ข้าพเจ้านางสาวจิระนันต์ ผลชู ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ปฏิบัติงานประจำตำบลยายแย้มวัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ตามโครงการการยกเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 มหาวิทยาลัย 1 ตำบล (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ)
ในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม ทางทีมงานและคณาจารย์ประจำตำบลยายแย้มวัฒนา ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมขึ้น ซึ่งก่อนเริ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ ทีมงานได้มีมาตรการป้องกันcovid 19 โดยมีการวัดอุณหภูมิ ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เว้นระยะห่าง และสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดในการทำกิจกรรมทุกกิจกรรม และมีกิจกรรมทั้งหมดดังนี้
การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หน้ากากป้องกันโควิดด้วยผ้าภูอัคนี เป็นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ในชุมชน ซึ่งจะต่อยอดจากกิจกรรมการพัฒนารูปแบบสินค้าจากผลิตภัณฑ์สิ่งทอชุมชนยายแย้มวัฒนา (ผ้าฝ้ายภูอัคนี) นอกจากจะพัฒนาผ้าฝ้ายภูอัคนีให้เป็นกระเป๋าที่มีหลากหลายรูปแบบ ใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่าแล้ว ในยุคโควิดแบบนี้ หน้ากากอนามัยจึงจำเป็นที่ต้องใช้ในชีวิตประจำอย่างยิ่ง เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้การซื้อหน้ากากอนามัย และลดขยะอันตราย ทางทีมงานและกลุ่มแม่บ้านตำบลยายแย้มวัฒนาได้ลงความคิดเห็นกันว่าจะผลิตหน้ากากผ้าที่มี 3 ชั้น สามารถป้องกันฝุ่น และเชื้อไวรัสได้ จากนั้นทางทีมงานจึงได้รับเกียรติจาก อาจารย์ผจงจิต เหมพนม และอาจารย์อมรรัตน์ สุขจิตต์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ที่ได้ช่วยในการการออกแบบและสอนวิธีการผลิตตลอดจนเกิดเป็นรูปร่างของหน้ากากผ้าที่ใช้ได้จริง มีความเข้ากับรูปทรงของหน้า ใส่ง่ายหายใจสะดวก มีความทนทาน มีสีสันที่หลากหลาย สามารถเลือกได้ตามใจชอบ หน้ากากผ้าจากตำบลยายแย้มวัฒนาจึงเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่คนให้ความสนใจอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้ทันยุคสมัย สามารถเลือกซื้อหรือชมสินค้าที่ได้เพจfacebook/Shopee/Lazada หรือเข้าชมสินค้าจริงได้ที่หมู่ที่ 5 บ้านโนนเจริญ ตำบลยายแย้มวัฒนา
การออกแบบและพัฒนาโรงเรียนผู้สูงอายุเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและห่างไกลจากโควิดของผู้สูงอายุ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบในการส่งเสริมการเรียนรู้ การศึกษา การพัฒนาทักษะ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เสริมสร้างสุขภาพที่ดีของผู้สูงอายุทั้งด้านร่างกาย ทำให้มีสุขภาพแข็งแรง กระฉับกระเฉง ลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย ลดระยะเวลาการพึ่งพาผู้อื่น ด้านจิตใจ ช่วยให้คลายเหงา จิตใจกระชุ่มกระชวย สดชื่น รู้สึกภาคภูมิใจและตระหนักในคุณค่า ความสามารถของตนเอง มีมุมมองเชิงบวกต่อตนเอง และด้านสังคม มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนวัยเดียวกันและคนต่างวัย รู้เท่าทันและเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น สามารถปรับตัวและดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสมตามวัย เรียนรู้ทักษะทางด้านอาชีพ สามารถนำไปประกอบอาชีพสร้างงาน สร้างรายได้ ช่วยเหลือตนเองต่อไป ทีมงานได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เตชภณ ทองเติม สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ในกิจกรรมครั้งนี้โดยการถ่ายทอดภูมิความรู้ประสบการณ์ และสัดส่วนเนื้อหาที่ควรมีในโรงเรียนผู้สูงอายุ แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เนื้อหาที่ผู้สูงอายุต้องรู้ 50% ควรรู้ 30% อยากรู้ 20% ซึ่งเป็นพื้นที่การเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้ดำรงสืบทอดเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน เพื่อสืบสานภูมิปัญญาให้คงคุณค่าคู่กับชุมชน โรงเรียนผู้สูงอายุสามารถมีรูปแบบและกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ ความต้องการของผู้สูงอายุ การจัดกิจกรรมของโรงเรียนผู้สูงอายุ จะกำหนดตารางกิจกรรมในแต่ละสัปดาห์ไว้ชัดเจน ระยะเวลาเปิดเรียนอาจเป็นตลอดปีหรือเปิดเป็นช่วงเวลาตามหลักสูตรที่อบรม ส่วนใหญ่จะจัดกิจกรรมสัปดาห์ละ 1 วัน ซึ่งผู้สูงอายุในตำบลยายแย้มวัฒนาให้ความสนใจกันเป็นอย่างมาก
การส่งเสริมสุขภาพและการออกกำลังกายด้วยผ้าภูอัคนีและสุขภาพที่แข็งแรงห่างไกลโควิด การออกกำลังกายด้วยผ้าภูอัคนี เป็นการออกกำลังกายโดยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สามารถทำได้เองที่บ้านในทุกวัน โดยใช้อุปกรณ์เพียงอย่างเดียว คือ ผ้า ที่จะมาช่วยเพิ่มมุมข้อต่อในการเคลื่อนที่และเคลื่อนไหวได้มากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงและอดทน การเคลื่อนไหวในชีวิตประจำเกิดความคล่องตัวมากขึ้น สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย ช่วยให้นอนหลับสบาย ลดความเคลียด มีความสุขมากขึ้น ป้องกันโรคเบาหวาน ป้องกันโรคหัวใจ มีสมาธิดีขึ้น รูปร่างได้สัดส่วน เสริมสร้างสมรรถภาพทางกายได้หลายด้าน เช่น ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กระดูกและเอ็น หัวใจและปอดแข็งแรงทำให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานดีขึ้นส่งผลให้ร่างกายแข็งแรงกระฉับกระเฉง ผ่อนคลายความเครียดได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ การออกกำลังกายเป็นประจำจะทำให้สมองปลอดโปร่ง และอารมณ์แจ่มใสอยู่เสมอทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้นด้วย ลดความเครียดให้น้อยลง ช่วยสร้างภาวะสมดุลของร่างกาย ช่วยทำให้เจริญอาหาร ระบบการย่อยอาหารและการขับถ่ายก็ทำงานได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยทำให้นอนหลับง่ายและหลับสนิทดีด้วย ช่วยสร้างวินัย เสริมสร้างคุณค่าและความมั่นใจให้ตนเอง โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวรัตนา ปรุรัตน์ เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้การออกลังกาย และแนะนำวิธีการออกลังกายที่ถูกต้องเหมาะสมกับวัย โดยท่าที่ใช้ออกกำลังกายด้วยผ้าภูอัคนี มีทั้งหมด 10 ท่า ได้แก่
- ก้มเงย
- บิดข้อมือ
- พับข้อศอก
- ยกไหล่
- กางแขนบิดตัว (ซ้าย-ขวา)
- กางแขนเอียงข้าง (ซ้าย-ขวา)
- ยกเหยียด
- กางแขนก้มแตะสลับ
- ชูผ้า ย้ำเท้า (สลับเท้าซ้าย-ขวา)
- ชูผ้าตีเข่าตรง (สลับซ้าย-ขวา)
การบริหารจัดการขยะ ในกิจกรรมนี้จัดขึ้น ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลยายแย้มวัฒนา ร่วมกับท่านนายกเทศมนตรี ปลัดตำบล ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 16 หมู่บ้าน และทีมงาน u2t คณาจารย์ประจำตำบลยายแย้มวัฒนา โดยมีนางประเนียร รุ่งโรจน์ ประธานอสม.ชุมชนบุลำดวนใต้ และประธานศูนย์การเรียนรู้ชุมชนปลอดขยะ Zero Waste เป็นวิทยากร เล่าประสบการณ์ และถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปขยะให้กลายเป็นของใช้ ที่เกิดประโยชน์แบบที่คาดไม่ถึง เพื่อเป็นแนวทางให้การพัฒนาชุมชนตำบลยายแย้มวัฒนาต่อไป
การออกแบบและพัฒนาธนาคารขยะตามบริบทของชุมชน เป็นการก่อตั้งโดยคนในชุมชน ซึ่งประธานและกรรมการจะเป็นคนที่ชาวบ้านตกลงกันเอง เป็นการซื้อ-ขายขยะภายในชุมชน มีกระบวนการคล้ายกับธนาคารทั่วไป โดยให้ผู้ฝากนำขยะรีไซเคิลหรือของเก่ามาให้ธนาคารแทนเงินสด หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะคิดคำนวณตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการได้ทำการตกลงไว้กับร้านรับซื้อของเก่า จากนั้นก็แลกเปลี่ยนเป็นเงินเข้าบัญชีของผู้ฝาก ส่วนขยะที่ธนาคารรับฝากมาก็จะทำการคัดแยกและรวบรวมไว้ขายให้กับซาเล้งหรือร้านรับซื้อของเก่าต่อไป เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนคัดแยกขยะที่ต้นทาง ลดปริมาณขยะมูลฝอยที่จะต้องนำไปฝังกลบ หรือทิ้งขยะไม่เป็นที่ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่ ลดงบประมาณเพื่อการจัดการขยะมูลฝอยและการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลมาจากขยะมีพิษ และสิ่งปฏิกูลต่างๆ ชุมชนมีการบริหารจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยใช้หลัก การ 3Rs คือ ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่
การส่งเสริมกิจกรรมจิตอาสาและการทำความดีเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชน เกิดจากการร่วมมือของทีมงาน u2t ตำบลยายแย้มวัฒนาและทีมงานเทศบาลตำบลยายแย้มวัฒนา ร่วมกันวางแผนงาน ขั้นตอน สิ่งที่ต้องทำ และอุปกรณที่ต้องเตรียม ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลยายแย้มวัฒนาในหัวข้อครัวเรือนต้นแบบการจัดการขยะในครัวเรือน และได้ดำเนินการลงพื้นที่ 2 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 8 และ หมู่ที่ 13 บ้านต้นแบบจะเป็นบ้านผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วย โดยแบ่งทีมเป็น 4 ทีม หมู่บ้านละ 2 ทีม 1 ทีม ต่อ บ้าน 1 หลัง เริ่มจากทำที่คัดแยกขยะ เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีตาม แบ่งเป็นถังขยะสำหรับขยะทั่วไป เป็นขยะที่มักจะย่อยสลายไม่ได้ หรือย่อยสลายยากแต่ไม่เป็นพิษและไม่คุ้มค่าต่อการรีไซเคิล จำเป็นต้องหาวิธีกำจัดอย่างถูกวิธี เช่น ซองขนม กล่องโฟม ถุงพลาสติก ภาชนะปนเปื้อนอาหาร เป็นต้น ถังขยะรีไซเคิล ก็คือขยะที่เราทิ้งไปแล้วสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำอีกครั้งได้ ไม่ใช่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ขวดพลาสติก, ถุงพลาสติก, ขวดแก้ว, กระป๋อง, กล่องกระดาษ, กระดาษ ถังขยะสำหรับขยะอินทรีย์ ขยะเปียก คือ ขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว เช่น เศษอาหาร เปลือกผลไม้ เศษผัก เนื้อสัตว์ เศษใบไม้แห้ง นำไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ใส่ต้นไม้ แปลงผักสวนครัวได้ ขยะอันตราย คือ ขยะที่มีสารปนเปื้อนวัตถุอันตรายชนิดต่างๆ เช่น สารพิษ วัตถุติดเชื้อได้ วัตถุกัดกร่อน เช่น ถ่านไฟฉาย, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, ยาหมดอายุ, วัตถุไวไฟ, กระป๋องเสปรย์ ต้องเก็บในที่มีมิดชิดมีฝาปิด และต้องส่งไปกำจัด ทำรั่วหน้าบ้าน เป็นรั้วไม้ไผ่ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีจุดเด่นในเรื่องความเป็นธรรมชาติ ไม่ทึบตัน ทำให้มองเห็นผู้คนด้านนอกที่เดินผ่านไปมา ธนาคารใต้ดิน ใช้หลักการขุดบ่อเพื่อส่งน้ำไปเก็บไว้ที่ชั้นน้ำบาดาล ขนาดและความลึกของบ่อขึ้นอยู่กับสภาพ และชั้นดินของแต่ละพื้นที่ โดยมีขั้นตอนดังนี้ ขุดบ่อให้ลึกถึงชั้นหินอุ้มน้ำ จากนั้นใส่ยางรถยนต์เพื่อป้องกันขอบบ่อพังทลาย ใส่วัสดุที่หาได้ในพื้นที่ เช่นขวดน้ำ (ใส่น้ำ 1 ใน 3 ส่วน), ท่อนไม้ หรือเศษปูนให้เต็มช่องว่างด้านนอกยางรถยนต์ นำท่อ PVC มาวางตรงกลางบ่อเพื่อเป็นช่องระบายอากาศ นำวัสดุชนิดเดียวกับที่ใส่ช่องว่างด้านนอกมาเติมใส่ช่องว่างด้านในให้เต็ม คลุมด้วยผ้าไนล่อน แล้วทับด้วยก้อนหิน และตามด้วยหินละเอียดอีกที เพื่อเป็นตัวกรองให้เศษดิน หรือขยะไม่ให้เข้าไปอุดตันในบ่อ ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ เพราะช่วยให้น้ำซึมลงใต้ดินได้ดีขึ้น ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง เพราะสามารถสูบน้ำจากธนาคารน้ำใต้ดินใช้ได้ตลอดเวลา แก้ปัญหาน้ำสกปรก คอกปุ๋ยหมักเก็บเศษใบไม้ เป็นการนำไม้ไผ่มีถักสานรอบต้นไม้ ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินโดยจะเป็นแหล่งแร่ธาตุอาหารที่จะปลดปล่อยออกมาให้แก่ต้นพืชอย่างช้า ๆ และสม่ำเสมอ ให้ธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริม ที่มีประโยชน์ต่อพืช ทำให้คุณสมบัติของดินดีขึ้นโดยทำให้ดินอุ้มน้ำหรือดูดความชื้นไว้ให้พืชได้มากขึ้น ทำให้ดินมีการระบายน้ำและอากาศถ่ายเทได้ดี ช่วยลดการจับตัวเป็นแผ่นแข็งของหน้าดินทำให้การงอกของเมล็ดหรือการซึมของน้ำลงไปในดินสะดวกขึ้น ตลอดจนช่วยลดการไหลบ่าของน้ำเวลาฝนตก ช่วยรักษาสภาพแวดล้อมโดยเป็นการนำเศษวัสดุทางการเกษตรที่เหลือทิ้งแล้วกลับมาใช้เป็นประโยชน์ได้อีก ทำแปลงผักสวนครัว เป็นการใช้พื้นที่ส่วนที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์ ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อผักมาประกอบอาหารประจำวัน ส่งผลให้ครอบครัวได้รับประทานผักที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วนและปลอดภัยจากสารเคมี สุดท้ายเป็นการทำความสะอาดบริเวณรอบบ้าน เพื่อให้ดูสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย
ขอขอบคุณคณาจารย์ประจำตำบลยายแย้มวัฒนา คอยให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องต่าง ๆ ตลอดทั้งโครงการ ขอขอบคุณทีมงาน u2t ประจำตำบลยายแย้มวัฒนาทุกท่าน ร่วมมือกันจนสำเร็จโครงการ และขอขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการทุกที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี