จากการลงปฏิบัติงานสำรวจข้อมูลในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ส่งผลให้ทราบข้อมูลในการประกอบอาชีพเสริม ซึ่งสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจากวัสดุ และอุปกรณ์ที่มีในพื้นที่ รวมถึงการจัดการแหล่งท่องเที่ยว โดยจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ ให้เกิดประโยชน์ต่อคนในชุมชนสูงสุด นั้น
ส่งผลให้ในการประชุมประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 อาจารย์ประจำหลักสูตร จึงแจ้งภาระงานประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 คือ การลงปฏิบัติงานในตำบลถลุงเหล็ก โดยการแบ่งงานเป็นกลุ่มลงสำรวจข้อมูลพื้นที่ ซึ่งในแต่ละกลุ่มจะมีผู้ปฏิบัติงานครบทั้ง 3 ประเภท เพื่อสำรวจวิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มของชุมชนในตำบลถลุงเหล็กทั้ง 16 หมู่บ้านใน 3 ประเด็นหลักที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา ได้แก่ 1. กลุ่มอาชีพผ้าทอ 2. กลุ่มอาชีพการทอเสื่อกก และ 3. กลุ่มเทคโนโลยีการท่องเที่ยว โดย ข้าพเจ้า นายราเชน อุส่าห์ดี ผู้ปฏิบัติงานประเภทนักศึกษา ได้ร่วมงานในกลุ่มอาชีพการทอเสื่อกก ร่วมกับผู้ปฏิบัติงานภายในกลุ่ม ซึ่งสมาชิกในกลุ่ม ประกอบไปด้วย
- นายราเชน อุส่าห์ดี ผู้ปฏิบัติงานประเภทนักศึกษา
- นายสมชาย ม่วงอ่อน ผู้ปฏิบัติงานประเภทนักศึกษา
- นางสาวอลิษา วิบูลย์อรรถ ผู้ปฏิบัติงานประเภทบัณฑิตจบใหม่
- นางสาวชญานิษฐ์ ทวีพวงเพชร ผู้ปฏิบัติงานประเภทบัณฑิตจบใหม่
- นางรัสรินทร์ นามพุทธไชยศิริ ผู้ปฏิบัติงานประเภทประชาชนทั่วไป
- นางสาวสายทอง ศรีบาง ผู้ปฏิบัติงานประเภทประชาชนทั่วไป
จากการลงสำรวจข้อมูลในพื้นที่ตำบลถลุงเหล็ก อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า หมู่บ้านที่มีประชาชนทอเสื่อกก เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและจำหน่ายเป็นอาชีพ ได้แก่ บ้านถลุงเหล็ก หมู่ที่ 1, บ้านหนองผักแว่น หมู่ที่ 5 และบ้านพะไลพัฒนา หมู่ที่ 12 ซึ่งการทอเสื่อกก จะกระทำเป็นอาชีพเสริมหลังเสร็จสิ้นจากอาชีพหลัก คือ การทำนาหรือปลูกอ้อย โดยการจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือการท้เป็นครัวเรือน เพื่อใช้ในการจำหน่าย, ใช้ในครัวเรือน และมอบเป็นของที่ระลึก โดยในแต่ละหมู่บ้านมีการสัมภาษณ์ผู้นำหมู่บ้าน พระภิกษุสงฆ์ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ได้ทราบข้อมูล ดังนี้
– บ้านถลุงเหล็ก หมู่ที่ 1 คุณยายสุบิน หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจทอเสื่อกก ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ในอดีต ชาวบ้านถลุงเหล็ก สามารถหาต้นกกได้ง่ายในพื้นที่ ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก จึงนำต้นกกมาแปรรูปทอเป็นเสื่อตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ในปัจจุบัน ต้นกกหาได้ยาก จึงมีการเปลี่ยนพืชเป็นพืชชนิดใหม่ที่มีคุณสมบัติคล้ายกับต้นกกและสามารถปลูกได้ง่ายมาใช้แทน นั่นคือ “ต้นไหล” ซึ่งจะปลูกได้ดีในหน้าฝน ลำต้นไหลจะโตและลำต้นสูงเป็นอย่างมาก เพราะมีน้ำเพียงพอในการปลูก ทำให้ได้ผลผลิตเป็นอย่างมาก แต่หากเป็นหน้าร้อน ลำต้นจะมีขนาดเล็กและลำต้นเตี้ย จึงได้ผลผลิตจำนวนน้อย โดยต้นไหลจะปลูกในพื้นที่ที่สามารถดูแลได้ง่าย เช่น ปลูกในสวน ปลูกไว้ข้างบ้าน เป็นต้น เมื่อต้นไหลโตได้ปริมาณที่เหมาะสมในการทอ จึงตัดต้นแล้วนำมาฝานด้วยมีดให้เป็นแผ่นพอเหมาะ ซึ่งจำนวนที่ได้ในแต่ละต้น ขึ้นอยู่กับขนาดของลำต้น แล้วนำต้นกกที่ฝานแล้วไปตากแดดประมาณ 4 วัน เพื่อให้ต้นแห้ง เมื่อตากแดดแล้วก็จะนำไปย้อมใส่สีที่ต้องการ ในการย้อมจะมีสีหลักที่นิยม ได้แก่ สีเหลือง สีเขียว สีแดง และสีม่วง เพื่อทอออกมาเป็นลวดลายที่กำหนดไว้ จะใช้กี่และฟืมในการทอ โดยกลุ่มวิสาหกิจทอเสื่อกกของบ้านถลุงเหล็ก จะมีประมาณ 4 – 5 คน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมการพัฒนาชุมชน จังหวัดบุรีรัมย์ ในช่วงแรกจะเป็นการทอ เพื่อจำหน่ายในท้องถิ่น โดยทอเป็นเสื่อ ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับความละเอียดของงาน ลวดลายที่ใช้ และขนาดของเสื่อ เมื่อทอเสื่ออยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งก็หยุดลงประมาณ พ.ศ. 2561 เพราะขาดแหล่งจำหน่ายสินค้า จึงไม่มีกำลังใจในการทอเสื่อต่อไป แต่จะมีการทอเสื่อมอบเป็นของที่ระลึกแด่ญาติที่อยู่ห่างไกลและเดินทางมาทำบุญในหมู่บ้านช่วงเทศกาลสำคัญ
– บ้านหนองผักแว่น หมู่ที่ 5 นายพงษ์พันธ์ สุริพล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ในบ้านหนองผักแว่น มีการทอเสื่อกกเป็นรายครัวเรือน โดยส่วนใหญ่จะทอไว้ใช้ในชีวิตประจำวันและจำหน่ายในบางส่วน ซึ่งจะทอกันในช่วงที่เสร็จสิ้นจากการทำไร่ทำนา ซึ่งครัวเรือนที่มีการทอเสื่อกกนั้นมีน้อย และลดลงเรื่อย ๆ เพราะว่าทอแล้วเมื่อไม่มีคนซื้อก็หยุดทำ
– บ้านพะไลพัฒนา หมู่ที่ 12 นายบุญช่วย ศรีไพร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 12 และคุณลลิตา ชัยฤทธิ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการทอผ้าและทอเสื่อกก บ้านพะไลพัฒนา ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ในบ้านพะไลพัฒนา มีชาวบ้านรวมกลุ่มกันประมาณ 23 – 25 คน สร้างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการทอเสื่อกก เพื่อให้ชาวบ้านมีอาชีพเสริมในการหารายได้ใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งคุณลลิตาได้มีการพัฒนาการแปรรูปเสื่อกกในการเพิ่มมูลค่าและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย โดยการไปเข้าร่วมการอบรมฯ และการนำผลิตภัณฑ์จากเสื่อกกเข้ารับมาตรฐานกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ส่งผลให้ในปัจจุบันมีการแปรรูปเสื่อกกเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น กระเป๋า รองเท้า หมวก กระติบข้าวเหนียว เป็นต้น โดยการจำหน่ายจะจำหน่ายในพื้นที่ ซึ่งมีแหล่งการจำหน่าย คือ ชุมชนสายยาว แต่เมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ – 2019 (COVID – 19) ทำให้การจำหน่ายสินค้าลดลงและไม่รู้จะนำไปจำหน่ายที่อื่นอย่างไร
ผลจากการสำรวจและสัมภาษณ์ข้อมูลจากทั้ง 3 หมู่บ้าน สะท้อนให้เห็นว่า อุปสรรคในการผลิตเสื่อกก นั่นคือ เมื่อผลิตแล้ว ไม่มีแหล่งจัดจำหน่ายให้กับผู้อื่น และไม่มีความรู้ในการแปรรูปเสื่อกกให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่น จึงต้องการการพัฒนาและส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง
ภาพการสำรวจและสัมภาษณ์บ้านถลุงเหล็ก หมู่ที่ 1
ภาพการสำรวจและสัมภาษณ์บ้านหนองผักแว่น หมู่ที่ 5
ภาพการสำรวจและสัมภาษณ์บ้านพะไลพัฒนา หมู่ที่ 12
วิดีทัศน์สรุปงาน เดือนมีนาคม พ.ศ. 2564