“บุญผะเหวด” เป็นสำเนียงชาวอีสานที่มาจากคำว่า “บุญพระเวส”หรือ พระเวสสันดร เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บุญมหาชาติ เป็นประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติสืบมา มีขบวนแห่และการแสดงเรื่องราวประวัติของพระเวสสันดร ซึ่งอยู่ในกัณฑ์ที่ 13 ของเทศน์มหาชาติ

บุญผะเหวดนิยมจัดขึ้นในเดือนสี่ หรือเดือนมีนาคมของทุกปี  ที่ชาวอีสานถือว่าเป็นงานบุญสำคัญ ชาวบ้านจะจัดให้มีพิธีอย่างใหญ่โต งานบุญต่อเนื่องกัน 2-3 วัน  โดยมีคติความเชื่อมาจากเรื่อง พระมาลัยสูตร ว่า “พระมาลัยได้ขึ้นไปไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พบพระศรีอริยเมตไตรย พระองค์ได้ดำรัสสั่งกับพระมาลัยว่า ถ้ามนุษย์อยากพบพระองค์ จงอย่าได้ทำบาปหนัก  อนึ่งให้ฟังเทศน์เรื่องราวมหาเวสสันดรชาดกให้จบในวันเดียวกัน ฟังแล้วให้นำไปประพฤติปฏิบัติจะได้รับอานิสงส์มาก และจะได้พบพระศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรย เมื่อพระมาลัยกลับมาถึงโลกมนุษย์ จึงได้บอกเรื่องราวให้มนุษย์ทราบ ด้วยเหตุนี้ชาวอีสานผู้ปรารถนาจะพบศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย จึงพากันทำบุญพระเวสสันดรสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน”

อัตลักษณ์ (ที่โดดเด่น)
          งานประเพณีบุญผะเหวดเทศน์มหาชาติ เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ทุกหมู่บ้านมีการสืบทอดประเพณีบุญผะเหวดเทศน์มหาชาติเป็นประจำทุกปี โดยมีวันโฮมบุญก่อน พุทธศาสนิกชนมาช่วยกันจัดตกแต่งศาลา หรือสถานที่ที่จะทำบุญ จัดเตรียมเครื่องสักการะ ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก อย่างละพันก้อน มีการตั้งธงใหญ่ ไว้แปดทิศ และมีศาลเล็กๆ เป็นที่เก็บข้าวพันก้อนและเครื่องคาวหวาน สำหรับผี เปรต และมารรอบๆ ศาลาการเปรียญจะแขวน ผ้าผะเหวด วันต่อมาจะมีการแห่พระเวสสันดรชาดก โดยทำเป็นขบวนแห่ มีการประดับตกแต่งขบวนแห่แต่ละขบวนให้มีความสวยงามและเป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร

 

     

ชุมชนบ้านเจริญสุข ประกอบด้วยหมู่ 1 หมู่ 12 และหมู่ 14 ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ  จ.บุรีรัมย์ ได้จัดประเพณีบุญผะเหวดขึ้นครั้งแรก ในปีพ.ศ.2493  ในการจัดงานแต่ละปี จะเน้นทางด้านการสื่อสารทางวัฒนธรรม ความโดดเด่นของวิถีชุมชน  ได้แก่  การแสดงตำนานขบวนแห่  การแต่งกาย  การจัดสถานที่ พิธีกรรม การเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ โดยจะมีวันรวม ตามภาษาอีสาน เรียกว่า ธูปเทียน วันโฮมบุญ พุทธศาสนิกชนมาช่วยกันจัดตกแต่งศาลา หรือสถานที่ที่จะทำบุญ จัดเตรียมเครื่องสักการะ ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก อย่างละพันก้อน มีการตั้งธงใหญ่ ไว้แปดทิศ และมีศาลเล็กๆ เป็นที่เก็บข้าวพันก้อนและเครื่องคาวหวาน สำหรับผี เปรต และมารรอบๆ ศาลาการเปรียญจะแขวนผ้าผะเหวด เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดรตั้งแต่กัณฑ์ที่หนึ่ง ถึงกัณฑ์สุดท้าย

ความสำคัญและคุณค่าทางสังคมและทางจิตใจที่มีในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน นั้นๆ
          งานประเพณีบุญผะเหวดเทศน์มหาชาติ เป็นประเพณีการบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่ คืองานมหากุศล ให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือ ความดีที่ยิ่งใหญ่ อันมีการสละความเห็นแก่ตัว ของพระเวสสันดร เพื่อประโยชน์สุขของมนุษยชาติ มีการฟังเทศน์มหาชาติตั้งแต่กัณฑ์แรก ถึงกัณฑ์สุดท้าย โดยเชื่อว่าถ้าฟังเทศน์มหาชาติครบทุกกัณฑ์ภายในวันเดียวจะทำให้ไปเกิดในภพพระอริยเมตไตรย์ การได้รับรู้ถึงความเสียสละของพระเวสสันดร ทำให้ผู้คนได้ซาบซึ้งถึงความดีอันยิ่งใหญ่ เกิดความซาบซึ้งในพระพุทธศาสนา มีผลต่อจิตใจของผู้คนให้ยึดถือเป็นแบบอย่างที่ดีในการประพฤติปฏิบัติ เป็นวิถีการดำเนินชีวิตที่ดีงามของผู้คน จนทำให้มีการสืบทอด สืบสานประเพณีบุญผะเหวดเทศน์มหาชาติกันทุกหมู่บ้าน จากรุ่นสู่รุ่น การจัดงานประเพณีจึงมีคุณค่าทางสังคมเพราะประเพณีทางศาสนาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในสังคม เป็นศูนย์รวมของชาวพุทธทุกคนที่ประพฤติปฏิบัติแบบเดียวกันในวันดังกล่าว

ตำบลเจริญสุขได้ตระหนักถึงความสำคัญของกิจกรรมทางด้านศาสนา วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น จึงได้จัดทำประเพณีบุญผะเหวดขึ้น เพื่อบำรุงส่งเสริมประเพณีพื้นบ้านเพื่อให้อนุชนรุ่นหลัง ได้ตระหนักถึงคุณค่า ของสิ่งที่ดีงามของชาวไทย  สืบไป

อ้างอิง

ประเพณีบุญผะเหวดเทศน์มหาชาติ//(2564).//บุญผะเหวด//สืบค้นเมื่อ10 ตุลาคม ๒๕๖๔,/จาก.https://www.m-culture.go.th/sisaket/ewt_news.php?nid=799&filename=index

 

อื่นๆ

เมนู