โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1ตำบล 1 มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ)
ข้าพเจ้านางสาวปนัดดา ผาสุขใจ
ประเภท กพร.
หลักสูตร ED05 คณะครุศาสตร์
ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ดำเนินงาน ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์
เรื่อง ความเชื่อของคนในชุมชนตำบลเจริญสุข
จากการที่ได้สอบถามนายสมบูรณ์ เกลาเกลี้ยง ปราชญ์ชาวบ้านถึงความเป็นมาของความเชื่อ ศาลตาปู่ และ เสาหลักบ้าน ทราบว่า ความเชื่อเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ และถือว่าเป็นวัฒนธรรมของมนุษย์อย่างหนึ่ง การดำรงชีวิตของมนุษย์ในสมัยโบราณที่มีความเจริญทางด้านวิชาการน้อยความเชื่อจึงเกิดจากการเกิดขึ้น และการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่มนุษย์เชื่อว่าเป็นการบันดาลให้เกิดขึ้นจากอำนาจของเทวดา พระเจ้า หรือภูตผีปีศาจ ดังนั้นเมื่อเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ขึ้น เช่น ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด อุทกภัย และวาตภัย ต่างๆ ขึ้น ล้วนเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อชีวิตหรือความเป็นอยู่ของมนุษย์ ซึ่งยากที่จะป้องกันหรือแก้ไขได้ด้วยตัวเอง บางอย่างเป็นเหตุการณ์ที่อำนวยประโยชน์ แต่บางเหตุการณ์ก็เป็นอันตรายต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ มนุษย์จึงพยายามที่จะคิดหาวิธีการที่จะก่อให้เกิดผลในทางที่ดี และเกิดความสุขให้กับตนเอง เพื่อกระทำต่อสิ่งที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติเหล่านั้น ทำให้เกิดเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นพิธีกรรม หรือศาสนาเกิดขึ้น
ศาลตาปู่ ชาวบ้านเรียกตาปู่ ตาปู่เจ้าบ้าน หรือชาวอีสานเรียกปู่ตา ที่สิงสถิตของตาปู่คือศาล เรียกว่าศาลตาปู่ มักตั้งอยู่ที่ดอน ที่เนินซึ่งเป็นทางเข้าหมู่บ้าน ที่มีต้นไม้ใหญ่ ภายในศาลมีรูปปั้น ช้าง ม้า ตุ๊กตาคน ชายหญิง อาวุธ ทำด้วยไม้ เช่นมีด ดาบ หอก
พิธีเลี้ยงตาปู่ มีความสำคัญเพราะชาวบ้านเชื่อว่า ตาปู่เป็นผู้คุ้มครองภยันตรายทุกด้านแก่ลูกหลานชาวบ้าน ชาวบ้านจะเคารพตาปู่อย่างจริงใจ เด็ก ๆ จะไม่ไปวิ่งเล่นใกล้ศาลตาปู่ เพราะเกรงว่าตาปู่จะรำคาญ แล้วบันดาลให้เจ็บไข้ได้ เมื่อเดินทางออกจากหมู่บ้านถ้าผ่านศาลตาปู่ทุกคนจะยกมือไหว้ แล้วอธิษฐานบอกกล่าวดัง ๆ ว่า “ ตาปู่เอย ป๊กปั๊ก รักษา คุ่มครองลูกหลานเด้อ (ตาปู่เอย ปกปักรักษา คุ้มครองลูกหลานนะ)”
เสาหลักบ้าน หมายถึง บริเวณกึ่งกลางของหมู่บ้าน ธรรมเนียมการฝังหลักบ้านที่เรียกกันว่า “บือบ้าน” มีคติความเชื่อเดียวกันกับการฝังหลักเมืองคือการสร้างสัญลักษณ์อันเชื่อกันว่าเป็นที่สถิตของผีผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติเพื่อให้ปกป้องคุ้มครองคนในบ้านเมือง จะมีการทำบุญทุกปี คือบุญเบิกบ้าน
ช่วงประกอบพิธีกรรมบุญเบิกบ้าน ระหว่างเดือน 7 ของทุกปี การทำบุญตักบาตรในหมู่บ้านและมีการขึงด้ายไปทั่วทุกหลังคาเรือน โดยนิมนต์ 4-9 รูปมาเจริญพุทธมนต์ แล้วมีพิธีผูกข้อต่อแขนซึ่งกันและกันของคนในหมู่บ้านที่ได้ฝ้ายจากการทำพิธีและมีการน้ำกรวดทรายหรือหินไปหว่านรอบๆหมู่บ้านหรือหลังคาบ้าน เพราะเชื่อว่าเป็นการกันผีหรือสิ่งจัญไรเข้าหมู่บ้าน
ประเพณีการเลี้ยงผีปู่ตาและประเพณีบุญเบิกบ้าน เป็นประเพณีความเชื่อของคนอีสานที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น หรือเรียกว่า “สังคมแบบประเพณี” ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากความเชื่อในเรื่องจิตวิญญานที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามประเพณีทั้งสองนี้ก็เริ่มจางหายไปอันเป็นจากการพัฒนาและการเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ จึงทำให้ ประเพณี ความเชื่อ และ ความศักดิ์สิทธิ์ ต้องเผชิญกับความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยใหม่
บทสรุป ความเชื่อของชุมชนล้วนเกิดมาจากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ส่งผลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ ซึ่งให้ทั้งคุณและโทษ คนในชุมชนจะมีความเชื่อที่ใช้ปฏิบัติสืบทอดต่อๆ กันมา สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องงมงายไร้สาระแต่อย่างใด กลับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่กลั่นกรองขึ้นจากประสบการณ์อันยาวนานที่เคยประสบเกี่ยวกับความเชื่อนั้นๆว่าควรต้องทำอย่างไรจึงจะดี จึงจะเหมาะสม การอ้างอิงถึงสิ่งศักดิ์สิทธิและผีสาง ก็เป็นเพียงกุศโลบาย ของคนเก่าคนแก่เพื่อใช้โน้มน้าวให้คนรุ่นต่อๆไปเชื่อกันนั่นเอง จึงกล่าวได้ว่า ความเชื่อเหล่านี้ ล้วนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตของชุมชนได้อย่างมีความสุข
อ้างอิง
ศิลปวัฒนธรรม. (2560) บุญเบิกบ้าน. สื่บค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2564. https://www.silpa-mag.com/culture/.
ประเพณีไทยดอทคอม. (2552) ศาลตาปู่. สื่บค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2564. http://www.prapayneethai.com/.