ED05 ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
บทความประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔
ข้าพเจ้า นางสาวมุกรินทร์ อาจอาสา ประเภท บัณฑิต กพร.
ED05 ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล แบบบูรณาการ ๑ มหาวิทยาลัย ๑ ตำบล “มหาวิทยาลัย สู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ”
เกษตรผสมผสาน ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
การลงพื้นที่ของข้าพเจ้าในครั้งนี้ เป็นการลงพื้นที่ผ่านโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมแบบบูรณนาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และการลงพื้นที่ครั้งนี้ผู้ปฏิบัติงานได้รับมอบหมายให้ลงพื้นที่หมู่ที่ 12 บ้านเจริญสุข ชุมชนบ้านเจริญสุขตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบริเวณเชิงเขาพระอังคาร มีทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ลักษณะดินเป็นดินลาวาที่เกิดจากภูเขาไฟ มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรกรรมทุกชนิด ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ และการทอผ้า เป็นต้น
การทำเกษตรยุคปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในการทำเกษตรที่ยั่งยืนและได้ผลดี สามารถใช้ได้กับทุกพื้นที่คือการทำ เกษตรผสมผสาน ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ มีการแบ่งพื้นที่เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเริ่มจากจัดการดินและน้ำให้เพียงพอ ปลูกพืช ไม้ยืนต้น เลี้ยงสัตว์ เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ดี ปลูกป่าไว้ใช้เป็นพลังงาน อนุรักษ์พันธุกรรมพืชเพื่อสร้างความหลากหลาย ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ มีกิน มีอยู่ มีใช้ในพื้นที่ของตัวเอง
เกษตรผสมผสาน คือ ระบบการเกษตรที่มีการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ มีสัตว์หลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน โดยที่กิจกรรมการผลิตแต่ละชนิดจะต้องสามารถเกื้อกูลประโยชน์ต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ภายในไร่นาอย่างเหมาะสมเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความสมดุลของสภาพแวดล้อม และเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ โดยการทำการเกษตรหลากหลาย กิจกรรมนั่นต้องทำในพื้นที่และระยะเวลาเดียวกัน เกิดความหลากหลายของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ที่มีปฏิสัมพันธ์ในทางเกื้อกูลซึ่งกันและกันของกิจกรรมการผลิต โดยเฉพาะการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในไร่นา เช่น ดิน น้ำ แสงแดด และอากาศอย่างเหมาะสม เกิดความสมดุลของสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
คุณหงวนเปลี่ยนที่ดินจากนาข้าวเดิมเป็นสวนเกษตรผสมผสาน แบ่งพื้นที่เป็นสวนปลูกผัก และพื้นที่เก็บน้ำนอกจากใช้เพื่อรดน้ำต้นไม้ในสวนแล้วยังสามารถเลี้ยงปลาเป็นผลพลอยได้จากบ่อน้ำที่ขุดไว้ไม่ให้สูญเปล่า ปลาที่เลี้ยงจะเป็นปลาเบญจพรรณซึ่งกินเศษพืชผักเป็นอาหาร ได้แก่ ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาสวาย เป็นต้น ทำให้ทุ่นค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารปลาและปล่อยให้ปลาหากินเองในน้ำได้ บ่อน้ำที่ขุดไว้ทำให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี ภายในบ่อยังเลี้ยงปลาหลายชนิด เน้นกลุ่มกลากินพืชเพื่อลดต้นทุนและยังจับขายสร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย

การแบ่งพื้นที่เพื่อเลี้ยงกบ เป็นระบบนิเวศแบบปิด เป็นรูปแบบที่นิยมเลี้ยงกันมากที่สุด โดยบ่อที่นิยมจะมาขนาด 3 x 4 เมตร หรือใหญ่กว่า สะดวกในการเปลี่ยนถ่ายน้ำ ทำความสะอาดบ่อ ควบคุมโรครวมถึงการจับแบบทยอยจับได้ บ่อส่วนใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีพื้นที่ที่เป็นพื้นบกสำหรับกบอาศัยอย่างน้อย 70% ของบ่อ ที่เหลือเป็นพื้นน้ำโดยทั่วไปแล้วบ่อเลี้ยงกบจะเป็นบ่อเอนกประสงค์ คือ ใช้ตั้งแต่ผสมพันธุ์ อนุบาลลูกอ๊อด อนุบาลลูกกบ จนถึงเลี้ยงกบขุนหรือกบเนื้อ

  • บ่อเลี้ยงกบ มักเป็นบ่อซีเมนต์ มีหลายรูปแบบ เช่น ปูกระเบื้อง ทาสีเหลือง มีหลายขนาด เช่น 3×4 , 3.2×4 , 4×4 , 4×5 , 4×6 เมตร สูง 1.2 เมตร ขึ้นกับความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

บ่อเลี้ยงจะมีการเทคานและใช้อิฐบล็อค 4 – 6 ก้อนก่อเป็นผนัง พื้นบ่อมีการเทปูนหนาพอสมควรเพื่อป้องกันน้ำรั่วซึม ด้านในของบ่อทั้ง 4 ด้าน จะฉาบผิวสูงประมาณ 30- 50 เซนติเมตร

  • บ่อกบควรตั้งอยู่กลางแจ้ง มีแสลนกรองแสงทำเป็นหลังคาและกันแดด รวมทั้งมีตาข่ายกันนกหรือศัตรูที่จะเข้ามาจับกินกบ
  • มีการวางระบบน้ำ โดยเดินท่อพีวีซีไปยังทุกบ่อ เพื่อเติมน้ำในขณะที่เปลี่ยนน้ำออกจากบ่อ

การแบ่งพื้นที่เลี้ยงเป็ดในระบบปิด การเลี้ยงเป็ดเนื้อให้มีคุณภาพดีนอกจากจะใช้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงแล้ว เกษตรกรควรต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิตควบคู่กันไปด้วย ซึ่งในปัจจุบันจะมีวัตถุดิบตามธรรมชาติหลายชนิดที่มีโภชนาการอาหารสูงสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมอาหารสำหรับใช้เลี้ยงเป็ดขุนเนื้อได้ทดแทนการใช้อาหารสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียวเพื่อการลดต้นทุน อีกทั้งเป็ดยังช่วยให้เป็ดโตเร็วได้น้ำหนักดี

ขั้นตอนการเตรียมอาหารสำหรับเลี้ยงเป็ด :

– นำต้นกล้วยอ่อนหรือแก่จัดก็ได้(4 ส่วน)มาสับหรือหั่นเป็นชิ้นบางๆตามแนวขวางแล้วนำไปตำด้วยครกให้ละเอียดใส่เตรียมไว้ในภาชนะผสมอาหาร

– นำรำข้าว(รวม) และกากปาล์ม อย่างละ 1 ส่วน ใส่ลงไปผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันกับต้นกล้วยที่ตำละเอียดแล้ว ก่อนนำไปให้เป็ดกินวันละ 2 มื้อ ช่วงเช้าและเย็น ซึ่งอาหารสูตรดังกล่าวจะช่วยเลี้ยงเป็ดให้โตไว สามารถเพิ่มน้ำหนักเป็ดได้เฉลี่ย 1 กิโลกรัม/ตัว/เดือน โดยไม่ต้องใช้อาหารสำเร็จรูปแต่อย่างใด

ซึ่งต้นกล้วยที่นำมาใช้เป็นอาหารของเป็ดนั้น คุณหงวนจะปลูกต้นกล้วยไว้รอบๆบ้าน และรอบๆบ่อน้ำ เมื่อถึงเวลาให้อาหารก็จะไปตัดมาผสมกับรำข้าว แต่เมื่อต้นกล้วยออกเครือกล้วย ก็สามารถนำเครือกล้วยไปขายเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตัวเองอีกทางหนึ่ง

ปัจจุบันการทำการเกษตรแบบผสมผสานเป็นที่สนใจเป็นอย่างมาก เพราะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโดยลดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของรายได้ เนื่องจากมีความหลากหลายในกิจกรรมการผลิต ทั้งปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ทำให้รายได้ครัวเรือนมาจากหลายกิจกรรมและสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ ค่าใช้จ่ายลดลง รวมทั้งลดการพึ่งพิงปัจจัยการผลิตภายนอก ทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้

จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ข้าพเจ้าต้องขอขอบคุณคุณหงวน ที่ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรแบบใหม่ หรือเกษตรแบบผสมผสานให้กับข้าพเจ้าและทีมงาน และขอขอบพระคุณทางมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์เป็นอย่างยิ่งค่ะที่มีโครงการดีๆแบบนี้ ขอขอบพระคุณมากๆค่ะ

อื่นๆ

เมนู