บทความประจำเดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2564
เขียนโดย : นางสาวอริสา ชัยสุวรรณ (ภาคประชาชน) เจ้าหน้าที่ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
ในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล แบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
เรื่อง : ใบเสมาพันปี แห่งวัดเขาพระอังคาร
วัดเขาพระอังคาร เป็นสำนักสงฆ์และแหล่งท่องเที่ยวทางพุทธสถาน ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ไม่ไกลจากเขาพนมรุ้ง ตัววัดตั้งอยู่บนยอดเขาพระอังคารซึ่งสูงประมาณ 320 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้วอีกลูกหนึ่งในบุรีรัมย์
ที่มา : นางสาวอริสา ชัยสุวรรณ ถ่ายเมื่อวันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
วัดเขาพระอังคาร เป็นวัดที่สร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมสมัยต่างๆ หลายรูปแบบ มีความงดงามแปลกตา และน่าสนใจแก่ผู้ที่มาเยือน บริเวณวัดเป็นปากปล่องภูเขาไฟ คาดว่าเคยเป็นที่ตั้งของโบราณสถานสมัยทวารวดี เพราะเสมาหินแกะสลักสมัยดังกล่าวหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก วัตถุธรรมความสวยงามของวัดเขาพระอังคาร ด้านพุทธศิลป์เน้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สร้างศรัทธาต่อผู้ที่มาเยือน เห็นจะเป็น “ใบเสมาพันปี” ศาสนสถานและโบราณวัตถุอันล้ำค่า มีใบเสมา 8 คู่ ตั้งอยู่ 8 ทิศ ขนาดสูง 108 ถึง 210 เซนติเมตร เป็นศิลปะขอมแบบไพรกเม็ง ตามข้อมูลวัด เป็นใบเสมาหินบะซอลต์ สมัยทวารวดี พบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 13 – 14 เกือบทุกหลักสลักมีทั้งภาพบุคคล สถูป ดอกบัว และธรรมจักร เทวรูปยืนถือดอกบัว แต่งกายตามแบบความนิยมของคนในยุคนั้นคือนุ่งผ้าสั้น มีชายพกด้านขวา เทวรูปส่วนใหญ่มีลักษณะไม่สมบูรณ์เพราะถูกขโมยลักลอบสกัดเอาภาพพระพักตร์ออกไป จึงได้ใช้ปูนปั้นพอกซ่อมแซมไว้แต่ก็ยังเหลือใบเสมาที่ค่อนข้างสมบูรณ์ให้ชม ใบเสมาสลักเป็นรูปทิพยบุคคลหรือเทวรูปในพระพุทธศาสนานิกายมหายานประทับยืนบนแท่นสี่เหลี่ยมด้านหลังมีพัดโบก และมีฉัตรอยู่ด้านบน
ที่มา : นางสาวอริสา ชัยสุวรรณ ถ่ายเมื่อวันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
หน้าที่และความสำคัญของใบเสมาเหล่านี้
1. ใช้แสดงเขตศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา โดยปักล้อมรอบอุโบสถ อาคารสำคัญ สถูปเจดีย์ หรือการปักเป็นเครื่องหมายของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในคติความเชื่อท้องถิ่น
2. เพื่อเป็นกุศลผลบุญตามคติพุทธศาสนา เป็นการอุทิศหรือบวงสรวงบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์
3. เพื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับเคารพบูชา ทำหน้าที่คล้ายสถูปเจดีย์หรือพระพุทธรูปเพื่อให้ผู้คนได้กราบไหว้บูชา
ลักษณะการปักใบเสมา โดยทั่วไป
-ปักหลักเดียว เพื่อแสดงเขตหรือตำแหน่งของบริเวณพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์
-ปักเป็นกลุ่ม พบว่ามีการปักล้อมรอบเนินดินหรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์โดยไม่มีการกำหนดทิศทางแน่นอน
-ปักประจำทิศ มีตั้งแต่การปัก 4 ทิศ 8 ทิศ ไปจนถึง 16 ทิศ โดยปักล้อมรอบเนินดินหรือสิ่งก่อสร้างทางศาสนา เพื่อแสดงเขตของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น เจดีย์ พระธาตุ อุโบสถ พบว่ามีทั้งการปักใบเสมาเดี่ยว ปักเสมาคู่ หรือปักซ้อนกัน 3 ใบ
ส่วนใบเสมาที่วัดเขาพระอังคารแห่งนี้ ปักใบเสมา 8 คู่ ตั้งอยู่ 8 ทิศ ขนาดสูง 108 ถึง 210 เซนติเมตร ตั้งอยู่รอบอุโบสถ
วัดเขาพระอังคารในปัจจุบันนี้ ทางวัดได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ปรับพื้นที่วัดให้มีความร่มรื่นสงบเย็น เหมาะแก่การเข้าไปเยี่ยมชม ทำบุญ สักการะบูชาและปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง วัดเขาพระอังคารได้จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถาน และโบราณวัตถุของจังหวัดบุรีรัมย์อีกแห่งหนึ่งเป็นแหล่งศึกษาด้านธรณีวิทยา เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชนและนักเรียนจากโรงเรียน ต่าง ๆ ได้ไปเข้าค่ายพุทธบุตร วัดเขาพระอังคารเป็นที่ท่องเที่ยวของอำเภอเฉลิมพระเกียรติ เพราะมีสิ่งก่อสร้างประยุกต์หลายสมัยมารวมกันไว้เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์โบราณคดี โดยเฉพาะ “ใบเสมาหินบะซอลต์” เป็นมรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรม ซึ่งพบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
แหล่งอ้างอิง
https://siamrath.co.th/n/159108 (30 พฤษภาคม 2563) สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2564 .
เว็บชุมชนบ้านเจริญสุข.//(2550).//ใบเสมาหิน.//สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2564,/ จาก. https://cbtthailand.dasta.or.th/webapp/community/content/7/
https://www.finearts.go.th/khonkaenmuseum/view/10031-ประวัติความเป็นมาของใบเสมา (สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2564.)