หากกล่าวถึงจังหวัดบุรีรัมย์ มีตำนานเล่าขานมากมาย แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกสิ่งหนึ่งนั้นก็คือ “ผ้าฝ้าย” ที่มีสีและการสร้างสรรค์ชิ้นงานที่คงความเป็นอัตลักษณ์ของเมือง ผ้าฝ้ายที่จังหวัดแห่งนี้นั้นมีแหล่งผลิตหลายที่ แต่ที่น่าสนใจคือผ้าฝ้ายจากหมู่บ้านเจริญสุข ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ อีกทั้งยังตั้งเป็นกลุ่มอาชีพทอผ้าไหม ผ้าฝ้าย เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

อดีตก่อนการริเริ่มทำผ้าทอ ชาวบ้านได้เข้าไปในป่าเพื่อหาของป่าตามปกติ แต่ในช่วงนั้นเป็นฤดูฝนทำให้พื้นที่ภายในป่ามีความชื้นและดินโคลนภายในป่าค่อนข้างลื่นและชันมาก ในระหว่างที่ชาวบ้านกำลังหาของป่าก็ได้ลื่นล้มทำให้ดินโคลนภายในป่าเปื้อนเสื้อผ้าและเมื่อกลับมาบ้านก็ได้นำเสื้อที่เปื้อนดินโคลนไปทำความสะอาด แต่ทำอย่างไรผ้าก็ยังมีสีของดินติดอยู่ จากนั้นจึงจุดประกายแนวคิดด้วยการนำสีของดินที่มีชื่อว่าเป็นดินภูเขาไฟที่อยู่บนเขาพระอังคาร ที่เป็นตำนาน ๑ ใน ๖ ภูเขาไฟของจังหวับุรีรัมย์ ดินบริเวณนี้จึงอุดมไปด้วยแร่ธาตุจากลาวาภูเขาไฟที่ปะทุออกมาในอดีต จากนั้นได้นำมาสร้างเป็นผ้าทอที่มีสีสันงดงามและไม่เหมือนกับที่อื่นได้รับการขนานนามว่าเป็น “ผ้าภูอัคนี” ที่ได้รับผลตอบรับทั้งในและต่างประเทศ

ส่วนขั้นตอนการย้อมเริ่มต้นจากการนำดินภูเขาไฟ ๓ กิโลกรัมต่อน้ำเปล่า ๑๐ ลิตร ก็จะได้น้ำดินภูเขาไฟที่มีสีน้ำตาล สำหรับขั้นตอนนี้หากอยากได้สีเข้มให้ผสมน้ำให้น้อยลง ขั้นตอนต่อไปคือการย้อมสีผ้าโดยจะนำผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมที่ต้องการย้อมสีและจะใช้ผ้าน้ำหนัก ๑ กิโลกรัม โดยการย้อมแต่ละครั้งนำผ้าลงไปแช่ในน้ำดินภูเขาไฟที่เตรียมไว้โดยใช้เวลาในการแช่ผ้าทิ้งไว้ประมาณ ๘-๑๐ ชั่วโมงก็จะได้เป็นผ้าสีน้ำตาลเย็นตาสีสันสวยงามตามที่ต้องการ

นอกจากนี้ยังมีการนำไปแปรรูปในลักษณะต่าง ๆ อาทิเช่น เสื้อ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ เป็นต้น โดยชาวบ้านมีความเชื่อว่า ภูเขาไฟอังคารมีลักษณะรูปร่างคล้ายพญาครุฑนอนคว่ำ ดังนั้นการนำดินที่มาใช้ในกระบวนการผลิตจึงมีความเชื่อเกี่ยวกับผู้สวมใส่แล้วจะทำให้มีสิริมงคลในชีวิต

อื่นๆ

เมนู