ข้าพเจ้านายสหรัฐ ศิลปการ ประเภทบัณฑิตจบใหม่ AG 02(2) ต.นาโพธิ์ อ.นาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์
หลักสูตร : AG02(2) โครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกร ยุค 4.0 และยกระดับมาตรฐานสินค้า OTOP โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
การทำซิ่นตีนแดงมีความยุ่งยากกว่ามัดหมี่ชนิดอื่น จึงไม่ค่อยนิยมทำกันและเกือบจะสูญหายไป แต่ได้มีการนำซิ่นชนิดนี้ไปแสดงในงานนิทรรศการสมบัติอีสานใต้ ครั้งที่ 2 และทางมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ได้นำซิ่นชนิดนี้ไปใช้สำหรับนักแสดงนาฏศิลป์ เพื่อประชาสัมพันธ์ทั้งในจังหวัด ต่างจังหวัดและต่างประเทศ เช่น ชุดการแสดง “ ระบำเทพอัปสรา ” และได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผ้าซิ่น ตีนแดงลงในหนังสือหลายเล่ม เช่น อนุสรณ์ 200 ปีเมืองพุทไธสง, สมบัติอีสานใต้ 6, หนังสือพิมพ์สื่อสารธุรกิจ และหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญาไทยจังหวัดบุรีรัมย์ นอกจากนั้นมีการร่วมรณรงค์ให้หันมาผลิตและใช้แต่งกายในงานประเพณีสำคัญ เช่น บุญบั้งไฟ งานสงกรานต์ ลอยกระทงและกิจกรรมต่างๆ ของนักเรียน ซิ่นตีนแดงจึงกลับเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมของบุคคลทั่วไป กลายเป็นสิ่งจำเป็นแก่ชาวพุทไธสงและนาโพธิ์ ทุกครัวเรือนจะต้องมีไว้ประจำบ้าน จึงทำให้ซิ่นตีนแดงกลับมาเป็นที่นิยมและสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างงดงาม และในปี พ.ศ. 2546 ผ้าซิ่นตีนแดงได้กลายเป็นผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดบุรีรัมย์

ซิ่นตีนแดงแตกต่างจากซิ่นอื่น ๆ โดยสิ้นเชิง คือ หัวซิ่นและตีนซิ่นเป็นสีแดง ตัวซิ่นเป็นสีดำ หมัดหมี่สีเหลือง แดง ขาว มีเขียวปนบ้าง เครือซิ่นด้านหัวและด้านตีนกว้างประมาณ 8 หลบ (1 หลบ เท่ากับ 40 เส้น) ลายที่ใช้เป็นลายเก่าดั้งเดิม คือ ลายนาค ลายแข่วเลื่อย ลายขอต่าง ๆ นิยมทำด้วยไหมลีบ (ไหมเปลือกนอก) เพราะเส้นใหญ่ขึ้นลายได้สวยชัดเจน ทอเสร็จเร็ว ที่สำคัญ “เก็บตีนดาว” เพื่อประดิษฐ์ตกแต่งและแสดงฝีมือของผู้ผลิต
ซิ่นตีนแดงทอออกมา 2 ประเภท โดยใช้ตีนซิ่น ( เชิง ) เป็นตัวแยกประเภท ดังนี้
– ซิ่นตีนแดงธรรมดา คือ ซิ่นตีนแดงที่ตกแต่งตีนซิ่นเป็นลายมัดหมี่ลายต่าง ๆ เช่น ตีนโยง ตีนต้น ตีนม้า หรือลายอื่น ๆ
– ซิ่นตีนแดงที่เก็บตีนดาว ( จกสีไหมเหมือนผ้าแพรวา ) คือ ซิ่นตีนแดงที่นอกจากจะตกแต่งลายที่ตีนซิ่นเป็นลายมัดหมี่แบบต่าง ๆ แล้ว ยังมีการใช้ไหมสีขาว สีเหลือง และสีเขียวตกแต่งเป็นลายประดับที่ตีนซิ่น เช่น ลายพั่วดอกฮั่ง (พวงดอกรัง ) หรือลายเอี้ยต่าง ๆ ซึ้งปัจจุบันหาผู้ที่มาสืบทอดการทอได้ยาก เพราะมีความซับซ้อนยุ่งยาก ใช้เวลาในการทอนาน และเป็นผ้าที่มีราคาสูงมากเนื่องด้วยกรรมวิธีการทอที่ซับซ้อน โดยชาวบ้านบ้านหนองหว้า ตำบลนาโพธิ์ อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ ยังคงมีผู้ทอซิ่นตีนแดงเก็บตีนดาวอยู่บ้าง เพื่อสืบทอดผ้าโบราณให้ยังคงอยู่