เห็ดฟางโรงเรือน
คนไทยรู้จักบริโภคอาหารจากเห็ดฟางมานานแล้ว เพราะมีรสดีมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าพืชผักหลายชนิด และไม่มีการใช้สารฆ่าแมลง การเพาะก็ทำได้ง่าย วัสดุต่างๆ ที่ใช้เพาะก็หาได้ง่าย ส่วนใหญ่เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และการเพาะเห็ดฟางก็สามารถทำได้ตลอดทั้งปี จึงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการคิดค้นดัดแปลงวัสดุเพาะ วิธีเพาะ และอาหารเสริมเพื่อเพิ่มผลผลิตได้มาก
เห็ดฟาง เป็นเห็ดกินได้ชนิดหนึ่ง มีการเพาะเลี้ยงในแถบเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้เป็นส่วนผสมในการประกอบอาหารเอเชียอย่างแพร่หลาย ชื่อเรียกแม้แตกต่างกันไปในหลายประเทศ แต่ยังมีความหมายว่า เห็ดฟาง เหมือนกัน เห็ดฟางมักพบในรูปแบบสด แต่มีพบรูปแบบบรรจุกระป๋องหรืออบแห้งจำหน่ายนอกฤดูเก็บเกี่ยวด้วย
ลักษณะเห็ดฟาง
ลักษณะดอกเห็ดอ่อนเป็นรูปทรงไข่มีเปลือกหุ้ม เมื่อเจริญขึ้น เปลือกหุ้มปริแตก คงเหลือเปลือกหุ้มที่โคนก้าน ผิวนอกของเปลือกหุ้มส่วนมากมักเปลี่ยนเป็นสีขาวหม่นหรือสีเนื้อ หมวกเห็ดเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลาง 4–10 เซนติเมตร กลางหมวกมีขนละเอียดสีน้ำตาลดำหรือสีน้ำตาลแดง ครีบสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูอ่อน ไม่ยึดติดกับก้าน สั้นยาวไม่เท่ากัน ก้านยาว 4–10 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5–1 เซนติเมตร ผิวสีขาวนวลมีขนสีขาว เนื้อเป็นเส้นหยาบสีขาวรวมกันแน่น ตรงกลางก้านกลวง สปอร์รูปทรงรี สีชมพู ขนาด 5–6 × 7–9 ไมโครเมตร ผิวเรียบ
ประโยชน์และสรรพคุณของเห็ดฟาง
1. เห็ดฟางมีสารที่ช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของไวรัส
2. เห็ดฟางมีสรรพคุณช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย
3. ประโยชน์ของเห็ดฟางช่วยป้องกันโรคหัวใจ
4. เห็ดฟางช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
5. เห็ดฟางไม่มีไขมัน จึงไม่ทำให้อ้วน
6. เห็ดฟางมีวิตามินซีสูง จึงช่วยแก้ไข้หวัด และทำให้ผิวพรรณสดใส
7. สรรพคุณเห็ดฟางช่วยลดอาการช้ำใน และรอยฟกช้ำ
8. เห็ดฟางให้ประโยชน์ช่วยลดปวดบวมตามร่างกาย
9. เห็ดฟางช่วยบำรุงตับให้แข็งแรง
10. เห็ดฟางช่วยให้ระบบการทำงานของตับและร่างกายเกิดความสมดุล
11. สรรพคุณเห็ดฟางเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย
12. เห็ดฟางช่วยป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือด
13. ประโยชน์ของเห็ดฟางช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง
14. เห็ดฟางมีสรรพคุณช่วยสมานแผล ทำให้แผลหายเร็วขึ้น
15. เห็ดฟางบรรเทาอาการช้ำใน หรืออักเสบภายในร่างกาย
16. เห็ดฟางช่วยปรับสมดุลให้ร่างกาย และลดความร้อนในร่างกาย เพราะเห็ดฟางมีฤทธิ์เย็น
17. ประโยชน์เห็ดฟางมีเส้นใยอาหารทำให้ขับถ่ายสะดวก
การสร้างโรงเรือนเพาะเห็ดฟาง
1. การเลือกพื้นที่ตั้งโรงเรือน ควรอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบที่ใช้เพาะ เช่น อยู่ใกล้แหล่งที่มีฟางเพื่อใช้เป็นวัสดุรองพื้น เป็นพื้นที่น้ำท่วมไม่ถึงดินและน้ำไม่เค็ม
2. รูปแบบและขนาดโรงเรือน ควรมีลักษณะดังนี้
2.1 ขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 6 เมตร สูง 2.5 เมตร
2.2 มีประตูเข้าออกอย่างน้อย 1 บาน มีช่องระบายอากาศอย่างน้อย 10 ช่อง
2.3 หลังคามุงแฝก สังกะสี หรือมุงกระเบื้องก็ได้
2.4 พื้นคอนกรีต ส่วนผนังจะเป็นอิฐบล็อกหรือตาข่ายพรางแสงพลาสติกและพลาสติกเคลือบก็ได้
2.5 ควรสร้างในแนวเหนือ – ใต้ เพราะแสงแดดตอนกลางวันมีอิทธิพลต่อการเกิดดอกเห็ด
3. ลานหมัก ควรเป็นพื้นคอนกรีตขนาดประมาณ 3×3 เมตร สำหรับหมักวัสดุเพาะ
4. ชั้นเพาะ ควรเป็นชั้นขนาดกว้าง 80 – 100 ซม. ยาวตามขนาดของโรงเรือน สูง 1.65 – 1.8 เมตร ประกอบด้วย 4 ชั้นย่อย ห่างกันชั้นละ 40-50 ซม. ยกเว้นชั้นล่างสุดห่างจากพื้น 30 ซม. พื้นแต่ละชั้นทำด้วยไม้ระแนงเว้นช่องห่างกัน 2-3 ซม. ลักษณะของโรงเรือนเพาะเห็ดฟางและชั้นเพาะ พร้อมเครื่องกำเนิดไอน้ำ
5. ถังกำเนิดไอน้ำ เกษตรกรต้องอบไอน้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรคภายในโรงเรือนโดยถังกำเนิดไอน้ำ โดยต้องให้อุณหภูมิสูงอย่างน้อย 60 องศาเซลเซียส หากต้องการประหยัดก็อาจใช้ถังขนาด 200 ลิตร วางเรียงกัน 2 ใบบนเตาที่ก่อด้วยอิฐทนไฟแบบง่ายๆ มีท่อไอน้ำออก 2 ท่อต่อเข้าด้านล่างของโรงเรือน
อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน
1. พัดลมดูดเป่าและระบายอากาศ เป็นพัดลมทรงกระบอกธรรมดา ขนาดใบพัด 16-20 เซนติเมตร แต่ดัดแปลงทำกล่องสังกะสีสวมปากทางลมออก โดยให้มีลมออกได้ 2 ทาง ทางหนึ่งต่อเข้าภายในโรงเรือนอีกทางหนึ่งออกภายนอก ทั้งสองจะมีลิ้นปิดเปิด ส่วนทางดูดลมก็เช่นเดียวกันคือทำทางดูด 2 ทาง ต่อเข้าภายในด้านหนึ่ง อีกข้างหนึ่งอยู่ข้างนอก และมีลิ้นปิดเปิดเช่นกัน สำหรับทางลมออกก็ต่อเข้าภายในโรงเรือนโดยต่อขึ้นไปข้างบนขนานกับสันจั่ว อาจทำด้วยท่อเอสล่อนหรือใช้ผ้าพลาสติกเย็บให้ได้เส้นผ่าศูนย์กลางพอสวมปากท่อได้ตรงท่อที่ขนานจั่วนั้นต้องทำการเจาะรูขนาดเท่ามวนบุหรี่เพื่อให้อากาศออก
2. เทอร์โมมิเตอร์ คือ เครื่องมือสำหรับวัดอุณหภูมิภายในห้อง ควรใช้ขนาดที่สามารถวัดได้ตั้งแต่อุณหภูมิ 0-100 องศาเซลเซียส ฝังอยู่ติดกับผนังสูงจากพื้นประมาณ 1.50 เมตร อยู่ด้านไหนของโรงเรือนก็ได้ ช่องที่เจาะใส่เทอร์โมมิเตอร์นั้นจะต้องกลวง เพื่อให้เทอร์โมมิเตอร์สัมผัสกับอากาศภายในส่วนด้านนอกของโรงเรือนปิดด้วยกระจกใสเพื่อสะดวกในการอ่านค่า
3. กระบะไม้หรือแบบพิมพ์ไม้สำหรับหมักวัสดุ จะทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสก็ได้ขนาดกว้างและยาวเท่ากันประมาณ 1-15 เมตร สูง 50 เซนติเมตร
4. เครื่องตีปุ๋ยหมัก ใช้ตีปุ๋ยหลังจากหมักได้ที่แล้ว เครื่องตีปุ๋ยหมักควรเป็นเครื่องที่กำลังแรงสูงอย่างน้อยไม่ควรต่ำกว่า 5 แรงม้า อาจดัดแปลงจากเครื่องตีน้ำแข็ง หรือเครื่องตีหินก็ได้ตีปุ๋ยหมักให้ละเอียดและฟู
5. เครื่องวัดความชื้น ตะกร้าเก็บเห็ด
ขั้นตอนการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน
การดำเนินงาน (ใช้กับโรงเรือน ขนาด 4 X 6 X 2.5 เมตร)
วันที่ 1 หมักขี้ฝ้าย 200 กิโลกรัม แช่น้ำ 1 คืน เอาขึ้นเพื่อให้สะเด็ดน้ำ เติมยูเรีย 1-2 กิโลกรัม ตั้งกองสามเหลี่ยมสูง 70 เซนติเมตรกว้าง ยาวไม่จำกัด หมัก 1 คืน
วันที่ 2 กลับกอง เติมรำละเอียด 10 กิโลกรัม ตั้งกองเติมปูนขาว 2 กิโลกรัม ตั้งกองสามเหลี่ยมหมักต่อ 1 วัน (เอาฟางแช่น้ำ 1-2 คืน 30 กิโลกรัม)
วันที่ 3 กลับกอง ตีป่น เติมยิปซั่ม 2 กิโลกรัม เตรียมเอาขึ้นชั้นโรงเพาะ
– เอาฟางรองบนชั้น 30 กิโลกรัม ความหนาของแต่ละชั้น 4, 5 นิ้ว
– เอาขี้ฝ้ายหมักขึ้นทับบนฟางหนา 4, 5 นิ้ว จนหมดขี้ฝ้าย 200 กิโลกรัม
– ใช้ไอน้ำ รักษาอุณหภูมิที่ 45 นาน 24 ชั่วโมง
วันที่ 4 อบไอน้ำฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ 70 องศาเซลเซียส นาน 6 ชั่วโมง พักให้เย็นประมาณ 1 คืนโดยให้อุณหภูมิประมาณ 35 องศาเซลเซียส
วันที่ 5-8 เมื่อภายในโรงเรือนอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส หว่านเชื้อเห็ดฟางที่คัดแล้ว 30-50 ห่อ (5-10 กิโลกรัม) ปิดประตูรักษาอุณหภูมิ 32-38 องศาเซลเซียส นาน 3 วัน
วันที่ 8-10 ระบายอากาศใยเห็ดฟู คลุมผิวหน้าวัสดุเพาะ รักษาอุณหภูมิ 32-38 องศาเซลเซียส นาน 2 วัน
วันที่ 10-12 ระบายอากาศเพิ่ม (เส้นใยกับปุ๋ยหมักหมด) พ่นสเปรย์น้ำให้เส้นใยยุบตัวลง ช่วยลดอุณหภูมิเปิดแสง เห็ดจะจับตุ่มดอกรักษาอุณหภูมิ 28-32 องศาเซลเซียส ไปเรื่อย ๆ จนเก็บดอกหมดคือประมาณ 5-7 วัน (ดอกโตขึ้น ต้องเพิ่มอากาศโดยใช้โบเวอร์ ระบายทางช่องระบายอากาศ)
วันที่ 12-17 เริ่มเก็บดอกได้และเก็บได้นานประมาณ 5 วัน ผลผลิตรุ่นแรกประมาณ 25 %ของทั้งหมด
วันที่17-20 เก็บดอกรุ่นแรกหมด พักใยประมาณ 2-3 วัน จะเกิดตุ่มดอกเห็ด เก็บผลผลิตรุ่นสองประมาณ 3 วัน
วันที่ 20 เก็บผลผลิตรุ่น 2 หมด ผลผลิตที่ได้ประมาณ 50-60 กิโลกรัม
การเพาะเห็ดเป็นอาชีพที่มีความสำคัญในทางเศรษฐกิจอาชีพหนึ่ง เนื่องจากการเพาะเห็ดสามารถที่จะทำให้ภายในครอบครัว เป็นอาหารที่มีคุณค่าโดยเฉพาะโปรตีนไม่แพ้เนื้อสัตว์ และมีความปลอดภัยจากสารเคมี การเพาะเห็ดสามารถเพาะสำหรับการบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายเป็นอาชีพได้ เห็ดฟาง เป็นพืชอาหารชนิดหนึ่งที่ชาวไทยนิยมรับประทานกันมากและทั่วไปเป็นพืชที่มีรสชาติดีแล้วยังมีคุณค่าทางอาหารสูง สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลายชนิด และมีคุณสมบัติทางยารักษาโรคบางอย่างได้ ผู้ที่รับประทานเห็ดฟางเป็นประจำ จะทำให้กรดไขมันในเส้นเลือดไม่สูงหรือต่ำเกินไป
อ้างอิง
การเพาะเห็ดฟางโรงเรือน สืบค้นเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564,จากเว็ปไซต์https://sites.google.com/dei.ac.th/op02006lp/5