บทความรายงานผลการปฏิบัติงานประจำเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๔

เขียนโดย : นายณัฐพงศ์  กองเนตร ( บัณฑิตจบใหม่ )   เจ้าหน้าที่ตำบลเจริญสุข

อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์

ในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ

มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

เรื่อง ใบเสมาพันปี (วัดเขาพระอังคารบุรีรัมย์)

วัดเขาพระอังคาร เป็นสำนักสงฆ์และแหล่งท่องเที่ยวทางพุทธสถาน ตั้งอยู่ในเขตหมู่ 1 บ้านเจริญสุข ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยตัววัดนั้นตั้งอยู่บนภูเขาเตี้ยๆ เป็นภูเขาไฟที่มอดดับสนิทแล้ว (นั่นทำให้รู้ว่าไม่ได้มีแค่ภูเขาไฟมอดดับสนิทอันเป็นที่ตั้งปราสาทพนมรุ้งเพียงภูเขาเดียว) ส่วนพระอุโบสถก่อสร้างขึ้นใหม่ มีลักษณะสถาปัตยกรรมร่วมสมัยผสมผสานกันระหว่างพุทธศิลป์กับศิลปะเขมร มีพระพุทธรูปประดับรอบซุ้มมณฑปยอดเจดีย์ ลดหลั่นลงมา กึ่งกลางทำเป็นซุ้มเรือนแก้วประดับพระพุทธรูปปางมารวิชัย ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระอังคารธาตุ ด้านนอกมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยรอบอุโบสถ 108 องค์ รอยพระพุทธบาทจำลอง พระนอนขนาดใหญ่ 1 องค์

วัตถุธรรมที่น่าสนใจ เห็นจะเป็นใบเสมาที่ตั้งอยู่รอบอุโบสถ ตามข้อมูลวัด เป็นใบเสมาหินบะซอลล์สมัยทวารวดี พบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย มีทั้งสลักภาพบุคคล สถูป ดอกบัว และธรรมจักร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 13 – 14 เป็นหลักฐานว่าที่นี่เคยเป็นพุทธสถานมาแต่โบราณ

“บนยอดเขาอังคารพบใบเสมาสลักด้วยหินภูเขาไฟ จำนวน 15 แผ่น มีความสูงตั้งแต่ 1.08 – 2.10 เมตร ใบเสมาที่พบส่วนใหญ่สลักภาพทิพยบุคคลในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในท่าประทับยืนแบบตริภังค์ ทรงภูษาสั้น มีชายพกด้านขวา ภาพสลักส่วนใหญ่พระพักตร์กะเทาะหลุดหายจึงมีการปั้นปูนประดับขึ้นใหม่ แต่ยังคงมองเห็นภาพสลักที่เป็นของเดิมอยู่ ทิพยบุคคลบางภาพถือดอกบัวไว้ในพระหัตถ์ บางภาพมีเครื่องสูงประกอบได้แก่ ฉัตร พัดโบกและแส้ นอกจากนี้ใบเสมาบางแผ่นอีกด้านหนึ่งยังมีภาพสลักรูปดอกบัว สถูป และธรรมจักรอีกด้วย

ภาพสลักที่พบเป็นงานศิลปกรรมแบบพื้นถิ่นผสมผสานกับศิลปกรรมเขมรโบราณแบบไพรกเมง กำหนดอายุจากรูปแบบศิลปะได้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 – 16 หรือเมื่อประมาณ 1,200 ปีมาแล้ว

เขาอังคารเป็นภูเขาเพียงลูกเดียวในจังหวัดบุรีรัมย์ที่พบใบเสมา ซึ่งมีภาพสลักที่งดงาม ใบเสมาทั้งหมดสลักด้วยหินภูเขาไฟมีจำนวนมากถึง 15 แผ่น ทั้งหมดล้วนมีอายุเก่าแก่ก่อนการสร้างปราสาทเขาพนมรุ้ง เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในบริเวณนี้มาช้านาน ก่อนที่ศาสนาฮินดูจะได้รับความสำคัญและสร้างปราสาทเขาพนมรุ้งเป็นศูนย์กลางของชุมชนแถบนี้ในสมัยต่อมา”

ประวัติความเป็นมาของใบเสมา

ใบเสมา หรือ สีมา เป็นประติมากรรมหินสลัก ซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์หรือเพื่อแสดงขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เนื่องในพุทธศาสนา จากการศึกษาพบว่ามีการสร้างอย่างแพร่หลายมาก  ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยช่วงพุทธศตวรรษที่  ๑๒-๑๖  ซึ่งเป็นยุคที่วัฒนธรรมทวารวดีเจริญรุ่งเรื่องขึ้น  การปักใบเสมาดังกล่าวอาจสืบเนื่องมาจากระบบคติความเชื่อ สันนิษฐานว่าอาจจะเกี่ยวกับ

-คติที่สืบทอดมาจากประเพณีการปักหินตั้ง (Megaliths) โดยเชื่อเรื่องการนับถือผีบรรพบุรุษของชนพื้นเมืองในเอเชียอาคเนย์

-คติการสร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนา เพื่อเป็นหลักเขตกำหนดบริเวณศักดิ์สิทธิ์ หรือสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา

-เป็นตัวแทนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับเคารพบูชา  ทำหน้าที่คล้ายสถูปเจดีย์หรือพระพุทธรูปเพื่อให้ผู้คนได้กราบไหว้บูชา

ลักษณะการปักใบเสมา

-ปักหลักเดียว เพื่อแสดงเขตหรือตำแหน่งของบริเวณพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

-ปักเป็นกลุ่ม พบว่ามีการปักล้อมรอบเนินดินหรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์โดยไม่มีการกำหนดทิศทางแน่นอน

-ปักประจำทิศ มีตั้งแต่การปัก ๔ ทิศ ๘ ทิศ ไปจนถึง ๑๖ ทิศ โดยปักล้อมรอบเนินดินหรือสิ่งก่อสร้างทางศาสนา เพื่อแสดงเขตของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น เจดีย์ พระธาตุ อุโบสถ พบว่ามีทั้งการปักใบเสมาเดี่ยว ปักเสมาคู่ หรือปักซ้อนกัน ๓ ใบ

รูปแบบและการประดับตกแต่งลวดลาย

ใบเสมาที่พบในวัฒนธรรมทวารวดีทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีลักษณะเป็นแท่งหินขนาดใหญ่ อาจเป็นลักษณะแท่งหินธรรมชาติ หรือแผ่นหินที่ไม่มีการโกลนให้เป็นรูปร่าง แบบแผ่นหิน (Slab Type) ที่มีการถากโกลนให้เป็นแผ่น หรือแบบแท่งเสา (Pillar Type) ที่มีการถากโกลนให้เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม มีการตกแต่งลวดลายโดยการแกะสลักลงบนใบเสมา ลวดลายที่พบมาก เช่น

-แบบเรียบ

-แกะสลักรูปสันนูนทรงสามเหลี่ยมคล้ายสถูปบริเวณกึ่งกลางใบ สถูปเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า

-แกะสลักเป็นหม้อน้ำศักดิ์สิทธิ์ (หม้อปูรณฆฏะ) มีลักษณะเป็นภาชนะทรงกลม บางครั้งมีพวย หรือมีการประดับลายพรรณพฤกษาเรียงต่อเนื่องขึ้นเป็นรูปกรวยยอดแหลมหรือสันสถูป หม้อน้ำนี้เป็นสัญลักษณ์มงคลตามความเชื่อของอินเดียโบราณ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์

-แกะสลักเป็นภาพเล่าเรื่องทางพุทธศาสนา เช่น พุทธประวัติ และชาดกตอนสำคัญ

-แกะสลักเป็นธรรมจักร พบทั้งที่สลักบริเวณกึ่งกลางใบและสลักบริเวณสันขอบของใบเสมา ธรรมจักรเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาที่แสดงว่าพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่มายังดินแดนแห่งนี้แล้ว

 

แหล่งอ้างอิง

เว็บไซต์ สยามรัฐ

จาก https://siamrath.co.th/n/159108

เว็บไซต์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น

จาก https://www.finearts.go.th/khonkaenmuseum/view/10031-ประวัติความเป็นมาของใบเสมา

สืบค้นเมื่อ 8 ธันวาคม 2564

อื่นๆ

เมนู