“เทศกาลเก็บเกี่ยวข้าวใหม่ เกษตรกรตำบลเจริญสุข”
(โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วในประเทศ)
ED05 ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์
ชื่อเจ้าของบทความ นายสุทธวีร์ วงษ์ศรี กลุ่มบัณฑิตจบใหม่

           “ข้าว” มีความสำคัญกับอารยธรรมมนุษย์เรามายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ และวิถีชีวิต โดยเฉพาะสังคมไทยมีความผูกพันกับเรื่องราวของข้าวอย่างมากมายหลายด้าน จนถือได้ว่าข้าวนั้นเป็นอาหารหลักของคนไทยทั่วทุกภูมิภาคเลยก็ว่าได้

เทศกาลเก็บเกี่ยวข้าวใหม่เป็นวิถีชีวิตของผู้คนในตำบลเจริญสุขมาหลายช่วงอายุคน เนื่องจากชุมชนตำบลเจริญสุข  อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นชุมชนที่ส่วนใหญ่ยึดการทำอาชีพเกษตรกร เน้นการเพาะปลูกเป็นหลัก ซึ่งได้แก่การทำนาปลูกข้าว การทำไร่ทำสวน เป็นต้น

 

การเก็บเกี่ยวข้าวใหม่มักจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมของทุกปี เป็นเทศกาลที่เกิดขึ้นหลังจากข้าวออกรวงและแก่เต็มที่ โคนรวงมีสีเหลืองทั่วกันทั้งหมด โดยก่อนที่จะทำการเก็บเกี่ยวนั้นในความเชื่อโบราณของภาคอีสาน จะต้องมีการทำพิธีบอกกล่าวแม่โพสพเพื่อเรียกขวัญที่ตกหล่นในตอนนวดข้าว และอัญเชิญขวัญข้าวมาสู่ยุ้งฉาง การสู่ขวัญข้าวจะจัดขึ้นในงานบุญเดือนยี่ที่เรียกว่า “บุญคูณลาน” ซึ่งเป็นวันขนข้าวขึ้นเล้า (ยุ้งฉาง) โดยเริ่มจากทำพิธีย้ายแม่โพสพออกจากลาน นำใบคูณ ใบยอ ยาสูบ หมาก ไข่ ดอกไม้ ธูปเทียนใส่ก่องข้าวหรือกระติ๊บ ไปวางหน้าลอมข้าวพร้อมน้ำและเขาควาย ให้เจ้าของนาตั้งอธิษฐานและดึงข้าวที่ฐานออกมานวด จากนั้นนำฟางมาหุ้มก่องข้าวหรือกระติ๊บ ปักตาแหลวจากนา แล้วปักไว้บนลอมข้าว จากนั้นก็นวดข้าวทั้งกองและประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญให้ข้าวที่นวดเสร็จแล้ว มีต้นกล้วย ต้นอ้อย ตาแหลวปักข้างกองข้าวทั้งสี่มุม พันรอบด้วยสายสิญจน์ นิมนต์พระมาร่วมทำบุญพร้อมกับญาติพี่น้อง และเมื่อจะขนข้าวขึ้นเล้า ต้องนำใบคูณและใบยอไปเสียบที่เสายุ้งข้าวทุกเสาด้วย เพื่อขอให้ค้ำคูณยอยิ่งขึ้นไป พร้อมกับเชิญขวัญข้าวและแม่โพสพขึ้นไปในเล้า (ยุ้งฉาง)

จะเห็นได้ว่าข้าวมีความสำคัญก็เพราะว่าข้าวเป็นผู้ให้ชีวิตแก่มนุษย์ เพราะฉะนั้น หน้าที่ที่มนุษย์ต้องตอบแทนคือมนุษย์ต้องเลี้ยงดูฟูมฟักเลี้ยงดูข้าวด้วย ข้าวมีขวัญข้าว ซึ่งเหมือนกับมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่

อ้างอิง https://www.salana.co.th/blog4-detail.php?id=36

 

 

อื่นๆ

เมนู