เขียนโดย นายพีรพัฒน์ แสมรัมย์ กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ หลักสูตร ED 05 คณะครุศาสตร์ โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
เสื่อ หรือ ภาษาอีสานเรียกว่าสาด เป็นหัตถกรรมที่เกิดจากภูมิปัญญาที่สืบทอดมาครั้นบรรพบุรุษ โดยนำเอา”ต้นกก” หรือชาวอีสานเรียกว่า “ต้นผือ” การทอเสื่อกก เป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น ที่นำเอาต้นกกที่มีในท้องถิ่นมาแปรสภาพให้เป็นเส้น ย้อมสี แล้วสานทอให้เป็นแผ่นผืน เพื่อนำมาใช้สอยในครอบครัว เช่น ปู รองนั่ง หรือนอน ตลอดจนทำพิธีกรรมทางศาสนา และความเชื่อ เช่น ขึ้นบ้านใหม่ งานบุญ งานแต่ง เป็นต้น ถือได้ว่าเสื่อกกนั้นเป็นปัจจัยจำเป็นอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิต อีกทั้งการทอเสื่อกกยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ของคนในท้องถิ่น หรือต่างถิ่น หรือ แม้กระทั่งมีการจำหน่ายเสื่อกกในรูปแบบลวดลายต่าง ๆ ในชุมชนใกล้เคียงอีกด้วย โดยปัจจุบันเสื่อกกพัฒนารูปแบบการใช้สอยตามยุคสมัย สามารถนำมาทอแล้วนำมาแปรูปเป็นวัสดุใช้สอยได้หลายอย่าง เช่น ที่รองแก้ว เบาะรองนั่ง กระเป๋า ตระกร้า กล่องทิซชู่ หมวก เป็นต้น
เสื่อจากต้นไหล
การลงพื้นที่สำรวจทางโครงการได้เล็งเห็นความสำคัญการพัฒนาส่งเสริมอาชีพในตำบลเจริญสุข จึงได้เชิญวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบลวดลาย และรูปแบบผลิตภัณฑ์เข้ามาอบรมประชาชนในพื้นที่ทั้ง 14 หมู่บ้านในการพัฒนารูปแบบเสื่อกก – ไหล เพื่อให้ผลิตภัณฑ์จากเสื่อกก-ไหลเป็นที่ต้องการของตลาด มีลวดลายที่สวยงาม หลากหลาย และมีความทันสมัย เข้าถึงกลุ่มต่างๆมากขึ้น
จากการลงพื้นที่ติดตามงานการทอเสื่อกก หมู่ 6 บ้านพูนสุข ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ และได้สัมภาษณ์กลุ่มแม่บ้านทอเสื่อ คือ นางละม่อม วิโสรัมย์ และนางสายยนต์ บุตรไทย เกี่ยวกับการทำเสื่อของชุมชนนี้ ส่วนใหญ่จะมีการทอเสื่อ ในช่วงฤดูหลังจากเก็บเกี่ยวข้าว หรือช่วงก่อนข้าวตั้งท้อง เพื่อใช้สอยในครัวเรือนของตนเอง หรือให้ญาติพี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียง ปัจจุบันมีการปลูกต้นไหลเพื่อใช้ทอแทนต้นกก เนื่องจากต้นกกในพื้นที่หายาก มีการขยายพันธ์ที่รวดเร็ว อีกทั้งต้นไหลดูแลง่ายจนอาจจะเรียกว่าปลูกแล้วไม่ต้องดูแลเลยก็ว่าได้
ต้นไหล
ขั้นตอนการทอเสื่อจากต้นไหล มีดังนี้
ขั้นตอนที่ 1. ตัดต้นไหลสด
- คัดเลือกต้นไหลที่มีขนาดเท่ากันไว้ด้วยกัน
- นำต้นไหลที่คัดแล้วมาสอยเป็นเส้นเล็กโดยใช้มีดปลายแหลมคม(มีดแกะสลัก)
- นำเส้นไหลที่สอยแล้วมาผึ่งแดด ให้แห้ง(ถ้าเป็นไปได้ต้องเป็นแดดที่กล้าจัด)
- นำเส้นไหลสอยที่ตากแห้งแล้วมากมัดเป็นมัด ๆ รอการย้อมสี
ตัดต้นไหล
นำต้นไหลที่คัดแล้วมาสอยเป็นเส้นเล็กโดยใช้มีดปลายแหลม
นำต้นไหลที่คัดเลือกแล้วมาตากแดด
ต้นไหลที่ตากแห้งแล้ว เก็บไว้เป็นมัด
ขั้นตอนที่ 2 การย้อมสี
- เลือกซื้อสีสำหรับย้อมไหลสี่ต่าง ๆ ที่มีสีสันสวยงาม เช่น สีแดง สีชมพู สีเหลือง สีม่วง สีเขียว
- ก่อไฟโดยไฟที่ใช้ต้องสม่ำเสมอ
- นำปี๊บ หรือกระทะใส่น้ำพอประมาณท่วมเส้นไหลนำมาตั้งบนเตารอให้น้ำเดือด
- พอน้ำเดือดก็นำสีที่เลือกมาเทลง
- นำเส้นไหลที่คัดเลือกแล้วลงย้อมจนเพียงพอที่จะใช้ในการทอ
- นำเส้นไหลที่ย้อมสีแล้วลงล้างในน้ำเปล่าแล้วนำไปตากแดดที่จัดจนแห้ง
- นำเส้นไหลที่ย้อมสีตากแห้งแล้วมาเก็บมัดรวมกัน โดยแยกเป็นสี แต่ละสี
ขั้นตอนที่ 3 การทอเสื่อ
- กางโฮงที่ทำสำเร็จรูปแล้วมากาง (โฮงที่ใช้ขนาดทอคนเดียว)
- นำเชือกในลอนสำหรับทอเสื่อมาโยงใส่ฟืมจนเสร็จ
- ฟืมที่ใช้ต้องมีขนาดเท่ากับเส้นไหล และฟืมแต่ละฟืม อาจจะใช้ทอลายไม่เหมือนกัน
- นำเส้นไหลที่ย้อมสีตากจนแห้งแล้วนำมาทอเสื่อตามลายที่ต้องการ
- นำเส้นไหลที่สอย และย้อมสีแล้ว เลือกว่าจะใช้สีใดบ้างที่จะทอเสื่อ
- เลือกลายแล้วเริ่มทอจนเป็นแผ่น
- พอทอเสร็จก็ตัดแล้วหลังจากนั้นก็นำไปตากแดดเพื่อให้สีไม่ออก
- หลังจากนั้นก็นำมาเก็บในที่ร่ม
เตรียมโรงทอ
กระบวนการทอเสื่อ
กระบวนการทอเสื่อ
นำเสื่อที่ทอเสร็จมาตากแดดเพื่อไล่ความชื้น
เสื่อที่ตากเสร็จแล้ว นำเก็บไว้ในที่ร่มและแห้ง
จากกิจกรรมการส่งเสริมอาชีพการทอเสื่อกก-ไหลให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ทำให้กลุ่มแม่บ้านทอเสื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากสมัยก่อนเป็นเพียงการทอเพื่อใช้สอยในครัวเรือนเท่านั้น ปัจจุบันเสื่อกกพัฒนารูปแบบการใช้สอยตามยุคสมัย สามารถนำมาทอแล้วนำมาแปรูปเป็นวัสดุใช้สอยได้หลายอย่าง เช่น ที่รองแก้ว เบาะรองนั่ง กระเป๋า ตระกร้า กล่องทิซชู่ หมวก เป็นต้น ซึ่งสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน หลังว่างเว้นจากการทำไร่ทำนาได้เป็นอย่างดี
อ้างอิง : https://sites.google.com/site/wovenmats/home/withi-kar-thx-seux
: https://www.77kaoded.com/news/surachet/742718