ชื่อบทความ : การลงพื้นที่ปฏิบัติงานเก็บข้อมูลแบบสอบถามข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน(๐๑) และแบบสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคโควิด-๑๙ (๐๒) ตำบลยายแย้มวัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
ชื่อเจ้าของบทความ : นายนฤเบศร์ หินไชยศรี บัณทิตจบใหม่
ข้อมูลทั่วไป
ตำบลยายแย้มวัฒนามีทั้งหมดจำนวน ๑๖ หมู่บ้าน ในสมัยก่อนขึ้นกับตำบลถาวร ตำบลถาวรขึ้นกับตำบลตาเป๊ก ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอนางรอง เมื่อจัดตั้งตำบลถาวรขึ้นตำบลยายแย้มวัฒนาซึ่งสังกัดอยู่ในตำบลถาวรได้ย้ายมาอยู่ในเขตอำเภอละหานทราย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ ต่อมาได้แยกตำบลยายแย้มวัฒนาออกจากตำบลถาวร โดยมีกำนันบุญมา พรหมลี และกำนันเรียง แก่นจัด เป็นผู้นำ ตำบลยายแย้มวัฒนา ได้แยกออกจากอำเภอละหานทราย เป็นอำเภอเฉลิมพระเกียรติ เมื่อประกาศเป็นอำเภอเฉลิมพระเกียรติในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ในวโรกาสครบรอบ ๕๐ ปี
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มสลับกับเนินลักษณะคล้ายลูกระนาด มีลำห้วยปะเทียไหลผ่านและมีอ่างเก็บน้ำ ๒ แห่ง
ลักษณะภูมิอากาศ
ตำบลยายแย้มวัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น เดือนที่หนาวที่สุดมีอุณหภูมิต่ำกว่า ๒๐ องศาเซลเซียส ฤดูร้อนอากาศร้อนมาก ฤดูฝน ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล
ลักษณะของดิน
พื้นที่ดินส่วนใหญ่ของเทศบาลตำบลยายแย้มวัฒนา เป็นดินร่วนสีดำมีแร่ธาตุสูง ที่เกิดจากภูเขาไฟ เป็นพื้นที่ที่ล้อมรอบด้วยภูเขาหลายลูกด้วยกัน เช่นภูเขาพนมรุ้ง ภูเขาปลายบัด และ ภูเขาอังคาร ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว แต่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของดิน ไว้ซึ่งแร่ธาตุทางดินเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชทางเศรษฐกิจ
ลักษณะของแหล่งน้ำ
พื้นที่เทศบาลตำบลยายแย้มวัฒนา มีแหล่งน้ำที่เกิดจากธรรมชาติหลายแห่ง อันเกิดจากน้ำที่ไหลจากภูเขาปรายบัด และภูเขาพนมรุ้ง ในฤดูฝนนานนับหลายปี จนกลายเป็นแหล่งน้ำ เป็น คลองน้ำ สามารถกักเก็บน้ำไว้อุปโภค และ เพื่อการเกษตร การประมง เช่น คลองปูน คลองยายแอว คลองหมาหิว อ่างเก็บน้ำบ้านเขาดิน ห้วยลำปะเทียไหลผ่าน อ่างเก็บน้ำชลประทาน
ลักษณะของไม้และป่าไม้
ลักษณะเป็นป่าเบญพรรณ มีไม้หลากหลายชนิด ปัจจุบัน มีการบุกรุกป่าจนกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม เทศบาลตำบลยายแย้มวัฒนา ได้มีการฟื้นฟู อนุรักษ์ป่าไม้พันธุ์ไม้ในพื้นที่ป่าสาธารณประโยชน์ให้คงอยู่ โดยการปลูกป่าทดแทน
การลงพื้นที่สำรวจข้อมูล
ในส่วนของการลงพิ้นที่ปฏิบัติงาน ได้มีการแบ่งพื้นที่ในการเก็บข้อมูลออกเป็น ๔ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ ๑ รับผิดชอบ หมู่ที่ ๓,๕,๙ และ ๑๒ กลุ่มที่ ๒ รับผิดชอบ หมู่ที่ ๒,๖,๗ และ ๑๓ กลุ่มที่ ๓ รับผิดชอบ หมู่ที่ ๔,๘,๑๐ และ ๑๕ กลุ่มที่ ๔ รับผิดชอบ หมู่ที่ ๑,๑๑,๑๔ และ ๑๖ เริ่มการลงพิ้นที่ปฏิบัติงานเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔
การลงพื้นที่เป็นไปได้ด้วยดีเพราะได้รับการช่วยเหลือจากผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้านในการประชาสัมพันธ์ให้ลูกบ้านได้ทราบก่อนว่าจะมีคณะนักศึกษามาทำการเก็บข้อมูลในหมู่บ้าน และชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดีในการให้ข้อมูลต่าง ๆ อาชีพส่วนใหญ่ของคนในชุมชนคือเกษตรกร ทำนา เลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู และไก่ มีการทำไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง และมีการค้าขายเป็นอาชีพเสริม การทอผ้าไหม ทอเสื่อกก และได้ทราบถึงปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่เช่น ขยะไม่มีที่ทิ้ง ทำให้มีชาวบ้านบางส่วน นำไปทิ้งในเขตป่าชุมชน บางส่วนต้องนำไปเผาเป็นสาเหตุเกิดปัญหาควันพิษ ปัญหาขาดแคลนน้ำใช้และน้ำปะปาไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็นและสีขุ่น