เมื่อวันที่ 10-13 เดือน มีนาคม 2564 เวลา 09.00 น. ณ หมู่บ้านหนองต่อ บ้านโศกกะฐิน และบ้านหญ้ารังกาข้าพเจ้าได้ลงฟื้นที่ หมู่บ้านหนองต่อ บ้านโศกกะฐิน และบ้านหญ้ารังกา เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลต่อเนื่อง โดยเฉพาะได้มีโอกาสนั่งคุยปัญหาชุมชนกับผู้นำของแต่ละหมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านก็ล้วนอยากจะพัฒนาชุมชนให้มีแหล่งน้ำใชัในภาคเกษตรให้ได้อย่างทั่วถึง เพื่อให้สมารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี ด้วยความหวังว่าหากมีน้ำพอเพียงกับการทำการเกษตร การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนจะดีขึ้น ดังนั้นจะเห็นภาพประกอบในบทความนี้จะเป็นการขุดลอกสระน้ำขนาดใหญ่ประจำหมู่บ้าน อย่างไรก็ตามแม้จะมีสระน้ำขนาดใหญ่ แต่ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่ สระน้ำที่มีก็ต้องรอน้ำฝนอย่างเดียว เพราะไม่มีห้วยหรือคลองน้ำเพื่อผันน้ำมาเติมสระน้ำเลย ก็ยังเป็นที่กังวลของชาวบ้านอยู่ว่าสระน้ำจะมีน้ำเพียงพอหรือไม่ ต้องรอลุ้นกันต่อไปหลังจากที่ได้ขุดลอกสระน้ำแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในการลงเก็บข้อมูลคนในชุมชนและลงคีย์ข้อมูลลงระบบจะเห็นว่าแทบทุกครัวเรือนต่างเป็นหนี้ และอยู่ในภาวะสิ้นหวังกับการที่จะหาเงินมาใช้หนี้ เป็นภาวะที่กังวลจนส่งผลถึงสุขภาพจิตของคนในชุมชน คุณภาพชีวิตต่ำมาก หลายครอบครัวไม่มีโอกาสท่องเที่ยวหรือเติมความสุขให้กับชีวิตเลย ซึ่งในเดือนมีนาคมนี้ผมได้เริ่มคีย์ข้อมูลที่ได้ลงระบบ แต่ในช่วงคีย์ข้อมูลจะทำให้เห็นว่าข้อมูลที่ได้ ยังไม่ถูกต้อง ตามความเป็นจริงเท่าที่ควร เพราะเป็นการเก็บข้อมูลแบบที่ชาวบ้านไม่ได้เตรียมข้อมูลล่วงหน้า หรือ ความไม่รู้ในข้อมูลแห่งตนก็แล้วแต่ เพราะความสัมพันธ์ของข้อมูลไม่ค่อยสอดคล้องในชีวิตจริง รายรับกับรายจ่ายไม่สอดคล้องกัน หรือแนวคิดของการแก้ปัญหาชุมชนของคนในชุมชนก็เป็นไปในแนวทางที่ทำให้ตัวเองไม่หลุดพ้นจากความทุกข์ในชีวิตที่ดำเนินอยู่ ส่วนใหญ่จะเป็นมุมมองเดิม ๆ ที่ตนเองทำอยู่ไม่มีมุมมองใหม่ เช่นแนวทางการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม จึงน่าจะเป็นปัญหาในการแก้ปัญหาที่มีในชุมชน
ขอยกตัวอย่างของข้อมูลที่ได้มาแต่ไม่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตจริง เช่นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในหัวข้อภาวะด้านรายจ่ายของครัวเรือน บางคนลงค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพียง 2000 บาท แต่ความเป็นจริง ค่าใช้จ่ายส่วนนี้มากกว่าที่ลงข้อมูลมา เพราะค่าใช้จ่ายส่วนนี้มันประกอบด้วย ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ท ่าแก๊สหุงต้ม ค่าต่อภาษีรถยนต์/พรบ./ตรวจสภาพรถ ค่าภาษีสังคม (งานบุญ งานบวช งานแต่ง งานศพ สงกรานต์ ปีใหม่ ขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น) ค่าดูแลสุขภาพตัวเองกรณีเจ็บไข้ได้ป่วย หรือหมอนัด ค่าประกันชีวิต ค่าหวยบนดินใต้ดิน เป็นต้น ซึ่งความเป็นจริงมันมากกว่า 2000 บาท หากมีการสัมภาษณ์ใหม่รอบสองข้อมูลก็เปลี่ยนไป จึงทำให้ข้อมูลที่ได้ รายรับไม่สัมพันธ์กับรายจ่าย ไม่สัมพันธ์กับหนี้สินที่เกิดขึ้น
ดังนั้นปัญหาต่าง ๆ ที่มีในชุมชน เป็นปัญหาที่เกิดจากความไม่รู้ของคนส่วนใหญ่ในชุมชน เพราะหากเขารู้เขาคงไม่มีชีวิตอยู่ในภาวะความทุกข์ ทุกข์จากหนี้สินล้นพ้นตัว ทุกข์เพราะความอัตคัดขัดสนในอาหารการกิน ทุกข์จนไม่มีโอกาสเติมสุขให้กับชีวิตไม่มีโอกาสได้ไปท่องเที่ยวเปิดหูเปิดตา สร้างความสบายใจให้กับชีวิต เพราะความไม่รู้ ชีวิตจึงเหมือนถูกตีกรอบให้ย่ำอยู่จุดเดิม จนไม่สามารถก้าวออกจากชีวิตแบบเดิม ๆ ได้เลยมิหนำซ้ำยังเป็นการสะสมความทุกข์เพิ่มขึ้น ความไม่รู้ จึงเป็นปัญหาใหญ่และสำคัญที่ทำให้การก้าวเดินของชีวิตไม่เป็นไปตามหลักการใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามคำสอนพ่อ (ร.9) ในสามห่วงสองเงื่นไข นั่นคือ คนเราต้องเริ่มจากการมีองค์ความรู้ก่อน มีปัญญา มีความรู้ ใช้คู่คุณธรรมในการดำรงค์ชีวิต ก็จะมีความคิดที่มีเหตุผล ตัดสินใจได้ว่าทำอะไรคือการพอประมาณ พอดี ที่ไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน เพื่อที่จะนำพาชีวิตตนเองไปอยู่ในภาวะของผู้มีภูมิคุ้มกันคือมีอยู่มีกินไม่เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว แม้มีหนี้สินก็บริหารจัดการได้หากมีองค์ความรู้ แล้วชีวิตจะมีความสุข มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ดังนั้นปัญหาที่พบในการลงพื้นที่ในชุมชนที่ผมได้ลงไปหาข้อมูลก็จะได้รับการนำมาแก้ไขเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป