เขียนโดย นางสาวเกศรินทร์ เหมือนพร้อม กลุ่มบัณฑิตจบใหม่เจ้าหน้าที่ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัยวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
“เมื่อพูดถึงกระเจี๊ยบ คุณนึกถึงอะไรบ้าง?”
แน่นอนว่าคำตอบที่ได้รับส่วนใหญ่จะเป็นน้ำกระเจี๊ยบ สมุนไพรพื้นบ้านที่มีรสชาติดีและสรรพคุณมากมาย หากได้ดื่มคู่กับน้ำแข็งในยามอากาศร้อนก็เย็นชื่นใจ แต่วันนี้ผู้เขียนจะนำพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ “กระเจี๊ยบ” ที่ไม่ใช่กระเจี๊ยบแบบที่เคยรู้จัก แม้จะเขียนด้วยตัวอักษรพยัญชนะและสระเหมือนกันแต่รูปร่างหน้าตาทางกายภาพของมันไม่เหมือนกันเลยแม้แต่นิดเดียว
ผู้เขียนได้เดินทางไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งในตำบลเจริญสุข พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีแปลงเกษตรสำหรับปลูกพืชผักสวนครัว ผลไม้และสมุนไพรกินได้อื่นๆของตนเอง บางบ้านมีพื้นที่กว้างก็แบ่งปลูกพืชหลากหลายตามความต้องการ ซึ่งผู้เขียนก็ไปสะดุดหู สะดุดตากับพืชชนิดหนึ่ง มีดอกสีเหลืองงดงาม แปลงเกษตรตัวอย่างของ คุณแม่อุไร ขันขวา กับพืชที่มีชื่อว่า กระเจี๊ยบ ผู้เขียนก็ชวนคุณแม่ซึ่งเป็นเจ้าของสวนคุยเกี่ยวกับต้นกระเจี๊ยบอย่างมั่นใจเพราะอยากทำความรู้จัก ด้วยว่าตัวผู้เขียนนั้นชอบดื่มน้ำกระเจี๊ยบมากอีกทั้งยังเป็นน้ำสมุนไพรชนิดเดียวที่สามารถทานได้ ก่อนจะถูกคุณแม่ก็เบรกบทสนทนาปนน้ำเสียงหัวเราะ พร้อมเฉลยว่าพืชสีเขียวต้นสูง ผลชี้ฟ้านี้ ไม่ใช่กระเจี๊ยบที่เอาไปทำเครื่องดื่มแต่เป็นผักที่เอาไว้ทานเป็นกับข้าว ผู้เขียนได้ฟังเช่นนั้นก็เขินอายเล็กน้อย แต่การสนทนาครั้งนี้ก็ช่วยปลดล็อคข้อสงสัยที่ว่า ต้นกระเจี๊ยบที่เป็นสีเขียวเหล่านี้ จะกลายเป็นสีแดงตอนไหน แล้วจากสีเขียวจะกลายเป็นสีแดงได้อย่างไร
ต้นกระเจี๊ยบ หนึ่งในพืชผักสวนครัวที่มักพบได้ในทุกบ้านทุกหลังคาเรือนของชาวบ้านตำบลเจริญสุข ที่ทำการเกษตร เพราะไม่เพียงแต่ให้คุณค่าทางสารอาหารอย่างวิตามินแต่ยังเป็นยาสมุนไพร ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าการทานผักสมุนไพรในทุกมื้ออาหารจะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง คุณแม่ปลูกไว้เป็นจำนวนมากในแปลงเกษตรของตนเอง เมื่อออกผลก็จะนำมาประกอบอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการต้ม ผัด แกง หรือทานสด เป็นต้น และนำส่วนที่เหลือไปส่งขายให้กับร้านค้าชุมชน ในราคากิโลกรัมละ ๑๐ บาท ไม่เพียงแต่กระเจี๊ยบเท่านั้นพืชผลชนิดอื่นๆ ก็สามารถนำมารวมกันเพื่อชั่งขายได้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของเกษตรกรชาวเจริญสุขในการพึ่งพาตัวเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
สำหรับข้อมูลเชิงวิชาการ กระเจี๊ยบเขียว ชื่อวิทยาศาสตร์ Abelmoschus esculentus (L.) Moench จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE) มีถิ่นกำเนิดในแถบแอฟริกาตะวันตก ในประเทศซูดาน และสันนิษฐานว่าน่าจะมีการนำเข้ามาในประเทศไทยหลังปี พ.ศ.2416 โดยจัดเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุประมาณ 1 ปี มีความสูงประมาณ 0.5-2.4 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านมีสีเขียว แต่บางครั้งก็มีจุดประม่วง ตามลำต้นจะมีขนอ่อนหยาบ ๆ ขึ้นปกคลุม เช่นเดียวกับใบและผล เจริญเติบโตได้ดีในอากาศกึ่งร้อน หรือที่อุณหภูมิระหว่าง 18-35 องศาเซลเซียส ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด ซึ่งในแต่ละภูมิภาคก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น กระต้าด (สมุทรปราการ), กระเจี๊ยบ กระเจี๊ยบมอญ มะเขือ มะเขือมอญ มะเขือทะวาย ทวาย (ภาคกลาง), มะเขือมอญ มะเขือพม่า มะเขือละโว้ มะเขือขื่น มะเขือมื่น (ภาคเหนือ), ถั่วเละ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) และบักเขียปอ ภาษาของชาวเจริญสุข เป็นต้น
ประโยชน์ของกระเจี๊ยบเขียวก็สามารถจำแนกได้ดังต่อไปนี้
- ช่วยลดน้ำตาลในเลือด เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน และคนที่กำลังควบคุมน้ำตาล-น้ำหนัก
- ลดอาการท้องผูก เพราะมีเมือกที่ช่วยให้อุจจาระอ่อนตัวขึ้น และยังมีใยอาหารที่ดีต่อการขับถ่าย
- ลดคอเลสเตอรอลในร่างกาย
- ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคกระเพาะอาหาร เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ และลำอักเสบได้
- ใครที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอยู่แล้ว การทานกระเจี๊ยบเขียวพร้อมเมือกเหนียวๆ ใสๆ จะช่วยเข้าไปเคลือบแผลในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
- ฝักกระเจี๊ยบต้มเกลืออ่อนๆ สามารถแก้อาการกรดไหลย้อนได้
- มีโฟเลตสูง ช่วยเสริมสร้างเม็ดเลือดแดง และเป็นสิ่งจำเป็นต่อพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ ดังนั้นจึงเหมาะกับหญิงมีครรภ์
นี่เป็นเพียงกระเจี๊ยบในมุมมองของผู้เขียนเท่านั้น ทุกท่านสามารถลิ้มลองรสชาติของผลกระเจี๊ยบได้เพราะมีขายตามท้องตลาด หรือจะปลูกไว้รับประทานเองก็ไม่ยากนักเพราะต้นกระเจี๊ยบนั้นปลูกง่ายไม่ต้องดูแลรดน้ำบ่อยครั้ง นอกจากคุณจะมีผักไว้รับประทานแล้วก็ยังมีสมุนไพรไว้ใกล้ตัวด้วย
หลังจากที่ได้พูดคุยกับคุณแม่อุไร ขันขวา ก่อนที่ผู้เขียนจะขอตัวกลับบ้าน คุณแม่ก็ยังมอบของที่ระลึกให้เป็นพืชผักสมุนไพรปลอดสารพิษในสวนและที่ขาดไม่ได้เลยก็คือมะเขียปอหรือกระเจี๊ยบ พืชที่เป็นจุดเริ่มต้นของบทสนาระหว่างคุณแม่กับผู้เขียนในครั้งนี้……
วิดีโอประจำเดือนตุลาคม
แหล่งอ้างอิง : medthai.com/กระเจี๊ยบเขียว. (วันที่ค้นข้อมูล: ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๔)
คุณอุไร ขันขวา (วันที่สัมภาษณ์ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๔)