ข้าพเจ้านางสาวมุกดามาศ มุติโคตร์ ประเภทบัณฑิตจบใหม่ AG02(2) ตำบลนาโพธิ์ อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์

หลักสูตร : AG02(2) โครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกร ยุค 4.0 และยกระดับมาตรฐานสินค้า OTOP โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยสู่ตำบลเพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

เมื่อวันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2564 ผู้ปฏิบัติงานและคณาจารย์ได้ลงพื้นที่ชุมชนตำบลนาโพธิ์ อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์เพื่อเสริมสร้างการทำความดีพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชน สร้างพื้นป่าชุมชน โดยร่วมกันกับคนในชุมชนปลูกต้นไม้จำนวน 300 ต้นในพื้นที่บ้านหนองหว้า หมู่ 11 ตำบลนาโพธิ์ อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ กิจกรรมได้มีการคัดกรองความเสี่ยงและดูแลความปลอดภัยเนื่องจากสถานการณ์ปัญหาไวรัสโคโรน่าในปัจจุบัน

 

โดยพื้นฐานสังคมชนบทไทยชาวบ้านล้วนอาศัยพึ่งพาป่าเพื่อปัจจัย 4 ซึ่งได้แก่ แหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค  และเครื่องนุ่งห่ม ที่มีความสำคัญต่อชีวิตมาเป็นเวลานานแล้ว  นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้พึ่งพาน้ำที่มีต้นธารจากป่าเพื่อการเกษตร  อาศัยผลผลิตจากป่าเป็นรายได้เสริมนอกเหนือจากการทำเกษตรกรรม  อีกทั้งป่ายังเป็นแหล่งที่มาของความเชื่อ ประเพณี ซึ่งเป็นรากฐานความสัมพันธ์ของชุมชน บทบาทของป่าต่อความอยู่รอดของชุมชนจึงมีมาเนิ่นนานและไม่สามารถแยกจากกันได้ ชุมชนพื้นเมืองหรือกลุ่มชนชาติพันธุ์ และชุมชนท้องถิ่นแทบทุกแห่งมีวัฒนธรรมและวิถีปฏิบัติในการจัดการและดูแลรักษาป่า เช่นความเชื่อเรื่องผีที่ดูแลป่า รักษาต้นน้ำ แบบแผนการใช้ทรัพยากรจากป่าอย่างรู้คุณค่า และมีกุศโลบายในการรักษาความสมบูรณ์ของป่าผ่านทางพิธีกรรมต่างๆ  ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายไปตามภูมินิเวศและวัฒนธรรมในแต่ละแห่ง แม้ว่าชุมชนท้องถิ่นและกลุ่มคนพื้นเมืองจะมีการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ รวมทั้งรัฐเองก็มีนโยบายและกฏหมายในการหยุดการทำลายป่าก็ตาม แต่พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยยังมีการลดน้อยถ้อยลง และการทำลายป่ายังดำรงอยู่ ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยทั้งการปฏิบัติ นโยบายและกฏหมายที่ไม่เอื้อและมีความขัดแย้งในตัวนโยบายเองและการปฏิบัติจริง ในขณะที่กรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้พยายามในการอนุรักษ์และจัดการป่าไม้ เพื่อรักษาขนาดและพื้นที่ของป่า แต่นโยบายในการส่งเสริมพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่และความต้องการของตลาดมีการขยายตัวและมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและกระบวนทัศน์ของคนท้องถิ่น  นอกจากนั้นกฎหมายป่าไม้ที่ไม่เอื้อและไม่ทันสมัยต่อสถานการณ์ถือเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เขตอนุรักษ์  ซึ่งสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน และทรัพยากรป่าไม้

ป่าชุมชน (Community Forest)  เป็นวิถีปฏิบัติและเป็นการปรับตัวของการจัดการทรัพยากรภายในชุมชนในการช่วยลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมของคนในชุมชน จากการถูกแย่งชิงทรัพยากรเพื่อการพัฒนาประเทศ  และเป็นแนวทางหนึ่งในการรักษาพื้นที่ป่าและความสมบูรณ์ของนิเวศป่าไม้ เพื่อให้ระบบนิเวศคงความสมดุลย์  เนื่องจากป่าชุมชนเป็นกลไกที่สำคัญที่เป็นช่องทางให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ จัดการ ฟื้นฟูให้ป่ามีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้น และมีการใช้ทรัพยากรและผลผลิตจากป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความมั่นคงแห่งชีวิตของคนในชุมชน ดังนั้นเมื่อคนในชุมชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้นจึงไม่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน และที่สำคัญยิ่งคือเพิ่มความสามารถให้กับมนุษยชาติ ได้เรียนรู้การอยู่อย่างสมดุลกับธรรมชาติและดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีความสุข

โดยปกติแล้ว “ป่าชุมชน” ก็คือพื้นที่ป่าไม้ที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมต่อการจัดการเพื่อให้ตอบสนองวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ดังนั้น ป่าชุมชนจึงสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในที่ดินประเภทต่างๆ  เพียงแต่ระดับการมีส่วนร่วมและการจัดการอาจมีความเข้มข้นและความหลากหลายที่แตกต่างกันออกไป  ขึ้นอยู่กับกฎหมายของที่ดินผืนนั้นเป็นประการสำคัญ

สำหรับวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานป่าชุมชนของแต่ละแห่ง ก็ย่อมขึ้นอยู่กับความจำเป็นหรือความต้องการของชุมชนที่มุ่งหวังได้รับจากป่าชุมชน หรืออาจจะกล่าวได้ว่าประโยชน์จากป่าชุมชนนั่นเอง หากป่าชุมชนไม่สามารถเอื้ออำนวยประโยชน์ให้ชุมชนได้ตามต้องการก็จะไม่บังเกิดความยั่งยืน ทั้งนี้ ประโยชน์จากป่าชุมชนในประเทศไทยอาจกล่าวได้ว่ามี 3 ด้าน ดังนี้

1.ประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อม เป็นประโยชน์ที่พบว่าชุมชนประสงค์ได้รับจากการดำเนินงานป่าชุมชนในระยะแรกๆต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน เพื่อแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น  ที่สำคัญได้แก่ การเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารอันส่งผลต่อการประกอบอาชีพทางการเกษตร การอุปโภค และการบริโภคในครัวเรือน  การเป็นแหล่งป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านไฟป่าที่คุกคามสุขภาพและทรัพยากรของชุมชน  การช่วยบรรเทาการกัดเซาะและพังทลายของหน้าดินโดยเฉพาะในบริเวณที่เป็นภูเขาและชายฝั่งทะเล  การอนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพให้มีความอุดมสมบูรณ์ ฯลฯ

2.ประโยชน์ทางด้านสังคม  หลายชุมชนได้รับผลประโยชน์จากป่าชุมชนทางด้านสังคมในรูปแบบต่างๆ กันไป  ที่สำคัญที่สุดก็คือการสร้างความร่วมมือกันดำเนินกิจกรรมจัดการป่าไม้อันเป็นการทำงานเพื่อส่วนรวม  อันส่งผลต่อความรักสามัคคีที่สามารถส่งผลต่อการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกันในชุมชน ทั้งในด้านศาสนาหรือความเชื่อ การประกอบอาชีพ การรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ตามความเหมาะสม  กับทั้งอาจส่งผลต่อการพัฒนาอาชีพตามศักยภาพของชุมชนตามมา  การใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติและแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ  ในบางแห่งอาจมีการสร้างเครือข่ายโดยป่าชุมชนที่เชื่อมโยงความร่วมมือกับหมู่บ้านอื่นทั้งในระดับตำบล อำเภอ ภูมิภาค และประเทศอีกด้วย

3.ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ  เท่าที่ผ่านมาดูเหมือนว่าชุมชนได้รับประโยชน์ในด้านนี้จากป่าชุมชนไม่สูงเท่าที่ควร เนื่องจากข้อจำกัดของสถานภาพทางกฎหมายป่าไม้ที่เกี่ยวข้อง  ทำให้ได้รับในรูปแบบจากการเก็บหาของป่าและสมุนไพรตามที่กฎหมายเอื้ออำนวยให้เพื่อการบริโภคและอุปโภคในครัวเรือน  ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการลดค่าใช้จ่ายได้ในระดับหนึ่ง  ในกรณีที่มีจำนวนมากอาจมีการรวบรวมจำหน่ายซึ่งอาจมีการแปรรูปผลผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม  ที่เป็นการสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง  สำหรับป่าชุมชนที่อยู่ในที่ดินบางประเภทก็สามารถตัดฟันไม้ยืนต้นที่มีอยู่จำหน่ายอันเป็นการสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี

วิดีโอเผยแพร่ข้อมูล :

แหล่งอ้างอิง : ประโยชน์ป่าชุมชน จาก https://www.recoftc.org/thailand/projects/cf-net/stories

 

อื่นๆ

เมนู