ดิฉัน นางสาววรรณวิสา ยศนีย์ ประเภท บัณฑิตจบใหม่ ทำงานภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ระยะเวลา 11 เดือน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ซึ่งได้รับมอบหมายในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อเก็บข้อมูลในการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลจำนวน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านโคกเมฆ, บ้านโนนตะคร้อ และบ้านโนนสะอาด ตำบลบ้านคู อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์
กิจกรรมและแผนการดำเนินงานของโครงการ AG01(2)
ในช่วงวันที่ 1 เมษายน 2564 ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลกับอาจารย์ประจำหลักสูตรเพื่อสำรวจวิสาหกิจชุมชน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านโนนสะอาด ประเภทการปลูกผักอินทรีย์ บ้านโนนตะคร้อและบ้านโคกเมฆ ประเภทกลุ่มทอผ้าไหม
ในช่วงวันที่ 2 เมษายน – 12 เมษายน 2564 ปฏิบัติงานประจำ ติดต่อสื่อสาร/ประสานงานภายในกลุ่มและเก็บรวบรวมข้อมูลในการลงพื้นที่สำรวจข้อมูล เพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับวิสาหกิจของแต่ละชุมชน
การฝึกทักษะทั้ง 4 ด้าน
1) ด้านดิจิทัล Digital Literacy
2) ด้านภาษาอังกฤษ Language Literacy
3) ด้านการเงิน Financial Literacy
4) ด้านสังคม Social Literacy
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชน
สถานที่ : บ้านโนนสะอาด ตำบลบ้านคู อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ วันที่ 1 เมษายน 64 ณ บ้านโนนสะอาด สอบถามตัวแทนกลุ่มปลูกผักอินทรีย์
สมาชิกทั้งหมด 55 คน อายุระหว่าง 40-50 ปี (เริ่มก่อตั้งปี 39 มีมาได้ประมาณ 25 ปีแล้ว)
เมื่อก่อนเป็นกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ ปลูกแบบภูมิปัญญา (โดยจะปลูกช่วงฤดูหนาว) เริ่มทำตั้งแต่เดือนพ.ย.-มี.ค. ของแต่ละครั้ง/ปี ปลูกประมาณ 45 วัน ได้เก็บ ไม่ใช้สารเคมีแต่ยังใช้ยาฆ่าแมลงอยู่ทำให้ผักอยู่ได้ไม่นาน
การจดทะเบียน
การจดทะเบียนเป็นการจดทะเบียนแบบไม่ต่อเนื่องบางปีก็ไม่ได้จด ทำเป็นกลุ่มแต่ยังไม่เป็นวิสาหกิจชุมชน
วิธีดำเนินการ/กระบวนการทำงาน
ใช้พื้นที่ชุมชนในการเพาะปลูกผักอินทรีย์ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ปลูกแบบขั้นบันได รอบหนองน้ำหนองสระ ความกว้างประมาณ 4 เมตร ยาวประมาณ 100 เมตร แบ่งทำคนละ 1 งาน การเตรียมแปลงผักจะเตรียมพร้อมกันเป็นการไถพรวนดินหรือการเอาหน้าดิน ส่วนเมล็ดพันธุ์จะเก็บเมล็ดพันธุ์เอง ได้รับมาจากลูกหลานต่างแดนและซื้อจากตลาดเป็นบางครั้ง รวมไปถึงการทำน้ำหมักใช้เองและมีการจัดการเรื่องน้ำแบ่งเปิด-ปิดเป็นแต่ละรอบ
การตลาด
- มีสมาชิกในกลุ่มเป็นพ่อค้านำผักไปขาย ไม่มีแหล่งส่งเพราะว่าพื้นที่ปลูกไม่ได้เยอะ ปลูกแค่พอกินส่วนใหญ่เน้นบริโภคและขายบ้าง
- มีแหล่งรองรับซื้อออเดอร์มาจากส่วนกลาง แต่ไม่สามารถทำให้ได้เพราะว่าปัจจัยทางการผลิตไม่เพียงพอ น้ำไม่เพียงพอ และพื้นที่ปลูกไม่ได้ใหญ่ ถ้าจะปลูกขายหรือส่งตัองทำทั้งปีแต่กลุ่มนี้ทำได้แค่ฤดูหลังเก็บเกี่ยว คือช่วง พ.ย.-มี.ค.
- การรับรองมาตรฐานปีต่อปี
- เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย
สถานที่ : บ้านโนนตะคร้อ ตำบลบ้านคู อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ วันที่ 1 เมษายน 64 ณ บ้านโนนตะคร้อ สอบถามวิสาหกิจชุมชนผ้าไหม
สมาชิกทั้งหมด 30 คน
การจดทะเบียน
ยังไม่เป็นวิสาหกิจชุมชน แต่ในอนาคตอยากขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน
วิธีดำเนินการ/กระบวนการทำงาน
การเลี้ยงหม่อนไหมเองทำเป็นอาชีพหลักทำมาประมาณ 20 ปี ขั้นตอนการทำแผ่นไข่ไหม 1 แผ่น จะได้ประมาณ 30-40 กระด้ง มีการเลี้ยงหม่อนไหมเอง ทอเอง ทำทุกอย่างเองและมีมหาวิทยาเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ เข้ามาออกแบบลวดลายให้เรียกว่าลายต้นตะคร้อ ส่วนลายที่นิยม คือ ลายนกยูง ตีนแดง โดยส่วนใหญ่แล้วจะทำลายทั่วไป ผ้า 1 ผืน ใช้เวลาทำประมาณ 3-4 วัน ขนาด : กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร (ราคา 1,800-2,500 บาท/ผืน)
การตลาด
- มีพ่อค้าเข้ามารับซื้อ ยอดสั่งซื้อประมาณ 60,000 บาท/ปี
- ส่งร้านภูฟ้า 4 เดือน/ครั้ง ประมาณ 70,000 บาท/ครั้ง (โครงการพระเทพรัตนราชสุดาฯ)
- รายได้ดีในช่วงเทศกาล งานเกษียณ งานปีใหม่ สามารถนำมาเป็นของฝากหรือของที่ระลึกได้
สถานที่ : บ้านโคกเมฆ ตำบลบ้านคู อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ วันที่ 1 เมษายน 64 ณ บ้านโคกเมฆ สอบถามวิสาหกิจชุมชนผ้าไหม
สมาชิกทั้งหมด 20 คน
การจดทะเบียน
เป็นวิสาหกิจชุมชน แต่ยังไม่ต่อเนื่อง (ปัจจุบันจดต่อแล้ว)
วิธีดำเนินการ/กระบวนการทำงาน
การเลี้ยงหม่อนไหมทำเป็นกลุ่มแต่จะแยกกันทำตามแต่ละครัวเรือน นิยมทำลายมัดหมี่ เลี้ยงหม่อนไหมเอง สาวเอง (สาวแบบพื้นบ้าน) เลี้ยงไหมประมาณ 22 วัน แผง 1 ได้ 50 กระด้ง ทำผ้ามัดหมี่ 30 วัน (ผืนหนึ่งใช้เวลาทำ 3 เดือน) เริ่มจากการนำรังไหมที่สุกแล้วมาทำการคัดแยกรังดีและรังเสียออกจากกัน การต้มรังไหมทำให้กาวซิริซิน ละลาย และอ่อนตัว เพื่อให้การดึงเส้นไหมจากเปลือกสาวไหมออกได้ง่าย น้ำสำหรับต้มรังไหมต้องเป็นน้ำจืด ใส สะอาด มีค่าความเป็นกรด-เบส อยู่ในระดับที่เป็นกลางและต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำเมื่อน้ำเปลี่ยนเป็นสีคล้ำหรือสกปรก เพื่อควบคุมคุณภาพด้านสีของเส้นไหม
การตลาด
- ขายกันเอง อ.นาโพธิ์รับซื้อในราคา 1,700-1,800 บาท/ผืน
- ผลิตส่งสวนจิตรลดา 1,300-1,400 บาท/ผืน
- พ่อค้าทั่วไปรับซื้อในราคาประมาณ 1,300 บาท/ผืน
- ผลิตได้ 30 ผืน/ปี/คน
ผลการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19)
ชุมชนทราบข่าวเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่กำลังระบาดและตระหนักถึงการป้องกันตนเองเป็นอย่างดีว่าควรปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เช่น การเว้นระยะห่าง การล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์ หรือการสวมหน้ากากอนามัย รวมไปถึงการใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกับบุคคลอื่น มีทีมอสม.ประจำหมู่บ้านคอยให้คำแนะนำ ให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์และอัพเดทข่าวสารความคืบหน้าเกี่ยวกับจำนวนการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้น-ลดลงของผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นประจำทุกวัน แต่อย่างไรก็ตามชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุและไม่ค่อยออกกำลังกาย อาจเนื่องมาจากลักษณะของการทำงานที่แตกต่างกันออกไป
ปัญหา/อุปสรรคในการทำงานและการแก้ไขปัญหา
ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในช่วงแรกพบปัญหาประชาชนในพื้นที่ไม่อยู่บ้านหรือในพื้นที่ใกล้เคียง โดยส่วนใหญ่แล้วออกไปทำงานนอกพื้นที่ ทำการเกษตร ทำไร่ ทำสวนและเลี้ยงสัตว์ ส่งผลทำให้ไม่มีประชาชนคอยให้ข้อมูลกับทางทีมงาน ทางทีมงาน AG01(2) จำเป็นต้องกลับมาเก็บข้อมูลในครัวเรือนเดิมอีกครั้ง โดยทางทีมงานได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยประสานงานไปยังผู้นำชุมชนเพื่อนัดหมายประชาชนก่อนการลงพื้นที่สำรวจข้อมูล ผลตอบรับได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งทำให้ทีมงานสามารถเก็บข้อมูลได้ครบทุกครัวเรือนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
แผนการดำเนินงานต่อไป
ทีมงาน AG01(2) แผนการดำเนินงานในเดือนพฤษภาคม 2564 โดยทำการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มเติม ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผลของข้อมูล เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนการดำเนินงานต่อไป
สรุปแผนการดำเนินงานประจำเดือนเมษายน – พฤษภาคม
สัปดาห์แรก ประชุมชี้แจงการทำงาน/วิธีการดำเนินงาน
สัปดาห์ที่ 2–3 จัดโครงการฯ
สัปดาห์ที่ 4–5 ประชุมเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาทำการรายงานต่ออาจารย์ประจำตำบลและสรุปผลการดำเนินงานจากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูล