ข้าพเจ้านายสมชาย ม่วงอ่อน นักศึกษาผู้ปฏิบัติงานในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ปฏิบัติงานในพื้นที่ตำบลถลุงเหล็ก อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ การปฏิบัติงานในเดือนสิงหาคมนี้ จะเป็นการอบรมให้ความรู้ในหัวข้อ “การส่งเสริมความรู้ เพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากผลิตภัณฑ์สิ่งทอ โดยการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการรับรองมาตรฐาน (มผช)” แต่ด้วยในปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 (COVID – 19) มีแนวโน้มของการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย รวมถึงพื้นที่ของจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นผลให้การจัดอบรมให้ความรู้ในหัวข้อ “การส่งเสริมความรู้ เพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากผลิตภัณฑ์สิ่งทอ โดยการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการรับรองมาตรฐาน (มผช)” ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลถลุงเหล็ก อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ต้องเลื่อนออกไป จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
ดังนั้น การปฏิบัติงานจึงได้ปรับเปลี่ยนเป็นการสำรวจข้อมูลต่าง ๆ ในพื้นที่เพิ่มเติม ผ่านระบบ cbd.u2t.ac.th ซึ่งข้าพเจ้าได้ทำการสำรวจข้อมูลประเภทภูมิปัญญาท้องถิ่น 2 เรื่อง คือ 1) พิธีบายศรีสู่ขวัญ 2) ประเพณีเรือมตรด
1) พิธีบายศรีสู่ขวัญ เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของคนไทย ด้วยความเชื่อที่ว่าทุกคนเกิดมาพร้อมกับสิ่งนามธรรมอย่างหนึ่งที่เรียกกันว่า “ขวัญ” ซึ่งมีหน้าที่รักษาประคับประคองชีวิตและติดตามเจ้าของไปทุกหนแห่ง การทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ จึงเป็นการเชิญขวัญที่หนีหายไปให้เข้ามาอยู่กับตัว และเชื่อว่าเป็นการส่งเสริมพลังใจให้เข้มแข็ง มีสติ และไม่ประมาท
พิธีบายศรีสู่ขวัญใช้เครื่องเชิญขวัญที่เรียกว่า บายศรี ซึ่งทำด้วยใบตอง รูปคล้ายกระทง เป็นชั้น ๆ มีขนาดใหญ่เล็กสอบขึ้นไปตามลำดับ เป็น 3 ชั้น 5 ชั้น 7 ชั้น หรือ 9 ชั้น มีเสาปักตรงกลางเป็นแกน มีเครื่องสังเวยวางอยู่ในบายศรี และมีไข่ขวัญ (ไข่ต้ม) เสียบอยู่บนยอดบายศรี มีการพันสายสิญจน์ไว้โดยรอบเพื่อใช้ผูกข้อมือผู้รับขวัญ ผู้นำทำพิธีเรียกว่า หมอขวัญ
มีข้อสันนิษฐานว่า บายศรีนั้นประดิษฐ์ขึ้นมาจากคติความเชื่อของพราหมณ์ พิจารณาจากการนำใบตองมาประดิษฐ์บายศรี เนื่องด้วยใบตองนั้นเป็นของสะอาด บริสุทธิ์ ไม่มีมลทินของอาหารเก่าให้แปดเปื้อน และอีกประการหนึ่ง คือรูปร่างลักษณะของบายศรีที่ได้จำลองเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นที่สถิตของพระอิศวร ตลอดจนเครื่องสังเวยก็มีความเชื่อมาจากคติพราหมณ์เช่น ไข่ แตงกวา มะพร้าว รวมถึงขั้นตอนพิธีกรรม เช่น การเวียนเทียน การเจิม และพิธีการต่าง ๆ เหล่านี้ พราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีทั้งสิ้น
ภาพ : พิธีบายศรีสู่ขวัญ
2) ประเพณีเรือมตรด หรือรำตรุษสงกรานต์ เป็นการประเพณีพื้นบ้านของชาวอีสานใต้มาตั้งแต่โบราณ มีความเชื่อเป็นการละเล่นเพื่อความสนุกสนานในวันขึ้นปีใหม่ของไทยสมัยก่อนที่ใช้เดือนเมษายนของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่
เรือมตรด มีความสัมพันธ์เกี่ยข้องกับพระพุทธศาสนา โดยมีตำนานเล่าว่า สมัยที่พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงออกผนวช มีมารแปลงกายเป็นกวางทองมาขัดขวางทางเสด็จพระองค์ เพื่อไม่ให้เดินทางออกผนวช พระโพธิสัตว์ทรงตั้งจิตอธิษฐานขึ้น ทำให้สวรรค์ชั้นเทวโลกบังเกิดความร้อน เทวดาทั้งหลายจึงพากันแปลงกายเป็นนายพรานลงมาฆ่ากวาง แล้วร่วมขบวนแห่พระโพธิสัตว์ไปทรงออกผนวชได้สำเร็จตามความประสงค์ ทำให้ประเพณีเรือมตรด เป็นมรดกที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
บ้างก็ว่า เรือมตรดมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อที่ว่า เมื่อใดที่สัตว์ป่าเข้ามาในหมู่บ้าน ถือว่าเป็นลางร้าย จะเกิดสิ่งที่ไม่ดี ต้องพบกับสิ่งชั่วร้าย จึงจัดพิธีเรือมตรดขึ้น โดยมีรูปภาพสัตว์ป่าทุกชนิดเพื่อให้มีโอกาสได้ประพรมน้ำอบ ทาแป้งและทาน้ำมันให้แก่สัตว์เหล่านั้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่ได้ป้องกันไว้ก่อนแล้ว ซึ่งเชื่อว่า ภายหลังจากนั้น หากมีสัตว์ป่าเข้าไปในหมู่บ้านจะไม่สามารถบันดาลให้เกิดสิ่งชั่วร้ายได้
สำหรับการแต่งกายนั้น นิยมแต่งให้สวยงามตามประเพณี ผู้หญิงนุ่งซิ่นไหม ผู้ชายนุ่งโสร่งหรือโจงกระเบนสีสันสวยงามรวมเป็นคณะเรือมตรด เคลื่อนขบวนร้องรำไปตามหมู่บ้านทุกหลังคาเรือน นิยมเล่นเฉพาะเดือนเมษายนของทุกปีเท่านั้น เพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อนใจจากการตรากตำทำงานหนักมาเป็นเวลานาน การเรือมตรดนี้จะร้องรำไปตามหมู่บ้านทุกหลังคาเรือน เมื่อถึงบ้านใครเป็นธรรมเนียมเจ้าของบ้านจะออกมาต้อนรับและมอบจตุปัจจัยและเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ให้แก่ผู้เล่นเรือมตรด เพื่อรวบรวมนำไปถวายวัดต่อไป
การเล่นเรือมตรดมีผู้ร้องรำเพลงเป็นต้นบทร้องนำหรือเรียกว่าพ่อเพลงแม่เพลง คนอื่น ๆ เป็นผู้ร้องตามหรือเรียกว่าลูกคู่ มีเครื่องดนตรีประกอบด้วยกลองกันตรึม ๒ ใบ หรือมากกว่านั้น ฉิ่ง ฉาบ ซอ จอกกร็อง ฯลฯ
ภาพ : ประเพณีเรือมตรด
วิดีทัศน์สรุปงาน เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564