บทความประจำเดือนตุลาคม 2564
ข้าพเจ้า นางสาวสุดารัตน์ ศรีชุมแสง ประเภท บัณฑิตจบใหม่

ED05 ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล แบบบูรณาการ 1 มหาวิทยาลัย 1 ตำบล “มหาวิทยาลัย สู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ”

ประเพณีการเรียกขวัญข้าว

ชาวตำบลเจริญสุขมีประเพณีที่ทำสืบทอดกันมาจากรุ่นปู่ยาตายาย เชื่อว่าทำแล้วเป็นสิริมงคล จะได้ผลผลิตเยอะ ข้าวรวงโต มีน้ำหนัก เรียก ประเพณีการเรียกขวัญข้าว

ประเพณีรับขวัญข้าว เป็นประเพณีที่ทำกันในเกือบทุกพื้นที่ทำนาของประเทศไทย แต่อาจจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ในแต่ละท้องถิ่น เช่น ประเพณีรับขวัญแม่โพสพ ประเพณีทำขวัญข้าว ประเพณีทำขวัญแม่โพสพ ฯลฯ แต่การประกอบพิธีนั้นคล้าย ๆ กัน อาจจะมีความแตกต่างกันบ้างในส่วนของรายละเอียดของบททำขวัญ เครื่องเซ่นไหว้ และรูปแบบพิธีการ
เป็นประเพณีที่เชื่อกันว่ามีเทพเจ้าเป็นเจ้าของมีอำนาจในการดลบันดาลให้ผู้ปลูกได้ผลผลิตมากหรือน้อย คือ
” เจ้าแม่โพสพ ”

ตามความเชื่อว่าแม่โพสพมีพระคุณจึงต้องทำขวัญเป็นการกล่าวขอขมาต่อต้นข้าวทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับข้าว ทั้งการเกิดเองตามธรรมชาติ และจากการที่มนุษย์จะกระทำอะไรก็ตามกับต้นข้าว เช่น เกี่ยวข้าว อีกทั้งเพื่อเป็นการขอบคุณและเอาใจแม่โพสพที่ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ผืนนา และเพื่อขออภัยและเรียกขวัญแม่โพสพ เป็นสิริมงคลดลบันดาลให้มั่งมียิ่งขึ้น ปกติจะทำกันในวันศุกร์ซึ่งถือว่าเป็นวันขวัญข้าว

ประเพณีทำขวัญข้าวของบางจังหวัด อาจมีประเพณีทำขวัญข้าว อยู่ 2 ช่วง คือ ช่วงที่ข้าวตั้งท้อง และช่วงข้าวพร้อมเกี่ยว โดยในแต่ละช่วงจะมีเครื่องเซ่นไม่เหมือนกัน เครื่องเซ่นของการทำขวัญข้าวตอนตั้งท้อง ด้วยความเชื่อที่ว่า แม่โพสพเป็นมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกัน พอข้าวตั้งท้อง จึงเชื่อว่าจะอยากทานอาหารเหมือนคนท้อง สิ่งที่ขาดไม่ได้ในเครื่องเซ่นช่วงดังกล่าวจึงเป็นของรสเปรี้ยว อ้อย น้ำมะพร้าว นอกเหนือจากหมาก พลู ธงกระดาษสีต่างๆ ผ้าแดง ผ้าขาว ใส่ลงในชะลอมเล็ก ๆ มีเส้นด้ายสีแดงและสีขาวเพื่อผูกเครื่องเซ่นเข้ากับต้นข้าว ดอกไม้ และด้วยความเชื่อว่าแม่โพสพเป็นผู้หญิง จึงต้องมีน้ำอบ น้ำหอมด้วย โดยคนที่ทำพิธีมักจะเป็นผู้หญิงเจ้าของที่นา แต่พิธีนี้ให้โอกาสผู้ชายทำได้แต่ไม่นิยม

ช่วงเวลา
กลางเดือน 10 ประมาณเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ของทุกปี

ลักษณะความเชื่อ
เชื่อว่าถ้าได้ทำขวัญข้าว และถ้าพระแม่โพสพได้รับเครื่องสังเวยแล้ว ไม่ทำให้เมล็ดข้าวล้ม หนอน สัตว์ต่าง ๆ มากล้ำกราย ได้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนถวายแก่พระสงฆ์เมื่อข้าวนาสุกดีแล้ว เมื่อนวดข้าวเสร็จก็จะกำหนดวันพฤหัสบดีหรือวันศุกร์นำข้าวขึ้นยุ้ง ชาวบ้านก็จะมาร่วมทำขวัญข้าว ร้องเพลงทำขวัญแม่โพสพ
ความสำคัญ การทำขวัญข้าวนั้น เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับชาวนาให้รู้ว่า การทำนาปลูกข้าวของตนนั้น จะไม่สูญเปล่า เพราะพระแม่โพสพเป็นผู้ดูแล และเมื่อมีการเกี่ยวข้าวก็จะมาช่วยกันเกี่ยวข้าว เป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคี และที่สุดคือการร่วมสนุกสนานเมื่อทุกคนเหนื่อยยาก และประสบความสำเร็จด้วยดี

การเรียกขวัญข้าวเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจของชาวนา ที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ เพราะการทำนาที่ได้ผลผลิตสูงย่อมนำความสุข ความมั่งคั่งมาให้ เป็นระยะเวลาที่ข้าวกำลังตั้งท้อง การเรียกขวัญข้าว คือการเรียกขวัญแม่โพสพ ให้มาอยู่กับต้นข้าว เพื่อที่รวงข้าวจะได้อุดมสมบูรณ์

พิธีกรรม
1. กรวยก้นแหลม 2 กรวย
2. ดอกไม้
3. ขนมห่อ (ขนมสอดไส้) ข้าวต้มมัด กล้วยสุก
4. แป้งผัดหน้า น้ำมันใส่ผม ขี้ผึ้งสีปาก
5. หมาก พลู บุหรี่
6. ต้นอ้อย (ทั้งลำมีใบและยอดถักเปีย)
7. ไม้ไผ่ (จักให้เป็นตอก มีลักษณะคล้ายต้นข้าว รวงข้าว)

หญิงผู้ประกอบพิธีนำอุปกรณ์ที่เตรียมไปที่นาของตนปักต้นอ้อยไม้ไผ่ลงบนมุมคันนา ที่หัวนาด้านทิศเหนือ วางอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เตรียมมาบนตะแกรงไม้ไผ่สานหยาบ ๆ ปูผ้ากราบ 3 ครั้ง แล้วกล่าวคำเรียกขวัญดังนี้
” วันนี่ วันดี วันออกพรรษา พระแม่โพสพคงจิ (จะ) สะเอีย (หิวหรืออยากกินในลักษณะคนแพ้ท้อง) ขนม ข้าวต้ม ขอเชิญมากินเครื่องสังเวย พวกนี้ซะเด้อ เจ้าข้า เมื่อกินอิ่มแล้ว ก็ขอให้ผัดหน่า (หน้า) ทาน้ำมัน สีขี้ผึ่ง (ขี้ผึ้ง) กินหมาก สูบยา ซะเนอ อุ้มท่อง (ท้อง) ปีนี่ขอให่ (ให้) อุ้มท่องใหญ่ ๆ ทีเดียว ขอให่ได้รวงละหม่อกอละเกียน (ขอให้ได้รวงละหม้อกอละเกวียน) เดอ ให่ได้เข่า (ข้าว) ได้เลี้ยงลูกปลูกโพ อย่าให่ได้อด ได้อยาก ได้ยาก ได้จน เดอ ขวัญแม่โพสพเอย มา………..กู๊
กล่าวจบแล้วกราบ 3 ครั้ง จบพิธี

การเรียกขวัญข้าว โดย คุณแม่วารุณี ศรีชุมแสง

พิธีทำขวัญข้าวหรือพิธีทำขวัญแม่โพสพ เป็นการแสดงความกตัญญูต่อข้าว ซึ่งเป็นพืชที่เลี้ยงชีวิตคนไทย คนไทยมีความเชื่อว่าทั้งคนและสัตว์จะมีสิ่งหนึ่งเรียกว่า “ขวัญ” สิงอยู่ถ้าขวัญไม่อยู่ประจำสิ่งมีชีวิตต้องตาย ข้าวเป็นสิ่งมีชีวิตจึงมีขวัญ จึงต้องบำรุงขวัญข้าวไว้ให้อยู่ประจำอย่าให้หนีไปเพราะจะทำให้ข้าวไม่งอกงามหรือตายได้ อีกทั้งมีความเชื่อว่าข้าวเป็นของศักดิ์สิทธิ์ มีแม่โพสพสถิตอยู่ และเชื่อว่าหากแม่โพสพได้รับเครื่องสังเวยแล้วผลผลิตจะอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นจึงจัดพิธีกรรมเพื่อเอาใจแม่โพสพตั้งแต่เริ่มปลูกจนได้ข้าวใส่ในยุ้งฉาง การทำขวัญข้าวแต่โบราณนิยมทำ 4 ครั้ง คือ ตอนลงมือไถและหว่านข้าวลงนาครั้งแรก ตอนข้าวเริ่มตั้งท้อง ตอนเก็บเกี่ยวหรือขนข้าวขึ้นลาน และตอนขนข้าวเข้ายุ้งฉางแล้ว ในปัจจุบันนิยมทำขวัญข้าว 2 ช่วง คือ ช่วงที่ข้าวตั้งท้อง และเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว

อ้างอิง
ประเพณีการเรียกขวัญข้าว สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564,จากเว็ปไซต์
http://www.openbase.in.th/node/8452
https://sites.google.com/site/thekhnoloyisansnthes1/wathnthrrm-thxng-thin/prapheni-su-khway-khaw

อื่นๆ

เมนู