บทความประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564
เขียนโดย : นางสาวกานดา ก้อนเสมา ( ภาคบันทิต) เจ้าหน้าที่ตำบลเจริญสุข
อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
ในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ
มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
เรื่อง ชาวนากับการทำเกษตรอินทรีย์
ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ คนในชุมชนส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรและการเกษตรกรรม เป็นอาชีพที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างช้านาน วิถีชีวิตของคนเพาะปลูกและทำอาชีพเกษตรกรจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเสริมสร้างสังคม วัฒนธรรม การกินอยู่ ความคิด ความเชื่อ ตลอดจนการแสดงออกต่าง ๆ ของคนในชุมชนตำบลเจริญสุข เกษตรกรส่วนใหญ่จะทำเกษตรอินทรีไร้สารเคมี
เกษตรอินทรีย์
คือการทำการเกษตรด้วยกรรมวิธีทางธรรมชาติ โดยที่พื้นที่ที่ทำเกษตรนั้น ต้องไม่มีสารพิษ หรือสารเคมีตกค้างและหลีกเลี่ยงจากการปนเปื้อนของสารเคมีทั้งทางดิน ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อความสมบูรณ์ทางชีวภาพในระบบนิเวศน์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามสมดุลของธรรมชาติให้มากที่สุด โดยไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ หรือสิ่งที่ได้มาจากการตัดต่อพันธุกรรม และมุ่งเน้นการใช้ปัจจัยการผลิตที่มีแผนการจัดการอย่างเป็นระบบในการผลิตภายใต้มาตรฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์ให้ได้ผลผลิตสูง อุดมด้วยคุณค่าทางอาหารและปลอดสารพิษ ทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิต และสามารถประยุกต์ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติเพื่อคุณภาพชีวิต และสนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
ทำไมต้องเกษตรอินทรีย์
จากการใช้ทรัพยากรดินทำการเกษตรโดยไม่คำนึงถึงผลเสียของ ปุ๋ยเคมีสังเคราะห์ ก่อให้เกิดความไม่สมดุลในแร่ธาตุและกายภาพของดินตามธรรมชาติ ทำให้สิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์ที่อาศัยอยู่ในดินนั้นสูญหาย และไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งการที่ธรรมชาติขาดสมดุลนี้ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ต่อกระบวนการเจริญเติบโตทางธรรมชาติ แต่เมื่อเกิดความไม่สมดุลขึ้นแล้ว จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างต่อเนื่อง ผืนดินสูญเสียความสามารถในการดูดซับแร่ธาตุในดิน ทำให้ผลผลิตมีแร่ธาตุ วิตามิน และพลังงานชีวิตต่ำ เป็นผลให้เกิดการขาดแคลนธาตุอาหารรองในพืช เป็นสาเหตที่ทำให้พืช ผลผลิตอ่อนแอ ขาดภูมิต้านทานโรค และทำให้เกิดการคุกคามของแมลง ศัตรูพืช และเชื้อโรคในพืช ซึ่งจะนำไปสู่การใช้สารเคมีฆ่าแมลงและเชื้อราเพิ่มขึ้น ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพในที่สุด และในดินที่เสื่อมคุณภาพนี้ จะทำปฏิกิริยาเร่งการเจริญเติบโตของศัตรูพืชให้เจริญเติบโตแข่งกับพืชเกษตร และนำไปสู่การใช้สารเคมีสังเคราะห์กำจัดแมลงและวัชพืช
หลักการผลิตพืชอินทรีย์
1. พื้นที่ที่จะทำการเกษตรนั้นต้องไม่เคยทำการเกษตรเคมีมาไม่น้อยกว่า 3 ปี
2. พื้นที่ควรมีลักษณะค่อนข้างดอนและโล่งแจ้ง
3. พื้นที่ต้องอยู่ห่างจากโรงงานอุตสาหกรรม
4. พื้นที่ควรอยู่ห่างจากแปลงที่ใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี
5. พื้นที่ห่างจากถนนหลวงหลัก
6. พื้นที่มีแหล่งน้ำที่ปลอดสารพิษ
จากการที่คนในตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้หันมาทำเกษตรอินทร์ซึ่งไร้สารเคมี ทำให้เกษตรกรในชุมชนได้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ใช้สารเคมี และราคาข้าวอินทรีย์มีราคาที่สูงกว่าข้าวที่ใส่สารเคมี ทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัว และยังส่งผลดีต่อสุขภาพของคนในชุมชนอีกด้วย
แหล่งอ้างอิง https://www.arda.or.th/knowledge_detail.php?id=17