เขียนโดย : นางสาวยมาภรณ์ เอมโอช ( ภาคนักศึกษา )
เจ้าหน้าที่ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
ในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์
เรื่อง : พืชพรรณการเกษตรทำเงิน
ด้วยพื้นที่ของประเทศไทยมีความเหมาะสมในด้านการเกษตรจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “พืช” คือสิ่งที่ทำให้คนไทยมีอาหารเลี้ยงปากท้องและยังสร้างรายได้กับครัวเรือน ต่อยอดไปจนถึงการสร้างรายได้ให้ประเทศจนกลายเป็น “พืชเศรษฐกิจ” ที่เกษตรกรจำนวนมากยึดถือเป็นอาชีพ
อย่างที่กล่าวไปว่าพืชถือเป็นปัจจัยสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิตให้กับคนไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งไม่ใช่แค่การบริโภคเท่านั้น แต่เมื่อปลูกในปริมาณมากขึ้นก็ย่อมสร้างรายได้ให้กับเกษตรมากตามไปด้วย ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันมีพืชเศรษฐกิจที่ส่งเสริมอาชีพ ทำเงินให้กับคนในประเทศเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ไม่ใช่หมายถึงการส่งออกพืชเหล่านั้นแบบสด ๆ เพียงอย่างเดียว แต่หลายชนิดยังถูกนำมาแปรรูปเพื่อสร้างประโยชน์และเม็ดเงินได้อีกมากมาย
เช่นเดียวกันกับชุมชนบ้านเจริญสุข ที่ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบริเวณเชิงเขาพระอังคาร มีทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ลักษณะดินเป็นดินลาวาที่เกิดจากภูเขาไฟ มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรกรรมทุกชนิด ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม ทำนาข้าว ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ และการทอผ้า เป็นต้น
หากจะพูดถึงการทำสวนทำไร่ในหมู่บ้านเจริญสุข ก็จะเป็นการทำสวนผลไม้ เพราะในพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ชาวบ้านบางส่วนจึงเลือกที่จะปลูกผลไม้เพื่อเป็นการสร้างรายได้ไปอีกทาง ผลไม้ที่ชาวบ้านปลูกกันส่วนใหญ่จะเป็น ลำไย ฝรั่ง กล้วย แก้วมังกร ฯลฯ และยังมีการนำเอาผลผลิตที่ได้จากสวนไปทำการแปรรูป เพื่อให้มีราคามีมูลค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้น เช่น การนำกล้วยไปทำเป็นกล้วยฉาบ กล้วยสุกกล้วยดิบนำไปทอดเป็นกล้วยแขก การนำฝรั่งไปทำเป็นฝรั่งแซ่บ๊วย นอกจากนี้การปลูกลำไยในชุมชน ยังสามารถสร้างรายได้ให้คนในชุมชนเพราะว่าบางคนรับจ้างตัดหญ้าในสวนลำไย ตัดแต่งกิ่งลำไย ชาวบ้านบางคนรับไปขายที่ตลาด และยังมีแม่ค้าพ่อค้าคนกลางมารับซื้อลำไยที่สวนไปขายที่ตลาด การปลูกพืชการทำการเกษตรเหล่านี้ช่วยสร้างรายได้ให้คนในชุมชนและยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกที่หนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้ตำบลเจริญสุขอีกด้วย
แหล่งอ้างอิง
สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(องค์การมหาชน).พืชเศรษฐกิจ สินค้าสร้างรายได้ในครัวเรือนและประเทศ.(ออนไลน์).แหล่งที่มา:
https://www.arda.or.th/knowledge_detail.php?id=40