1. หน้าแรก
  2. คณะเทคโนโลยีการเกษตร
  3. AG01(1) - ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง
  4. บทความประจำเดือนกรกฎาคม 2564 กลุ่ม AG01(1) เรื่อง “สีสันผ้าไทยสไตล์อีสาน กับการยกระดับผ้าทอมือ ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์”

บทความประจำเดือนกรกฎาคม 2564 กลุ่ม AG01(1) เรื่อง “สีสันผ้าไทยสไตล์อีสาน กับการยกระดับผ้าทอมือ ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์”

          ภาคอีสาน เป็นแหล่งภูมิปัญญาทางการทอผ้าที่เก่าแก่ และสำคัญของประเทศไทย หลักฐานการขุดค้นโดยนายวิทยา อินทรโกศัย นักโบราณคดี กรมศิลปากร ทำให้พบโครงกระดูก และเศษผ้าติดอยู่ที่กำไลสำริดที่แหล่งโบราณบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี คาดว่ามีอายุประมาณ 2,400 – 2,800 ปี ทำให้สันนิษฐานว่าคนในพื้นที่ประเทศไทยนั้นรู้จักนำเอาฝ้าย ปอ และป่านกัญชง มาทอเป็นผ้าได้มายาวนานตั้งแต่ช่วงยุคนี้ จากการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีทำให้ทราบว่ามนุษย์ที่เคยอยู่ในภาคอีสานของประเทศไทยนั้น มีความสามารถผลิตสิ่งทอใช้มานานนับพันปีมาแล้ว

          ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าต้นกำเนิดของการทอผ้าในประเทศไทยมีความเป็นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ก็อาจจะกล่าวได้ว่า การทอผ้า  เป็นงานศิลปหัตถกรรมที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่งที่มนุษย์ในสมัยโบราณที่อาศัยอยู่ในดินแดนนี้รู้จักทำขึ้น ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หากย้อนเวลากลับไปช่วงประมาณ 7,000-8,000 ปีในยุคก่อนประวัติศาสตร์ พบว่ามนุษย์โบราณมีการตกแต่งหม้อดินเผาด้วยรอยเชือกและรอยตาข่ายทาบ ณ บริเวณบ้านเชียง จ.อุดรธานี จึงมีการสันนิษฐานว่ามนุษย์น่าจะรู้จักทำเชือกและตาข่ายก่อน โดยนำพืชที่มีใยมาฟั่นให้เป็นเชือก แล้วนำเชือกมาผูกหรือถักเป็นตาข่าย จากนั้นก็พัฒนาขึ้นมาเป็นการทอผ้า ด้วยเทคนิคง่ายๆ แบบการจักสาน คือ นำเชือกมาผูกกับไม้หรือยึดไว้เป็นด้ายเส้นยืน แล้วนำเชือกอีกเส้นหนึ่งมาพุ่งขัดกับด้ายเส้นยืนเหมือนการจักสาน จนเกิดเป็นผ้ากระสอบแบบหยาบ ๆ ขึ้นมา อีกทั้งพบหลักฐานที่สำคัญทางโบราณคดีที่บริเวณบ้านเชียงอีกเช่นกัน นั่นคือ พบกำไลสำริดซึ่งมีสนิมและมีเศษผ้าติดอยู่กับคราบสนิมนั้น นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า สนิมเป็นตัวกัดกร่อนโลหะ แต่กลับเป็นตัวอนุรักษ์เนื้อเยื่อผ้าให้คงทนไว้ไม่ให้เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา และยังพบ แกนดินเผา (spindle whorl) ซึ่งเป็นอุปกรณ์การปั่นด้ายแบบง่ายๆ และพบลูกกลิ้งแกะลาย สำหรับใช้ทำลวดลายบนผ้าเป็นจำนวนมาก จึงทำให้พอจะสันนิษฐานได้ว่า มนุษย์อาศัยอยู่ในบริเวณบ้านเชียงเมื่อประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว รู้จักการปั่นด้าย ทอผ้า ย้อมสี และพิมพ์ลวดลายลงบนผ้าอีกด้วย

          ยุคต่อมาใน พ.ศ. 2478 กระทรวงกลาโหม ได้ตั้งโรงงานทอผ้าสำหรับใช้ในราชการทหารขึ้น เรียกว่า โรงงานฝ้ายสยาม  เพื่อผลิตเสื้อผ้าและสำลีสำหรับทหาร มีการสั่งเครื่องจักรทอผ้าและฝ้ายจากต่างประเทศเข้ามา นับเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมการทอผ้า ด้วยเครื่องจักร สามารถผลิตผ้าได้จำนวนมาก และไม่มีลวดลายตามแบบผ้าพื้นบ้าน ซึ่งอุตสาหกรรมการทอผ้าด้วยเครื่องจักรในประเทศไทยนี้ ได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งในยุคหนึ่งเมืองไทยสามารถส่งออกผ้าทอจากเครื่องจักรได้ในปริมาณมากทุกๆ ปี แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ลวดลายและวิธีการทอผ้าแบบภูมิปัญญาไทยค่อยๆ จางหายไป

 

          ปัจจุบันการทอผ้าและการย้อมสีเพื่อให้ผ้ามีลวดลายที่โดดเด่น จะมีการประดิษฐ์เครื่องทุ่นแรงมาช่วยตั้งแต่กรรมวิธีแรก ไปจนถึงกรรมวิธีการถักทอจนมาเป็นผ้าไทยให้ได้สวมใส่ ซึ่งในกรรมวิธีการย้อมสีเส้นไหมจะมีการใช้สารเคมีในการย้อม ทำให้อาจเป็นอันตรายต่อผู้ทอผ้าเองและผู้สวมใส่ อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่ยังคงมีการใช้สีย้อมผ้าจากธรรมชาติอยู่ ซึ่งสีย้อมผ้าจากธรรมชาติต่างๆ ได้มาจากต้นไม้ในป่า โดยได้จากบางส่วนของต้นไม้ เช่น ราก แก่น เปลือก ต้น ผล ดอก เมล็ด ใบ เป็นต้น โดยมีที่มาของสีจากธรรมชาติ ดังนี้
                    สีแดง         ได้จาก รากยอ แก่นฝาง ลูกคำแสด เปลือกสมอ ครั่ง
                    สีคราม       ได้จาก รากและใบของต้นคราม หรือต้นห้อม
                    สีเหลือง    ได้จาก แก่นแขหรือแก่นแกแล แก่นขนุน ต้นหม่อน ขมิ้น เปลือกไม้นมแมว แก่นสุพรรณิการ์
                                      ดอกกรรณิการ์ ดอกดาวเรือง

                    สีตองอ่อน ได้จาก เปลือกต้นมะพูด เปลือกผลทับทิม แก่นแกแลและต้นคราม ใบหูกวาง เปลือกและผลสมอพิเภก
                                      ใบส้มป่อยและผงขมิ้น ใบแค ใบสับปะรดอ่อน

                    สีดำ           ได้จาก ผลมะเกลือ ผลกระจาก ผลและเปลือกสมอ
                    สีส้ม          ได้จาก เปลือกและรากยอ ดอกกรรณิการ์ (ส่วนที่เป็นหลอดสีส้ม) เมล็ดคำแสด
                    สีเหลืองอมส้ม ได้จาก ดอกคำฝอย
                    สีม่วงอ่อน  ได้จาก ลูกหว้า
                    สีชมพู        ได้จาก ต้นฝาง ต้นมหากาฬ
                    สีน้ำตาล    ได้จาก เปลือกไม้โกงกาง เปลือกผลมังคุด
                    สีกากีแกมเหลือง ได้จาก หมากสง กับแก่นแกแล เปลือกมะพร้าว
                    สีเขียว       ได้จาก เปลือกต้นมะริดไม้ ใบหูกวาง เปลือกสมอ ครามย้อมทับด้วยแถลง ใบสัก

 

ข้อดีของสีธรรมชาติ
          1. ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค
          2. น้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตไม่เป็นอันตรายต่อ สิ่งแวดล้อม
          3. วัตถุดิบหาได้ง่ายในชุมชนไม่ต้องใช้สีเคมีที่นำเข้าจากต่างประเทศ
          4. การย้อมสีธรรมชาติสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เป็นความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้นตามประสบการณ์ สามารถ ถ่ายทอดให้แก่คนรุ่นหลัง เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น
          5. สีธรรมชาติมีความหลากหลาย ตามชนิด อายุและส่วนของพืชที่ใช้ ตลอดจนชนิดของสารกระตุ้นหรือขั้นตอนการย้อม
          6. การย้อมสีธรรมชาติทำให้เห็นคุณค่าและรู้จักใช้ ประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติ
          7. ความสัมพันธ์ระหว่างคนย้อมสีกับต้นไม้ ย่อมก่อให้ เกิดความรัก ความหวงแหน และเรียนรู้ที่จะอนุรักษ์ และปลูกทดแทนเพื่อการผลิตที่ยั่งยืน

ข้อจำกัดของสีธรรมชาติ
          1. ปริมาณสารสีในวัตถุดิบย้อมสีมีน้อย ทำให้ย้อมได้สีไม่เข้มหรือต้องใช้วัตถุดิบปริมาณมาก
          2. ไม่สามารถผลิตได้ในประมาณมากและไม่สามารถผลิตสีตามที่ตลาดต้องการ
          3. สีซีดจางและมีความคงทนต่อแสงต่ำ
          4. คุณภาพการย้อมสีธรรมชาติขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการซึ่งควบคุมได้ยาก การย้อมสีให้เหมือนเดิมจึงทำได้ยาก
          5. ในการย้อมสีธรรมชาติถ้าไม่มีวิธีการ และจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนย่อมจะกลายเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมได้

 

วิดีโอการปฏิบัติงานประจำเดือนกรกฎาคม 2564 กลุ่ม AG01(1)
เรื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

 

อื่นๆ

เมนู