สรุปการลงพื้นที่ หมู่บ้าน โศกกะฐิน หมู่บ้านหญ้ารังกา หมู่บ้านหนองต่อ ต.นาโพธิ์ อ.นาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์

โดย นายดุสิต บุผาโต ภาคประชาชน  (คณะเทคโนโลยีการเกษตร AG02(2))

กับโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตําบลแบบบูรณาการ  ๑ มหาวิทยาลัย ๑ ตําบล

(มหาวิทยาลัยสู่ตําบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ)

 

จากการลงพื้นที่ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมที่ผ่านมา ภาพรวมในการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนทั้งสามหมู่บ้านซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดกัน มีบริบทคล้ายคลึงกันคือ คนในชุมชนส่วนใหญ่จะทำนา เป็นอาชีพหลัก การทำนาแม้จะเป็นอาชีพหลักที่ทำสืบเนื่องกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ก็ไม่ได้เป็นอาชีพที่ทำให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้น เพียงแต่ต้องทำเมื่อถึงฤดูกาล แต่ละปีก็เจอปัญหาต่างกันไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม หรือภัยแล้ง คนที่พอมีเงินหน่อยเช่นลูกไปทำงานต่างประเทศ ส่งเงินมาทำระบบโซล่าเซลล์สูบน้ำบาดาลก็พอจะช่วยปัญหาภัยแล้งได้บ้าง หรือข้าราชการเกษียณอายุ พอมีเงินบำเหน็จบำนาญก็จะมาทำระบบสูบน้ำโซล่าเซลล์สูบน้ำไส่นาข้าว ก็เป็นการทำนาที่ได้ผลขึ้นมาหน่อย แต่ก็มาเจอปัญหาข้าวราคาตกต่ำอีก จึงทำให้อาชีพทำนาไม่ทำให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้น แม้จะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐในเงินภัยแล้ง ภัยน้ำท่วม หรือเงินประกันราคาข้าว ก็ได้เพียงช่วยบรรเทาให้ประทังชีวิตต่อไปได้นิดหน่อย หลายครอบครัวไม่มีโอกาสได้ท่องเที่ยวเปิดหูเปิดตาเลย เพราะพะวงแต่เรื่องปากท้อง แค่เรื่องอยู่เรื่องกินยังลำบาก ไม่ต้องพูดถึงเรื่องท่องเที่ยวกันเลยทีเดียว และที่น่าตกใจคือเกือบเก้าสิบเปอร์เซ็นของคนในชุมชนติดหนี้สินกันถ้วนหน้า ที่ดินเข้าไปอยู่ในธนาคารแทบทั้งสิ้น บางคนวิตกกังวลเรื่องที่จะถูกยึดเพราะไม่มีเงินไปตัดดอก พร้อมกันนี้ดันมาเจอโรคโควิดระบาด ทำให้ลูกหลานตกงาน ไม่มีเงินส่งกลับมาบ้าน  คนในชุมชนก็ต่างดิ้นรนต่อสู้ชีวิตเพื่อหวังว่าคุณภาพชีวิตจะดีขึ้นบางครอบครัวส่งลูกไปทำงานต่างประเทศ หลายครอบครัวให้ลูกหลานไปทำงาน กรุงเทพ หรือต่างจังหวัดที่ห่างไกล ทำให้ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ในชุมชนจะเป็นผู้สูงอายุ บางครอบครัวคนเฒ่าคนแก่ก็เลี้ยงหลานแน่นอนการเลี้ยงดูก็ตามมีตามเกิด ซึ่งการลงพื้นที่ผมจะมองเห็นปัญหาที่หลากหลาย ซึ่งคนในชุมชนอยากจะแก้ปัญหา แต่ระดับภูมิปัญญาชาวบ้านเขาแก้ปัญหาได้ในระดับต่ำมากตามความรู้เพียงระดับประถม มัธยมต้นซึ่งเป็นระดับการศึกษาเฉลี่ยของคนที่อยู่ในชุมชน จึงทำให้เขาไม่หลุดพ้นจากปัญหาที่เผชิญอยู่ แน่นอนหากเขามีองค์ความรู้ที่สูงกว่านี้เขาคงจะเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ไปแล้ว หลาย ๆ ปัญหาทางภาครัฐก็มีโครงการสารพัดโครงการมาลงในพื้นที่ แต่ชาวบ้านมองว่าโครงการที่มาลงในชุมชน หรือกลุ่มข้าราชการที่นำโครงการมาลง จะทำพอฉาบฉวยผักชีโรยหน้า จับจีบผ้าจัดฉากถ่ายรูป สร้างภาพเอาผลงานแล้วก็จากไป ปล่อยให้ชาวบ้านยังอยู่กับวังวนชีวิตแบบเดิม ๆ ต่อไป

หลาย ๆ ปัญหาที่ชาวบ้านเจอจึงได้รวบรวมในปัญหาที่ชาวบ้านต้องการที่จะให้ได้รับการแก้ไขดังนี้

  • ปัญหาหนี้สิน ซึ่งเป็นปัญหาหนักที่ชาวบ้านกลุ้มใจเขาต้องการให้มีงานมีอาชีพที่มั่นคง เหมาะสม สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต และสร้างรายได้ที่สูงเพียงพอต่อการนำเงินไปใช้หนี้
  • ปัญหาภัยแล้ง ทุกคนในชุมชนรู้ดีว่าผืนดินที่เขาอยู่น้ำใต้ดินดีมาก ซึ่งมีบางครอบครัวทำเป็นตัวอย่างนำน้ำใต้ดินมาใช้ทำการเกษตรแล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่คนในชุมชนส่วนใหญ่ไม่มีเงินที่จะทำระบบสูบน้ำโซล่าเซลล์ ซึ่งคนในชุมชนมองว่าหากมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี เขาจะมีงานทำตลอดทั้งปีเช่นกัน ซึ่งจะเป็นการทำงานที่สอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ในภาคการเกษตร
  • ปัญหาขาดองค์ความรู้ ในเทคโนโลยี นวัตกรรม ที่จะมาเสริมสร้างในการสร้างงานสร้างรายได้ที่มากขึ้น ที่จะเพียงพอต่อการชำระหนี้สิน ณเ ตอนนี้ชาวบ้านไม่รู้จะทำอะไรดีด้วยซ้ำที่จะหาเงินมาใช้หนี้เขาได้แต่หวังว่าจะมีใครมาช่วยเขาได้บ้างที่จะมาช่วยแบบจริงจังในการนำความรู้มาให้ พาทำไปพร้อมกับเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ไม่ใช่มาช่วยแค่ฉาบฉวยแล้วก็ไป
  • ปัญหา ขาดการต่อเนื่องในการดำเนินโครงการของภาครัฐ จึงไม่มีการประสานสอดคล้องกันของ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เช่นมาสนับสนุนปลูกพืชผักสวนครัว แต่ไม่มีการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม และไม่มีตลาดรองรับให้เป็นต้น
  • ขาดการยกระดับ ให้เป็นชุมชน smart city ซึ่งคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนในยุค 4G 5G สมควรที่จะมีอะไรที่ดีกว่านี้แล้ว เช่น ควรจะพัฒนาการเกษตรให้เป็นเกษตรสมัยใหม่ได้แล้ว นั่นคือ smart farmer เพื่อยกระดับให้เป็นเกษตรเชิงท่องเที่ยว ซึ่งต้องการนักพัฒนาที่มีองค์ความรู้เพียบพร้อมมานำพาชาวบ้านทำ เป็นต้น

จุดเด่นของแต่ละหมู่บ้านที่ควรหยิบยกมาพัฒนาต่อยอด

จุดเด่นในภูมิศาสตร์ที่เหมือนกันของทั้งสามหมู่บ้านคือ ชุมชนจะมีสระน้ำขนาดใหญ่ประจำหมู่บ้าน เนื้อที่สระแต่ละหมู่บ้านประมาณ 15-20 ไร่ และได้งบประมาณมาขุดลอกสระเดิมให้มีขนาดลึกและขยายให้กว้างขึ้น  แต่น่าเสียดายที่ไม่มีคลองหรือห้วยที่จะผันน้ำลงได้ ยังคงพึ่งแต่น้ำฝนเพียงอย่างเดียว ซึ่งยังเป็นความกังวลของชาวบ้านอยู่ว่าอาจมีแต่สระแต่ไม่มีน้ำ อย่างหนึ่งที่ชาวบ้านหวังพึ่งคือการอยากให้มีระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อดึงน้ำลงมาเติมในสระ เพราะภูมิศาสตร์นี้น้ำใต้ดินเยอะมาก และเป็นน้ำที่อุปโภคบริโภคได้ แต่ก็ยังไม่มีงบมาสนับสนุนในส่วนนี้  ซึ่งจุดเด่นในเรื่องสระน้ำขนาดใหญ่นี้ชาวบ้านก็อยากพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่เป็นเกษตรสมัยใหม่ ทั้งด้านพืชสัตว์และประมง ผสมผสานกัน ในวิถีเกษตรอินทรีย์

 

ส่วนความต่างกันที่เห็นได้ชัดของแต่ละหมู่บ้านมีดังนี้

หมู่บ้าน โศกกะฐิน  จะเป็นหมู่บ้านคนขยันปลูกพืชผักสวนครัว ถือว่าเกือบหกสิบเปอร์เซ็นของคนในหมู่บ้านจะปลูกพืชผักสวนครัวตลอดทั้งปี จนเป็นที่รู้จักของเขตพื้นที่นี้ว่าหากอยากได้ผัก ก็ต้องนึกถึงบ้านโศกกะฐิน แต่การทำการเกษตรก็ยังพึ่งสารเคมีปุ๋ยเคมีอยู่ และยังทำแบบไม่มีเทคโนโลยีนวัตกรรมใดๆ เข้ามาช่วยในกระบวนการทำการปลูกพืชผักสวนครัวเลย ซึ่งจุดเด่นด้านการปลูกพืชผักสวนครัวนี้ ควรจะได้รับการต่อยอด ให้ทำเกษตรพืชผักสวนครัวแบบอินทรีย์ และพัฒนาให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ โดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการทำการเกษตร จะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

 

หมู่บ้านหนองต่อ ความโดดเด่นที่เป็นอัตลักษณ์ของหมู่บ้านนี้ ได้ขึ้นชื่อว่าชุมชนตีมีด หากนึกถึงเสียม คิดถึงมีดคุณภาพดี ต้องนึกถึงบ้านหนองต่อ อันเป็นที่รู้จักของคนในเขตนี้  แต่ด้วยกระบวนการทำที่เป็นแบบดั้งเดิม ยังใช้แรงงานคนตี เผาเหล็กให้ร้อนด้วยถ่านไม้ ชุบแข็งด้วยน้ำธรรมดา โดยใช้ความชำนาญของช่างเป็นหลัก ซึ่งชาวชุมชนตีมีดก็อยากพัฒนาการทำงานให้ทันสมัยกว่านี้ อยากให้มีเครื่องจักรเข้ามาช่วย อยากได้เทคโนโลยี นวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาช่วยให้การตีเหล็กให้ได้เร็วและปริมาณเยอะกว่านี้เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด แม้แต่โครงสร้าง micro structure ของเหล็กที่ตีชาวบ้านก็ไม่รู้ จะปรับปรุงคุณภาพการ ชุบแข็งเหล็กอย่างไรชาวบ้านก็ไม่รู้ หากจะดึงจุดเด่นนี้มาต่อยอดให้เกิดการพัฒนาของชุมชนก็เป็นไปได้ ว่าจะอนุรักษ์วิถีการตีมีดแบบดั้งเดิมเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาดูวิถีดั้งเดิมของการตีมีด และพัฒนาการตีมีดแบบทันสมัยควบคู่กันไปเพื่อผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของชุมชน โดยการนำหลักเศรษฐศาสตร์ และโลหะวิทยา  เข้ามาจัดการให้ทันยุคทันสมัย ก็จะทำคุณภาพชีวิตของชุมชนตีมีดดียิ่งขึ้นได้

 

หมู่บ้านหญ้ารังกา ถือว่าเป็นหมู่บ้านที่ยังไม่มีจุดเด่นที่น่าสนใจ ชาวบ้านใช้ชีวิตแบบเรื่อย ๆ เอื่อย ๆ ไม่ได้สร้างสรรค์กิจกรรมชุมชนเท่าใดนัก โครงการที่ภาครัฐมาส่งเสริมสนับสนุน ชาวบ้านมักจะโยนให้เป็นความรับผิดชอบของ ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยเป็นหลัก ซึ่งชุมชนนี้จะต้องพัฒนาการทำงานให้เกิดกิจกรรมร่วมกันในชุมชน เพื่อให้เกิดรายได้ร่วมกันต่อไป ซึ่งชุมชนนี้จะต้องหานักพัฒนาที่จะมาสร้างแรงจูงใจ นำกิจกรรมที่เป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จแล้วพาเขาทำ เพราะหากให้ชาวชุมชนคิดเองคงไม่ได้ จะต้องหาคนเก่งคนดีมานำพาทำกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดรายได้พอสมควร เพื่อสร้างแรงจูงใจ กิจกรรมที่เหมาะสมกับชุมชนนี้คือการพัฒนาสระน้ำให้เป็น การประมงเชิงท่องเที่ยว เพราะสระน้ำ และ วิวทิวทัศน์เหมะที่จะเป็นจุดเช็คอิน และชาวชุมชนก็เห็นพ้องต้องกันว่าเหมาะสม

 

อย่างไรก็ตามทุกคนในชุมชนล้วนอยากจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่เต็มไปด้วยคำว่า มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และมีความสุข อันเป็นความปรารถนาของมนุษย์ทุกชีวิตที่เกิดมา แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่เป็นปัญหาและอุปสรรคที่คนจำนวนมากก้าวไปไม่ถึง ก็ด้วยเพราะขาดปัจจัยนั้น หลายครอบครัวแม้จะผ่านการใช้ชีวิตสืบเนื่องกันมารุ่นสู่รุ่นก็ยังสะกดคำว่าความสุขไม่เจอ อย่างไรก็ตามก็ได้มีผู้รู้ในเหตุและปัจจัยที่ขาด ได้พยายามบอกสอนมาอย่างยาวนาน จนกลายมาเป็นการทิ้งคำสอนไว้ให้ปฏิบัติตาม นั่นคือคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 กับคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้นักพัฒนา เข้าใจ เข้าถึง จึงจะพัฒนาได้ถูกต้อง ซึ่งนักพัฒนาจะต้องสร้าง คนที่เราจะนำพาเขาสู่เป้าหมายแห่งความสุข โดยทำให้เขามีองค์ความรู้คู่กับคุณธรรม จึงจะทำให้เขาใช้หลักความพอประมาณ มีเหตุผลในการลงมือทำ การใด ๆ ก็แล้วแต่ให้สำเร็จ จนก้าวไปสู่การมีภูมิคุ้มกัน ที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โควิดจะมากี่รอบเราและเขาอยู่ได้ แต่ลูก ๆ ของพระองค์ท่านส่วนใหญ่ก็ไม่นำมาปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติตามไม่ถูกต้อง จนทำให้เกิดความเดือดร้อนแห่งตนในทุกวันนี้ตามอย่างที่เห็น

ในมุมมองของผู้ลงพื้นที่ได้มองว่า หลักการที่จะบริหารเพื่อให้เกิดงานเกิดรายได้เพื่อก้าวไปสู่ชีวิตที่มีความสุขอย่างสมดุลและมีภูมิคุ้มกัน เราจะต้องสร้างความพร้อมใน 6 M ดังนี้

  • Man เราต้องสร้างคนให้เป็นคนที่มีองค์ความรู้คู่คุณธรรม คนคนนั้นต้องพร้อมด้วย IQ และ EQ เป็นเบื้องต้น
  • Material วัตถุดิบที่มีในชุมชนเราต้องนำมาสร้างให้เกิดมูลค่าสูงที่สุด และในขณะเดียวกันต้องดำรงรักษาไว้ซึ่งความสมดุลทางธรรมชาติ เพื่อให้เราพึ่งพาวัตถุดิบภายนอกให้น้อยที่สุด
  • Method เราต้องมีวิธีการที่ทันสมัย สอดรับกับเทคโนโลยีนวัตกรรมแห่งยุค เพื่อให้เกิดการสร้างคุณค่ากับวัตถุดิบที่มีอยู่
  • Machine เราต้องมีเครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือ เข้ามาช่วย เพื่อให้วิธีการของเราบรรลุผลโดยง่าย ได้ทั้งคุณภาพและปริมาณ
  • Marketing เราต้องมีตลาดรองรับ ทั้ง online offline จัดความสมดุลระหว่าง demand กับ supply
  • Money ทุกกิจกรรมเราต้องมีเงินหมุนเวียนสนับสนุนให้กิจกรรมการงานดำเนินการต้องเนื่องอย่างสมดุล สร้างอำนาจของเงินให้ถูกที่ถูกทางถูกเวลา

หากการบริหารใน 6M ดังกล่าวข้างต้นให้สอดรับกันอย่างลงตัว กระผมมองว่า ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และมีความสุข ท่ามกลางธรรมชาติที่สมดุล จะเกิดแก่มวลมนุษยชาติทุกคน ชีวิตแห่งการช่วยเหลือแบ่งปันก็จะตามมา ความคุ้มค่าที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ก็จะมีเกียรติและศักดิ์ศรี ตายไปก็ไม่เสียชาติเกิด

หวังว่าข้อมูลที่ผมเก็บรวบรวมมาจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนต่อไปเพื่อก้าวไปสู่ความศิวิไลซ์ไปกับยุคสมัย ที่ทุกชีวิตควรจะดำรงค์อยู่คู่กับยุคสมัยแห่งความเจริญรุ่งเรืองที่เป็นไป

 

อื่นๆ

เมนู