ข้าพเจ้านาย ดุสิต บุผาโต ประเภทประชาชน AG02(2) ตำบลนาโพธิ์ อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์

กับโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตําบลแบบบูรณาการ  ๑ มหาวิทยาลัย ๑ ตําบล

(มหาวิทยาลัยสู่ตําบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ)

ในช่วงเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงของการระบาดโรคโควิดอย่างรุนแรงและกระจายทั่วทุกจังหวัดของประเทศ ทำให้การทำงานลงพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก การทำงานลงพื้นที่ในเดือนนี้ถือว่าน้อย จะเน้นที่การเรียนรู้ออนไลน์จาก Thai mooc ตามหลักสูตรที่โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตําบลแบบบูรณาการ  ๑ มหาวิทยาลัย ๑ ตําบล

(มหาวิทยาลัยสู่ตําบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ)  กำหนดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วย

๑) ด้านการเงิน Financial Literacy

๒) ด้านดิจิทัล Digital Literacy

๓) ด้านสังคม Social Literacy

๔) ด้านภาษาอังกฤษ Language Literacy

ซึ่งกระผมได้เรียนจบครบทุกหลักสูตรและครบตามชั่วโมงเรียนที่โครงการกำหนดเป็นที่เรียบร้อย พร้อมกับการทบทวนบทเรียนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเตรียมการลงพื้นที่ตามลำดับการที่โครงการกำหนด

การลงพื้นที่ในเดือนนี้จึงเป็นการลงไปดูการทำงานของผู้นำชุมชนต่อการป้องกัน ควบคุมการต่อการแพร่กระจายเชื้อโควิด ซึ่งในชุมชนที่ผมรับผิดชอบ ประกอบไปด้วย ชุมชนบ้านโศกกะฐิน ชุมชนบ้านหนองต่อ ชุมชนบ้านหญ้ารังกา ของตำบลนาโพธิ์ อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งทั้งสามหมู่บ้านผู้นำชุมชนได้ให้ความเข้มงวดกวดขันผู้ที่มาจากต่างจังหวัด คนภายนอกเข้าหมู้บ้านได้มีมาตรการกักตัวบุคคลที่มาจากจังหวัดที่มีความเสี่ยงครบ 14 วัน พร้อมทั้งตั้งด่านตรวจสอบคนเข้าออกชุมชน อสม.ในหมู่บ้านทำงานเชิงรุกตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายคนในหมู่บ้าน และคนต่างถิ่นที่เข้ามาทำกิจกรรมภายในหมู่บ้าน อย่างเข้มงวด แต่ก็อย่างว่าแม้จะเข้มงวดสักเท่าไร ก็ได้รับการพูดคุยกับผู้นำว่า “ การควบคุมคน ก็ไม่เหมือนควบคุมวัวควาย ที่ขังในคอกแล้วอยู่แต่ในคอก แต่การควบคุมคนแม้บอกให้กักตัว ก็ยังมีเดินไปมาหาญาติพี่น้องในชุมชนอยู่ จนได้มีการทะเลาะกันบ้างก็มี เพราะเป็นการกักตัวไม่จริง “ โชคดีที่การระบาดในพื้นที่ไม่รุนแรงคือควบคุมได้

อย่างไรก็แล้วแต่ การดำเนินชีวิตของคนในชุมชนก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะจะไปไหนมาไหนไปด้วยความหวาดระแวง กลัวจะติดโรค มันเป็นการใช้ชีวิตที่ไม่เป็นปกติสุข ทุกคนก็อยากให้เหตุการณ์โรคระบาดจบโดยเร็ว เพื่อจะได้ใช้ชีวิตให้เป็นปกติดังเดิมที่เคยเป็นมา

แน่นอนกับสถานการณ์ไม่ปรกติเช่นนี้ย่อมมีผลกระทบทางรายได้เป็นสำคัญของคนในพื้นที่ คนเคยค้าขายก็ไม่กล้าออกไปค้าขาย คนจะออกไปจับจ่ายซื้อของก็ระแวง ทำให้เศรษฐกิจในชุมชนฝืดเคือง การหมุนทางการเงินขาดช่วงขาดตอน จึงทำให้ปัญหาเดิมที่ชาวบ้านเป็นหนี้เป็นสินเดิมอยู่แล้ว ยิ่งเพิ่มเติมเข้าไปอีก

ชาวบ้านได้แต่หวังว่าอยากให้การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้เร็วที่สุด อย่ารอให้โควิดหยุดระบาด แล้วค่อยมาแก้ปัญหาปากท้อง ทุกปัญหาต้องถูกแก้ไขไปพร้อม ๆ กัน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนทุกชุมชนจะได้กลับมามีความสุข ใช้ชีวิตให้เป็นปกติสุขโดยเร็ว

อื่นๆ

เมนู