ED01 บทความที่ 1 ประจำเดือนกุมภาพันธ์
สวัสดีค่ะ ดิฉันชื่อ นางสาวทองธญา นามมูล เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ โดยได้รับผิดชอบพื้นที่ตำบลถลุงเหล็ก อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ และได้รับมอบหมายให้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลตามแบบสอบถามข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือนและชุมชน (แบบฟอร์ม 01) และแบบสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคโควิด-19 (แบบฟอร์ม 02) ในหมู่บ้านสำโรง หมู่ 4 ตำบลถลุงเหล็ก อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 09.00-16.00 น. ดิฉันได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลหมู่บ้านสำโรง หมู่ 4 ตำบลถลุงเหล็ก อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่บ้านสำโรง นายไพศาล ศิลากุล ที่ประชาสัมพันธ์ชาวบ้านมาประชุมที่ศาลาประชาคมเพื่อรับฟังคำชี้แจงสำหรับการกรอกแบบสอบถามข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือนและชุมชน กับแบบสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคโควิด 19
ชาวบ้านสำโรงทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการรับฟังและกรอกแบบสอบถาม ซึ่งดิฉันพบว่าแบบสอบถามที่นำมาให้ชาวบ้านกรอกนั้นข้อมูลที่ให้กรอกมีความซ้ำซ้อน ไม่รัดกุม ใช้คำถามวกวน ชาวบ้านอ่านแล้วยากต่อการเข้าใจ และตัวหนังสือตัวเล็กเกินไปเพราะชาวบ้านส่วนมากเป็นผู้สูงวัย มองไม่ชัด ดิฉันจึงแก้ปัญหาโดยการอ่านให้ฟัง และเป็นผู้สัมภาษณ์กรอกแบบสอบถามเอง ซึ่งการเก็บข้อมูลในครั้งนี้เก็บข้อมูลได้เพียง 50% เท่านั้น ยังมีหลายครัวเรือนที่ไม่ได้เข้ามาร่วมประชุม
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 ดิฉันลงเก็บข้อมูลโดยเดินสำรวจตามหมู่บ้านครัวเรือนที่ยังไม่ทำแบบสอบถาม ซึ่งได้สังเกตหมู่บ้านแห่งนี้ว่าเป็นหมู่บ้านที่สะอาด ไม่มีขยะ หรือน้ำเน่าเสีย บริเวณหน้าบ้านหรือหลังบ้านของแต่ละครัวเรือนจะปลูกผักสวนครัวไว้กินเองแทบจะทุกหลังซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมาก ๆ สุนัขหมู่บ้านนี้ก็ไม่เห่าหรือดุอะไรเลยอาจเป็นเพราะดิฉันสวยก็ได้ค่ะ ชาวบ้านที่อยู่บ้านและให้การสัมภาษณ์เพื่อกรอกแบบสอบถามส่วนมากเป็นคนชราอายุ 60 ปีขึ้นไป ดิฉันต้องใช้เสียงพูดที่ดังมาก จนบางทีก็กลัวคุณตา คุณยายตกใจเหมือนกัน แต่ทุกคนที่ให้สัมภาษณ์ต่างให้ความร่วมมือตอบแบบสอบถามดีมาก ๆ เลยค่ะ เป็นกันเอง ยิ้มแย้มแจ่มใส บางครัวเรือนไม่อยู่บ้านท่านก็อาสาเดินไปตามมาให้ตอบแบบสอบถามน่ารักกกกที่สุด
การเก็บข้อมูลแบบสอบถามข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือนและชุมชน (แบบฟอร์ม 01) และแบบสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคโควิด-19 (แบบฟอร์ม 02) ใช้ระยะเวลาในการเก็บรวบรวมข้อมูล 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 – 10 กุมภาพันธ์ ซึ่งบ้านสำโรง หมู่ 4 มีทั้งหมด 64 หลังคาเรือน แต่มีคนอาศัยอยู่จริง จำนวน 50 หลังคาเรือน บ้านที่ไม่มีคนอยู่ ส่วนมากจะไปทำงานที่ต่างจังหวัด
จากการสำรวจพื้นที่และสัมภาษณ์ พบว่าชาวบ้านในชุมชนทำอาชีพส่วนใหญ่ 70% เป็นเกษตรกร เช่น ทํานา ทำไร่อ้อย ปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ อีก30% ทำอาชีพอื่น ๆ เช่น ค้าขายและรับจ้างทั่วไป ดังนั้น อาชีพเกษตรกรรมจึงเป็นอาชีพหลักและรองลงมา คือรับจ้างทั่วไปและค้าขาย ส่วนปัญหาที่พบในหมู่บ้านสำโรงหมู่ 4 มากที่สุดคือ ปัญหาความยากจน หนี้สินมากกว่ารายรับ และต้องการที่จะหารายได้เพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตและครอบครัว ซึ่งปัญหาดังกล่าวเหล่านี้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการนำไปพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาในลำดับถัดไป