ดิฉัน นางสาวบุณฑริกา ต้ายไธสง ผู้ปฏิบัติงานประเภทบัณฑิตจบใหม่ ทำงานภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ระยะเวลาโครงการ 11 เดือน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ในเขตพื้นที่ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 19 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองบัว บ้านสวายสอ บ้านกระทุ่ม บ้านปะคำสำโรง บ้านตูมน้อย บ้านตูมใหญ่ บ้านทุ่งสว่าง บ้านหนองดุม บ้านหนองตาด บ้านโนนเจริญ บ้านปะคำดง บ้านกรูด บ้านหนองไผ่ดง บ้านกระทุ่มนอก บ้านโคกสำราญ บ้านเมืองกับ บ้านแคนเจริญ บ้านหนองบัวพัฒนา และบ้านใหม่เจริญสุข โดยดำเนินการลงพื้นที่เก็บข้อมูลตามแบบฟอร์ม 5 แบบ คือ แบบฟอร์ม 01 ข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือนและชุมชน แบบฟอร์ม 02 ผลกระทบจากโรคโควิด-19 แบบฟอร์ม 03 การประเมินภาพรวมในการพัฒนาความยากจน แบบฟอร์ม 04 การประเมินภาพรวมการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาความยากจน และแบบฟอร์ม 06 แบบสำรวจเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด-19
กิจกรรมและแผนการดำเนินงานของโครงการ AG01(1)
วันที่ 22 มีนาคม 2564 ทางทีมผู้ปฏิบัติงานเข้าพบผู้ใหญ่บ้านเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนของแต่ละหมู่บ้านในตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
วันที่ 24 มีนาคม 2564 อาจารย์ประจำหลักสูตรและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานลงพื้นที่สำรวจกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ทั้ง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสัมมาชีพชุมชนแปรรูปอาหาร บ้านหนองบัวพัฒนา หมู่ที่18 กลุ่มตูมน้อยผ้าไทย บ้านตูมน้อย หมู่ที่5 และกลุ่มสัมมาชีพชุมชนกล้วยฉาบบ้านใหม่เจริญสุข หมู่ที่19 เพื่อให้ทราบถึงปัญหาและความต้องการในด้านการผลิตรวมไปถึงด้านการตลาดของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแต่ละกลุ่ม
ในช่วงวันที่ 25 มีนาคม – 8 เมษายน 2564 ติดต่อประสานงานภายในกลุ่ม เพื่อทำการวิเคราะห์และสรุปข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่สำรวจวิสาหกิจของแต่ละชุมชน และสรุปบทความประจำเดือนมีนาคม 2564
ในช่วงวันที่ 9 – 14 เมษายน 2564 ทำการพัฒนาทักษะให้ครบทั้ง 4 ด้าน ได้แก่
1) ด้านดิจิทัล Digital Literacy
2) ด้านภาษาอังกฤษ Language Literacy
3) ด้านการเงิน Financial Literacy
4) ด้านสังคม Social Literacy
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการลงพื้นที่สำรวจกลุ่มวิสาหกิจชุมชนของทั้ง 3 หมู่บ้าน
- กลุ่มสัมมาชีพชุมชนแปรรูปอาหาร (แคบหมูและแหนมหมู) บ้านหนองบัวพัฒนา
สถานที่ : บ้านหนองบัวพัฒนา หมู่ที่ 18 ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ลงพื้นที่สำรวจข้อมูล วันที่ 26 มีนาคม 2564
กลุ่มสัมมาชีพชุมชนแปรรูปอาหารบ้านหนองบัวพัฒนา นายสถาพร ทองเรือง มีสมาชิกทั้งหมด 27 คน ปัจจุบันสมาชิกคงเหลือ 21 คน สมาชิกอายุอยู่ระหว่าง 35-65 ปี (เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ พุทธศักราช 2561 ก่อตั้งมาแล้ว 3 ปี) สมาชิกทำเป็นอาชีพเสริม ช่วงระยะเวลาที่ทำ คือ เดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคม เนื่องจากสมาชิกว่างงานจากอาชีพหลัก จึงจะร่วมกลุ่มกันทำ แคบหมูและแหนมหมู ทำเฉพาะมีคำสั่งซื้อเข้ามาเท่านั้น คำสั่งซื้อที่สมาชิกรับทำ คือ 5 กิโลกรัมขึ้นไป
การจดทะเบียน : การจดทะเบียนเป็นการจดแบบต่อเนื่องทุกปี เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแต่ยังไม่เป็นสินค้า OTOP
การตลาด
- จำหน่ายภายในชุมชน ไม่มีพ่อค้าคนกลางมารับไปขาย และไม่มีแหล่งส่งขายนอกพื้นที่
- ส่วนใหญ่จะจำหน่ายให้กับร้านค้าทั่วไปภายในชุมชน
ปัญหาการทำงาน
- เป็นการทำงานที่ไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากสมาชิกไม่ได้ทำแหนมหมูและแคบหมูเป็นประจำ จะทำเฉพาะมีคำสั่งซื้อเข้ามาเท่านั้น
- ขาดหัวหน้ากลุ่มในการทำแหนมหมูและแคบหมู
- ราคาวัสดุอุปกรณ์และวัตถุดิบที่ใช้มีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้การทำแหนมหมูและแคบหมู ต้องเพิ่มราคาในการขาย เมื่อเพิ่มราคาแล้วทำให้ขายสินค้าไม่ได้
เป้าหมายและความต้องการของกลุ่ม
- ต้องการตลาดในการรับรองสินค้า
- ต้องการขยายกลุ่มเป้าหมาย ในการจัดจำหน่ายสินค้า
- ต้องการเพิ่มความอร่อยของรสชาติ
- ต้องการสร้างรายได้เสริมให้แก่คนในชุมชน
- กลุ่มตูมน้อยผ้าไทย
สถานที่ : บ้านตูมน้อย หมู่ที่ 5 ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ลงพื้นที่สำรวจข้อมูล วันที่ 26 มีนาคม 2564
กลุ่มตูมน้อยผ้าไทย นางปัณฑิตา แก้วกูล มีสมาชิกทั้งหมด 25 คน ปัจจุบันสมาชิกคงเหลือ 10 คน สมาชิกอายุอยู่ระหว่าง 35-78 ปี (เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ พุทธศักราช 2562 ก่อตั้งมาแล้ว 2 ปี) สมาชิกทำเป็นอาชีพเสริม ทำช่วงระยะเวลาหลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว สมาชิกที่ทอผ้าไทยได้จริงมีเพียง 4 คน สมาชิกอีก 6 คนที่เหลือ จะเป็นการแนะนำลายผ้าต่างๆ และเป็นการตลาด
การจดทะเบียน : ยังไม่มีการจดทะเบียน เนื่องจากยังไม่มีการรวมกลุ่ม
การตลาด
- มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อบ้างบางครั้ง แต่ไม่ได้มีการรับซื้อที่แน่นอน
- ส่วนใหญ่จะจำหน่ายภายในชุมชน
- ส่วนใหญ่ทอผ้าไว้ใช้เองไม่ได้จำหน่าย
ปัญหาการทำงาน
- ไม่มีลวดลายใหม่ๆ ให้คนรุ่นหลังสนใจในผ้าไทย ทำให้ขายไม่ได้
- ราคาผ้าและด้ายทอผ้ามีราคาเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เมื่อเราเพิ่มราคาของผ้าทำให้ขายไม่ได้ หรือหากขายต้องลดราคาลงทำให้ขาดทุน
เป้าหมายและความต้องการของกลุ่ม
- ต้องการให้มีจุดศูนย์กลางในการผลิต เพราะจะได้สะดวกต่อการปฏิบัติงานมากขึ้น
- ต้องการเพิ่มลวดลายของผ้าไทยให้มีความทันสมัย
- ต้องการนำผ้าไทยมาออกแบบเป็นผ้าพันคอหรือผ้าคลุมไหล่
- ต้องการลวดลายที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
- ต้องการสร้างรายได้เสริมให้แก่คนในชุมชน
- กลุ่มสัมมาชีพกล้วยฉาบชุมชนบ้านใหม่เจริญสุข
สถานที่ : บ้านใหม่เจริญสุข หมู่ที่ 19 ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ลงพื้นที่สำรวจข้อมูล วันที่ 26 มีนาคม 2564
กลุ่มสัมมาชีพชุมชนบ้านใหม่เจริญสุข นายสมพร ดารินรัมย์ มีสมาชิกทั้งหมด 25 คน ปัจจุบันสมาชิกคงเหลือ 25 คน สมาชิกอายุอยู่ระหว่าง 35-78 ปี (เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ พุทธศักราช 2562 ก่อตั้งมาแล้ว 2 ปี) สมาชิกทำเป็นอาชีพเสริม ซึ่งทำเฉพะมีคำสั่งซื้อมาจากลูกค้าเท่านั้น สมาชิกจะเน้นความสะอาด สดใหม่เป็นหลัก เพื่อให้ได้สินค้าที่ดีและมีมาตรฐาน ซึ่งสมาชิกในกลุ่มจะรับทำกล้วยฉาบจำนวน 150 ห่อ ขึ้นไป
การจดทะเบียน : การจดทะเบียนเป็นการจดแบบต่อเนื่องทุกปี เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแต่ยังไม่เป็นสินค้า OTOP
การตลาด
- จำหน่ายภายในชุมชน ไม่มีพ่อค้าคนกลางมารับไปขายและไม่มีแหล่งส่งขายนอกพื้นที่
- ส่วนใหญ่จะจำหน่ายให้กับร้านค้าทั่วไปภายในชุมชน
ปัญหาการทำงาน
- เมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามาส่วนใหญ่หากล้วยไม่ได้ ทำให้ขาดรายได้
- ราคาวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้มีราคาสูงขึ้นส่งผลให้ต้องเพิ่มราคาสินค้า เมื่อเพิ่มราคาแล้วทำให้ขายสินค้าไม่ได้
เป้าหมายและความต้องการของสมาชิก
- ต้องการขยายกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น
- ต้องการผลิตกล้วยฉาบรสชาติแบบใหม่
- ต้องการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพมากขึ้น
- ต้องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น
- ต้องการสร้างรายได้เสริมให้แก่คนในชุมชน
ผลจากการเก็บข้อมูลสำรวจเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19
ผลจากการเก็บข้อมูลในเดือนเมษายน พบว่า ชาวบ้านในชุมชนทราบข่าวเกี่ยวกับโรคที่กำลังระบาดในรอบที่ 3 และตระหนักถึงการป้องกันตนเองเป็นอย่างดี ว่าควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อต้องไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เช่น การเว้นระยะห่าง การล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ การสวมหน้ากากอนามัย และการใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร แต่อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยออกกำลังกาย อาจเนื่องมาจากมีเวลาไม่เพียงพอต่อการออกกำลังกาย จึงทำให้ประชาชนบางส่วนมีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดัน และโรคเบาหวาน
ปัญหา อุปสรรคในการทำงาน และการแก้ไขปัญหา
ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในช่วงเดือนเมษายน พบปัญหาด้านระยะเวลาในการเก็บข้อมูลกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เนื่องจากคณะทำงาน AG01(1) ได้ประชุมกลุ่มย่อยในกลุ่มและได้นัดหมายกลุ่มวิสาหกิจทั้ง 3 กลุ่มในเวลากระชันชิด ส่งผลให้ประธานกลุ่มและสมาชิกบางกลุ่มเตรียมความพร้อมได้ไม่ดีพอ จึงแก้ปัญหาโดยการนัดหมายอีกครั้ง เพื่อลงพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงพื้นตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
ได้เรียนรู้การประสานงานกับผู้นำชุมชนและประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน
ได้เรียนรู้ถึงกระบวนการใช้เทคโนโลยีต่างๆ
ได้เรียนรู้ถึงเป้าหมายการทำงานของกลุ่มวิสาหกิจในแต่ละกลุ่ม
ได้เรียนรู้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาในชุมชน
แผนการในการดำเนินงานต่อไป
- นำข้อมูลที่สำรวจกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั้ง 3 กลุ่ม เดือน มีนาคม นำมาวิเคราะห์เชิงวิชาการเพื่อให้ทราบถึงความต้องการของสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน
- จัดอบรมการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้รับคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์พร้อมจดทะเบียนตราสินค้า
- ทำโครงการเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชนนั้นๆ
- นำเสนอโครงการต่อ อบต. ตูมใหญ่เพื่อพิจารณา