การสำรวจตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ
(มหาวิทยาลัยสู่ตำบลสร้างรากแก้วในประเทศ)
ชื่อบทความ “เจ้าตู้” ควายไทยสุดแปลก
พื้นที่รับผิดชอบ ตำบลเจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์
ชื่อเจ้าของบทความ นางสาวชนัญชิดา ศิลอนันต์
ตำบลเจริญสุขเป็นตำบลที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นด้านทางศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม ส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือ ทำนา และมีอาชีพเสริมคือ ปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ สัตว์เลี้ยงที่นิยมเลี้ยงโดยทั่วไปคือ ควายหรือกระบือ เพื่อใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนและเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์
ควายไทยเป็นควายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาควายเลี้ยงแถบเอเชีย เป็นควายงาน เลี้ยงอยู่ในทุกภาคของประเทศไทย ควายไทยมีสองสี คือ สีเทาหรือดำ และควายเผือกซึ่งมีสีขาว สีของควายเป็นสีของผิวหนังและสีขน ลำตัวมีขนาดใหญ่ กว้างและลึก ท้องกายโต ท้องย้อย บั้นท้ายลาด ขายาว กระดูกใหญ่ หัวเล็กเมื่อเทียบกับขนาดตัว ตัวผู้โตเต็มวัยมีน้ำหนักเฉลี่ย 600-650 กิโลกรัม ตัวเมียเต็มวัยมีน้ำหนักเฉลี่ย 400-500 กิโลกรัม ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีเขายาวโค้งงองุ้มเข้าหากัน ด้านหลังเขาควายมีรูปร่างแบน ปลายเขาเรียมแหลม กีบเท้าใหญ่และแข็งแรง ส่วนขวัญซึ่งเป็นลักษณะประจำตัวของควาย เห็นได้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย มีตั้งแต่ 1-9 ขวัญ แต่ละตัวมีจำนวนและตำแหน่งขวัญไม่เท่ากัน จะพบมากที่หัวไหล่และซอกขา ขวัญถือเป็นความเชื่อโชคลางจึงมีอิทธิพลต่อการซื้อขายควายของชาวบ้านในสมัยก่อน ควายเป็นสัตว์ชอบน้ำ ไม่ชอบความร้อน เพราะรูขุมขนของควายมีขนาดเล็กมาก การระบายความร้อนออกจากร่างกายผ่านรูขุมขนยาก เลี้ยงให้อยู่ในที่ร่มบ้าง ปล่อยลงน้ำ แช่ปลักโคลนจะไม่เกิดปัญหาปกติควายจะคลอดเองตามธรรมชาติ และไม่มีวันตายตัวที่แน่นอน แม้จะรู้ว่าตั้งท้องราว 316 วันก็ตาม
อาหารสำหรับควาย ประกอบด้วย ฟาง หญ้าสด วิตามิน หัวอาหาร และอาหารผสมเสร็จ (Total Mixed Ration : TMR) ประกอบด้วยอาหารหยาบและอาหารข้นในสัดส่วนที่เหมาะสม ช่วยให้ควายได้รับโภชนาการที่ต้องการครบถ้วน
ควายไทยเป็นสัตว์ที่มีความฉลาดในการเรียนรู้และมีทักษะความจำเป็นเลิศ ฝึกฝนการงานได้หลายประเภท สามารถรับการฝึกเพียงครั้งเดียวตอนอายุ 2-3 ปี โดยไม่ต้องมีการทบทวนบทเรียนอีก และใช้งานได้ยาวนานจนถึงอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไปจึงจะปลดงาน ในอดีตชาวนาไทยใช้ควายเป็นแรงงานสำคัญในการเตรียมดิน ไถนา คราดนา นวดข้าว ลากเกวียน ไถไร่และไถวัชพืชระหว่างร่องสวน แต่ในปัจจุบันควายไทยนิยมเลี้ยงเพื่อการซื้อขายแลกเปลี่ยน เลี้ยงเพื่อขุนขายเนื้อ เลี้ยงเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์และการเลี้ยงเพื่อเป็นมรดกให้กับลูกหลาน
ควายไทยที่มีลักษณะพิเศษต่างจากควายทั่วไปซึ่งแปลกและหาดูยากของตำบลเจริญสุข คือ “เจ้าตู้” เป็นควายไทยพื้นเมือง อยู่หมู่บ้านหนองจอก หมู่ 9 ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ มีต้นกำเนิดมาจากแม่ควายไทย เป็นสมบัติของบรรพบุรุษที่มอบให้กับลูกหลาน มีอายุได้พอประมาณแม่ควายก็ได้คลอดลูกเป็นเพศเมีย ชื่อว่า “เจ้าตู้” ได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ก่อนเจ้าตู้จะมีเขาที่แปลกแบบนี้ ตอนที่เจ้าตู้อายุไม่กี่ปีเคยมีอาการป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ ครอบครัวจึงพาไปรักษาเป็นเวลาหลายปีก็หายเป็นปกติ กระทั่งเริ่มโตก็มีเขางอกออกมาผิดปกติไม่เหมือนกับควายทั่วไป คือเขาเริ่มโค้งงอลงข้างล่างจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เขาทั้ง 2 ข้างยังโยกไปมาได้อีกด้วยที่สำคัญเป็นควายที่เชื่องไม่มีนิสัยดุร้าย คนในครอบครัวจึงรักและเอ็นดูควายตัวนี้ การเลี้ยงก็เหมือนควายทั่วไปคือในฤดูเก็บเกี่ยวเสร็จในตอนเช้าก็จะปล่อยให้ออกไปกินหญ้าสดเองตามธรรมชาติ และตอนเย็นเจ้าตู้และควายตัวอื่นจะกลับมาเข้าคอกเอง แต่ในฤดูกาลของการหว่านข้าวทำนาจะถูกเลี้ยงไว้ในคอก โดยเจ้าของจะหาฟางและหญ้ามาให้กิน ปัจจุบันเจ้าตู้มีอายุประมาณ 20 ปี ที่ผ่านมาเคยมีคนมาขอซื้อเจ้าตู้ในราคาหลักแสนบาท แต่ครอบครัวตัดสินใจไม่ขายเพราะรักและผูกพันกับควายตัวนี้มาก
ลักษณะของเจ้าตู้เป็นควายไทยที่หาดูยากเนื่องจากความผิดปกติของเขาที่โค้งเป็นวงลงด้านล่างอ้อมแก้ม หรือคนส่วนใหญ่มักจะเรียกว่า เขาอุ้มบาตร บางคนเรียกว่า เขาอ้อมแก้ว จึงจะเลี้ยงไว้จนกว่ามันจะตายไปเอง แต่หากใครอยากมาดูหรือถ่ายรูปก็สามารถเดินทางมาได้ที่บ้านหนองจอก เชื่อว่าหากได้เจอและสัมผัสกับเจ้าตู้จะชื่นชอบและหลงรักอย่างแน่นอน
อ้างอิง https://library.stou.ac.th/odi/su-kwan-buffalo/page_1.html