วยย้อมในการย้อมสี 2 วิธี คือ

          วิธีที่ 1 การใช้สารช่วยย้อมก่อนการย้อมสี เพื่อให้สีติดยึดแน่นกับเส้นด้ายและช่วยเพิ่มความคงทนของสี ทำได้โดยการนำเส้นด้ายที่ผ่านการทำความสะอาดแล้วไปชุบหรือต้มย้อมกับสารช่วยย้อมก่อนนำไปย้อมด้วยน้ำย้อมสีธรรมชาติ โดยใช้เกลือแกง ซึ่งจะใช้ผสมกับน้ำสีย้อมเพื่อช่วยให้สีติดเส้นด้ายได้ง่ายขึ้น มักจะใช้ในกรณีที่ต้องการย้อมสีด้วยครั่ง

          วิธีที่ 2 การใช้สารช่วยย้อมหลังการย้อมสี เป็นการนำเส้นด้ายลงไปย้อมสีก่อนแล้วจึงนำไปชุบหรือย้อมด้วยสารช่วยย้อมในการภายหลัง วิธีการนี้จะช่วยทำให้เกิดเฉดสีใหม่ขึ้น โดยใช้สารส้ม ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยจับยึดกับเส้นด้าย และช่วยให้สีสดสว่างขึ้น และน้ำโคลน ใช้ดินโคลนจากก้นสระที่มีน้ำขังตลอดปีมาละลายในน้ำเปล่า สัดส่วนน้ำ 1 ส่วนต่อดินโคลน 1 ส่วน จะช่วยให้สีเข้มหรือโทนสีเทา-ดำ เช่นเดียวกับน้ำสนิม

          จากการทดลองในการย้อมสีธรรมชาติได้เฉดสี ดังนี้

เปลือกมะพร้าวสด                                    =     สีครีม

เปลือกมะพร้าวสด + สารส้ม                     =     สีครีมอ่อน

เปลือกมะพร้าวสด + โคลน                       =     สีน้ำตาลครีม

ใบสัก                                                        =     สีเขียวเหลือง

ใบสัก + สารส้ม                                         =     สีเขียวขี้ม้า

ใบสัก + โคลน                                           =     สีเขียวน้ำตาล

แก่นฝาง                                                    =     สีชมพู

แก่นฝาง + สารส้ม                                     =     สีชมพูพีช

แก่นฝาง + เปลือกมะพร้าวสด + สารส้ม    =     สีชมพูนู้ด

แก่นฝาง + โคลน                                       =     สีชมพูน้ำตาล

                                                          

กิจกรรมการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย

          จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการทอผ้ามือมาวิเคราะห์สังเคราะห์ปัญหา พบว่า กลุ่มทอผ้ามือทั้ง 4 หมู่บ้าน นอกจากสมาชิกกลุ่มยังมีการใช้สารเคมีและสีสังเคราะห์ในการย้อมเส้นใยผ้าแล้ว กลุ่มยังไม่มีลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของกตนเอง คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) พร้อมกับอาจารย์ประจำหลักสูตรจึงได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย โดยฝึกให้ผู้เข้าร่วมอบรมเรียนรู้กระบวนการในการออกแบบลายผ้าอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถออกแบบลายผ้าที่มีเอกลักษณ์เป็นของกลุ่มหรือตนเองได้ และสามารถใช้กราฟเพื่อช่วยในการออกแบบลายผ้าและการพัฒนาลายผ้าเดิมให้สวยงามมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาลายผ้าให้มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์จะช่วยทำให้สินค้ามีคุณค่าและน่าสนใจ ทำให้เพิ่มโอกาสในการเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น โดยให้ความรู้ความเข้าใจโดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์ ในเรื่องของการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย ดังนี้

          มัดหมี่ เป็นเทคนิคการสร้างลวดลายให้เกิดขึ้นกับเส้นด้ายทางเส้นพุ่ง หรือเส้นยืน หรือทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน ซึ่งอาจเป็นเส้นไหม ฝ้าย หรือเส้นใยสังเคราะห์ โดยที่มีการค้นหมี่เพื่อทบเส้นด้าย และแยกเส้นด้ายเป็นกลุ่มๆ เรียกว่า “ลำ” ตามการซ้ำของลายแล้วทำการมัดด้วยเชือกในตำแหน่งสีของลายเป็นเปลาะ เพื่อกันสีที่จะทำการย้อมไม่ให้ซึมเข้าไปในเส้นด้ายที่มัดเชือกไว้ โดยมัดเก็บในตำแหน่งสีของลายที่ย้อมได้ทีละสีๆ จนได้สีสันของด้ายในตำแหน่งของลายทั้งหมดจากนั้นจึงนำไปทอให้เป็นผืนผ้า ซึ่งมีลวดลายมัดหมี่ที่สวยงาม

รูปแบบลวดลาย

1. ลายแถบแนวนอน เกิดจากการผูกประกอบลายเรียงต่อกันในแนวนอน

2. ลายแถบแนวตั้ง เกิดจากการผูกประกอบลายเรียงต่อกันยาวตามแนวตั้ง

3. ลายแถบแนวเฉียง เกิดจากการผูกประกอบลายเรียงต่อกันเอียงจากแนวไปทางใดทางหนึ่ง

4. ลายแถบลักษณะเส้นหยก หรือเส้นซิกแซก เกิดจากการผูกประกอบลายเรียงต่อกันในลักษณะสลับฟันปลา

5. ลายแถบลักษณะตาหมากรุก เกิดจากการผูกประกอบลายลงในพื้นที่ที่เป็นช่องสี่เหลี่ยมตารางเล็กๆ ที่เท่ากัน โดยสลับลายกับช่องว่างเหมือนตารางหมากรุก

6. ลายแถบลักษณะขั้นบันได เกิดจากการผูกประกอบลายเรียงต่อกันลดหลั่นกันเป็นลำดับไปตามแนวเฉียง

7. ลายที่มีลักษณะเป็นแผ่นผืน เกิดจากการจัดประกอบตัวลาย หรือแม่ลายต่อเข้าด้วยกันจนเต็มพื้นที่ต่อเนื่องสัมพันธ์กัน

การจัดวางทิศทางของลวดลาย

1. วางลายตั้งขึ้นในทิศทางเดียวกัน (One way)

2. วางลายสลับหัวท้ายกัน (Two way)

3. วางลายสลับบน-ล่าง ซ้าย-ขวา (Four way)

4. วางลายในทุกทิศทาง (Tossed)

เทคนิคการออกแบบลวดลายจากแม่ลาย

          เทคนิคการออกแบบลวดลายจากแม่ลาย คือ การสร้างลายธรรมดาที่มีลักษณะเรียบง่ายขึ้นเพียง 1 รูป แล้วผูกเป็นลวดลายต่างๆ ด้วยวิธีการ เช่น การเรียงลำดับ การสลับซ้ายขวา การหมุนรอบจุด จนทำให้เกิดลวดลายใหม่ได้ต่อไปอีก

1. การหาแม่ลายจากส่วนหนึ่งของลาย และสร้างลายลงในตาราง

2. การจัดวางทิศทางของแม่ลาย

3. การประกอบแม่ลายเป็นรูปร่าง

4. การดัดแปลง

5. การวางลาย

6. การวางลายให้สัมพันธ์กับความกว้างของหน้าผ้า

7. การกำหนดขนาดของลาย = การนับลำหมี่

             

3. ผลจากการสำรวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19

          จากการสำรวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ในเดือนสิงหาคม พบว่า ชาวบ้านในชุมชนทราบถึงข่าวเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดในปัจจุบัน และตระหนักถึงการป้องกันตนเองเป็นอย่างดี ว่าควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อต้องไปอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของโรคระบาด เช่น การเว้นระยะห่าง การล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ การสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการประชุมหมู่บ้าน การเข้าวัดทำบุญ การจ่ายตลาดในชุมชน รวมไปถึงการใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร เป็นต้น

          ทั้งนี้ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่ไม่มีการออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ อาจสืบเนื่องมาจากลักษณะของการทำงาน กลุ่มอาชีพ และข้อจำกัดด้านเวลาหรือการประกอบอาชีพที่แตกต่างกัน รวมถึงชาวบ้านบางส่วนไม่สามารถสวมหน้ากากอนามัยได้ตลอดเวลา เนื่องจากสภาพอากาศร้อน ทำให้การหายใจไม่สะดวก นอกจากนั้นชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีภาวะความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 และการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งควรมีแผนการพัฒนาด้านสุขภาพของคนในชุมชนต่อไป โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจัดตั้งโครงการเต้นแอโรบิคเพื่อสุขภาพ เพื่อให้คนในชุมชนและกลุ่มผู้สูงอายุหันมาออกกำลังกายเพื่อให้มีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดี

          นอกจากนี้การลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ยังส่งผลให้ทราบถึงความคิดเห็นของชาวบ้านตำบลตูมใหญ่เกี่ยวกับการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ในรูปแบบต่างๆ ทั้งด้านบวกและด้านลบ ซึ่งวัคซีนที่รัฐบาลนำเข้ามาทุกชนิด เป็นวัคซีนที่มีคุณภาพ ได้มีการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขว่ามีความปลอดภัย และเป็นวัคซีนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกในทุกวันนี้ แต่ยังมีชาวบ้านบางส่วนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับตัววัคซีนที่รัฐบาลนำเข้ามา เนื่องจากมีการเสพข่าวสารในสื่อสังคม หรือโซเชียลมีเดีย ค่อนข้างมากและหลากหลายช่องทาง ส่งผลให้ทางคณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) พร้อมกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตูมใหญ่ นางสาวแพรวนภา แหวนมุข ได้เข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 พร้อมกับให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจในการลงชื่อเข้ารับวัคซีน การปฏิบัติตนก่อนและหลังการเข้ารับวัคซีน และผลข้างเคียงหลังจากการเข้ารับวัคซีน ให้กับผู้ใหญ่บ้านตำบลตูมใหญ่ทุกหมู่บ้าน ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง และสามารถนำข้อมูลไปเผยแพร่ให้กับลูกบ้านหรือประชาชนในตำบลตูมใหญ่ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต่อไป

4. ปัญหา อุปสรรคในการทำงาน และการแก้ไขปัญหา

          จากการลงพื้นที่ในช่วงเดือนสิงหาคม ในส่วนของกิจกรรมการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติ และกิจกรรมการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย พบปัญหาด้านการเชิญชวนให้สมาชิกกลุ่มทอผ้ามือแต่ละกลุ่มมาเข้าร่วมกิจกรรมค่อนข้างยากพอสมควร เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆที่มีความรุนแรงมากขึ้น และมีอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง ส่งผลให้สมาชิกบางส่วนเกิดความวิตกกังวลในการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกัน ทางคณะผู้ปฏิบัติงานจึงมีการแก้ไขปัญหาโดยมีมาตรการในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างดี โดยมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ก่อนการเข้าร่วมกิจกรรมการอบรม การให้ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากากอนามัย และมีการจัดที่นั่งในการอบรมแบบเว้นระยะห่าง เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เบื้องต้น

5. สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

          จากการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ ได้เรียนรู้ถึงกระบวนการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติ กระบวนการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย และได้เรียนรู้ถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาของการลงพื้นที่ในช่วงโรคโควิด-19 แพร่ระบาด

6. แผนการดำเนินงานต่อไป

          คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีการวางแผนการดำเนินงานในเดือนถัดไป ดังนี้

1. นำเสนอโครงการต่อองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ เพื่อพิจารณาการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบโครงสีสำหรับผ้าทอมือของกลุ่มหรือชุมชน การออกแบบโลโก้ การขอขึ้นทะเบียนตราสินค้าผ้าทอมือ และกิจกรรมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ผ้าทอมือ โดยกลุ่มทอผ้ามือ จำนวน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองบัว บ้านตูมน้อย บ้านหนองดุม และบ้านปะคำดง

2. วันที่ 20 สิงหาคม 2564 การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบโครงสีสำหรับผ้าทอมือของกลุ่มหรือชุมชน โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์

3. วันที่ 27 สิงหาคม 2564 การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบโลโก้ การขอขึ้นทะเบียนตราสินค้าผ้าทอมือ โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์

4. วันที่ 17 กันยายน 2564 การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ผ้าทอมือ โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์

หมายเหตุ : แผนการดำเนินงานอาจมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมตามสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

 

 

 

อื่นๆ

เมนู