การเลี้ยงไหมของอำเภอนาโพธิ์มีมาตั้งเเต่ในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการเลี้ยงแบบพื้นบ้าน มีการถ่ายทอดวิชาความรู้เทคนิคต่างๆสืบเนื่องต่อมาเป็นช่วงๆจากบรรพบุรุษ ตั้งเเต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจนถึงขั้นตอนการผลิตไหม ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สินค้าเกษตรกรชนิดหนึ่งในเชิงเศรษฐกิจ การเลี้ยงไหมเเบบดั้งเดิมจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการพัฒนาจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อก่อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาในเรื่องของพันธุ์ไหมเเละเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตไหมให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้มีผ้าไหมที่สวยงามเเละมีคุณภาพมากที่สุด
การสวมใส่ผ้าไหมได้รับความนิยมมากในปัจจุปัน จากการรณรงค์และสนับสนุนของรัฐบาล ขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ดีขึ้น และให้เกษตรกรหันมาประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นแบบอย่างของชุมชนในการประกอบอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สามารถผลักดันให้มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมในหมู่บ้านเเละนอกจากนี้อำเภอนาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์ ยังเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวไหมที่มีนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าเยี่ยมชม และซื้อสินค้าหม่อนไหมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผ้าซิ่นตีนเเดงที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอำเภอนาโพธิ์ เป็นผ้าไหมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือทอด้วยไหมทั้งผืนเฉพาะหัวซิ่น และตีนซิ่นจะเป็นสีแดง ตอนกลางของผ้าจะเป็นสีดำลายมัดหมี่ คือ ลายไม้แทงตาหนู มีสีประกอบ ได้แก่ สีขาว เหลือง เขียว แดง ลักษณะการทอ จะทอเป็นผืนเดียวกัน ไม่ใช้การตัดต่อระหว่าง หัวซิ่นและตีนซิ่น สมัยโบราณจะทอให้เด็กและวัยรุ่นนุ่งเพราะเป็นผ้าที่มีลายและสีสดใส ต่อมาได้ปรับปรุงพัฒนาการทอให้เป็นผ้าผืนใหญ่ กว้างและยาวขึ้น จึงใช้ฟืมที่มีขนาดหน้ากว้างเพิ่มขึ้นและใช้ไหมน้อยเป็นวัตถุดิบในการทอ การทำผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์มีความยุ่งยากกว่ามัดหมี่ชนิดอื่น โดยเฉพาะช่วงที่เป็นหัวซิ่นและตีนซิ่น จึงไม่ค่อยนิยมทำกันและเกือบจะสูญหายไป แต่ได้มีการณรงค์ให้ประชาชนหันมาผลิตและใช้แต่งกายในงานประเพณีสำคัญ เช่น บุญบั้งไฟ งานสงกรานต์ ลอยกระทงและกิจกรรมต่างๆทำให้กลับมาได้รับความนิยมในท้องถิ่นอีกครั้ง