บทความประจำเดือน สิงหาคม 2564
กิจกรรมการย้อมสีธรรมชาติ
กิจกรรมการออกแบบลายผ้าทอมือ
และการจัดทำตลาดออนไลน์
กลุ่ม AGO1(1) ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
กระผม นายทิวัตถ์ โสละมัค ผู้ปฏิบัติงานประเภทบัณฑิตจบใหม่ ทำงานภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ระยะเวลาโครงการ 11 เดือน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ในเขตพื้นที่ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
ในการปฏิบัติงานกระผมได้รับมอบหมายในการปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบในกิจกรรมการย้อมสีธรรมชาติ และการออกแบบลายผ้าทอมือ ของกลุ่มทอผ้ามือ จำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทอผ้ามือบ้านหนองบัว บ้านตูมน้อย บ้านหนองดุม และบ้านปะคำดง โดยจัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือของกลุ่มให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของกลุ่มผู้บริโภคและผู้สวมใส่ โดยใช้วัสดุทางธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรที่มีในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ การใช้สีธรรมชาติในการย้อมเส้นใยผ้า เพื่อความปลอดภัยจากสารเคมีและสีสังเคราะห์ โดยใส่ใจสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ผลิตและผู้สวมใส่เป็นหลัก รวมทั้งการฝึกให้ผู้เข้าร่วมอบรมเรียนรู้กระบวนการในการออกแบบลายผ้าอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถออกแบบลายผ้าที่มีเอกลักษณ์เป็นของกลุ่มหรือตนเองได้ โดยใช้เทคนิคการใช้กราฟเพื่อช่วยในการออกแบบลายผ้า และการพัฒนาลายผ้าเดิมให้สวยงามมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนและปักหมุดสถานที่ท่องเที่ยว โดยใช้แอพพลิเคชั่น Handy GPS ร่วมด้วย การจัดทำสื่อวีดีทัศน์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์ชุมชนในท้องถิ่น การจัดทำโปสเตอร์ การจัดทำแผ่นพับ และการเผยแพร่สื่อต่างๆ ผ่านระบบ Facebook และสื่อออนไลน์ต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อให้มีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น
1. กิจกรรมและแผนการดำเนินงานของโครงการAG01(1) ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
อาจารย์ประจำหลักสูตรได้มีการจัดประชุมแบบออนไลน์ผ่านระบบ Google Meet เพื่อชี้แจงรายละเอียดแผนการปฏิบัติงาน จากนั้นสมาชิกในกลุ่มมีการระดมความคิดเห็นในการจัดกิจกรรมการอบรม และมีการแบ่งหน้าที่ในการปฏิบัติงานได้อย่างชัดเจน
คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) พร้อมกับอาจารย์ประจำหลักสูตร เข้าร่วมอบรมการย้อมสีธรรมชาติ โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์
คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) พร้อมกับอาจารย์ประจำหลักสูตร เข้าร่วมอบรมการออกแบบลายผ้าทอมือ โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์
คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) พร้อมกับคณะผู้ปฏิบัติงานองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่บางส่วน ลงพื้นที่จิตอาสาเพื่อสำรวจพรรณไม้ชนิดต่างๆ และติดป้ายต้นไม้พร้อมกับบันทึกข้อมูลต้นไม้ ในเขตปกปักษ์รักษาทรัพยากรท้องถิ่น ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ
อาจารย์ประจำหลักสูตรมีการจัดประชุมแบบออนไลน์ผ่านระบบ Google Meet เพื่อวางแผนการปฏิบัติงานในครั้งถัดไป และจัดทำบทความรายงานผลการปฏิบัติงานประจำเดือนสิงหาคม
ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลแต่ละครั้ง ได้ทำการประสานงานกับรองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ เพื่อแจ้งรายละเอียดในการขอลงพื้นที่และการขอใช้สถานที่ เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมการอบรมทุกครั้ง
ในส่วนของการพัฒนาทักษะทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านดิจิทัล ด้านภาษาอังกฤษ ด้านการเงิน และด้านสังคม กระผมได้ทำการพัฒนาทักษะครบ 100% และได้ทำการศึกษา TDGA เพิ่มเติมตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์กำหนดครบ 100%
2. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการจัดอบรมกิจกรรมการย้อมสีธรรมชาติ และกิจกรรมการออกแบบลายผ้าทอมือ
การทอผ้ามือของตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีกลุ่มทอผ้ามือทั้งหมดจำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มทอผ้ามือบ้านหนองบัว
- กลุ่มทอผ้ามือบ้านตูมน้อย
- กลุ่มทอผ้ามือบ้านหนองดุม
- กลุ่มทอผ้ามือบ้านปะคำดง
กิจกรรมการย้อมสีธรรมชาติ
จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการทอผ้ามือมาวิเคราะห์สังเคราะห์ปัญหา พบว่า กลุ่มทอผ้ามือทั้ง 4 หมู่บ้าน สมาชิกกลุ่มยังมีการใช้สารเคมีและสีสังเคราะห์ในการย้อมเส้นใยผ้า และมีการใช้ในปริมาณที่มาก เพื่อต้องการให้ได้สีที่มีความชัดเจนสวยงาม ส่งผลให้อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ผลิตและผู้สวมใส่ได้เป็นอย่างมาก คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) พร้อมกับอาจารย์ประจำหลักสูตรจึงอยากให้มีการผลิตอุตสาหกรรมผ้าที่ถูกต้องและปลอดภัยให้แก่ชุมชน โดยได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติ โดยฝึกให้ผู้เข้าร่วมอบรมเรียนรู้กระบวนการในการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติ เพื่อที่จะนำความรู้และวิธีการที่ได้ไปใช้ในการผลิตอุสาหกรรมผ้าของกลุ่มหรือของตนเองได้ ซึ่งให้ความรู้ความเข้าใจโดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์
ในการย้อมสีธรรมชาติ ได้นำวัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ทั่วไปในชุมชนมาใช้ในการย้อมสี ได้แก่ เปลือกมะพร้าวสด ใบสัก และแก่นฝาง โดยใช้สารช่วยย้อม หรือสารช่วยติดสี ในการย้อมสีธรรมชาติ เนื่องจากพืชแต่ละชนิดที่นำมาใช้ย้อมเส้นด้ายมีความสามารถในการติดสี ความคงทนต่อการขัดถูหรือความคงทนต่อแสงได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางชีวเคมีภายในของพืชและเส้นด้ายที่นำมาใช้ย้อม จึงต้องใช้สารช่วยย้อมมาเป็นตัวช่วยในการทำให้เส้นด้ายดูดซับสีได้ดี มีความคงทนต่อแสงและการขัดถูเพิ่มขึ้น ซึ่งคุณสมบัติสารช่วยย้อมนอกจากจะเป็นสารที่ช่วยในการยึดและจับสีแล้ว บางครั้งสารช่วยย้อมยังทำให้ได้เฉดสีใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยการใช้สารช่วยย้อมในการย้อมสี ดังนี้
การใช้เกลือแกง ซึ่งจะใช้ผสมกับน้ำสีย้อมเพื่อช่วยให้สีติดเส้นด้ายได้ง่ายขึ้น มักจะใช้ในกรณีที่ต้องการย้อมสีด้วยครั่ง โดยเป็นการใช้สารช่วยย้อมก่อนการย้อมสี เพื่อให้สีติดยึดแน่นกับเส้นด้ายและช่วยเพิ่มความคงทนของสี ทำได้โดยการนำเส้นด้ายที่ผ่านการทำความสะอาดแล้วไปชุบหรือต้มย้อมกับสารช่วยย้อมก่อนนำไปย้อมด้วยน้ำย้อมสีธรรมชาติ
การใช้สารส้มและน้ำโคลน ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยจับยึดกับเส้นด้าย และช่วยให้สีสดสว่างขึ้น และน้ำโคลน ใช้ดินโคลนจากก้นสระที่มีน้ำขังตลอดปีมาละลายในน้ำเปล่า จะช่วยให้สีเข้มหรือโทนสีเทา-ดำ เช่นเดียวกับน้ำสนิม โดยเป็นการใช้สารช่วยย้อมหลังการย้อมสี เป็นการนำเส้นด้ายลงไปย้อมสีก่อนแล้วจึงนำไปชุบหรือย้อมด้วยสารช่วยย้อมในการภายหลัง วิธีการนี้จะช่วยทำให้เกิดเฉดสีใหม่ขึ้น
กิจกรรมการออกแบบลายผ้าทอมือ
จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการทอผ้ามือมาวิเคราะห์สังเคราะห์ปัญหา พบว่า กลุ่มทอผ้ามือทั้ง 4 หมู่บ้าน นอกจากสมาชิกกลุ่มยังมีการใช้สารเคมีและสีสังเคราะห์ในการย้อมเส้นใยผ้าแล้ว กลุ่มยังไม่มีลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของกตนเอง คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) พร้อมกับอาจารย์ประจำหลักสูตรจึงได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย โดยฝึกให้ผู้เข้าร่วมอบรมเรียนรู้กระบวนการในการออกแบบลายผ้าอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถออกแบบลายผ้าที่มีเอกลักษณ์เป็นของกลุ่มหรือตนเองได้ และสามารถใช้กราฟเพื่อช่วยในการออกแบบลายผ้าและการพัฒนาลายผ้าเดิมให้สวยงามมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาลายผ้าให้มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์จะช่วยทำให้สินค้ามีคุณค่าและน่าสนใจ ทำให้เพิ่มโอกาสในการเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น โดยให้ความรู้ความเข้าใจโดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์
3. ควบคุมดูแล Facebook fanpage และการทำสื่อประชาสัมธ์ของตำบลตูมใหญ่
การจัดทำวิดโอประจำเดือนแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในตำบลอัพโหลดผ่านช่องทางYoutue และผลิตภัณฑ์ชุมชนในท้องถิ่น การจัดทำโปสเตอร์สื่อประชาสมัพันธ์ การจัดทำแผ่นพับ และการเผยแพร่สื่อต่างๆ ผ่าน Pratfrom Facebook สื่อออนไลน์ต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อให้มีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงการควบคุมดูและการจัดการตลาดออนไลน์ควบคู่กับไปกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อให้สมาชิกกลุ่มเข้าใจการตลาดมากที่สุด
Faceook fanpage แผนที่ท่องเที่ยวตำบลตูมใหญ่
แผ่นพับแหล่งท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ชุมชน
4. ผลจากการสำรวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19
จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ยังส่งผลให้ทราบถึงความคิดเห็นของชาวบ้านตำบลตูมใหญ่เกี่ยวกับการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ในรูปแบบต่างๆ ทั้งด้านบวกและด้านลบ ซึ่งวัคซีนที่รัฐบาลนำเข้ามาทุกชนิด เป็นวัคซีนที่มีคุณภาพ ได้มีการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขว่ามีความปลอดภัย และเป็นวัคซีนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกในทุกวันนี้ แต่ยังมีชาวบ้านบางส่วนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับตัววัคซีนที่รัฐบาลนำเข้ามา เนื่องจากมีการเสพข่าวสารในสื่อสังคม หรือโซเชียลมีเดีย ค่อนข้างมากและหลากหลายช่องทาง ส่งผลให้ทางคณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) พร้อมกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตูมใหญ่ นางสาวแพรวนภา แหวนมุข ได้เข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 พร้อมกับให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจในการลงชื่อเข้ารับวัคซีน การปฏิบัติตนก่อนและหลังการเข้ารับวัคซีน และผลข้างเคียงหลังจากการเข้ารับวัคซีน ให้กับผู้ใหญ่บ้านตำบลตูมใหญ่ทุกหมู่บ้าน ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง และสามารถนำข้อมูลไปเผยแพร่ให้กับลูกบ้านหรือประชาชนในตำบลตูมใหญ่ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต่อไป
5. ปัญหา อุปสรรคในการทำงาน และการแก้ไขปัญหา
จากการลงพื้นที่ในช่วงเดือนสิงหาคม ในส่วนของกิจกรรมการย้อมเส้นใยผ้าด้วยสีธรรมชาติ และกิจกรรมการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย พบปัญหาด้านการเชิญชวนให้สมาชิกกลุ่มทอผ้ามือแต่ละกลุ่มมาเข้าร่วมกิจกรรมค่อนข้างยากพอสมควร เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆที่มีความรุนแรงมากขึ้น และมีอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง ส่งผลให้สมาชิกบางส่วนเกิดความวิตกกังวลในการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกัน ทางคณะผู้ปฏิบัติงานจึงมีการแก้ไขปัญหาโดยมีมาตรการในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างดี โดยมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ก่อนการเข้าร่วมกิจกรรมการอบรม การให้ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากากอนามัย และมีการจัดที่นั่งในการอบรมแบบเว้นระยะห่าง เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เบื้องต้น
6. สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
– ได้เรียนรู้ถึงวิธีการย้อมสีธรรมชาติ และวิธีการออกแบบลายผ้าทอมือด้วยเทคนิคสร้างลายจากแม่ลาย
– ได้เรียนรู้ถึงวิธีการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนในท้องถิ่นในรูปแบบของการตลาดออนไลน์
– ได้เรียนรู้ถึงกระบวนการใช้เทคโนโลยีเพื่อเก็บข้อมูลด้านต่างๆ
– ได้เรียนรู้ถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาของการลงพื้นที่ในช่วงโรคโควิด-19 แพร่ระบาด
7. แผนการดำเนินงานต่อไป
คณะผู้ปฏิบัติงาน AG01(1) ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีการวางแผนการดำเนินงานในเดือนถัดไป ดังนี้
- นำเสนอโครงการต่อองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ เพื่อพิจารณาการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบโครงสีสำหรับผ้าทอมือของกลุ่มหรือชุมชน การออกแบบโลโก้ การขอขึ้นทะเบียนตราสินค้าผ้าทอมือ และกิจกรรมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ผ้าทอมือ โดยกลุ่มทอผ้ามือ จำนวน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองบัว บ้านตูมน้อย บ้านหนองดุม และบ้านปะคำดง
- วันที่ 20 สิงหาคม 2564 การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบโครงสีสำหรับผ้าทอมือของกลุ่มหรือชุมชน โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์
- วันที่ 27 สิงหาคม 2564 การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบโลโก้ การขอขึ้นทะเบียนตราสินค้าผ้าทอมือ โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์
- วันที่ 17 กันยายน 2564 การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ผ้าทอมือ โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์
หมายเหตุ : แผนการดำเนินงานอาจมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมตามสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19