การทอผ้า ถือเป็นศิลปะและหัตถกรรมหรืองานฝีมืออย่างหนึ่งที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นกรรมวิธีการผลิตผืนผ้าโดยใช้เส้นด้ายยืน(การนำเส้นฝ้ายหรือไหมมาขัดกันให้เป็นลาย โดยขึงเส้นกลุ่มหนึ่งเป็นหลัก) และเส้นด้ายพุ่ง(การใช้ด้ายอีกเส้นหนึ่ง สอดตามขวางของเส้นยืน) มาขัดประสานกันจนได้เป็นผืนผ้า ผ้าบางชนิดผู้ทอจะคิดหาวิธีสอดด้ายและสอดสีสลับกัน บางวิธีก็จะจับผูกและมัดเน้นเป็นช่วง ๆ หรืออาจจะยกด้ายที่ทอเป็นระยะ ๆ ทำให้เกิดลวดลายสวยงาม ทั้งนี้ต้องมีเครื่องมือในการทอ เรียกว่า หูก หรือกี่ (ในภาษาไทยถิ่นอีสาน มักเรียกการทอผ้าว่า ตำหูก) การทอผ้านั้น นอกจากจะเป็นขั้นตอนการผลิตเครื่องนุ่งห่ม หนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์แล้ว ยังถือเป็นงานศิลปะประเภททัศนศิลป์ด้วย เนื่องจากมีการให้สีสันและลวดลายต่าง ๆ ในผืนผ้า ปัจจุบันแม้จะมีการใช้เครื่องจักรสำหรับทอผ้า ใช้คอมพิวเตอร์สำหรับการควบคุมการผลิตและออกแบบลายผ้า แต่การทอผ้าด้วยมือก็ยังเป็นศิลปะที่ได้รับการยกย่องชื่นชมตลอดมา

       ผ้าพื้นเมืองของไทย เกือบทุกผืนจะปรากฏลวดลายพื้นฐานบางลายอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า ลวดลายเหล่านี้ เป็นลายง่ายๆ ซึ่งปรากฏอยู่บนศิลปะพื้นบ้านประเภทอื่น ๆ เช่น เครื่องปั้นดินเผา เครื่อง จักสาน ฯลฯ ทั้งในประเทศไทย และในประเทศอื่น ๆ ลายที่ปรากฏอยู่บนผืนผ้าพื้นเมืองของไทย อาจจะแยกได้ดังนี้
       ๑. ลายเส้นตรง หรือเส้นขาด ในทางตรงยาว หรือทางขวาง เส้นเดียว หรือหลายๆ เส้น ขนานกัน ลายเส้นตรงทางขวางเป็นลายผ้าที่ใช้กันทั่วไปในแถบล้านนาไทยมาแล้วแต่โบราณ จะเห็นได้จากจิตรกรรมวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน และวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ ลายเส้นตรงทางยาวมักพบในผ้านุ่งของคนไทยกลุ่มลาวโซ่ง ลาวพวน เป็นต้น ในภาคอีสาน ลายเส้นตรงยาวสลับกับลายอื่น ๆ จะปรากฏอยู่ในผ้ามัดหมี่ ทั้งไหมและฝ้าย และบ่อยครั้งเราจะพบผ้ามัดหมี่อีสาน เป็นลายเส้นต่อที่มีลักษณะเหมือนฝนตกเป็นทางยาวลงมา หรือที่ประดับอยู่ ในผ้าตีนจก เป็นเส้นขาดเหมือนฝนตก หรือลายเส้นขาดขวางเหมือนเป็นทางเดินของน้ำ เป็นต้น ลายเส้นตรงทั้งเส้นขวางและเส้นดิ่งนั้น ยังเป็นลวดลายที่พบในผ้าของพวกลัวะ และพวกกะเหรี่ยงอีกด้วย
       ๒. ลายฟันปลา ลายนี้ปรากฏอยู่ตามเชิงผ้าของตีนจกและ ผ้าขิต ตลอดจนเป็นลายเชิงของซิ่นมัดหมี่ของผ้า ที่ทอในทุก ๆ ภาคของประเทศไทย ชาวบ้านทาง ภาคอีสานเรียกว่า “ลายเอี้ย” ลายฟันปลา อาจจะปรากฏในลักษณะทางขวาง หรือทางยาวก็ได้ บางครั้งจะพบผ้ามัดหมี่ที่ตกแต่งด้วยลายฟันปลา ทั้งผืนก็มี นอกจากนี้ผ้าของชาวเขาเผ่าม้งทาง ภาคเหนือ จะใช้ลายฟันปลาประดับผ้าอยู่บ่อย ๆ
       ๓. ลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือลายกากบาท เกิดจากการขีดเส้นตรงทางเฉียงหลาย ๆ เส้นตัดกัน ทำให้เกิดกากบาท หรือตารางสี่เหลี่ยม ขนมเปียกปูนหลายๆ รูปติดต่อกัน ลายนี้พบอยู่บนผ้าจก ผ้าขิต และผ้ามัดหมี่ โดยทั่วไปทุกภาคของไทย ในลาวและอินโดนีเซีย และบนพรมตะวันออกกลาง ยังพบบนลวดลายผ้าของชาวเขา เผ่าม้ง กะเหรี่ยง ในประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย
       ๔. ลายขดเป็นวงเหมือนก้นหอย หรือตะขอ ลายนี้พบอยู่ทั่วไปเช่นกัน บนผ้าจก ผ้าขิต และผ้ามัดหมี่ของทุกภาค ชาวบ้านภาคเหนือ และภาคอีสานเรียกว่า “ลายผักกูด” ซึ่งเป็นชื่อของพืชตระกูลเฟิร์นชนิดหนึ่ง ในซาราวักของประเทศมาเลเซีย ก็เรียกว่าลาย “ผักกูด” เช่นกัน
       ลวดลายต้นแบบทั้ง ๔ ลายที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นลวดลายที่มีในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และยังพบว่าเป็นลวดลายที่ตกแต่งอยู่บนภาชนะเครื่องปั้นดินเผาโบราณที่ขุดพบที่โคกพนม และที่บ้านเชียงอีกด้วย

       ศิลปะการทอผ้าของไทยในภาคต่าง ๆ ที่ยังมีผู้สืบทอดเทคนิคการทอ อนุรักษ์ และพัฒนากันอยู่ ได้แก่
       การทอลายขิต คือ การคัดเก็บยกเส้นด้าย ยืนพิเศษ ให้เกิดเป็นลวดลาย แล้วสอดเส้นด้ายพุ่งไปตลอดแนวของความกว้างของหน้าผ้า ทำให้เกิดลายขิตในแต่ละแถวเป็นลายขิตสีเดียวกัน
       การยก เป็นเทคนิคการทอยกลายให้เห็นเด่นชัด มีลักษณะคล้ายกับการทอลายขิต แต่ใช้เส้นพุ่งพิเศษ เช่น ไหม ดิ้นเงิน ดิ้นทอง มีชาย มีเชิง ซึ่งขั้นตอนยุ่งยากกว่าผ้าทอลายขิตมาก
       การจก เป็นเทคนิคการทอลวดลายบนผืนผ้า ด้วยวิธีการเพิ่มด้ายพุ่งพิเศษเข้าไป ขณะที่ทอเป็นช่วงๆ ไปติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้า กระทำโดยใช้ไม้หรือขนเม่นหรือนิ้วมือ ยกหรือจกด้วยเส้นยืนขึ้น แล้วสอดเส้นพุ่งพิเศษต่อไป ตามจังหวะของลวดลาย สามารถสลับสีได้หลากหลายสี
       การทอลายน้ำไหล เป็นเทคนิคการทอ แบบลายขัดธรรมดา แต่ใช้ด้ายหลากสีพุ่งเกาะ เกี่ยวกันเป็นช่วง ๆ ให้เกิดจังหวะของลายน้ำไหล เป็นลักษณะเฉพาะของชาวเมืองน่าน เรียกกรรมวิธี การทอนี้ว่า “ล้วง” แต่ชาวไทลื้อ อำเภอเชียงของ และเชียงคำ จังหวัดเชียงราย เรียกว่า”เกาะ” เทคนิคนี้อาจดัดแปลงพัฒนาเป็นลายอื่น ๆ เรียกว่า ลายผักแว่น ลายจรวด ฯลฯ เป็นต้น
       การยกมุก เป็นเทคนิคการทอ โดยใช้เส้นยืนพิเศษเพิ่มบนกี่ทอผ้า ลายยกบนผ้าเกิดจากการใช้ตะกอ ลอยยกด้ายยืนพิเศษ ลวดลายที่เกิดจากเทคนิคนี้คล้ายกันมากกับลวดลายที่เกิดจากเทคนิค ขิต จก แทบจะแยกไม่ได้เลยสำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องเทคนิคการทอผ้าที่ลึกซึ้ง ชาวไทยพวนที่ตำบลหาดเสี้ยว จังหวัดสุโขทัย และที่ อำเภอ ลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ใช้เทคนิคนี้ในการทอ ส่วนที่เป็นตัวซิ่น บางครั้งอาจจะนำเชิงซิ่นมาต่อ เป็นตีนจกเรียกว่า ซิ่นมุก
       การมัดหมี่ เป็นเทคนิคการมัดเส้นพุ่ง หรือเส้นยืน ให้เป็นลวดลายด้วยเชือกกล้วย หรือเชือกฟาง ก่อนนำไปย้อมสี แล้วกรอด้ายให้เรียงตามลวดลาย ร้อยใส่เชือก แล้วนำมาทอ จะได้ลายมัดหมี่ที่เป็นทางกว้างของผ้า เรียกว่า มัดหมี่ เส้นพุ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมในบ้านเรา มีการทำผ้ามัดหมี่เส้นยืนบ้างในบางจังหวัดเช่นจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ราชบุรี เพชรบุรี ส่วนใหญ่เป็นผ้า ชาวเขา บางผืนใช้การทอสลับกับลายขิต ซึ่งช่วย เพิ่มความวิจิตรงดงามให้แก่ผืนผ้า
ที่มา : สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๒๑ เรื่องที่ ๓ ศิลปะการทอผ้าไทย

กิจกรรมการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายผ้าจากแม่ลาย
       จากการสำรวจและเก็บข้อมูลกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการทอผ้ามือมาวิเคราะห์สังเคราะห์ปัญหา พบว่า กลุ่มทอผ้ามือทั้ง 4 หมู่บ้าน ยังไม่มีลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) พร้อมกับอาจารย์ประจำหลักสูตรจึงได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายผ้าจากแม่ลาย โดยฝึกให้ผู้เข้าร่วมอบรมเรียนรู้กระบวนการในการออกแบบลายผ้าโดยใช้กราฟเพื่อช่วยในการออกแบบลายผ้า และพัฒนาลายผ้าเดิมให้สวยงามมากขึ้น ตลอดจนสามารถออกแบบลวดลายที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองได้ ซึ่งการพัฒนาลายผ้าให้มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์จะช่วยทำให้สินค้าน่าสนใจ และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าได้อีกด้วย โดยกิจกรรมการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายผ้าจากแม่ลาย มีวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ในเรื่องของการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลายให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนการทอผ้า ตำบลตูมใหญ

       เทคนิคการออกแบบลวดลายจากแม่ลาย
              เทคนิคการออกแบบลวดลายจากแม่ลาย คือ การสร้างลายธรรมดาที่มีลักษณะเรียบง่ายขึ้นเพียง 1 รูป แล้วผูกเป็นลวดลายด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การเรียงลำดับ การสลับซ้ายขวา การหมุนรอบจุด จนทำให้เกิดลวดลายใหม่ โดยมีเทคนิคดังนี้
              ๑. การหาแม่ลายจากส่วนหนึ่งของลาย และสร้างลายลงในตาราง
              ๒. การจัดวางทิศทางของแม่ลาย
              ๓. การประกอบแม่ลายเป็นรูปร่าง
              ๔. การดัดแปลง
              ๕. การวางลาย
              ๖. การวางลายให้สัมพันธ์กับความกว้างของหน้าผ้า
              ๗. การกำหนดขนาดของลาย

       การจัดวางทิศทางของลวดลาย
              ๑. วางลายตั้งขึ้นในทิศทางเดียวกัน (One way)
              ๒.
วางลายสลับหัวท้ายกัน (Two way)
              ๓.
วางลายสลับบน-ล่าง ซ้าย-ขวา (Four way)
              ๔. วางลายในทุกทิศทาง (Tossed)

       การออกแบบลวดลายผ้าโดยการใช้กราฟ
            การออกแบบลวดลายผ้าโดยการใช้กราฟในการเขียน จะกำหนดช่องบนกระดาษกราฟ โดยให้ 1 ช่องบนกระดาษกราฟเท่ากับลายมัดหมี่ 1 ลำ เวลาเขียนลายให้ใช้ดินสอจุดเบา ๆ ลงที่ช่องกราฟให้เห็นโครงสร้าง แล้วค่อยฝนดินสอลงเต็มช่องกราฟ โดยเขียนลายจากด้านบนลงข้างล่าง และเขียนลายตรงกลางกระดาษกราฟก่อน ถ้าลายเรขาคณิตมุมทุกมุมจะต้องตรงกัน และสามารถแบ่งครึ่งได้เสมอกันหรือเท่ากันทั้งสองด้าน หลังจากทำลวดลายส่วนบนของผืนผ้าแล้ว ค่อยมาทำเชิงผ้าทีหลัง และลงสีให้สวยงาม
            การออกแบบลวดลายของผ้ามัดหมี่มีหลายรูปแบบ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
            ลายมัดหมี่แบบเรขาคณิต คือ การกำหนดลงกราฟมีมุมจุดกึ่งกลางที่สามารถแบ่งครึ่งได้ เวลามัดลวดลายบนผืนผ้า ในส่วนของเส้นพุ่งให้มัดครึ่งหนึ่งของลาย เริ่มจากครึ่ง พอถอยก็จะเต็มลาย
            มัดหมี่แบบอิสระ สร้างสรรค์ คือ จะต้องร่างรูปภาพที่จะมัดหมี่แล้วมาลงกราฟ ให้ทำการคำนวณว่าลายขนาดนี้จะต้องใช้กี่ลำ เพื่อให้ได้ลายบนผ้าไหมเหมือนกับรูปภาพ
            มัดหมี่ตรงทอสไลด์ เวลาทอตั้งหมี่ให้ค่อย ๆ ไล่ไปเรื่อย ๆ แต่พอเล็กเกินก็จะตั้งสไลด์ใหม่
            มัดหมี่ทางเส้นยืน เป็นลวดลายที่สมัยก่อนนิยมทำกัน ส่วนใหญ่จะมีแต่ลวดลายแบบทรงเรขาคณิต เป็นลวดลายผ้าไหมที่ห่อคัมภีร์ในตู้พระของวัดโบราณ หรือผ้าที่ให้คนเฒ่าคนแก่ใช้มาเป็นเวลานาน
ที่มา : กรมหม่อนไหม. การออกแบบลายผ้าไหมและการทอผ้าไหมประยุกต์. เอกสารประกอบโครงการส่งเสริมการผลิตหม่อนไหม. กรุงเทพฯ : กรมหม่อนไหม.

แผนการดำเนินงานต่อไป
       คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีการวางแผนการดำเนินงานในเดือนถัดไป ดังนี้
       
นำเสนอโครงการต่อองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ เพื่อพิจารณาการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบโครงสีสำหรับผ้าทอมือของกลุ่มหรือชุมชน การออกแบบโลโก้ การขอขึ้นทะเบียนตราสินค้าผ้าทอมือ และกิจกรรมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ผ้าทอมือ โดยกลุ่มทอผ้ามือ จำนวน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองบัว บ้านตูมน้อย บ้านหนองดุม และบ้านปะคำดง
       วันที่ 20 สิงหาคม 2564 การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบโครงสีสำหรับผ้าทอมือของกลุ่มหรือชุมชน โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์
       วันที่ 27 สิงหาคม 2564 การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบโลโก้ การขอขึ้นทะเบียนตราสินค้าผ้าทอมือ โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์
       วันที่ 17 กันยายน 2564 การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ผ้าทอมือ โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์
หมายเหตุ : แผนการดำเนินงานอาจมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมตามสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

วิดีโอกิจกรรมการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติและการออกแบบลายผ้าทอมือ
ด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย
กลุ่ม AG01(1)

 

อื่นๆ

เมนู