สวัสดีค่ะข้าพเจ้า นางสาวแสงดาว หม้อไธสง(ภาคประชาชน AG-03-2) ตำบลดอนดอก อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลสร้างรากแก้วให้กับประเทศ
บทความเรื่อง วิธีเลี้ยงหม่อนและการทอผ้าไหม
1.ขั้นตอนการเลี้ยงไหม
การเลี้ยงไหมเราจะเลี้ยงประมาน 45 -52 วัน หนอนไหมจะกินใบหม่อนหลังจากฟักออกจากไข่ประมาณวันที่ 10 จากนั้นจะหยุดกินอาหารและลอกคราบ ระยะนี้เรียกว่า (ไหมนอน) ต่อจากนั้นจะกินนอนและลอกคราบประมาณ 4 ครั้งเรียกว่า (ไหมตื่น)ลำตัวจะมีสีขาวเหลืองใสหดสั้น และหยุดกินอาหาร ระยะนี้เรียกว่า (หนอนสุก)ช่วงนี้ผู้เลี้ยงไหมต้องรีบแยกหนอนไหมสุกออกจากกองใบหม่อนและเตรียม (จ่อ) คืออุปกรณ์ที่จะให้ตัวไหมเกาะเพื่อชักใยห่อหุ้มตัวหนอนจะเริ่มพ่นใยได้ประมาณ 6-7 วัน ก็จะสามารถเก็บรังไหมออกจากจ่อได้
1.1 สายพันธุ์ชนิดของหนอนไหมพื้นบ้านมีทั้งหมด 3 ชนิด
1.พันธุ์นางขาว
2. พันธุ์นางน้ำ
3.พันธุ์นางลาย
ทุกสายพันธุ์คือสายพันธุ์พื้นบ้านทางตำบลดอนกอกใช้สายพันธุ์นางลาย
2.ขั้นตอนการสาวไหม
เมื่อได้รับไหมสดจะต้องนำไปอบให้แห้ง หรือเอาไปตากแดดก็ได้ จากนั้นนำไหมที่อบแห้งหรือที่เรานำไปตากเเดดไปต้มในน้ำที่สะอาดที่มีคุณสมบัติหรืออุณหภูมิเป็นกลาง รังไหมจะเริ่มพองตัวออก ใช้ปลายไม้เกี่ยวเส้นใยออกมารวมกันหลายๆเส้น
3.ขั้นตอนการมัดหมี่
การมัดหมี่ คือ การทำผ้าไหมให้เป็นลายและสีสันต่างๆตามแบบหรือลายที่ได้ออกแบบไว้ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งแบบลายที่เป็นแบบลายโบราณและแบบที่เป็นลายประยุกต์ โดยการมัดเส้นไหมให้เป็นลวดลายที่เส้นพุ่งด้วยเชือกฟางมัดลายแล้วนำไปย้อมสี แล้วนำมามัดลายอีกแล้วย้อมสีสลับกันหลายครั้ง เพื่อให้ผ้าไหมมีลวดลายและสีตามต้องการ เช่น ผ้าที่ออกแบบลายไว้มี 5 สี ต้องทำการมัดย้อม 5 ครั้ง เป็นต้น
4.ขั้นตอนการย้อมสี
การย้อมสีไหมจะต้องนำไหมดิบมาฟอกเพื่อไม่ให้มีไขมันเกาะ โดยจะใช้ด่างจากขี้เถ้าไปฟอกไหม เรียกว่า (การดองไหม) จะทำให้เส้นไหมขาวนวลขึ้น แล้วจึงนำไปย้อม ในสมัยก่อนนิยมใช้สีจากธรรมชาติ
5.ขั้นตอนการแก้หมี่
คือ การแก้เชือกฟางที่มัดหมี่แต่ละลำออกให้หมดหลังจาการย้อมในแต่ละครั้ง
6.ขั้นตอนการทอผ้า
ขั้นตอนสุดท้ายค่ะก่อนที่จะออกมาเป็นผ้าผืน คือการทอผ้าไหมจะประกอบไปด้วยเส้นไหม 2 ชุด คือชุดแรกเป็น เส้นไหมยืน จะขึงไปตามความยาวผ้าอยู่ติดกับกี่ทอ(เครื่องทอ) หรือแกนม้วนด้านยืน อีกชุดหนึ่งคือ เส้นไหมพุ่ง จะถูกกรอเข้ากระสวย เพื่อให้กระสวยเป็นตัวนำเส้นด้ายพุ่งสอดขัดเส้นด้ายยืนเป็นมุมฉาก ทอสลับกันไปตลอดความยาวของผืนผ้า การสอดด้ายพุ่งแต่ละเส้นต้องสอดให้สุดถึงริมแต่ละด้าน แล้วจึงวกกลับมา จะทำให้เกิดริมผ้าเป็นเส้นตรงทั้งสองด้าน ส่วนลวดลายของผ้านั้นขึ้นอยู่กับการวางลายผ้าตามแบบของผู้ทอที่ได้ทำการมัดหมี่ไว้
ทั้งหมดนี้คือการสอบถามจากประสบการณ์จริงจากผู้ที่เลี้ยงหม่อนทำไหมของตำบลดอนกอก

อื่นๆ

เมนู