บทความประจำเดือนตุลาคม
โดย นางสาวชนัญชิดา ศิลอนันต์ เจ้าหน้าที่ตำบลเจริญสุข

อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์

เรื่อง การเลี้ยงไก่พื้นเมืองบ้านเจริญสุข

             ตำบลเจริญสุขเป็นตำบลเล็กๆ ตั้งอยู่ในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ มีทั้งหมด 14 หมู่บ้าน มีประชากร 1,510  หลังคาเรือนโดยประมาณ ส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือ ทำนา และมีอาชีพเสริมคือ ปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ สัตว์เลี้ยงที่นิยมเลี้ยงโดยทั่วไปคือ ไก่พื้นเมือง ทั้งใช้เป็นอาหารและการซื้อขายแลกเปลี่ยน
ไก่พื้นเมืองถูกจัดอยู่ในสัตว์ปีกจำพวกนก แต่เดิมนั้นเป็นไก่ป่า (Red Jungle fowl) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gallus gallus     มีหลายวงศ์ บินได้ในระยะสั้น หากินตามพื้นดิน ตกไข่ก่อนแล้วจึงฟักเป็นตัว ไก่พื้นเมืองของไทยมีการเลี้ยงกระจายอยู่ทั่วไปตามหมู่บ้านของเกษตรกร ซึ่งจำแนกตามลักษณะภายนอกและสีขน แบ่งออกได้เป็นหลายกลุ่ม (กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์)   

              ลักษณะและมาตรฐานไก่พื้นเมืองโดยทั่วไปจะสูงและเปรียวกว่าไก่พันธุ์เนื้อ ไก่เพศผู้หงอนใหญ่และเดือยยาวมีหลายสีแต่ส่วนใหญ่มีขนสีดำ ส่วนสร้อยคอจะมีสีแตกต่างกันไป ไก่เพศเมียส่วนใหญ่มีขนสีดำ หน้าดำและแข้งดำ  หงอนหิน  แต่จะมีพันธุ์บางส่วนที่มีสีเทา  สีทอง  และน้ำตาลอ่อนได้บ้าง เพศผู้จะเจริญเติบโตได้ดีกว่าเพศเมีย ไก่พื้นเมืองในชนบทหมู่บ้านต่างๆ  มีหลากหลายพันธุ์  เช่น  ไก่แจ้  ไก่อู ไก่ตะเภา  ไก่เบตง  และไก่ชน  โดยทั่วไปส่วนใหญ่แล้ว  ไก่พื้นเมืองในหมู่บ้านจะเป็นสายพันธุ์ไก่ชน เหตุที่นิยมเลี้ยงไก่พื้นเมืองสายพันธุ์ไก่ชน  เพราะว่าไก่ชนจะมีรูปร่างใหญ่และยาว  เจริญเติบโตได้ดีและแม่พันธุ์ก็ไข่ดก

             ไก่พื้นเมือง เป็นไก่ที่เลี้ยงง่าย มีความต้านทานโรคสูง หากผู้ที่เลี้ยงได้ทำการศึกษาถึงอุปนิสัยและวิธีการเลี้ยงไก่พื้นเมืองให้ถ่องแท้ การเลี้ยงไก่พื้นเมืองก็จะไม่ใช่เรื่องยาก เพราะหาอาหารกินเองได้ โดยเฉพาะแมลง ไก่พื้นเมืองก็กินได้ จึงทำให้สามารถปล่อยเลี้ยงแบบธรรมชาติได้ ในเรื่องของการตลาดนั้นผู้บริโภคยังมีความต้องการ เพราะเนื้อไก่พื้นเมืองมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เมื่อนำมาประกอบอาหารมีความอร่อย แต่เมื่อเทียบจำนวนผู้เลี้ยงเพื่อจำหน่ายแล้ว ยังถือว่ามีอยู่จำนวนน้อยและตลาดยังมีความต้องการ จึงทำให้ราคาจำหน่ายของไก่พื้นเมืองมีราคาที่ดีตามไปด้วย โดยที่การเลี้ยงไม่ได้ลงทุนอะไรมาก จึงทำให้การจำหน่าย     มีกำไรและสามารถมีรายได้ใช้จ่ายภายในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี (สุรเดช สดคมขำ.(2560).)         

             ในเรื่องของการเลี้ยงไก่พื้นเมืองให้เจริญเติบโต ไม่ได้มีวิธีหรือเตรียมการอะไรที่ซับซ้อน เพียงทำโรงเรือนนอนสำหรับหลบแดดหลบฝนแบบง่ายๆ เพราะส่วนใหญ่ไก่พื้นเมืองที่เลี้ยงจะเน้นปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ โดยที่เขาไม่ต้องไปดูแลจัดการหรือควบคุมการเลี้ยงใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งไก่พื้นเมืองเมื่อเลี้ยงจนโตเต็มที่ ตัวเมียจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 2 กิโลกรัมขึ้นไป ส่วนตัวผู้จะมีน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม โดยเมื่อทุกตัวเข้าสู่วัยผสมพันธุ์ได้ ก็จะปล่อยให้ไก่ผสมพันธุ์กันเอง ไม่ได้มีการจับคู่เหมือนกับการเลี้ยงแบบทำเป็นไก่ชนทั่วไป เพราะจะเน้นเป็นแบบจำหน่ายเป็นไก่เป็นให้กับลูกค้าที่จะมารับซื้อไปทำชำแหละเนื้อจำหน่ายเป็นไก่สดที่ตลาด  (สุรเดช สดคมขำ.(2560).)
การป้องกันโรคก็จะมีการทำวัคซีนให้บ้างในช่วงที่เป็นลูกไก่อยู่ พอไก่เจริญเติบโตมากขึ้นก็หมั่นดูบ้างว่ามีลักษณะอย่างไร ถ้าเหมือนจะเป็นช่วงที่มีโรคระบาด ก็จะหาซื้อยาปฏิชีวนะมาผสมกับน้ำให้ไก่กิน ก็จะช่วยป้องกันในเรื่องของโรคได้อยู่บ้าง เพราะบางทีโรคมามาก ถึงไก่จะเลี้ยงแบบนี้มีความแข็งแรงอยู่แล้ว แต่ก็ควรที่จะป้องกันไว้บ้าง  ในช่วงฤดูฝนจะต้องระวังอย่างมากทั้งฝน เชื้อโรคและสัตว์มีพิษ  (สุรเดช สดคมขำ.(2560).)

ไก่พื้นเมืองบ้านเจริญสุขโดยทั่วไปส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ไก่ชน เลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหารและในเชิงของการต่อสู้ ในแต่ละบ้านจะมีสายพันธุ์ไก่ชนประมาณ 5-15 ตัว เป็นการเลี้ยงแบบปล่อยหากินเองตามธรรมชาติหรืออาจมีการเลี้ยงโดยการใช้ข้าวเปลือกและข้าวสารเป็นอาหาร การดูแลจะไม่ยุ่งยากเมื่อเกิดการเจ็บป่วยหรือมีโรคระบาดก็จะใช้ยาปฏิชีวนะผสมกับน้ำให้ไก่กินและจับแยกไก่ตัวที่ป่วยออกจากไก่พื้นบ้านตัวอื่นๆ ประโยชน์ที่ได้จากการเลี้ยง คือ การใช้ทำเป็นอาหารและการซื้อขายเพื่อเป็นรายได้เสริมในครอบครัว ส่วนมูลไก่จะใช้เป็นปุ๋ยใส่ในนาข้าว แปลงผัก หรือไม้ดอกไม้ประดับ พืชยืนต้นต่างๆ และในการจับจำหน่ายตั้งแต่ไก่มีอายุ 6 เดือน หรือมีน้ำหนักตั้งแต่ 2 กิโลกรัมขึ้นไป ส่วนใหญ่จะมีผู้มารับซื้อหรือนำไปขายที่ตลาดรับซื้อในอำเภอนางรอง ราคากิโลกรัมละ 65-70 บาท ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของไก่
จากการศึกษา พบว่า การเลี้ยงไก่พื้นเมืองเป็นอาชีพที่อยู่กับชุมชนมาช้านาน เนื่องจากการลงทุนเพียงน้อยนิดหรือไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย ทำให้การเลี้ยงไก่พื้นเมืองเป็นอาชีพที่สามารถทำได้ทุกครัวเรือนรองจากอาชีพหลักซึ่งก็คือ การทำนา

                    อ้างอิง https://www.technologychaoban.com/livestock-technology/article_34928

http://breeding.dld.go.th/biodiversity/new%20elearning/native%20chicken.html

               

             

อื่นๆ

เมนู