1. หน้าแรก
  2. คณะเทคโนโลยีการเกษตร
  3. AG01(1) - ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง
  4. บทความประจำเดือน กรกฎาคม 2564 กลุ่ม AGO1(1) กิจกรรมวิเคราะห์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าทอ และการยกระดับการท่องเที่ยว ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

บทความประจำเดือน กรกฎาคม 2564 กลุ่ม AGO1(1) กิจกรรมวิเคราะห์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าทอ และการยกระดับการท่องเที่ยว ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

บทความประจำเดือน กรกฎาคม 2564

กิจกรรมวิเคราะห์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าทอ การยกระดับการท่องเที่ยว

และการพัฒนากลไกทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในชุมชน

กลุ่ม AGO1(1) ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

            ดิฉัน นางสาวบุณฑริกา ต้ายไธสง ผู้ปฏิบัติงานประเภทบัณฑิตจบใหม่ ทำงานภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ระยะเวลาโครงการ 11 เดือน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ในเขตพื้นที่ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 19 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองบัว บ้านสวายสอ บ้านกระทุ่ม บ้านปะคำสำโรง บ้านตูมน้อย บ้านตูมใหญ่ บ้านทุ่งสว่าง บ้านหนองดุม บ้านหนองตาด บ้านโนนเจริญ บ้านปะคำดง บ้านกรูด บ้านหนองไผ่ดง บ้านกระทุ่มนอก บ้านโคกสำราญ บ้านเมืองกับ บ้านแคนเจริญ บ้านหนองบัวพัฒนา และบ้านใหม่เจริญสุข

            ในการปฏิบัติงาน ดิฉันได้รับมอบหมายในการปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบในกิจกรรมวิเคราะห์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าทอ ของกลุ่มทอผ้ามือ (ผ้าไหม/ผ้าฝ้าย) ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของกลุ่มผู้บริโภคและผู้สวมใส่ พร้อมกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) รวมถึงวิธีการตรวจสอบลักษณะทั่วไปของผ้าทอมือ (ผ้ามัดหมี่ ผ้าขาวม้า ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าทอลายขัดพื้นฐาน ผ้ายกดอก หรือผ้าชนิดอื่นๆ) และการทดสอบการตกติดของสีเบื้องต้น

            นอกจากนี้ยังมีการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนและปักหมุดสถานที่ท่องเที่ยวโดยใช้แอพพลิเคชั่น Handy GPS ร่วมด้วย รวมไปถึงการเก็บภาพถ่ายและวีดีโอเพื่อใช้ในการจัดทำสื่อวีดิทัศน์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวของตำบลตูมใหญ่ อีกทั้งยังมีการพัฒนากลไกทางการตลาด ซึ่งทำการพัฒนาเป็นตลาดออนไลน์ โดยการจัดทำเพจ facebook เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวที่มีในตำบลตูมใหญ่และผลิตภัณฑ์ชุมชนในท้องถิ่น อาทิ ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ (ผ้าไหม/ผ้าฝ้าย) และผลิตภัณฑ์กล้วยฉาบ ให้มีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น

            ทั้งนี้ยังมีการรณรงค์ให้คนในชุมชนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค Covid-19 เพื่อเป็นการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงชื่อในการเข้ารับวัคซีน การปฏิบัติตนก่อนและหลังการเข้ารับการฉีดวัคซีน และผลข้างเคียงหลังจากการฉีดวัคซีน Covid-19 ให้กับชาวตำบลตูมใหญ่ โดยผู้อำนวยการสาธารณะสุขชุมชนตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ อีกด้วย

1. กิจกรรมและแผนการดำเนินงานของโครงการ AG01(1) ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

          อาจารย์ประจำหลักสูตรได้มีการจัดประชุมแบบออนไลน์ผ่านระบบ Google Meet เพื่อชี้แจงรายละเอียดแผนการปฏิบัติงานในเดือนกรกฎาคม และชี้แจงรายละเอียดกำหนดการเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมวิเคราะห์มาตรฐานผลิตภัณฑ์กล้วยฉาบ และกิจกรรมวิเคราะห์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือของตำบลตูมใหญ่

          คณะทำงาน AG01(1) ได้มีการประสานงานกับรองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ เพื่อขอใช้พื้นที่หอประชุมในการจัดอบรมกิจกรรมวิเคราะห์มาตรฐานผลิตภัณฑ์กล้วยฉาบ และกิจกรรมวิเคราะห์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือของตำบลตูมใหญ่

            คณะทำงาน AG01(1) พร้อมกับอาจารย์ประจำหลักสูตร เข้าร่วมการอบรมกิจกรรมวิเคราะห์มาตรฐานผลิตภัณฑ์กล้วยฉาบ ผ่านระบบ Google Meet ในเรื่องของการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้รับคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และการพัฒนากลไกทางการตลาด การพัฒนาเป็นตลาดออนไลน์ โดยการจัดทำเพจ facebook เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนในท้องถิ่น ให้มีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ชุมชนในท้องถิ่น จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ อาจารย์ ปิติวรรณ ฝ้ายโคกสูง

          คณะทำงาน AG01(1) พร้อมกับอาจารย์ประจำหลักสูตร เข้าร่วมการอบรมกิจกรรมวิเคราะห์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ ในเรื่องของการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้รับคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์

            คณะทำงาน AG01(1) พร้อมกับคณะผู้ปฏิบัติงานองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่บางส่วน ลงพื้นที่จิตอาสาเพื่อสำรวจพรรณไม้ชนิดต่างๆ และติดป้ายต้นไม้พร้อมกับบันทึกข้อมูลของต้นไม้ทุกต้น ในเขตปกปักษ์รักษาทรัพยากรท้องถิ่น ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ

          อาจารย์ประจำหลักสูตรมีการจัดประชุมแบบออนไลน์ผ่านระบบ Google Meet เพื่อวางแผนการปฏิบัติงานเดือนกรกฎาคม ในการจัดอบรมในเรื่องของการย้อมสีธรรมชาติ และการออกแบบลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มหรือชุมชน  และจัดทำบทความรายงานผลการปฏิบัติงานประจำเดือนกรกฎาคม

            ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลแต่ละครั้ง ได้ทำการประสานงานกับรองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ เพื่อแจ้งรายละเอียดในการขอลงพื้นที่และการขอใช้สถานที่ เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมการอบรมเชิงวิชาการทุกครั้ง

            ในส่วนของการพัฒนาทักษะทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านดิจิทัล Digital Literacy ด้านภาษาอังกฤษ Language Literacy ด้านการเงิน Financial Literacy และด้านสังคม Social Literacy ดิฉันได้ทำการพัฒนาทักษะครบ 100% และได้ทำการศึกษา TDGA เพิ่มเติมตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์กำหนดครบ 100%

2. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการจัดอบรมกิจกรรมวิเคราะห์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าทอ ของกลุ่มทอผ้ามือ (ผ้าไหม/ผ้าฝ้าย) และการยกระดับการท่องเที่ยวในชุมชน

การทอผ้ามือของตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีกลุ่มทอผ้ามือทั้งหมดจำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มสาธรผ้าไทย

สถานที่ตั้ง : บ้านหนองบัว หมู่ที่ 1 ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

ข้อมูลของกลุ่มโดยสังเขป คือ กลุ่มสาธรผ้าไทย เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2559 ประธานกลุ่ม คือ นายสาธร นามมั่น

  1. กลุ่มทอผ้าไทยบ้านตูมน้อย

สถานที่ตั้ง : บ้านตูมน้อย หมู่ที่ 5 ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

ข้อมูลของกลุ่มโดยสังเขป คือ กลุ่มทอผ้าไทยบ้านตูมน้อย เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2559 ประธานกลุ่ม คือ นางปัณฑิตา แก้วกูล

  1. กลุ่มทอผ้าไทยบ้านหนองดุม

สถานที่ตั้ง : บ้านหนองดุม หมู่ที่ 8 ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

ข้อมูลของกลุ่มโดยสังเขป คือ กลุ่มทอผ้าไทยบ้านหนองดุม เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2561 ประธานกลุ่ม คือ นางอำพร หนองหล้า

  1. กลุ่มสัมมาชีพชุมชนทอผ้าบ้านปะคำดง

สถานที่ตั้ง : บ้านปะคำดง หมู่ที่ 11 ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

ข้อมูลของกลุ่มโดยสังเขป คือ กลุ่มสัมมาชีพชุมชนทอผ้าบ้านปะคำดง เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2559 ประธานกลุ่ม คือ นางสุกานดา หอมยี่สุ่น

            จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการทอผ้ามือ มาวิเคราะห์สังเคราะห์ปัญหา พบว่า กลุ่มทอผ้ามือทั้ง 4 หมู่บ้าน มีทั้งสมาชิกที่ทอผ้าไหมและผ้าฝ้าย ซึ่งสมาชิกจะทอผ้าที่บ้านของตนเอง ไม่ได้รวมกลุ่มกันทำ แต่เมื่อมีการประชุมประจำเดือน สมาชิกถึงจะรวมกลุ่มกันทอผ้า ซึ่งกลุ่มยังไม่มีความเข้มแข็ง ขาดองค์ความรู้ด้านกลไกลทางการตลาด และการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาร่วมด้วย ทั้งนี้สมาชิกกลุ่มยังขาดความรู้ในเรื่องการพัฒนารูปแบบและลวดลายของผลิตภัณฑ์ในชุมชน นอกจากนั้นยังมีการใช้สารเคมีในการผลิตสินค้า อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ผลิตและผู้สวมใส่เป็นอย่างมาก

            คณะทำงาน AG01(1) พร้อมกับอาจารย์ประจำหลักสูตร จึงอยากให้มีการพัฒนาสินค้าในท้องถิ่นให้ปลอดจากสารเคมี เพื่อสุขภาพที่ดีของคนในชุมชน และถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านกลไกลทางการตลาด รวมถึงการผลิตอุตสาหกรรมผ้าที่ถูกต้องและปลอดภัยให้แก่ชุมชน และการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้รับคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของกลุ่ม โดยได้มีการจัดอบรมเชิงวิชาการ กิจกรรมวิเคราะห์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าทอ ของกลุ่มทอผ้ามือ (ผ้าไหม/ผ้าฝ้าย) ตำบลตูมใหญ่ ในเรื่องของการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้รับคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ  ประจญศานต์ โดยให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการผลิตผ้าทอให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของกลุ่มผู้บริโภคและผู้สวมใส่ พร้อมกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) วิธีการตรวจสอบลักษณะทั่วไปของผ้าทอมือ (ผ้ามัดหมี่ ผ้าขาวม้า ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าทอลายขัดพื้นฐาน ผ้ายกดอก หรือผ้าชนิดอื่นๆ) และการทดสอบการตกติดของสีเบื้องต้น โดยการแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 4 กลุ่ม ให้สมาชิกในกลุ่มนำเสนอความต้องการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ซึ่งได้ข้อสรุปความต้องการของสมาชิกแต่ละกลุ่มออกเป็น 6 ความต้องการ ดังนี้

  1. ต้องการผลิตลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง และผลิตลวดลายแบบใหม่ให้มีความทันสมัย
  2. ต้องการผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ โดยใช้วัสดุทางธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรที่มีในชุมชนให้เกิดระโยชน์สูงสุด อาทิ มีการใช้สีธรรมชาติ ที่ปลอดภัยจากสารเคมี ในการผลิต เพื่อใส่ใจสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ผลิตและผู้สวมใส่เป็นหลัก และมีการใช้กากชานอ้อย ที่สามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ มาทำเป็นบรรจุภัณฑ์ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ที่ทำในชุมชน
  3. ต้องการให้กลุ่มได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งต้องการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของกลุ่มผู้บริโภค และผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)
  4. ต้องการลดปัญหาคนว่างงานและลดปัญหาความยากจนของคนในชุมชน เมื่อว่างเว้นจากอาชีพหลัก คนในชุมชนสามารถทำเป็นอาชีพเสริมได้ เพื่อเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างเสริมรายได้ให้กับชุมชนและครัวเรือนของตนเอง
  5. ต้องการพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเชิงธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการริเริ่มทำธุรกิจที่ชุมชนเป็นเจ้าของ และ​บริหารจัดการเอง และสร้างเครือข่ายการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีสื่อสาร เพื่อการพัฒนา​กระบวนการเรียนรู้สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
  6. ต้องการกลุ่มเครือข่ายเพิ่มขึ้น อาทิ การพัฒนาระบบการตลาด ขาย-ซื้อ โดยการจัดทำเพจ facebook เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดของกลุ่มทอผ้ามือ ให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

            ทั้งนี้ทางคณะทำงาน AG01(1) ยังมีการร่วมมือร่วมใจกันสร้างตลาดออนไลน์ขึ้นมา โดยมีการจัดทำเพจ facebook และมีการออกแบบโปสเตอร์ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนในท้องถิ่นและแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ให้เป็นที่รู้จัก สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น และเป็นการเพิ่มยอดขายให้แก่ชุมชนอีกด้วย

                    

การยกระดับการท่องเที่ยวในชุมชน

            จากการสอบถามข้อมูลและจุดเด่นของแต่ละหมู่บ้านทั้ง 19 หมู่บ้าน จากผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ทำให้ทราบถึงสถานที่ที่น่าสนใจในตำบลตูมใหญ่ ที่สามารถพัฒนายกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่นได้ ซึ่งสามารถแบ่งสถานที่ท่องเที่ยวออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ

ป่าไม้ชุมชน หรือป่าไม้สาธารณะ

            ป่าไม้ชุมชน หรือป่าไม้สาธารณะ ตั้งอยู่บ้านตูมใหญ่ หมู่ที่ 6 ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ในตำบลตูมใหญ่ ปัจจุบันเหลือป่าไม้ไม่มากนัก เนื่องจากเกิดการบุกรุกของชาวบ้านในพื้นที่ในอดีต ส่งผลให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงจัดตั้งโครงการพัฒนาชุมชนนี้ขึ้น เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทุกคนลงพื้นที่ติดป้ายชื่อพันธุ์พืชร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่และปราชญ์ชาวบ้านในเขตพื้นที่ปกป้องทรัพยากรท้องถิ่นบ้านตูมน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ในป่าอนุรักษ์นี้จะมีต้นไม้เล็กใหญ่มากมายหลากหลายพันธุ์ ซึ่งประกอบไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด ทั้งเถาวัลย์ ไม้เลื้อย และไม้ยืนต้น อาทิ ต้นแดง ต้นมะค่า ต้นติ้ว ต้นประดู่ ต้นดูกหิน ต้นโพธิ์ ต้นเครือไทรโยง ต้นเครือผักหวาน เป็นต้น ซึ่งพันธุ์พืชแต่ละชนิดก็จะมีลักษณะเด่นและมีสรรพคุณประโยชน์ที่แตกต่างกันไป

แหล่งท่องเที่ยวละลุ (Lalu)

            ละลุ (Lalu) เป็นภาษาเขมรที่แปลว่า ทะลุ ตั้งอยู่บ้านกระทุ่มนอก หมู่ที่ 14 ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่เกิดจากน้ำฝนกัดเซาะยุบตัวหรือพังทลายของดิน เนื่องจากสภาพดินแข็งจะคงอยู่ไม่ยุบตัว เมื่อถูกน้ำฝนกัดเซาะ จึงมีลักษณะเป็นรูปต่างๆ มองคล้ายกำแพงเมืองหรือหน้าผา บ้างมีลักษณะเป็นแท่งๆ จึงทำให้ละลุมีความสวยงาม และแปลกตาแตกต่างกันตามจินตนาการของแต่ละคน ทั้งนี้ละลุเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และยังไม่เป็นที่รู้จักของคนในชุมชนมากนัก ปัจจุบันจึงยังไม่มีการปรับปรุงและพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว

แหล่งท่องเที่ยวหนองสิม

            หนองสิม ตั้งอยู่บ้านหนองดุม หมู่ที่ 8 ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพื้นที่แหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งมีบัวสีขาวนานาชนิดเกิดขึ้นเองภายในแหล่งน้ำ เมื่อถึงฤดูออกดอกหรือช่วงหน้าฝน จะพบว่ามีพันธุ์บัวสีขาวสวยขึ้นปกคลุมอยู่เต็มผืนน้ำ ซึ่งถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบที่น่าสนใจต่อการศึกษาระบบนิเวศ

แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์/วัฒนธรรม

วัดป่าประชาสันติธรรม หรือวัดบ้านปะคำสำโรง

            วัดป่าประชาสันติธรรม หรือวัดบ้านปะคำสำโรง ตั้งอยู่บ้านปะคำสำโรง หมู่ที่ 4 ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่งของตำบลตูมใหญ่ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในหมู่บ้านปะคำสำโรงและหมู่บ้านอื่นๆ ที่เคารพศรัทธา เมื่อเดินทางไปที่วัด ภายในวัดจะพบรูปปั้นพญานาคคู่อันงดงามอยู่บริเวณทางเดินเข้าไปสักการะพระพุทธรูปบนหอพระ ด้านซ้ายติดกับหอพระเป็นศาลาที่ประดิษฐานของพระนอนองค์ใหญ่ ซึ่งเสาของศาลาเป็นต้นตะเคียนทั้งหมด ถัดมาด้านซ้ายของศาลาพระนอน มีหอเทพทันใจสำหรับให้ผู้ที่ศรัทธาได้เข้ามากราบไหว้ขอพรตามความเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเชื่อว่าถ้าผู้ใดมาขอพรกับเทพทันใจก็จะได้รับพรทันใจสมกับชื่อ นอกจากนั้นด้านข้างหอเทพทันใจยังเป็นที่ตั้งของต้นตะเคียนที่ถูกขุดพบในลำห้วยบริเวณบ้านปะคำสำโรง เมื่อปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งจากการสอบถามพระครูวินัย ธรชาติกิติธโร เจ้าอาวาสวัดบ้านปะคำสำโรง เล่าว่า ก่อนหน้านี้นายประเสริฐ ศรีตระวัน รองนายก อบต.ตูมใหญ่ เจ้าของรถแบคโฮ และเป็นผู้มีหน้าที่ปรับขุดลอกลำห้วยตาเจียมเพื่อปรับเป็นแก้มลิง กักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งของหมู่บ้าน และได้ฝันว่ามีคนลักษณะเหมือนผู้หญิงอุ้มเด็กมาบอกว่าอยากขึ้นจากน้ำ โดยในฝันบอกว่ามีต้นตะเคียนจำนวน 6 ท่อน เมื่อรถแบคโฮเข้าไปทำงานก็พบไม้ตะเคียนทั้ง 6 ต้น ตามความฝัน จากนั้นชาวบ้านได้ลงความเห็นว่าจะต้องเอามาเก็บไว้ที่วัดเพื่อให้เป็นศิริมงคลต่อหมู่บ้าน และเชื่อว่าจะทำให้ชาวบ้านอยู่อย่างมีความสุข ซึ่งตั้งแต่นำต้นตะเคียนขึ้นจากน้ำ และนำมาเก็บไว้ที่วัด ได้มีชาวบ้านจากหลายตำบล มากราบไหว้ขอโชคลาภตามความเชื่อ (อ้างอิงจาก หนังสือพิมพ์ “บ้านเมือง [ออนไลน์]” ฉบับวันพฤหัสบดี ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562) นอกจากนั้นในช่วงสถานศึกษาปิดภาคเรียน ชาวบ้านบ้านปะคำสำโรงมักจะนำบุตรหลานมาบวชภาคฤดูร้อนเป็นประจำทุกปี เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และศึกษาหาความรู้โดยมีพระเป็นผู้อบรมสั่งสอน

            จะเห็นได้ว่าวัดป่าประชาสันติธรรม หรือวัดบ้านปะคำสำโรง เป็นศาสนสถานที่เป็นศูนย์รวมความรู้ ความเชื่อ และความศรัทธาของชาวบ้าน และเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจที่สำคัญต่อชาวตำบลตูมใหญ่และตำบลใกล้เคียงที่เคารพศรัทธาเป็นอย่างมาก ชาวบ้านจึงร่วมมือกันทำนุบำรุงศาสนสถานที่สำคัญนี้ให้คงอยู่เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็น ได้สัมผัสกับสิ่งที่บรรพบุรุษร่วมมือกันรักษา (พิกัด 15.173280, 103.106248)

ประเพณีบุญบั้งไฟของตำบลตูมใหญ่

            องค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับหน่วยงานราชการ และชุมชุมทั้ง 19 หมู่บ้าน ได้มีการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟขึ้นให้เป็นงานประจำปีของตำบลตูมใหญ่ เพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบสานขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่มีการสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งจัดขึ้นเพื่อบูชาพญาแถนตามความเชื่อของชาวอีสาน เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เพื่อให้เกษตรกรในท้องถิ่นมีน้ำใช้ในการทำการเกษตร และเพื่อให้ประชาชนในตำบลตูมใหญ่เกิดความรัก ความสามัคคีภายในชุมชน และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเป็นการสร้างรายได้เสริมให้แก่ประชาชนตำบลตูมใหญ่อีกด้วย

            นายชาตรี ศรีตะวัน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ กล่าวว่า ทางองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ ได้จัดงานประเพณีบุญบั้งไฟต่อเนื่องมายาวนานกว่า 12 ปีแล้ว ภายในงานมีประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงมาเที่ยวชมงานการประกวดขบวนแห่บั้งไฟ ผาแดง-นางไอ่ และขบวนฟ้อนรำที่มีความสวยงามตระการตากันเป็นจำนวนมาก ซึ่งงานประจำปีประเพณีบุญบั้งไฟจะมีการจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมของทุกปี แต่ในปี พ.ศ. 2564 นี้ ได้มีการงดจัดงาน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

แหล่งท่องเที่ยวเชิงกีฬา

การแข่งขันกีฬาของทางองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่

            การแข่งขันกีฬาของทางองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ เป็นโครงการแข่งขันกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น ในด้านการส่งเสริมการกีฬาและนันทนาการตลอดจนเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาล

            องค์การบริหารส่วนตำบล จึงได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมกีฬา ให้ทั่วถึงและลงลึกไปในท้องถิ่น จะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศและท้องถิ่น เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนที่มีความรักท้องถิ่นกำเนิด มีความสมัครสมาณสามัคคีกันในหมู่คณะอีกทั้งเป็นการเข้ากลุ่มก็จะให้กิจกรรมด้านกีฬาเป็นสื่อในการพบปะสังสรรค์ตลอดจนเป็นการส่งเสริมสุขภาพทางกายและจิตใจ ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหา ด้านอบายมุขและยาเสพติดที่แพร่หลายในชุมชน โดยทางองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่มีวัตถุประสงค์การจัดการแข่งขันกีฬา ดังนี้

  1. เพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชนในชุมชน ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ โดยการเล่นกีฬา ไม่มั่วสุมเกี่ยวกับอบายมุขและยาเสพติด
  2. เพื่อให้องค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ได้จัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น
  3. เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรักและความสามัคคีให้เกิดในระดับท้องถิ่น
  4. เพื่อเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลที่ให้มีการส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของคนในชุมชน
  5. เพื่อเป็นการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานในท้องถิ่นในการส่งเสริมการกีฬาและสนับสนุนให้เยาวชนในท้องถิ่นได้แสดงออกอย่างถูกต้องและเหมาะสม
  6. งานกีฬาองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ มีการจัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นการจัดงานค่อนข้างใหญ่ของตำบลตูมใหญ่ และเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนในชุมชน ชุมชนพื้นที่ใกล้เคียง หรือประชาชนจากต่างตำบลและต่างอำเภอมาเข้าร่วมงานค่อนข้างมาก

3. ผลจากการสำรวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19

            จากการสำรวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ในเดือนกรกฎาคม พบว่า ชาวบ้านในชุมชนทราบถึงข่าวเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดในปัจจุบัน และตระหนักถึงการป้องกันตนเองเป็นอย่างดี ว่าควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อต้องไปอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของโรคระบาด เช่น การเว้นระยะห่าง การล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ การสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการประชุมหมู่บ้าน การเข้าวัดทำบุญ การจ่ายตลาดในชุมชน รวมไปถึงการใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร เป็นต้น

            ทั้งนี้ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่ไม่มีการออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ อาจสืบเนื่องมาจากลักษณะของการทำงาน กลุ่มอาชีพ และข้อจำกัดด้านเวลาหรือการประกอบอาชีพที่แตกต่างกัน รวมถึงชาวบ้านบางส่วนไม่สามารถสวมหน้ากากอนามัยได้ตลอดเวลา เนื่องจากสภาพอากาศร้อน ทำให้การหายใจไม่สะดวก นอกจากนั้นชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีภาวะความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 และการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งควรมีแผนการพัฒนาด้านสุขภาพของคนในชุมชนต่อไป โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจัดตั้งโครงการเต้นแอโรบิคเพื่อสุขภาพ เพื่อให้คนในชุมชนและกลุ่มผู้สูงอายุหันมาออกกำลังกายเพื่อให้มีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดี

            นอกจากนี้การลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ยังส่งผลให้ทราบถึงความคิดเห็นของชาวบ้านตำบลตูมใหญ่เกี่ยวกับการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ในรูปแบบต่างๆ ทั้งด้านบวกและด้านลบ ซึ่งวัคซีนที่รัฐบาลนำเข้ามาทุกชนิด เป็นวัคซีนที่มีคุณภาพ ได้มีการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขว่ามีความปลอดภัย และเป็นวัคซีนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกในทุกวันนี้ แต่ยังมีชาวบ้านบางส่วนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับตัววัคซีนที่รัฐบาลนำเข้ามา เนื่องจากมีการเสพข่าวสารในสื่อสังคม หรือโซเชียลมีเดีย ค่อนข้างมากและหลากหลายช่องทาง ส่งผลให้ทางคณะทำงาน AG01(1) พร้อมกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตูมใหญ่ นางสาวแพรวนภา แหวนมุข ได้เข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 พร้อมกับให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจในการลงชื่อเข้ารับวัคซีน การปฏิบัติตนก่อนและหลังการเข้ารับวัคซีน และผลข้างเคียงหลังจากการเข้ารับวัคซีน ให้กับผู้ใหญ่บ้านตำบลตูมใหญ่ทุกหมู่บ้าน ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง และสามารถนำข้อมูลไปเผยแพร่ให้กับลูกบ้านหรือประชาชนในตำบลตูมใหญ่ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต่อไป

4. ปัญหา อุปสรรคในการทำงาน และการแก้ไขปัญหา

           จากการลงพื้นที่ในช่วงเดือนกรกฎาคม ในส่วนของกิจกรรมวิเคราะห์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าทอ พบปัญหาด้านการเชิญชวนให้สมาชิกกลุ่มทอผ้ามือแต่ละกลุ่มมาเข้าร่วมกิจกรรมค่อนข้างยากพอสมควร เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆที่มีความรุนแรงมากขึ้น และมีอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง ส่งผลให้สมาชิกบางส่วนเกิดความวิตกกังวลในการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกัน ทางคณะทำงาน จึงมีการแก้ไขปัญหาโดยมีมาตรการในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างดี โดยมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ก่อนการเข้าร่วมกิจกรรมการอบรม การให้ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากากอนามัย และมีการจัดที่นั่งในการอบรมแบบเว้นระยะห่าง เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เบื้องต้น

            ในส่วนของการลงพื้นที่เก็บข้อมูลประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวที่มีในตำบลตูมใหญ่ พบปัญหาในเรื่องของการสอบถามผู้ใหญ่บ้านเกี่ยวกับข้อมูลการท่องเที่ยวในชุมชน เนื่องจากผู้ใหญ่บ้านหรือชาวบ้านที่ให้ข้อมูลบางส่วนไม่ใช่คนในพื้นที่โดยกำเนิด ส่งผลให้ไม่ทราบรายละเอียดหมู่บ้านของตนเอง การแก้ไขปัญหา คณะทำงาน AG01(1) ได้แก้ไขปัญหาโดยการสอบถามข้อมูลจากชาวบ้านผู้สูงอายุหรือผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นที่มีความรู้เกี่ยวกับพื้นที่โดยตรง ไม่ว่าอย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทุกคนต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและการรักษาสุขภาพของตนเองและผู้อื่นเป็นหลัก จึงมีผู้นำชุมชนและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำการคัดกรองประชาชนทุกคนก่อนเข้าและออกจากพื้นที่ตลอดเวลา เพื่อความปลอดภัยของคนในชุมชนทุกคน

5. สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

  • ได้เรียนรู้การประสานงานกับผู้นำชุมชนและรองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่
  • ได้ทราบประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวที่มีในตำบลตูมใหญ่
  • ได้ทราบถึงการระมัดระวังและวิธีการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ผ้าไหม
  • ได้เรียนรู้ถึงวิธีการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนในท้องถิ่นในรูปแบบของการตลาดออนไลน์
  • ได้เรียนรู้ถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาของการลงพื้นที่ในช่วงโรคโควิด-19 แพร่ระบาด
  • 6. แผนการดำเนินงานต่อไป

            คณะทำงาน AG01(1) ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีการวางแผนการดำเนินงานในเดือนถัดไป คือ เดือนสิงหาคม 2564 ดังนี้

  1. นำเสนอโครงการต่อองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ เพื่อพิจารณาการจัดอบรมเชิงวิชาการ กิจกรรมการพัฒนาการย้อมสีธรรมชาติให้สวยงามและคงทน และกิจกรรมการออกแบบลายผ้าเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน โดยกลุ่มทอผ้ามือ จำนวน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองบัว หมู่ที่1 บ้านตูมน้อย หมู่ที่ 5 บ้านหนองดุม หมู่ที่ 8 และบ้านปะคำดง หมู่ที่ 11
  2. วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 การจัดอบรมเชิงวิชาการ กิจกรรมการพัฒนาการย้อมสีธรรมชาติให้สวยงามและคงทน โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์
  3. วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 การจัดอบรมเชิงวิชาการ กิจกรรมการออกแบบลายผ้าเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ สมบัติ ประจญศานต์

หมายเหตุ : แผนการดำเนินงานอาจมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมตามสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

 

อื่นๆ

เมนู