• ข้าพเจ้านางสาวปวีณ์ธิดา ศรีดาชาติ ประเภทประชาชน AG02-(02) ตำบลนาโพธิ์ อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์
  • หลักสูตร: AG02-(02) โครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกร ยุค 4.0 และยกระดับมาตรฐานสินค้า OTOP โครงการยกระดับเศรษฐกิจ และสังคมรายตำบล แบบบูรณาการ มหาวิทยาลัย สู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้ว ให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

กลุ่มยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ จากไพล

สรรพคุณ :

  • เหง้า 
    –  เป็นยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม
    – แก้บิด ท้องเดิน ขับประจำเดือนสตรี ทาแก้ฟกบวม แก้ผื่นคัน
    – เป็นยารักษาหืด
    – เป็นยากันเล็บถอด
    – ใช้ต้มน้ำอาบหลังคลอด
  • น้ำคั้นจากเหง้า –  รักษาอาการเคล็ดขัดยอก ฟกบวม แพลงช้ำเมื่อย
  • หัว – ช่วยขับระดู ประจำเดือนสตรี เลือดร้าย แก้มุตกิตระดูขาว แก้อาเจียน แก้ปวดฟัน
  • ดอก – ขับโลหิตกระจายเลือดเสีย
  • ต้น – แก้ธาตุพิการ แก้อุจาระพิการ
  • ใบ – แก้ไข้ ปวดเมื่อย แก้ครั่นเนื้อครั่นตัว แก้เมื่อย

วิธีและปริมาณที่ใช้

  1. แก้ท้องขึ้น ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม
    ใช้เหง้าแห้งบดเป็นผง รับประทานครั้งละ ½ ถึง 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อน ผสมเกลือเล็กน้อย ดื่ม
  2. รักษาอาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำบวม ข้อเท้าแพลง
    ใช้หัวไพลฝนทาแก้ฟกบวม เคล็ด ขัด ยอก
    ใช้เหง้าไพล ประมาณ 1 เหง้า ตำแล้วคั้นเอาน้ำทาถูนวดบริเวณที่มีอาการ หรือตำให้ละเอียด ผสมเกลือเล็กน้อยคลุกเคล้า แล้วนำมาห่อเป็นลูกประคบ อังไอน้ำให้ความร้อน ประคบบริเวณปวดเมื่อยและบวมฟกช้ำ เช้า-เย็น จนกว่าจะหาย หรือทำเป็นน้ำมันไพลไว้ใช้ก็ได้ โดยเอาไพล หนัก 2 กิโลกรัม ทอดในน้ำมันพืชร้อนๆ 1 กิโลกรัม ทอดจนเหลืองแล้วเอาไพลออก ใส่กานพลูผงประมาณ 4 ช้อนชา ทอดต่อไปด้วยไฟอ่อนๆ ประมาณ 10 นาที กรองแล้วรอจนน้ำมันอุ่นๆ ใส่การบูรลงไป 4 ช้อนชา ใส่ภาชนะปิดฝามิดชิด รอจนเย็น จึงเขย่าการบูรให้ละลาย น้ำมันไพลนี้ใช้ทาถูนวดวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือเวลาปวด (สูตรนี้เป็นของ นายวิบูลย์ เข็มเฉลิม อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา)
  3. แก้บิด ท้องเสีย
    ใช้เหง้าไพลสด 4-5 แว่น ตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำเติมเกลือครึ่งช้อนชา ใช้รับประทาน หรือฝนกับน้ำปูนใส รับประทาน
  4. เป็นยารักษาหืด
    ใช้เหง้าไพลแห้ง 5 ส่วน พริกไทย ดีปลี อย่างละ 2 ส่วน กานพลู พิมเสน อย่างละ ½ ส่วน บดผสมรวมกัน ใช้ผงยา 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อนรับประทาน หรือปั้นเป็นลูกกลอนด้วยน้ำผึ้ง ขนาดเท่าเม็ดพุทรา รับประทานครั้งละ 2 ลูก ต้องรับประทานติดต่อกันเวลานาน จนกว่าอาการจะดีขึ้น
  5. เป็นยาแก้เล็บถอด
    ใช้เหง้าไพลสด 1 แง่ง ขนาดเท่าหัวแม่มือ ตำให้ละเอียดผสมเกลือและการบูร อย่างละประมาณครึ่งช้อนชา แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็นหนอง ควรเปลี่ยนยาวันละครั้ง
  6. ช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื่น และเป็นยาช่วยสมานแผลด้วย
    ใช้เหง้าสด 1 แง่ง ฝานเป็นชิ้นบางๆ ใช้ต้มรวมกับสมุนไพรอื่นๆ เนื่องจากไพลมี่น้ำมันหอมระเหย

น้ำมันไพล ของดีประจำบ้าน

ไพล น้ำมันหอมระเหยในเหง้าไพลนั้นมีสรรพคุณดีงามหลายอย่าง แก้วิงเวียนได้ แก้ง่วงนอนได้ เคยถูกใช้เพื่อปรับความสมดุลในด้านจิตใจมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน หมอยาสุรินทร์มักใช้ไพลเป็นส่วนผสมในการอบตัวให้คนวิกลจริต เพราะน้ำมันหอมระเหยนั้นจะช่วยให้จิตใจสงบลงได้ ถึงขนาดที่มีความเชื่อว่าไพลนั้นใช้ไล่ผีได้เลยทีเดียว คาดว่าคงเป็นผู้ป่วยที่มีจิตไม่ปกติในสมัยก่อนนั่นเอง

รูปแบบของการดึงเอาน้ำมันหอมระเหยจาก ไพล มาใช้ประโยชน์ ที่นิยมมากที่สุดคือการทำ “ น้ำมันไพล ” หลายคนคงเคยได้เห็นบรรดาขวดแก้วขนาดเล็กที่บรรจุน้ำสีเหลืองนวล กลิ่นหอมเฉพาะตัว ยิ่งผู้สูงอายุยิ่งชอบใช้ถูนวดตามตัวบ้าง ใช้สูดดมและทาถูตรงกระหม่อมบ้าง ก็เรียกได้ว่าเป็นน้ำมันสารพัดประโยชน์เลยทีเดียว หากฟกช้ำก็ใช้น้ำมันทาบางๆ สักวันละ 2 ครั้ง ไม่นานก็จะดีขึ้น ถ้ามีอาการบวมก็ทาน้ำมันบางๆ เช่นกันแต่ควรนวดคลึงไปด้วย แม้แต่เหน็บชาก็ยังใช้ได้ โดยเอาน้ำมันไพลหยดใส่ผ้าที่ห่อเป็นก้อน จากนั้นนำมานวดประคบตรงที่เป็นเหน็บ โรงพยาบาลศูนย์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ใช้น้ำมันไพลเป็นน้ำมันพื้นฐานในการผลิตน้ำมันชนิดอื่นๆ ตลอดจนครีมแก้อาการต่างๆ ด้วย

สรรพคุณของไพล สูตรลับทำน้ำมันไพล

แม้ว่าจะต้องใช้เวลาในการทำพอสมควร แต่จากสรรพคุณของ ไพล ทั้งหมดก็ถือว่าคุ้มค่าอย่างที่สุด เพราะเราทำเองย่อมได้น้ำมันไพลที่มีคุณภาพคับแก้ว คือใส่ส่วนผสมแบบหนักเครื่องได้ แถมต้นทุนที่เป็นเม็ดเงินก็ถูก ยิ่งถ้าในครัวเรือนมีสมาชิกมาก ทำสักหนแล้วแจกจ่ายกันไว้ใช้ก็ยิ่งดี

ส่วนผสมน้ำมันไพล
1. เหง้าไพลสดฝานแว่น 2 แก้ว
2. น้ำมันมะพร้าว 1 แก้ว
3. การบูร 1 ช้อนชา
4. ดอกกานพลู 1 ช้อนชา
หากต้องการทำปริมาณที่มากกว่านี้ ก็ใช้วิธีการเทียบสัดส่วนเอาได้เลย

ขั้นตอนการทำน้ำมันไพล
• เทน้ำมันที่เตรียมไว้ลงในกระทะ แล้วยกขึ้นตั้งไฟ
• เมื่อน้ำมันร้อนจัดจึงใส่แว่นไพลลงไปทั้งหมด คล้ายๆ กับการทอดกล้วยแขก
• เบาไฟลงให้เหลือแค่ไฟกลาง ไม่นานนัก ไพลจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแก่
• ช้อนเอาชิ้นไพลออก ใส่การพลูที่ตำละเอียดลงไปแล้วเบาไฟลงอีกให้เป็นไฟอ่อนๆ เท่านั้น พักไว้ 10 นาที
• กรองน้ำมันนั้นด้วยผ้าขาวบาง แล้วตั้งไว้เพื่อรอให้น้ำมันหายร้อน
• เติมการบูรลงไป ก่อนเทใส่ขวดที่มีฝาปิดสนิท

สรรพคุณของไพลตำ
ตำรับยาที่น่าสนใจเหล่านี้คือตำรับยาที่ใช้กันมาแต่โบราณ ซึ่งที่ยกมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และหลายอย่างก็ต้องเลือกเอาตามความเหมาะสมอีกด้วย เพราะบางโรคก็มีองค์ความรู้ที่ละเอียดลออมากกว่าสมัยก่อนแล้ว
• บรรเทาอาการมือเท้าเย็น : ตำหัวไพลเพื่อคั้นเอาน้ำ แล้วผสมกับพริกไทยทา
• แก้ร้อนใน : ใช้เหง้าสดตำละเอียด คั้นเอาแต่น้ำมาทาน
• แก้ผดผื่นคัน : เอาเหง้าสดฝนกับน้ำ แล้วนำมาทาให้ทั่ว
• ผิวถลอกจากอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ : ฝนกับน้ำสะอาด ใช้ทาแผลทุกวันจนกว่าจะหาย
• แก้อาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ : ทุบเหง้าไพลแก่ แล้วดมกลิ่นหอมของไพลนั้น
• เพิ่มน้ำนมให้คุณแม่หลังคลอด : นำไพลมาต้มจนนิ่มดี กินเป็นประจำระหว่างอยู่ไฟ
• เสริมความแข็งแรงให้เด็กอ่อน : ฝนเหง้าไพลสดกับน้ำสะอาด ใช้เพื่ออาบชำระร่างกายเด็กเล็ก
• บรรเทาอาการแผลไฟลวก : ฝนเหง้าไพลสดแล้วผสมกับน้ำกระทกรกหรือน้ำเกลือ ทาบริเวณแผล
• ถอนพิษตัวบุ้ง : เอาเหง้าไพลไปเผาไฟ แล้วค่อยๆ ประคบบริเวณที่สัมผัสตัวบุ้งในขณะที่ไพลยังอุ่นๆ อยู่
• บรรเทาอาการหน้ามืด ตาลาย : ใช้ส่วนของหัวเหง้าและใบของไพล รวมกับใบมะกรูดและใบมะนาว ใช้อบตัว
• ใช้เป็นยาชาเฉพาะที่แบบชั่วคราว : คั้นน้ำจากหัวเหง้าไพลสด เน้นให้เข้มข้นเป็นพิเศษ แล้วนำมาทาบริเวณที่ต้องการ

เรื่องน่ารู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับไพล
ความจริงแล้ว ไพล มีหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งแน่นอนว่าสรรพคุณของไพลแต่ละสายพันธุ์ก็จะส่วนที่ออกฤทธิ์แตกต่างกันไป ไพลที่เราพบเห็นได้ทั่วไปและนำมาใช้กับตำรับยาทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เราเรียกว่า “ ไพลเหลือง ” แต่เดิมเรามักใช้ทำสูตรยาคู่กับไพลดำ แต่ต่อมาไพลดำกลับมีบทบาทในด้านเครื่องเทศมากกว่าและค่อนข้างหายาก จึงเหลือใช้เพียงแค่ไพลเหลืองเรื่อยมา อีกประการหนึ่ง ไพล เป็นพืชที่มีพิษต่อตับด้วย จึงต้องระมัดระวังในการใช้ทานเพื่อรักษาโรคหรือบำรุงร่างกายติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ข้อสรุปในด้านความเป็นพิษนี้มีการทดลองในหนูมาแล้ว พบว่าตับของหนูมีอาการเป็นพิษในระยะเวลา 1 ปี หนูมีอัตราเติบโตที่ช้าลง แต่ไม่มีความผิดปกติในอวัยวะหรือเนื้อเยื่ออื่นๆ และหากเป็นคนที่มีผิวบอบบางมาก น้ำมันไพลก็อาจก่อให้เกิดความระคายเคืองได้

อื่นๆ

เมนู