ข้าพเจ้านางสาวจิระนันต์ ผลชู ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ปฏิบัติงานประจำตำบลยายแย้มวัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ตามโครงการการยกเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 มหาวิทยาลัย 1 ตำบล (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ)
ในเดือนพฤษภาคม ข้าพเจ้าและทีมงานได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูล ที่พัก/โรงแรมเป็นประเภทโฮมสเตย์ทั้งหมด มีสิ่งอำนวยความสะดวก ร้านอาหารในท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นอาหารตามสั่งและก๋วยเตี๋ยว อาหารที่น่าสนใจประจำถิ่น จะใช้วัตถุดิบจากถิ่นที่อยู่อาศัย เช่น ย่างปูนา แกงอ่องกบ ผัดเผ็ดกบนา เป็นต้น แหล่งน้ำในท้องถิ่นลักษณะโดยทั่วไปเป็นหนองน้ำ อุณหภูมิประมาณที่ 25-36 องศาเซลเซียส คุณภาพน้ำสามารถนำไปใช้ทางเกษตรและทำการประมงได้ ปลูกพืชผักสวนครัว ผลไม้ตามฤดูกาล มีการเลี้ยงสัตว์ทางเกษตรที่หลากหลายอย่าง เช่น หมู วัว ควาย ไก่ ปูนา กบนา หนูนา เป็นต้น ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การทอผ้าไหม ผ้าฝ้าย ทอเสื่อกก และเครื่องจักสาน เป็นต้น
ข้าพเจ้าและทีมงาน ได้สอบถามข้อมูลจากเกษตรกรผู้ที่ประกอบอาชีพเลี้ยงกบนา โดยผู้ประกอบการสนใจเลี้ยงกบนาและหนูนา เพราะเป็นอาชีพหนึ่งที่สามารถทำรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งในการเลี้ยงนั้นต้องมีความเข้าใจถึงวิธีการเลี้ยงที่ถูกต้องก่อน จึงจะทำให้ประสบความสำเร็จในการเลี้ยง สิ่งที่ควรคำนึงถึงก่อนการเลี้ยงกบ คือ ความพร้อมทั้งในด้านความรู้ในการเลี้ยงและการลงทุน มีการวางโปรแกรมการผลิตที่ดีเพื่อให้สามารถจำหน่ายในช่วงที่กบมีราคาและมีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด มีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่มีตลาดส่งออก พันธุ์กบที่เหมาะสมคือ กบนา ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้โตไวและมีสีเหลืองเป็นที่ต้องการของตลาด ใช้เวลา 3.5-4 เดือน ตั้งแต่ระยะฟัก ออกจากไข่จนถึงจับจำหน่าย ได้กบขนาด 6-7 ตัวต่อกิโลกรัม ผลผลิตจำหน่ายที่มีตั้งแต่ลูกอ๊อด ลูกกบ และกบตัวเต็มวัย/พ่อแม่พันธุ์ ลักษณะกบตัวผู้และตัวเมีย จะมีลักษณะที่แตกต่างกัน กบตัวผู้นั้นจะมีขนาดเล็กกว่า มีถุงสีดำใต้คาง สีบนตัวจะเหลืองกว่า ส่วนกบตัวเมียที่ไข่แก่ท้องจะโป่งนูนชัดเจน
สถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงกบคือ สะดวกต่อการดูแล อยู่ใกล้แหล่งน้ำที่มีคุณภาพดี เพียงพอต่อการเลี้ยง เป็นพื้นที่สูงหรือที่ดินเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม ห่างไกลจากแหล่งชุมชนหรือบริเวณที่มีเสียงรบกวน และสะดวกในการจับ
อาหารที่ใช้ในการเลี้ยงกบนา เป็นสูตรที่คิดค้นขึ้นเอง สามารถเลี้ยงได้ทั้งกบนาและหนูนา เพื่อลดต้นทุนการผลิต
ขอขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้มอบความรู้ให้กับข้าพเจ้าและทีมงาน และผู้นำชุมชนที่อำนวยความสะดวกเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูลต่างๆ