ข้าพเจ้านายสหรัฐ ศิลปการ ประเภทบัณฑิตจบใหม่  AG 02(2) ต.นาโพธิ์ อ.นาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์

หลักสูตร : AG02(2) โครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกร ยุค 4.0 และยกระดับมาตรฐานสินค้า OTOP โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

 
มัดหมี่ เป็นศิลปะการทอผ้าที่เกิดจากการมัดเส้นด้ายหรือเส้นไหม ผูกให้เป็นลวดลายเป็นเปลาะๆ แล้วนำไปย้อมสี ลวดลายที่เกิดขึ้นเกิดจากการซึมของสีไปตามส่วนของเส้นไหมหรือเส้นด้ายที่เว้นไว้ไม่ถูกมัดขณะย้อม เมื่อย้อมสีแล้วแกะเชือกออกจะเกิดเป็นลวดลายตามช่องของการมัดส้นเชือก ดังนั้นหากต้องการมัดหมี่หลายสีก็ต้องทำการมัดย้อมสีหรือเรียก โอบหมี่ โดยมัดเส้นเชือกบริเวณส่วนที่ย้อมแล้วเพื่อรักษาสีที่ย้อมครั้งแรกในบริเวณที่ไม่ต้องการย้อมทับสีใหม่ แล้วนำมาย้อมสีทับหลายครั้งเพื่อให้ได้ลวดลายสีสันตามต้องการ ลักษณะเฉพาะของผ้ามัดหมี่อยู่ที่รอยซึมของสีที่วิ่งตามบริเวณของลวดลายที่ถูกมัด ถึงแม้จะใช้ความแม่นยำในการทอมากเพียงไรก็จะเกิดลักษณะความเลื่อมล้ำของสีบนเส้นไหมให้เห็นแตกต่างกันไป ดังนั้นการมัดหมี่จึงนับเป็นศิลปะบนผืนผ้าซึ่งยากที่จะลอกเลียนให้เหมือนเดิมได้ในแต่ละผืนผ้า

ลวดลายมัดหมี่ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เป็นลวดลายที่มาจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ขนบธรรมเนียมประเพณี และความเชื่อ เช่น ลายดอกแก้ว ลายต้นสน ลายนาค ลายใบไผ่ ลายโคมห้า ลายขันหมากเป็น (ลายบายศรี) เป็นต้น แต่ในปัจจุบันมีการสร้างสรรค์คิดลายมัดหมี่ใหม่ๆขึ้นมา โดยนำลายของลายไทยมาผสมผสานเพื่อต่อยอดผ้าไหมมัดหมี่ให้มีความสวยงามและทันสมัยมากขึ้น โดยเฉพาะลายพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่ถึงอย่างไรก็ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของผ้าไหมมัดหมี่ของชาวอำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรัรีมย์ไว้ได้
  การทอผ้าโดยใช้เทคนิคการทอแบบมัดหมี่เพื่อให้เกิดลวดลายบนผืนผ้านั้นมีอยู่เกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เทคนิคการทอผ้าแบบมัดหมี่แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
1. มัดหมี่เส้นพุ่ง เป็นมัดหมี่ที่มัดย้อมลวดลายเฉพาะเส้นพุ่งเท่านั้น
2. มัดหมี่เส้นยืน เป็นมัดหมี่ที่มัดย้อมลวดลายเฉพาะเส้นยืนเท่านั้น
3. มัดหมี่ซ้อนหรือมัดหมี่สองทาง เป็นผ้ามัดหมี่ที่มัดย้อมลวดลายทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน
ในประเทศไทยมีการทอผ้ามัดหมี่ทั้ง 3 ประเภทแต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการทอมัดหมี่เส้นพุ่ง

อื่นๆ

เมนู