บทความประจำเดือนกรกฎาคม 2564

เรื่อง การอบรมให้ความรู้ต่อยอดผ้าภูอัคนี ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์

          บ้านเจริญสุข   เมืองภูเขาไฟ ในอดีตกาลนั้นบุรีรัมย์เป็นพื้นที่ภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เป็นพื้นที่ภูเขาไฟลูกสำคัญคือ เขาอังคาร อันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านเจริญสุข ที่นี่จึงมีกิจกรรมที่โดดเด่น จากการนำทรัพยากรของชุมชนมาต่อยอดให้เป็นกิจกรรม และสินค้าชุมชนที่มีความเป็นเอกลักษณ์ นั่นก็คือการนำดินภูเขาไฟที่อุดมด้วยแร่ธาตุมาทำเป็นสีย้อมเส้นฝ้าย ผสมผสานกับภูมิปัญญาการทอผ้า เกิดเป็นสินค้าเลื่องชื่อในปัจจุบันคือ “ผ้าภูอัคนี”

ประวัติความเป็นมาของผ้าฝ้ายย้อมดินภูเขาไฟ“ผ้าภูอัคนี”

          ภูมิปัญญาท้องถิ่นผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติจากดินภูเขาไฟหรือผ้าภูอัคนี ภูมิปัญญาการทอผ้าด้วยดินภูเขาไฟเกิดจากภูมิปัญญาของคุณยายสมศรี ถุนนอก ซึ่งเป็นผู้ที่ค้นพบการนำดินภูเขาไฟเขาพระอังคาร ที่ดับสนิทแล้วมาย้อมเส้นไหมและฝ้ายเพื่อทอไว้ใช้ในครัวเรือนและเป็นของฝากแก่ผู้มาเยี่ยมเยือน เริ่มต้นจากคุณยายสมศรี ถุนนอก เดินทางไปเก็บเห็ดที่ป่าเขาพระอังคารเจอดินที่ภูเขาลูกหนึ่งบริเวณเทือกเขาพระอังคาร ชาวบ้านเรียกเขาลูกนั้นว่าเขาดินแดง ซึ่งดินบริเวณนั้นมีสีแดง คุณยายสมศรีสังเกตว่าดินที่เปื้อนเสื้อผ้าและตะกร้าที่ใส่เห็ดมีสีสวย น่าจะนำดินมาย้อมเส้นไหมหรือเส้นฝ้าย คุณยายสมศรีจึงนำดินนั้นมาหมักย้อมเส้นไหมและทอเป็นผ้าพันคอเพื่อใช้เป็นของฝากของที่ระลึก และขายในพื้นที่และอำเภอใกล้เคียง เนื่องจากวัตถุดิบเส้นไหมมีราคาแพงทำให้ต้นทุนสูงทำให้ผ้าไหมบ้านเจริญสุขไม่สามารถแข่งขันสู้ผ้าไหมอำเภอนาโพธิ์หรืออำเภอพุทไธสงได้ สมาชิกกลุ่มทอผ้าบ้านเฉลิมสุขโดยการนำของคุณยายสมศรี ได้คิดค้นที่จะนำเส้นฝ้ายมาย้อมสีและทอ เนื่องจากต้นทุนถูกกว่าเส้นไหมขายง่าย แต่พอนำฝ้ายมามัดย้อมด้วยดินจากภูเขาพระอังคารแล้วสีของผ้าซีดจางเร็ว คุณยายสมศรีจึงคิดหาวิธีที่จะทำให้สีไม่ซีดจางเร็วด้วยการนำเปลือกประดู่มาต้มกับเส้นฝ้ายเพื่อเป็นการเคลือบสีของเส้นฝ้ายที่หมักย้อมด้วยดิน เพราะคุณสมบัติของต้นประดู่เป็นไม้ที่มียางติดเส้นผ้าแล้วไม่สามารถซักออกได้น้ำประดู่จึงสามารถเคลือบสีของเส้นฝ้ายได้ ทำให้ผ้าภูอัคนีมีสีสวยงามเป็นธรรมชาติและไม่ซีดจางเร็ว จากลักษณะของภูเขาพระอังคารซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดเขาพระอังคารนั้นมีลักษณะรูปร่างเหมือนพญาครุฑนอนคว่ำหน้า ถ้ามองจากมุมสูง เชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เนื่องจากประวัติลายแทงธาตุพนมเชื่อได้ว่ามีการนำพระอังคารธาตุของพระพุทธเจ้าไปบรรจุไว้ที่ไหล่ข้างซ้ายของพญาครุฑ จากลักษณะพื้นที่ผนวกกับความเชื่อของชาวตำบลเจริญสุขนำสู่ผืนผ้าทอมือที่ประณีต เนื้อผ้านุ่มสวยงาม สวมใส่สบาย เสริมบุคลิกให้โดดเด่น เป็นมงคลชีวิตกับผู้สวมใส่ เป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า จากพื้นดินถิ่นภูเขาไฟ สู่ผืนผ้าที่มาของภูอัคนี ผ้าเอกลักษณ์พื้นถิ่น ผ้าฝ้ายย้อมดินภูเขาไฟ

ปัจจุบันผ้าฝ้ายย้อมดินภูเขาไฟ หรือ ผ้าภูอัคนี ได้ผ่านการรับรองจากกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า มีแห่งเดียวในจังหวัดบุรีรัมย์ และยังได้รับเลือกให้เป็น หมู่บ้าน OVC หรือ OTOP Village Champion ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย อีกด้วย โดยทางกลุ่มได้มีการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ เหมาะสำหรับนำไปใช้และเป็นของฝาก ซึ่งลูกค้าจะมีทั้งนักท่องเที่ยว ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป

ภาพ:คณะทำงานได้ไปสำรวจดินบนภูเขาไฟ ซึ่งชื่อว่าเขาดินแดง เพื่อเก็บดินมาใช้ในการย้อมผ้าฝ้าย

          นอกจากนี้ทีมงาน จากคณะทำงานโครงการ U2T โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ในกลุ่มตำบลเจริญสุข ได้มีการจัดอบรมในหัวข้อ การแปรรูปผลิตภัณฑ์และการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากผ้าภูอัคนี เมื่อวันที่  19-20 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมานี้ โดยมีท่านอาจารย์ ดร.จารุณี ชัยโชติอนันต์ เป็นวิทยากรในการอบรมให้กับกลุ่มผู้ทอผ้าภูอัคนี ในการออกแบบลวดลายผ้า โดยอยากให้มีลวดลายที่หลากหลาย แปลกใหม่ไปจากเดิม โดยมีการใช้คอมพิวเตอร์ในการออกแบบลวดลาย การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มา ใช้ในการออกแบบ เพื่อให้ผ้าภูอัคนีมีความแปลกใหม่และเป็นเอกลักษณ์ของตำบลเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น และคนทุกกลุ่ม ทุกวัย

         นอกจากนี้กลุ่มอาชีพสตรีทอผ้าไหม–ผ้าฝ้าย ในหมู่บ้าน เจริญสุข ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัด บุรีรัมย์ ยังเปิดโอกาสให้กับนักท่องเที่ยวหรือบุคคลที่ สนใจสามารถเข้าไปเยี่ยมชมเกี่ยวกับวิถีชีวิตและขั้นตอน ในการรังสรรค์สิ่งมหัศจรย์ของการทำผ้าทออัคนี หรือ ผ้าย้อมดินภูเขาไฟในทุกขั้นตอน เพื่อสืบสานวัฒนธรรม และการอนุรักษ์เรื่องราวที่มีคุณค่าอีกอย่างหนึ่งของไทย ให้คงอยู่และยั่งยืนสืบต่อไป

ที่มา :https://www.komchadluek.net/news/agricultural/407581

 

อื่นๆ

เมนู