ข้าพเจ้านายนฤเบศร์ หินไชยศรี ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ปฏิบัติงานประจำตำบลยายแย้มวัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามโครงการยกเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 มหาวิทยาลัย 1 ตำบล มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ

ทางโครงการได้จัดกิจกรรมอบรมการพัฒนารูปแบบสินค้าจากผลิตภัณฑ์สิ่งทอของตำบลยายแย้มวัฒนา (ผ้าฝ้ายภูอัคนี) เป็นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยได้รับเกียรติอาจารย์ผจงจิต เหมพนม และอาจารย์อมรรัตน์  สุขจิตต์  สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้กับชาวบ้านและผู้เข้าร่วมการอบรม ณ ศาลากลางหมู่บ้าน หมู่ 11 บ้านวัฒนา ตำบลยายแย้มวัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีการจัดกิจกรรมการอบรมดังนี้

ได้มีการประชุมและร่วมกันปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่จะใช้เป็นผลิตภัณฑ์หลักประจำตำบล โดยได้ผลสรุปว่า จะพัฒนาผ้าฝ้ายภูอัคนีให้เป็นกระเป๋าที่มีหลากหลายรูปแบบ ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างอเนกประสงค์  และแมสก์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการในช่วงสถานการณ์โควิด นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น กระเป๋าใส่แก้ว YETI , กระเป๋าใส่โทรศัพท์ , กระเป๋าสตางค์ เป็นต้น และจัดตั้งกลุ่มที่มีชื่อว่า “ผ้าฝ้ายยายแย้ม”

ขั้นตอนในการทำแมสก์จากผ้าภูอัคนี

  1. นำผ้าฝ้ายไปรีดอัดผ้ากาว วัดขนาดผ้าที่จะใช้ทำแมส ใช้ดินสอร่างเป็นรูปร่าง
  2. ตัดผ้าให้ได้ 3 ชิ้น ใช้เข็มหมุดปักไว้ ตัดผ้าสำหรับทำหู
  3. นำมาเย็บ ตรงกลางด้านบนจะใส่เป็นลวด เพื่อให้สามารถล็อดกับจมูกได้
  4. เมื่อเย็บเสร็จแล้ว นำสายมาคล้อง

ขั้นตอนในการทำกระเป๋า

  1. ตัดผ้าฝ้ายสำหรับด้านนอกและด้านในกระเป๋าโดยให้ทั้งสองชิ้นมีความยาวเท่ากัน จากนั้นตัดหูกระเป๋าผ้าฝ้ายเป็นสองชิ้นให้มีความยาวเท่ากัน
  2. ตัดมุมด้านล่างของผ้าทั้งสองชิ้นออก เพื่อเตรียมเย็บก้นกระเป๋า โดยตัดทั้งมุมซ้ายและขวา
  3. กลับด้านในของผ้าออกมา วางผ้าอัดกาว จากนั้นตัดให้พอดีกับผ้าสำหรับตัวกระเป๋า เย็บผ้าอัดกาวเข้ากับผ้าฝ้ายโดยเว้นขอบประมาณครึ่งนิ้ว
  4. เย็บก้นกระเป๋าโดยพับกันกระเป๋าให้แบนแล้วใช้หมุดช่วยตรึงส่วนก้นกระเป๋าไว้ จากนั้นเย็บผ้าฝ้ายทั้งสองชิ้นเข้าด้วยกัน
  5. เย็บริมกระเป๋าโดยจับขอบผ้าทั้งสองชิ้นเข้าด้วยกันและทำการเย็บ เก็บรายละเอียดขอบกระเป๋าให้เรียบร้อย ส่วนสุดท้ายคือการเก็บขอบปากกระเป๋า โดยพับขอบผ้าลงครึ่งนิ้วแล้วเย็บริมให้เรียบร้อย
  6. เย็บหูกระเป๋าเข้ากับกระเป๋าผ้าของเรา จากนั้นกลับเอาด้านนอกออกมาก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์

ทางทีมงานได้เข้าไปสนับสนุนในทุก ๆ ทาง ตั้งแต่การประสานงาน การช่วยจัดหาวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ  ขั้นตอนการผลิต ช่องทางการจำหน่าย งบประมาณในการลงทุน และการติดตามผลภายหลังจากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ หากท่านใดสนใจหรืออยากดูสินค้าเพิ่มเติม เข้าไปที่เพจเฟซบุ๊กชื่อว่า U2T ตำบลยายแย้มวัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์

ทั้งนี้ทางทีมงานต้องขอขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องและชาวบ้านที่ให้ความร่วมในกิจกรรมครั้งนี้เป็นอย่างดี และพวกเราหวังว่าจะมีการจัดกิจกรรมที่ดีแบบนี้อีกต่อ ๆ ไป

อื่นๆ

เมนู