ข้าพเจ้า นางสำรวม ไกรพะเนาว์ ประเภท ประชาชน
ED05 ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล แบบบูรณาการ ๑ มหาวิทยาลัย ๑ ตำบล “มหาวิทยาลัย สู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ”

การลงพื้นที่ปฏิบัติงาน

เนื่องจากสถานการณ์ในเดือนมิถุนายน ยังคงมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การลงพื้นที่บ้านเจริญสุขในครั้งนี้ข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานกับทีมงานประจำหลักสูตรปฏิบัติ 5 กิจกรรมเร่งด่วน ด้วยกิจกรรมการลงพื้นที่ปฏิบัติงานดังนี้

กิจกรรมที่ 1 ลงพื้นที่ปฏิบัติงานร่วมกับทีมงานประจำหลักสูตร เพื่อป้องกันสถานการณ์ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยการทำความสะอาดแหล่งรวมชุมชน เช่น วัดเขาพระอังคาร รพสต.เจริญสุข โรงเรียนบ้านเจริญสุข และศาลากลางบ้านเจริญสุข

     

     

กิจกรรมที่ 2 จัดการขยะให้ถูกสุขลักษณะ คัดแยกขยะ ได้แก่

1. ขยะเปียก คือ ขยะที่ย่อยสลายได้ง่าย สามารถน้ำมาหมักเป็นปุ๋ยได้ เช่น เศษอาหาร เศษผัก เศษผลไม้ เศษใบไม้ มูลสัตว์และซากสัตว์ เป็นต้น

2. ขยะรีไซเคิล คือขยะที่ทิ้งไปแล้วสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำอีกได้ เช่น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋องกระดาษ

3. ขยะอันตราย คือขยะที่มีสารเคมีปนเปื้อนต่าง ๆ เช่น สารพิษ วัตถุติดเชื้อ สารกัดกร่อน ถ่านไฟฉาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยาหมดอายุ วัตถุไวไฟ กระป๋องสเปรย์ ซึ่งการแยกขยะ จะทำให้เราสามารถกำจัดขยะได้ถูกวิธีมากขึ้น ลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

     

     

กิจกรรมที่ 3 ลงพื้นที่ปฏิบัติงานกับทีมงานประจำหลักสูตร ทำหน้ากากอนามัยจากผ้าภูอัคนีร่วมกับคนในชุมชนตำบลเจริญสุข ซึ่งในชุมชนแห่งนี้มีการทำผ้าภูอัคนีอยู่แล้ว ผ้าภูอัคนีมีความสวยงาม มีเอกลักษณ์ในตัว สามารถนำมาประยุกต์ใช้ทำหน้ากากอนามัย อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมด้านการตลาดอีกทาง และยังมีประโยชน์ใช้สอยมากมาย สามารถลดการกระจายของเชื้อโรคได้ ป้องกันฝุ่นควัน กลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ

     

     

กิจกรรมที่ 4 ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมกิจกรรมของทางมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เข้าไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 กับตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ให้กับตัวแทนทั้ง 14 หมู่บ้านประกอบด้วยหมู่บ้าน หมู่1 บ้านประดาจะบก  หมู่2 บ้านโคกศรีละคร  หมู่3 บ้านโคกศรีละคร  หมู่4 บ้านหนองสะแก  หมู่5 บ้านพูนสุข  หมู่6 บ้านระเบิก  หมู่7 บ้านป่ารัง  หมู่8 บ้านหนองจอก  หมู่9 บ้านสี่เหลี่ยม  หมู่10 บ้านหนองแห้ว  หมู่11 บ้านเจริญสุข  หมู่12 บ้านโคกเกริ่น  หมู่13 บ้านสายบัว  หมู่14 บ้านตาเป๊ก  ณ ศาลาการประชุมหมู่ที่1

     

กิจกรรมที่ 5 ข้าพเจ้า คณะอาจารย์ และทีมงานประจำหลักสูตร ได้ลงพื้นที่รณรงค์ป้องกันจากการติดเชื้อและการแพร่เชื้อให้กับชาวบ้านในตำบลเจริญสุข ติดป้ายประกาศ ณ แยกบ้านโคกศรีละคร ปิดป้ายประกาศประชาสัมพันธ์ในชุมชน แจกแผ่นประชาสัมพันธ์ แนะนำความรู้ในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับคนในชุมชนทั้ง 14 หมู่บ้าน

     

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวัคซีน COVID-19

โดยปกติเมื่อเชื้อโรคทุกชนิดเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะมีวิธีจัดการเชื้อหลายแบบ หนึ่งในนั้นคือเม็ดเลือดขาวชนิด Macrophage จะกลืนเชื้อเข้าไปและทิ้งเศษซากเชื้อบางส่วนไว้เรียกว่า แอนติเจน (Antigen) ร่างกายจะรับรู้ว่าแอนติเจนคือสิ่งแปลกปลอมและจะสร้างแอนติบอดี (Antibody) มาจัดการสิ่งแปลกปลอมนั้น รวมถึงมีเม็ดเลือดขาวอีกชนิดหนึ่งที่จำว่าเชื้อโรคนี้คือสิ่งแปลกปลอม ถ้าหากได้รับเชื้อในอนาคตร่างกายจะสามารถจดจำและจัดการได้ การทำงานของวัคซีนเป็นไปในลักษณะเดียวกัน วัคซีนป้องกันโควิด-19 จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้ขึ้นมา ช่วยป้องกันการติดเชื้อหากได้รับเชื้อในอนาคต แต่ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งหลังฉีดวัคซีนร่างกายจึงจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ การฉีดวัคซีนผู้รับวัคซีนยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เช่น ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างทางสังคม เป็นต้น

ใครควรได้รับวัคซีน

บุคคลทั่วไปควรได้รับวัคซีน แต่ขณะนี้มีการผลิตวัคซีนได้ในจำนวนจำกัดและมีข้อมูลการฉีดในประชากรบางกลุ่มเท่านั้น กรมควบคุมโรคจึงกำหนดกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับวัคซีนตามลำดับ เริ่มจากพื้นที่ที่มีการระบาดก่อน ได้แก่

  1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน
  2. ผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
  3. ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป(ข้อมูล ณ วันที่ 3 มีนาคม 2564 ประชากรกลุ่มนี้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้บางชนิดเท่านั้น)
  4. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 เช่น อสม./อสต. ทหาร ตำรวจ จะต้องคัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศและในพื้นที่ที่มีการระบาด

อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

ผู้ที่รับวัคซีนอาจมีอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนหรือไม่มีก็ได้ อาการข้างเคียงที่อาจพบได้มีดังนี้

  • อาการที่พบได้บ่อยได้แก่ ปวด บวม แดง คัน หรือช้ำบริเวณที่ฉีดยา อ่อนเพลีย และรู้สึกไม่สบายตัว ปวดศีรษะเล็กน้อย อาการคล้ายมีไข้  คลื่นไส้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ
  • อาการที่พบได้ไม่บ่อยหรือพบได้น้อยเช่น มีไข้ มีก้อนที่บริเวณที่ฉีดยา เวียนศีรษะ มึนงง ใจสั่น ปวดท้อง อาเจียน ความอยากอาหารลดลง เหงื่อออกมากผิดปกติ ต่อมน้ำเหลืองโต อาการเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอ เป็นต้น

ข้อห้ามในการฉีดวัคซีน

มีประวัติแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีน หรือผู้ที่ฉีดเข็มแรกแล้วมีอาการแพ้รุนแรง เช่น หายใจติดขัด (Shortness of Breath) มีอาการบวมที่หน้า ลิ้น หรือในทางเดินหายใจ เป็นต้น

ข้อควรระวัง

สิ่งที่ต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน ได้แก่

  1. มีประวัติการแพ้ยา วัคซีน อาหาร สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ อย่างรุนแรงหรือจนเป็นอันตรายต่อชีวิต
  2. มีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียสในวันที่นัดฉีดวัคซีน
  3. มีรอยช้ำ หรือจ้ำเลือด หรือเลือดออกผิดปกติ หรือใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดอยู่ เช่น วาร์ฟาริน
  4. ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือใช้ยากดภูมิคุ้มกันอยู่ เช่น สเตียรอยด์ขนาดสูง ยารักษาโรคมะเร็ง หรือยากดภูมิคุ้มกัน
  5. อาการข้างเคียงทุกชนิดจากการฉีดวัคซีนชนิดนี้ในเข็มแรก
  6. ตั้งครรภ์ หรือมีแผนจะตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร

***อาการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น มีไข้เล็กน้อย แพทย์อาจให้ฉีดวัคซีนได้โดยไม่จำเป็นต้องเลื่อนการฉีด กรณีเจ็บป่วยรุนแรงแพทย์อาจเลื่อนการฉีดออกไปก่อน โดยพิจารณาจากอาการของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

การปฏิบัติตัวหลังได้รับวัคซีน

ผู้ฉีดวัคซีนจะต้องอยู่เฝ้าสังเกตอาการที่สถานพยาบาลหลังฉีดวัคซีนอย่างน้อย 30 นาที โดยระหว่างนั้นและหลังจากนั้นให้สังเกตอาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นตามข้างต้น และให้แจ้งอาการข้างเคียงทุกอย่างที่เกิดขึ้นแก่แพทย์ พยาบาล เภสัชกรด้วย เนื่องจากวัคซีนนี้เป็นวัคซีนชนิดใหม่อาจจะมีบางอาการที่ยังไม่พบตามข้างต้น หากมีอาการเล็กน้อย เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ต่ำ ๆ สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการได้ หากมีอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะรุนแรง ให้มาพบ

สรุปผลการปฏิบัติงาน

จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ข้าพเจ้าต้องขอขอบคุณทางมหาวิทยาลัยและคณะอาจารย์ที่ได้มาให้ความรู้ และทำให้เกิดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั้ง 14 หมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านในตำบลเจริญสุขมีความรู้ความเข้าใจ เรื่องโรคโควิด-19 และป้องกันตัวเองให้ห่างจากโรค โดยการใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน หลีกเลี่ยงการไปสถานที่ที่แออัด อีกทั้งยังได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องในการฉีดวัคซีน และสามารถเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์ไปยังชุมชนอื่น ๆ ได้

ผลจากการปฏิบัติงานทำให้ข้าพเจ้าเห็นว่าชาวบ้านในชุมชนให้ความร่วมมือร่วมใจกันอย่างดีเยี่ยม มีการตื่นตัวที่จะฉีดวัคซีนมากกว่าเดิม เพราะจะได้ช่วยเหลือสังคมให้ปลอดภัย และลดความเสี่ยงจากการติดโรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดในปัจจุบัน

วิดีโอการลงพื้นที่

บรรณานุกรม

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข [ internet] [Cited 2021 February 20]  โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) Available from: https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/faq_more.php

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.  แนวทางการให้วัคซีนโควิด 19 ในสถานการณ์การระบาดปี 64 ของประเทศไทย. กุมภาพันธ์ 2564

https://ga.kpru.ac.th/km/data58/kaya.pdf

 

อื่นๆ

เมนู