การเลี้ยงปูนาในบ่อปูน เลียนแบบธรรมชาติ

 

 

 

 

 

      ในอดีตปูนากับนาข้าวเป็นของคู่กัน สมัยก่อนชาวนานิยมนำปูนามาใช้ประกอบอาหาร เพราะหาได้ง่ายมากตามธรรมชาติ แต่การทำนาสมัยนี้มักใช้สารเคมี ทำให้ปัจจุบันปูนาที่อาศัยอยู่ตามนั้นใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว สังเกตได้จากการออกไปหาเก็บปูนาตามธรรมชาตินั้นจะหาได้ยากมาก ส่วนปูดองที่เราเห็นใส่ในส้มตำนั้นเป็นปูแสม จึงเกิดการเพาะเลี้ยงปูนาไว้เป็นอาหารและขายกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ทำเงินให้เกษตรกรได้ไม่น้อย เรามาดูกันว่ามีวิธีการเลี้ยงอย่างไรบ้าง

        เริ่มต้นจากการเตรียมบ่อ การเลี้ยงปูนาในบ่อซีเมนต์นั้นมีข้อดีคือ  ดูแลง่าย ปูไม่ไต่หนี ใช้พื้นที่น้อย ลงทุนน้อย (สามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อปูนขนาดใหญ่และวงบ่อปูนขนาดเล็ก แต่การทำวงบ่อปูนขนาดเล็กจะใช้ต้นทุนในการทำบ่อที่ต่ำกว่า เหมาะสำหรับมือใหม่ที่อยากเริ่มต้นเลี้ยงจากน้อย ๆ ก่อน) นำบ่อปูนมาตั้ง แนะนำให้ตั้งในที่ร่มเพราะปูไม่ชอบอากาศร้อนแล้วต่อท่อระบายน้ำออกด้านล่าง เทปูนปิดที่ฐานบ่อ ปล่อยทิ้งไว้ 3 วัน รอให้ปูนเซ็ตตัวและแห้งสนิท

เมื่อปูนเซ็ตตัวจนแห้งแล้วเติมน้ำใส่บ่อจนเต็มบ่อ ใส่ต้นกล้วยและเกลือสินเธาว์ ลงไปแช่ทิ้งไว้ 7-15 วัน (ต้นกล้วยช่วยชะล้างฝุ่นผงปูนที่เคลือบอยู่ตามผิวของวงบ่อปูนออกและกำจัดปรับค่า PH ในบ่อให้สมดุล ส่วนเกลือนั้นช่วยกำจัดเชื้อโรคต่าง ๆ ในบ่อ เป็นวิธีการทำความสะอาดบ่อที่มีประสิทธิภาพสูง)

เมื่อแช่น้ำทิ้งไว้ครบตามที่กำหนดไว้แล้วให้ถ่ายน้ำทิ้ง ล้างทำความสะอาดซ้ำอีกรอบ หลังจากนั้นให้นำดินเหนียว หรือดินโคลน มาใส่ลงในบ่อให้หนาประมาณ 20 เซนติเมตร หากะละมังหรือภาชนะที่ก้นไม่ลึกมากมาใส่น้ำแล้วฝังลงไปในพื้นดิน หรือทำพื้นดินให้ลาดเอียงลงไปหาแอ่งน้ำในบ่อ เป็นบ่อน้ำไว้ให้ปูได้ลงไปแช่น้ำเล่น หาหลังคากระเบื้อง อิฐบล็อก มาวางไว้ในบ่อปูนใว้สำหรับเป็นบ้านของปู หรือไว้ให้ปูหนีเข้าไปหลบเมื่อตกใจ โดยธรรมชาติแล้วถ้ามีอะไรที่เป็นรูขนาดพอดีตัว ปูจะเข้าใจว่าเป็นบ้าน ทำให้เข้าไปอยู่อาศัยตามสัญชาตญาณ เป็นการเลียนแบบสภาพแวดล้อมให้ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด ช่วยลดความตึงเครียดเพิ่มโอกาสให้ปูอยู่รอดได้มากขึ้น

การปล่อยปูลงบ่อ พันธุ์ปูที่เหมาะสำหรับการนำมาเลี้ยงคือปูกำแพง เพราะมีขนาดใหญ่กว่าปูนาพันธุ์อื่น มีน้ำหนักตัวเยอะ (ขนาดใหญ่เต็มที่ได้ถึงตัวละ 3 ขีด) สำหรับการนำมาเลี้ยงนั้นสามารถหาซื้อ หรือ หาจับได้จากแหล่งธรรมชาติได้เลย ตัวผู้และตัวเมียปล่อยลงบ่อประมาณครึ่งต่อครึ่ง

ข้อสังเกต

ปูตัวผู้ จะมีก้ามใหญ่ มีแท่งยาว ๆ อยู่ตรงกลางหน้าท้อง

ปูตัวเมีย จะมีส่วนหน้าท้องกลมเป็นแผ่นเดียวกัน

ตามธรรมชาติปูนาจะเจริญพันธุ์ในช่วงหน้าฝน ช่วงนี้จะทำให้แม่ปูเริ่มออกไข่ โดยแม่ปู 1 ตัวสามารถออกลูกได้ประมาณ 500 ตัว และสามารถแยกไปบ่อใหม่ เพื่อเพาะพันธุ์เพิ่มได้อีก

อาหารที่นำมาเลี้ยงปูช่วงอายุ 15 วันแรก ควรให้ไรแดง เทา หรือไข่ตุ๋น หลังอายุเกิน 15 วัน ให้ปลาสับอาหารเม็ด ลูกปลาดุก หรือหัวอาหารลูกอ๊อด และเสริมด้วยไข่แดงต้มคลุกข้าวได้ เพื่อประหยัดงบอาหาร

ปูนามีการลอกคราบ หลังจากฟักเป็นตัวแล้วปูนาจะทำการลอกคราบประมาณ 13-15 ครั้ง ก็จะโตเป็นปูนาเต็มวัย สามารถได้ขนาดตามที่ท้องตลาดต้องการ ระยะเวลาก็จะอยู่ประมาณ 6-8 เดือนขึ้นไป วิธีการสังเกตการลอกคราบของปูนา เมื่อใกล้จะลอกคราบปูจะอยู่นิ่ง เหยียดขาออกตรงทั้งสองข้าง ท้ายกระดองจะเปิดออก จะเห็นกระดองเก่าเริ่มลอกออก รอยต่อทางส่วนท้ายของกระดองก็จะเปิดออก ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อลอกคราบเสร็จใหม่ก็จะกลายเป็นปูนิ่ม ให้เก็บมาล้างน้ำทำความสะอาดและนำไปแช่ฟรีซไว้พร้อมส่งขายต่อไป

ราคาจำหน่ายปูนา

การเลี้ยงปูนาในเชิงพาณิชย์เพื่อเลียนแบบธรรมชาติ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการจำหน่ายปูนาควรเป็นช่วงฤดูหนาวเพราะเป็นช่วงที่ปูนาในธรรมชาติหายาก ราคาจะตกประมาณกิโลกรัมละ 50-60 บาท  แต่ถ้าอยู่ช่วงฤดูฝนจะมีปูนาตามธรรมชาติจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาเหลือเพียง 20-30 บาทต่อกิโลกรัม

  • ถ้าเป็นปูนานิ่มขายได้สูงถึง กิโลกรัมละ 1,000 บาท
  • จำหน่ายเป็นพ่อแม่พันธุ์ปูนาอยู่ที่ตัวละ 50 บาท
  • สำหรับปูนาขนาดอื่นก็จำหน่ายเป็นกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับขนาดตัวและความต้องการในแต่ละพื้นที่

 

 

 

อื่นๆ

เมนู