1. หน้าแรก
  2. คณะเทคโนโลยีการเกษตร
  3. AG01(1) - ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง
  4. บทความประจำเดือนสิงหาคม 2564 เรื่อง การย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติและการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย กลุ่ม AGO1(1) ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

บทความประจำเดือนสิงหาคม 2564 เรื่อง การย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติและการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย กลุ่ม AGO1(1) ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

บทความประจำเดือนสิงหาคม 2564

กิจกรรมการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติ

และกิจกรรมการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย

กลุ่ม AGO1(1) ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

ดิฉัน นางสาวพรรณิภา  หิรัญโท ประเภท นักศึกษา ทำงานภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ระยะเวลาโครงการ 11 เดือน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ซึ่งได้รับมอบหมายในการปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบในกิจกรรมการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติ และการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย ของกลุ่มทอผ้ามือ (ผ้าไหม/ผ้าฝ้าย) จำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทอผ้ามือบ้านหนองบัว บ้านตูมน้อย บ้านหนองดุม และบ้านปะคำดง โดยจัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือของกลุ่มให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของกลุ่มผู้บริโภคและผู้สวมใส่ โดยใช้วัสดุทางธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรที่มีในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ การใช้สีธรรมชาติในการย้อมเส้นใยผ้า เพื่อความปลอดภัยจากสารเคมีและสีสังเคราะห์  โดยใส่ใจสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ผลิตและผู้สวมใส่เป็นหลัก รวมทั้งการฝึกให้ผู้เข้าร่วมอบรมเรียนรู้กระบวนการในการออกแบบลายผ้าอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถออกแบบลายผ้าที่มีเอกลักษณ์เป็นของกลุ่มหรือตนเองได้ โดยใช้เทคนิคการใช้กราฟเพื่อช่วยในการออกแบบลายผ้า และการพัฒนาลายผ้าเดิมให้สวยงามมากขึ้น

กิจกรรมและแผนการดำเนินงานของโครงการ AG01(1) ต.ตูมใหญ่  อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์        

  •  จัดประชุมแบบออนไลน์ผ่านระบบ Google Meet เพื่อชี้แจงรายละเอียดแผนการปฏิบัติงานในเดือนสิงหาคม และชี้แจงรายละเอียดกำหนดการเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติ และการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย
  •   คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) ได้มีการประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านและเจ้าอาวาสผู้ดูแลวัดบ้านหนองดุม เพื่อขอใช้พื้นที่หอประชุมในการจัดกิจกรรมการอบรม
  • คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) พร้อมกับอาจารย์ประจำหลักสูตร เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติ โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์
  • คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) พร้อมกับอาจารย์ประจำหลักสูตร เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์
  • คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) พร้อมกับคณะผู้ปฏิบัติงานองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่บางส่วน ลงพื้นที่จิตอาสาเพื่อสำรวจพรรณไม้ชนิดต่างๆ และติดป้ายต้นไม้พร้อมกับบันทึกข้อมูลต้นไม้ ในเขตปกปักษ์รักษาทรัพยากรท้องถิ่น ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ
  • อาจารย์ประจำหลักสูตรมีการจัดประชุมแบบออนไลน์ผ่านระบบ Google Meet เพื่อวางแผนการปฏิบัติงานในครั้งถัดไป คือ การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในเรื่องของการออกแบบโครงสีสำหรับผ้าทอมือของกลุ่มหรือชุมชน การออกแบบโลโก้ การขอขึ้นทะเบียนตราสินค้าผ้าทอมือ และจัดทำบทความรายงานผลการปฏิบัติงานประจำเดือนสิงหาคม
  • ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลแต่ละครั้ง ได้ทำการประสานงานกับรองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ เพื่อแจ้งรายละเอียดในการขอลงพื้นที่และการขอใช้สถานที่ เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมการอบรมทุกครั้ง

   ในส่วนของการฝึกทักษะทั้ง 4 ด้าน ดิฉันได้ทำการฝึกทักษะสำเร็จและได้รับประกาศนียบัตรแล้วเรียบร้อย4ด้านได้แก่ ด้านทักษะภาษาอังกฤษ ด้านทักษะดิจิทัล ด้านการเงิน และด้านทักษะสังคม และได้เข้าไปศึกษา TDGA เพิ่มเติมตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์กำหนดครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว

  ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการลงพื้นที่การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ

  • กิจกรรมการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติ

การย้อมสีธรรมชาติ  คือ การนำเอาวัตถุดิบในธรรมชาติที่ได้จากพืช สัตว์ จุลินทรีย์ และแร่ธาตุต่างๆ มาทำการย้อมกับเส้นด้าย เพื่อนำมาใช้ในการทอผ้า เพิ่มสีสันให้กับเส้นด้ายให้มีความสวยงาม ซึ่งมีการสืบทอดเทคนิควิธีการย้อมมายังคนรุ่นหลัง เป็นวิธีการที่ง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน ด้วยภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อนได้นำเอาองค์ความรู้ในการย้อมสีผ้าด้วยวัสดุจากธรรมชาติที่ไม่เป็นพิษต่อผู้คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมาสู่ลูกหลาน และเป็นเครื่องมือเลี้ยงชีพของชาวชนบท ซึ่งสีธรรมชาติเกิดจากการนำวัตถุดิบทางธรรมชาติ เช่น ดอก ใบ ก้าน ต้น หรือส่วนต่างๆของพืชและสัตว์ มาเข้ากระบวนการต้มสกัดเอาสีและสารต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการย้อมสีทางสิ่งทอ สารเหล่านั้นบางตัวเป็นสารจำพวกพอลิฟีนอล (polyphenol) เช่น แทนนิน และโลหะปริมาณเล็กน้อย สารทั้งสองนี้สามารถดูดซึมบนเส้นใยธรรมชาติได้บ้าง อีกทั้งโครงสร้างสีธรรมชาติร้อยละ 80 มีโครงสร้างคล้ายสีแอซิด (Acid dyes) ที่มีหมู่ไฮดรอกซิล (hydroxyl group) -OH เป็นหมู่ช่วยให้สีละลายน้ำและแสดงประจุเป็นลบ เมื่อสีละลายน้ำ สีบางชนิดประกอบด้วยหมู่พิกเมนท์ (Pigment) เป็นองค์ประกอบหลักของน้ำหนักของสี จึงทำให้สีแต่ละประเภทมีกระบวนการย้อมสีที่แตกต่างกันไป รวมถึงค่าในความคงทนต่อคุณสมบัติต่างๆ ที่ต่างกัน อีกด้วย เช่น ความคงทนต่อการซัก ความคงทนต่อแสง ความคงทนต่อการขัดถู เป็นต้น

 

  • กิจกรรมการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย

จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการทอผ้ามือมาวิเคราะห์สังเคราะห์ปัญหา พบว่า กลุ่มยังไม่มีลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของกตนเอง คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) พร้อมกับอาจารย์ประจำหลักสูตรจึงได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย โดยฝึกให้ผู้เข้าร่วมอบรมเรียนรู้กระบวนการในการออกแบบลายผ้าอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถออกแบบลายผ้าที่มีเอกลักษณ์เป็นของกลุ่มหรือตนเองได้ และสามารถใช้กราฟเพื่อช่วยในการออกแบบลายผ้าและการพัฒนาลายผ้าเดิมให้สวยงามมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาลายผ้าให้มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์จะช่วยทำให้สินค้ามีคุณค่าและน่าสนใจ ทำให้เพิ่มโอกาสในการเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น โดยให้ความรู้ความเข้าใจโดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์ ในเรื่องของการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย ดังนี้

การออกแบบลวดลายผ้าโดยการใช้กราฟในการเขียน จะกำหนดช่องบนกระดาษกราฟ โดยให้ 1 ช่องบนกระดาษกราฟเท่ากับลายมัดหมี่ 1 ลำ เวลาเขียนลายให้ใช้ดินสอจุดเบา ๆ ลงที่ช่องกราฟให้เห็นโครงสร้าง แล้วค่อยฝนดินสอลงเต็มช่องกราฟ เวลาเขียนจะต้องเขียนลายจากด้านบนลงข้างล่าง ตำแหน่งการเขียนให้เขียนตรงกลางของกระดาษกราฟในการเขียนลายก่อน ถ้าลายเรขาคณิตมุมทุกมุมจะต้องตรงกัน และสามารถแบ่งครึ่งได้เสมอกันหรือเท่ากันทั้ง 2 ด้าน หลังจากทำลายด้านบนแล้ว ค่อยมาทำเชิงผ้านุ่งทีหลัง และลงสีให้สวยงาม

รูปแบบลวดลาย

  1. ลายแถบแนวนอน เกิดจากการผูกประกอบลายเรียงต่อกันในแนวนอน
  2. ลายแถบแนวตั้ง เกิดจากการผูกประกอบลายเรียงต่อกันยาวตามแนวตั้ง
  3. ลายแถบแนวเฉียง เกิดจากการผูกประกอบลายเรียงต่อกันเอียงจากแนวไปทางใดทางหนึ่ง
  4. ลายแถบลักษณะเส้นหยก หรือเส้นซิกแซก เกิดจากการผูกประกอบลายเรียงต่อกันในลักษณะสลับฟันปลา
  5. ลายแถบลักษณะตาหมากรุก เกิดจากการผูกประกอบลายลงในพื้นที่ที่เป็นช่องสี่เหลี่ยมตารางเล็กๆ ที่เท่ากัน โดยสลับลายกับช่องว่างเหมือนตารางหมากรุก
  6. ลายแถบลักษณะขั้นบันได เกิดจากการผูกประกอบลายเรียงต่อกันลดหลั่นกันเป็นลำดับไปตามแนวเฉียง
  7. ลายที่มีลักษณะเป็นแผ่นผืน เกิดจากการจัดประกอบตัวลาย หรือแม่ลายต่อเข้าด้วยกันจนเต็มพื้นที่ต่อเนื่องสัมพันธ์กัน

การจัดวางทิศทางของลวดลาย

  1. วางลายตั้งขึ้นในทิศทางเดียวกัน (One way)
  2. วางลายสลับหัวท้ายกัน (Two way)
  3. วางลายสลับบน-ล่าง ซ้าย-ขวา (Four way)
  4. วางลายในทุกทิศทาง (Tossed)

เทคนิคการออกแบบลวดลายจากแม่ลาย

เทคนิคการออกแบบลวดลายจากแม่ลาย คือ การสร้างลายธรรมดาที่มีลักษณะเรียบง่ายขึ้นเพียง 1 รูป แล้วผูกเป็นลวดลายต่างๆ ด้วยวิธีการ เช่น การเรียงลำดับ การสลับซ้ายขวา การหมุนรอบจุด จนทำให้เกิดลวดลายใหม่ได้ต่อไปอีก

  1. การหาแม่ลายจากส่วนหนึ่งของลาย และสร้างลายลงในตาราง
  2. การจัดวางทิศทางของแม่ลาย
  3. การประกอบแม่ลายเป็นรูปร่าง
  4. การดัดแปลง
  5. การวางลาย
  6. การวางลายให้สัมพันธ์กับความกว้างของหน้าผ้า
  7. การกำหนดขนาดของลาย = การนับลำหมี่

 

ผลจากการสำรวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19

ในเดือนสิงหาคม พบว่าการแพร่ระบาดเกี่ยวกับโรคโควิด-19ค่อนข้างรุนแรงมาก ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ส่งผลให้ทราบถึงความหวาดระแวงเกี่ยวกับโรค และชาวบ้านยังมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ในรูปแบบต่างๆ ค่อนข้างไปทางด้านลบ  เนื่องจากมีการเสพข่าวสารจากหลากหลายช่องทาง ส่งผลให้ทางคณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) พร้อมกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตูมใหญ่ นางสาวแพรวนภา แหวนมุข ได้เข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 พร้อมกับให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจในการลงชื่อเข้ารับวัคซีน การปฏิบัติตนก่อนและหลังการเข้ารับวัคซีน และผลข้างเคียงหลังจากการเข้ารับวัคซีน ให้กับผู้ใหญ่บ้านตำบลตูมใหญ่ทุกหมู่บ้าน ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไป

ปัญหา อุปสรรคในการทำงาน และการแก้ไขปัญหา

จากการลงพื้นที่จัดกิจกรรมการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติ และกิจกรรมการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย พบว่า จากสถานะการณ์ปัจจุบันโรคโควิด-19ยังคงมีการแพร่ระบาดรุนแรงอยู่ทำให้การเชิญชวนให้สมาชิกกลุ่มทอผ้ามือแต่ละกลุ่มมาเข้าร่วมกิจกรรมค่อนข้างยากพอสมควร ทางคณะผู้ปฏิบัติงานจึงมีการแก้ไขปัญหาโดยมีมาตรการในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างดี โดยมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ก่อนการเข้าร่วมกิจกรรมการอบรม ให้ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ทำกิจกรรม และมีการจัดที่นั่งในการอบรมแบบเว้นระยะห่าง เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

จากการที่ดิฉันได้ลงพื้นที่จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ ได้เรียนรู้ถึงกระบวนการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติและทราบถึงกระบวนการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลายได้ฝึกการออกแบบลวดลายใหม่ๆ โดยส่วนตัวดิฉันกำลังศึกษาอยู่ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ซึ่งมีแต่การใช้สมองซีกซ้ายในการคิดวิเคราะและคำนวณ แต่ในการลงพื้นที่การออกแบบลวดลายทำให้ดิฉันได้ฝึกใช้สมองซีกขวาเพิ่มมากขึ้นและช่วยให้เกิดการผ่อนคลาย เสริมสร้างจินตนาการ มีทักษะการสื่อสารกับแม่ๆผู้สูงอายุ ได้ฝึกใช้ทักษะการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคม และเรียนรู้ถึงการป้องกันตนเองในสภาวะที่มีโรคระบาดนี้อีกด้วย

 

แผนการดำเนินงานต่อไป

คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีการวางแผนการดำเนินงานในเดือนถัดไป ดังนี้

1. นำเสนอโครงการต่อองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ เพื่อพิจารณาการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบโครงสีสำหรับผ้าทอมือของกลุ่มหรือชุมชน การออกแบบโลโก้ การขอขึ้นทะเบียนตราสินค้าผ้าทอมือ และกิจกรรมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ผ้าทอมือ โดยกลุ่มทอผ้ามือ จำนวน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองบัว บ้านตูมน้อย บ้านหนองดุม และบ้านปะคำดง

2. วันที่ 20 สิงหาคม 2564 การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบโครงสีสำหรับผ้าทอมือของกลุ่มหรือชุมชน โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์

3. วันที่ 27 สิงหาคม 2564 การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบโลโก้ การขอขึ้นทะเบียนตราสินค้าผ้าทอมือ โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์

4. วันที่ 17 กันยายน 2564 การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ผ้าทอมือ โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์

หมายเหตุ : แผนการดำเนินงานอาจมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมตามสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

 

อื่นๆ

เมนู