1. หน้าแรก
  2. คณะเทคโนโลยีการเกษตร
  3. AG01(1) - ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง
  4. บทความประจำเดือน พฤษภาคม 2564 กลุ่ม AG01(1) การพัฒนาชุมชนในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯและสำรวจแหล่งน้ำชุมชน ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

บทความประจำเดือน พฤษภาคม 2564 กลุ่ม AG01(1) การพัฒนาชุมชนในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯและสำรวจแหล่งน้ำชุมชน ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

          ดิฉันนางสาวกัญญารัตน์ แก้วคำภา นักศึกษา ทำงานภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ระยะเวลาโครงการ 11 เดือน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ซึ่งได้รับมอบหมายในการปฏิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบเพื่อเก็บข้อมูลแหล่งน้ำในท้องถิ่นของตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยแผนการดำเนินมีเป้าหมายการลงพื้นที่เก็บข้อมูลตามแบบฟอร์มที่หน่วยงานหลักกำหนดมา และแบบฟอร์มเก็บข้อมูลใบประกาศนียบัตร ทักษะด้าน Social Literacy แบบฟอร์มบันทึกข้อมูล สำหรับผู้ที่ผ่านการอบรมทักษะทาง Financial Literacy (SET e-Learning) และ แบบฟอร์มบันทึกข้อมูล สำหรับผู้ที่ผ่านการอบรมทักษะทาง Digital Literacy (TDGA e-Learning)

กิจกรรมและแผนการดำเนินงานของโครงการ AG01(1) ต.ตูมใหญ่  อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์
          ในวันที่ 14 เมษายน 2564 คณะทำงาน AG01(1) ประสานงานกับรองปลัด อบต. ตูมใหญ่ เพื่อดำเนินการขอลงพื้นที่จิตอาสาพัฒนาชุมชนร่วมกับ อบต.ตูมใหญ่ ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ

          ในวันที่ 15 เมษายน 2564  คณะทำงาน AG01(1) ตำบลตูมใหญ่ ได้ทำกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชน ร่วมกับ อบต.ตูมใหญ่ ในการจัดเตรียมป้ายชื่อไว้สำหรับติดข้อมูลพันธุ์พืชในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บริเวณที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ตำบลตูมใหญ่

          ในวันที่ 23 เมษายน 2564 คณะทำงาน AG01(1) ตำบลตูมใหญ่พร้อมคณะอาจารย์ประจำหลักสูตร ลงพื้นที่จิตอาสาเพื่อพัฒนาชุมชนร่วมกับ อบต. ตูมใหญ่ ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ

          ในช่วงวันที่ 24 เมษายน ถึง 12 พฤษภาคม 2564 กรอกแบบฟอร์ม 01 ข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือนและชุมชน แบบฟอร์ม 02 ผลกระทบจากโรคโควิด-19 เพิ่มเติม

          ในช่วงวันที่ 10 – 15 พฤษภาคม 2564 ลงพื้นที่เก็บข้อมูลตามแบบฟอร์มแบบใหม่ ในหัวข้อแหล่งน้ำชุมชน ในตำบลตูมใหญ่

          ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 สรุปรายงานประจำเดือนเมษายน พร้อมดำเนินการจัดทำบทความประจำเดือนพฤษภาคม

 กิจกรรมจิตอาสาและการยกระดับการท่องเที่ยวในตำบล
          ผลจากการลงพื้นที่ทำกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชนร่วมกับคณะ อบต. ตูมใหญ่ ทำให้ได้เห็นถึงการลดลงของป่าอนุรักษ์ในชุมชน เนื่องมาจากการบุกรุกพื้นที่ของประชาชนบางส่วน และการลักลอบตัดไม้ในเขตป่าอนุรักษ์ จึงทำให้พืชพื้นเมือง และพืชสมุนไพรที่เคยอุดมสมบูรณ์เหลืออยู่ไม่มากนัก จากปัญหาเหล่านี้ จึงส่งผลให้ทาง อบต.ตูมใหญ่ จัดตั้งโครงการพัฒนาชุมชนเพื่อเป็นการรักษาป่าอนุรักษ์ก่อนจะหมดไป ซึ่งคณะทำงาน AG01(1) ได้ปฏิบัติงานลงพื้นที่ติดป้ายชื่อพันธุ์พืชร่วมกับ อบต.ตูมใหญ่ และปราชญ์ชาวบ้านในเขตพื้นที่ปกปักทรัพยากรท้องถิ่นบ้านตูมน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯซึ่งมีพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 26 ไร่

 

           ด้านการสำรวจแหล่งน้ำชุมชน พบว่า แหล่งน้ำของชุมชนส่วนใหญ่ใช้เฉพาะในการผลิตประปาหมู่บ้านเท่านั้น เนื่องจากน้ำน้อย บางหมู่บ้านน้ำในแหล่งน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคจึงต้องมีการขุดลอก หรือขุดขึ้นใหม่ ส่วนน้ำที่ใช้ในการเกษตรชาวบ้านจะอาศัยน้ำฝน ปีใดที่ฝนไม่ตกตามฤดูกาลก็จะไม่มีน้ำใช้ในการเกษตร จะมีเพียงบ้านหนองดุม หมู่ที่ 8 เท่านั้นที่มีหนองน้ำสำหรับทำการเกษตร ชื่อว่า หนองสมัด แต่แหล่งน้ำมีลักษณะตื้นเขิน และปริมาณน้ำน้อยมาก จึงไม่เพียงพอสำหรับเกษตรกรที่ต้องการใช้น้ำ

 

          ด้านการท่องเที่ยวชุมชนของตำบลตูมใหญ่ จะมีความโดดเด่นในด้านการงานประจำปีประเพณีบุญบั้งไฟ (ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม) แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จึงได้งดจัดงาน นอกจากนี้ ในตำบลตูมใหญ่ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่น วัด แหล่งน้ำชุมชน ป่าไม้ชุมชน ที่งดงามและอุดมสมบูรณ์ ซึ่งบางแห่งสามารถยกระดับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในชุมชนได้ ในที่นี้ ดิฉันจะแนะนำสถานที่ที่ดิฉันสนใจ นั่นก็คือ “วัดบ้านปะคำสำโรง” ค่ะ

          เนื่องจากในสมัยโบราณ วัดเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทย และเป็นสถานที่ให้ความรู้แก่คนในสมัยก่อน เพราะเมื่อก่อนยังไม่มีโรงเรียน จึงใช้วัดเป็นสถานที่สำหรับใฝ่หาความรู้ โดยมีพระเป็นผู้อบรมสั่งสอน และวัดยังเป็นที่ประชุมหรือเป็นที่ชำระจิตใจของผู้คน จึงนับได้ว่าในสมัยก่อนวัดมีอิทธิพลมากต่อคนไทย และยังคงมีอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้วัดยังเป็นศูนย์รวมความเชื่อต่าง ๆ ของชาวพุทธ ซึ่งเป็นความเชื่อส่วนบุคคล  ดังนั้น วัดจึงเปรียบเสมือนแหล่งรวบรวมและสร้างวัฒนธรรม ค่านิยมและความเชื่อที่มีร่วมกันมาอย่างช้านาน

          วัดบ้านปะคำสำโรง ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านปะคำสำโรง หมู่ที่ 19 ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์  ซึ่งเป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่งของตำบลตูมใหญ่ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในหมู่บ้านปะคำสำโรงและหมู่บ้านอื่น ๆ ที่เคารพศรัทธา เมื่อเดินทางไปที่วัด ภายในวัดจะพบรูปปั้นพญานาคคู่อันงดงามอยู่บริเวณทางเดินเข้าไปสักการะพระพุทธรูปบนหอพระ  ด้านซ้ายติดกับหอพระเป็นศาลาที่ประดิษฐานของพระนอนองค์ใหญ่ ซึ่งเสาของศาลาเป็นต้นตะเคียนทั้งหมด  ถัดมาด้านซ้ายของศาลาพระนอน  มีหอเทพทันใจสำหรับให้ผู้ที่ศรัทธาได้เข้ามากราบไหว้ขอพรตามความเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเชื่อว่าถ้าผู้ใดมาขอพรกับเทพทันใจก็จะได้รับพรทันใจสมกับชื่อ  นอกจากนั้นด้านข้างหอเทพทันใจยังเป็นที่ตั้งของต้นตะเคียนที่ถูกขุดพบในลำห้วยบริเวณบ้านปะคำสำโรง เมื่อปี พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา ซึ่งจากการสอบถามพระครูวินัย ธรชาติกิติธโร เจ้าอาวาสวัดบ้านปะคำสำโรง เล่าว่า ก่อนหน้านี้นายประเสริฐ ศรีตระวัน รองนายกอบต.ตูมใหญ่ อ.คูเมือง เจ้าของรถแบคโฮ และเป็นผู้มีหน้าที่ปรับขุดลอกลำห้วยตาเจียมเพื่อปรับเป็นแก้มลิง กักเก็บน้ำใช้ในหน้าแล้งของหมู่บ้าน และได้ฝันว่า ว่ามีคนลักษณะเหมือนผู้หญิงอุ้มเด็กมาบอกว่าอยากขึ้นจากน้ำ โดยในฝันบอกว่ามีต้นตะเคียนจำนวน 6 ท่อน เมื่อรถแบคโฮ เข้าไปทำงานก็พบไม้ทั้ง 6 ต้นตามคำฝัน จากนั้นชาวบ้านได้ลงความเห็นว่าจะต้องเอามาเก็บไว้ที่วัดเพื่อให้เป็นศิริมงคลต่อหมู่บ้าน และเชื่อว่าจะทำให้ชาวบ้านอยู่อย่างมีความสุข ซึ่งตั้งแต่เอาต้นตะเคียนขึ้นจากน้ำ เอามาเก็บไว้ที่วัด ได้มีชาวบ้านจากหลายตำบล มากราบไหว้ขอโชคลาภตามความเชื่อ (อ้างอิงจาก หนังสือพิมพ์ “บ้านเมือง [ออนไลน์]” ฉบับวันพฤหัสบดี ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562) นอกจากนั้น ในช่วงสถานศึกษาปิดภาคเรียน ชาวบ้านบ้านปะคำสำโรงมักจะนำบุตรหลานมาบวชภาคฤดูร้อนเป็นประจำทุกปี เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และศึกษาหาความรู้โดยมีพระเป็นผู้อบรมสั่งสอน

          จะเห็นได้ว่า วัดบ้านปะคำสำโรง เป็นศาสนสถานที่เป็นศูนย์รวมความรู้ ความเชื่อ และความศรัทธาของชาวบ้าน และเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจที่สำคัญต่อชาวตำบลตูมใหญ่และตำบลใกล้เคียงที่เคารพศรัทธาเป็นอย่างมาก  ชาวบ้านจึงร่วมมือกันทำนุบำรุงศาสนสถานที่สำคัญนี้ให้คงอยู่เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็น ได้สัมผัสกับสิ่งที่บรรพบุรุษร่วมมือกันรักษา  สุดท้ายนี้ หากผู้อ่านท่านใดต้องการเดินทางไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดบ้านปะคำสำโรง  สามารถเดินทางไปได้ที่บ้านปะคำสำโรง ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์  หรือเดินทางไปตามเส้นทางใน Google map ตามพิกัด 15.173280, 103.106248 ได้เลยค่ะ

ปัญหา อุปสรรคในการทำงาน และการแก้ไขปัญหา
          ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลแหล่งน้ำชุมชน พบปัญหาด้านการเก็บข้อมูลเนื่องจากแหล่งน้ำชุมชนของแต่ละหมู่บ้านอยู่ห่างไกลกัน ในการเก็บข้อมูลแต่ละครั้งจึงล่าช้า เนื่องจากการมีการวัดอุณภูมิของน้ำในแหล่งน้ำ ซึ่งจะต้องทำการวัดเวลาเช้า เที่ยง เย็น ตามที่กำหนดในแบบฟอร์ม จึงทำให้ใช้เวลาในการเก็บข้อมูลเยอะพอสมควร รวมถึงการระบาดของ Covid-19 ในปัจจุบันที่พบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ตำบลตูมใหญ่แล้ว จึงทำให้การสอบถามข้อมูลจากชาวบ้านค่อนข้างทำได้ยาก เพราะชาวบ้านกลัวคนจากต่างพื้นที่จะนำเชื้อมาแพร่กระจายในพื้นที่ของตน ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานลงพื้นที่เก็บข้อมูลได้ไม่เต็มที่ส่งผลให้การกรอกข้อมูลลงระบบยังไม่ครบ 100% อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ปฏิบัติทุกคนต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและรักษาสุขภาพ จึงมีผู้นำชุมชนและ อสม.คัดกรองก่อนเข้าและออกจากพื้นที่ตลอดเวลา

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในตำบลตูมใหญ่
          1. ได้เรียนรู้การประสานงานกับผู้นำชุมชน

          2. ได้เรียนรู้ถึงกระบวนการใช้เทคโนโลยี
          3. ได้เรียนรู้ถึงปัญหาชุมชน
          4. ได้เรียนรู้ถึงการปรับตัวในการทำงานช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19

แผนการในการดำเนินงานต่อไป
          – นำข้อมูลที่สำรวจกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั้ง 3 กลุ่ม เดือน กุมภาพันธ์-เมษายน นำมาวิเคราะห์เชิงวิชาการเพื่อให้ทราบถึงความต้องการของสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

          – จัดอบรมการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้รับคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์พร้อมจดทะเบียนตราสินค้า
          – ทำโครงการเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชนนั้นๆ
          – นำเสนอโครงการต่อ อบต. ตูมใหญ่เพื่อพิจารณา
          – แผนการดำเนินการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

 

อื่นๆ

เมนู