ED05 ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
บทความประจำเดือนตุลาคม ๒๕๖๔
ข้าพเจ้า นางสาวมุกรินทร์ อาจอาสา ประเภท บัณฑิต กพร.
ED05 ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล แบบบูรณาการ ๑ มหาวิทยาลัย ๑ ตำบล “มหาวิทยาลัย สู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ”
ข้าวโพด พืชเศรษฐกิจ บ้านหนองสะแก ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ประจำเดือนตุลาคม 2564
การลงพื้นที่ของข้าพเจ้าในครั้งนี้ เป็นการลงพื้นที่ผ่านโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมแบบบูรณนาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และการลงพื้นที่ครั้งนี้ผู้ปฏิบัติงานได้รับมอบหมายให้ลงพื้นที่หมู่ที่ 5 บ้านหนองสะแก ณ บ้านเลขที่ 80 บ้านหนองสะแก ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ เจ้าของบ้าน คือ คุณวารุณี ศรีชุมแสง เป็นเกษตรกรอยู่ในพื้นที่ตำบลเจริญสุข คุณวารุณี ศรีชุมแสง ได้ทำการเพาะปลูกพืชหลากลายชนิด เช่น การปลูกข้าว การปลูกสมุนไพรฟ้าทะลายโจร การปลุกไพร เป็นต้น แต่พืชที่สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวของคุณวารุณี ศรีชุมแสงได้ดี คือ การปลูกข้าวโพด เพราะ ข้าวโพดเป็นพืชไร่ที่ค่อนข้างทนทานปลูกง่ายสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี จึงเป็นที่นิยมปลูกกันในปัจจุบัน
ข้าวโพด เป็นพืชตระกูลหญ้า มีอายุสั้นเพียงฤดูเดียว เจริญเติบโตได้ง่ายๆ ลำต้นตั้งตรงแข็งแรง ลำต้นมีลักษณะอวบกลม มีแก่นเนื้อคล้ายฟองน้ำ มีข้อและปล้อง มีขนหยาบๆปกคลุม ต้นมีสีเขียว ใบมีลักษณะยาวรี ก้านใบออกหุ้มรอบๆลำต้น มีขนเล็กๆปกคลุม มีสีเขียว ดอกออกเป็นช่อ ดอกตัวเมีย มีลักษณะทรงกรวยยาว มีกาบบางๆ มีสีเขียวหลายชั้นล้อมรอบ มีเส้นคล้ายเส้นไหมยาว มีสีน้ำตาลม่วงอ่อน สีม่วงอ่อน หรือสีเหลืองส้ม ออกอยู่ด้านบนเป็นกระจุก ก้านช่อดอกสั้น ดอกออกตามกาบของใบและลำต้น ดอกตัวผู้ออกปลายยอด มีดอกย่อยเล็กๆ มีเกสรสีเหลืองเบาปลิวกระจายได้ ผลเป็นฝัก มีลักษณะทรงกระบอก หุ้มด้วยกาบบางๆหลายชั้นรอบฝัก ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่กาบจะแห้ง มีสีน้ำตาล ข้างในมีเส้นคล้ายเส้นไหมยาว หุ้มเมล็ดอยู่ประปราย และมีเมล็ดเรียงอยู่สม่ำเสมอ เมล็ดมีลักษณะทรงกลมแบนเล็กๆ มีเยื่อหุ้มเมล็ดผิวเรียบบางใส มีสีนวล สีเหลือง สีขาว หรือสีม่วงดำ ตามสายพันธุ์ มีรสชาติหวานมัน เมล็ดอ่อนมีเนื้อนุ่มฉ่ำน้ำ เมล็ดแก่จะแข็งมาก สามารถทำเครื่องดื่มต่างได้ นำมาประกอบอาหารต่างๆ หลายเมนู ในประเทศไทยมีการปลูกหลายสายพันธุ์ ที่นิยมปลูกมากคือ ข้าวโพดหวาน (Thai-Thaifood, 2559)
ข้าวโพดเป็นพืชวันสั้น ปลูกในสภาพวันยาว จะใช้เวลาในการออกดอกและแก่ยาวขึ้น และมีจำนวนใบเพิ่มขึ้น แม้ว่าข้าวโพดเป็นพืชที่มีความสามารถปรับตัวได้กว้าง แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิระหว่าง 24-30 องศาเซนเซียล และอุณหภูมิต่ำสุด สำหรับการงอกที่ 10 องศาเซนเซียล ขณะที่ต้นยังเล็กอยู่ (สูงราว 15 เซนติเมตร) ข้าวโพดสามารถทนทานต่ออากาศหนาวเย็นได้ดี แต่เมื่อโตขึ้นจะไม่ทนทานต่อสภาพอากาศดังกล่าว ข้าวโพดเป็นพืชที่ต้องการไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียมสูง ดินที่เหมาะสำหรับการปลูกข้าวโพดควรมี pH ระหว่าง 5.5-8
ฤดูปลูก
สำหรับประเทศไทย การปลูกข้าวโพดส่วนใหญ่เป็นข้าวโพดไร่ปลูกแบบอาศัยน้ำฝน ซึ่งปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการปลูกและการให้ผลผลิต ของข้าวโพดจึงขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนและการกระจายของฝนที่ตกตลอดฤดูปลูก สำหรับเขตชลประทาน สามารถปลูกข้าวโพด ได้ตลอดปี โดยทั่วไปการปลูกต้นฤดูฝน (เมษายน – พฤษภาคม) มักจะได้ผลผลิตดีกว่า ไม่มีโรคราน้ำค้างระบาดและปัญหาวัชพืช น้อยกว่าปลูกปลายฤดูฝน (กรกฎาคม – สิงหาคม) แต่มีข้อเสียคือ ในระยะเก็บเกี่ยวจะมีฝนชุก ทำให้ข้าวโพดชื้น จะเกิดปัญหา สารอะฟลาทอกซิน เพราะตากข้าวโพดไม่แห้ง แต่ปลูกปลายฤดูฝน จะมีปัญหาเตรียมดินไม่สะดวก เพราะฝนชุกและโรคต้นกล้าเน่า
วิธีปลูก
การปลูกข้าวโพดที่ปฏิบัติกันสามารถทำได้ 3 วิธี
1. การขุดหลุมปลูก เป็นวิธีการปฏิบัติแบบเก่า โดยใช้จอบ เสียม หรือไม้ปลายแหลมขุดเป็นหลุม การปลูกวิธีนี้ทำให้ระยะระหว่างต้น ระหว่างหลุม และความลึกของเมล็ดที่ปลูกไม่สม่ำเสมอ ปัจจุบันได้มีเครื่องมือปลูกเรียกว่า corn jab ที่สามารถกำหนดระยะปลูกและความลึกในการปลูกได้
2. การปลูกแบบชักร่อง ใช้ไถหัวหมูติดรถแทรกเตอร์หรือรถไถเดินตาม หรือใช้แรงงานสัตว์ทำร่อง ปลูกเป็นแถว ใช้แรงงานคนในการหยอดเมล็ดปลูกในร่องแล้วใช้เท้าปาดผิวดินกลบ การปลูกวิธีนี้จะได้ระยะระหว่างแถวสม่ำเสมอ แต่ระยะระหว่างหลุมและความลึกในการปลูกไม่สม่ำเสมอ
3. การปลูกโดยใช้เครื่องปลูก (planter) โดยใช้เครื่องปลูกติดท้ายรถแทรกเตอร์ ปลูกเป็นแถว สามารถกำหนดระยะระหว่างแถว ระหว่างหลุม และความลึกในการปลูกได้ค่อนข้างสม่ำเสมอ
อัตราปลูกเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดผลผลิตต่อพื้นที่ ดังนั้นในการปลูกข้าวโพดจึงควรจัดระยะปลูกระหว่างแถว และระหว่างหลุมให้เหมาะสม โดยระยะที่แนะนำคือ ระยะระหว่างแถว 75 เซนติเมตร และระหว่างหลุม 25 เซนติเมตร จะใช้จำนวนต้นต่อหลุม 1 ต้น
การให้ปุ๋ย
ควรมีการใส่ปุ๋ยให้ต้นข้าวโพด เพื่อให้มีธาตุอาหารใช้ในการสร้างผลผลิตให้เพิ่มขึ้น ซึ่งการใส่ปุ๋ยควรแบ่งใส่ 2 ครั้ง
1. ปุ๋ยรองพื้น ควรใส่รองก้นหลุมหรือโรยเป็นแถวแล้วกลบพร้อมปลูก ถ้าใช้เครื่องปลูกจะมีถังสำหรับใส่ปุ๋ยพร้อมอยู่แล้ว ถ้าปลูกด้วยมือ ควรหยอดปุ๋ยที่ก้นหลุมแล้วกลบดินบาง ๆ ก่อนหยอดเมล็ด ไม่ควรให้ปุ๋ยสัมผัสกับเมล็ดโดยตรง เพราะอาจทำให้เมล็ดเน่าได้ ปุ๋ยรองพื้นที่ใช้ อาจใช้สูตร 16 – 20 – 0, 15 – 15 – 15 , 20 – 20 – 0 หรือสูตรอื่นๆ ตามความเหมาะสมถ้าเป็นไปได้ ควรมีการวิเคราะห์ดิน เพื่อหาสูตรปุ๋ยที่เหมาะกับพื้นที่ โดยปุ๋ยรองพื้น ควรใส่อัตราประมาณ 25 – 30 กิโลกรัม/ไร่
2. ปุ๋ยแต่งหน้า หลังจากปลูกประมาณ 25 – 30 วัน ควรมีการใส่ปุ๋ยอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้ปุ๋ยยูเรีย (46 – 0 – 0) โรยข้างต้นในอัตรา 20 – 25 กิโลกรัม/ไร่ ใส่ขณะดินมีความชื้นหรือใส่แล้วกลบด้วยเครื่องทำรุ่นพูนโคน (สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2560)
การจำแนกชนิดของข้าวโพดสามารถจำแนกได้หลายชนิดตามลักษณะต่างๆ (คณาจารย์ภาควิชาพืชไร่นา, 2547) ดังนี้
1. จำแนกตามคุณสมบัติของแป้งในเมล็ด ในเมล็ดข้าวโพดประกอบด้วยแป้ง 2 ชนิด คือ แป้งแข็ง (Hard starch) และแป้งอ่อน (Soft starch) ทำให้สามารถจำแนกโดยอาศัยตำแหน่งของแป้งแต่ละชนิดและลักษณะของเปลือกหุ้มเมล็ดได้ 7 ชนิด คือ
(1) ข้าวโพดป่า (Pod corn) เป็นข้าวโพดที่ใช้ในการศึกษาแหล่งกำเนิดข้าวโพด (สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2560) ซึ่งปลูกในบริเวณแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ เมล็ดข้าวโพดป่าทุกเมล็ดจะมีเปลือกหุ้มเมล็ดอย่างมิดชิดเหมือนกับเมล็ดหญ้า และยังมีเปลือกหุ้มฝักหุ้มอีกชั้นหนึ่ง เมล็ดมีสีต่างๆ หรือเป็นลาย
(2) ข้าวโพดคั่ว (Pop corn) เป็นข้าวโพดที่เมล็ดมีแป้งแข็งอัดกันแน่น มีแป้งอ่อนเป็นองค์ประกอบเล็กน้อย ลักษณะรูปร่างของเมล็ดแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิดที่มีรูปร่างเรียวแหลมคล้ายเมล็ดข้าว เรียกว่า Rice pop corn และชนิดที่มีลักษณะเมล็ดกลมเรียกว่า Pearl pop corn เมื่อเมล็ดข้าวโพดชนิดนี้ได้รับความร้อนระดับหนึ่งแป้งจะขยายตัวสร้างความดันขึ้นภายในจนกระทั่งเปลือกหุ้มเมล็ดที่หนาแตกออก
(3) ข้าวโพดหัวแข็ง (Flint corn) เป็นข้าวโพดที่ด้านบนของเมล็ดมีแป้งแข็งเป็นองค์ประกอบ ส่วนแป้งอ่อนจะอยู่ภายในตรงกลางเมล็ดหรืออาจไม่มีเลย เมล็ดค่อนข้างกลม เมื่อเมล็ดแห้งจะไม่มีรอยบุบด้านบน เมล็ดมีสีต่างๆ เช่น สีเหลือง สีเหลืองส้ม สีขาว หรือสีอื่นแล้วแต่สายพันธุ์ ปลูกกันมากในแถบเอเชียและอเมริกาใต้ ข้าวโพดไร่ของประเทศไทยที่นิยมปลูกกันเป็นชนิดนี้ทั้งสิ้น
(4) ข้าวโพดหัวบุบ (Dent corn) เป็นข้าวโพดที่มีส่วนของแป้งอ่อนอยู่ด้านบน ส่วนแป้งแข็งจะอยู่ด้านล่างและด้านข้าง เมื่อข้าวโพดแก่เมล็ดสูญเสียความชื้น ทำให้แป้งอ่อนด้านบนหดตัวเมล็ดจึงเกิดรอยบุบ สีของเมล็ดอาจเป็น
(5) ข้าวโพดแป้ง (Flour corn) เป็นข้าวโพดที่มีองค์ประกอบเป็นแป้งอ่อนเกือบทั้งหมด มีแป้งแข็งเป็นชั้นบางๆ อยู่ด้านในเมล็ด เมื่อข้าวโพดแก่การหดตัวของแป้งในเมล็ดจะเท่าๆ กัน ทำให้เมล็ดมีรูปร่างเหมือนข้าวโพดหัวแข็ง แต่มีลักษณะทึบแสง โดยนิยมปลูกในแถบอเมริกาใต้ อเมริกากลาง และประเทศสหรัฐอเมริกาสีขาว สีเหลือง หรือสีอื่นแล้วแต่สายพันธุ์ โดยนิยมปลูกกันมากในประเทศสหรัฐอเมริกา
(6) ข้าวโพดหวาน (Sweet corn) เป็นข้าวโพดที่น้ำตาลในเมล็ดเปลี่ยนไปเป็นแป้งไม่สมบูรณ์ ทำให้เมล็ดมีความหวานมากกว่าข้าวโพดชนิดอื่น ซึ่งมักนำฝักสดมาใช้รับประทาน เมื่อเมล็ดแก่เต็มที่จะหดตัว เหี่ยวย่น ข้าวโพดชนิดนี้นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายทั่วทุกภาค
(7) ข้าวโพดข้าวเหนียว หรือข้าวโพดเทียน (Waxy corn) เมล็ดประกอบด้วยแป้งอ่อนที่มีความเหนียว เนื่องจากองค์ประกอบของแป้งส่วนใหญ่เป็นอะไมโลเพกติน (Amylopectin) ในขณะที่ข้าวโพดชนิดอื่นมีอะไมโลส (Amylose) เป็นองค์ประกอบด้วย ทำให้นิยมปลูกข้าวโพดชนิดนี้เพื่อรับประทานฝักสดคล้ายกับข้าวโพดหวาน เมล็ดมีสีต่างๆ เช่น สีเหลือง สีขาว สีม่วง หรือมีหลายสีในฝักเดียวกัน (จินตน์กานต์, 2558)
2. จำแนกตามอายุการเก็บเกี่ยว ข้าวโพดในเขตร้อนโดยเฉพาะที่ปลูกในพื้นที่ราบ สามารถจำแนกตามอายุการเก็บเกี่ยวได้ 4 ชนิด คือ
(1) พันธุ์อายุสั้นมาก (Extremely early variety) เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 80-90 วัน
(2) พันธุ์อายุสั้น (Early variety) เก้บเกี่ยวเมื่ออายุ 90-100 วัน
(3) พันธุ์อายุปานกลาง (Intermediate variety) เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 100-110 วัน
(4) พันธุ์อายุยาว (Late variety) เก้บเกี่ยวเมื่ออายุมากกว่า 110 วัน
ประโยชน์ของข้าวโพด
1. เป็นอาหารมนุษย์ นำมารับประทานฝักสดๆ ข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุกระป๋องเป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่งที่นำมูลค่าส่งออกให้ประเทศ และน้ำมันข้าวโพดนิยมนำมาทำขนมหรือน้ำมันสลัด ใช้ทอดอาหารต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
2. เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอุปโภค เช่น ทำสบู่, น้ำมันใส่ผม, น้ำหอม, กระดาษ, ผ้า, ปุ๋ย, วัตถุฉนวนไฟฟ้า ซังข้าวโพดแห้งยังใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้มได้
3. เป็นอาหารสัตว์
นอกจากประโยชน์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ข้าวโพดยังมีสรรพคุณทางยา อาทิ ช่วยบำรุงร่างกาย, หัวใจ, ปอด, ขับปัสสาวะ และนำมาพอกรักษาแผล ข้าวโพดเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับเด็กหรือผู้ต้องใช้สายตามากหรือนั่งอยู่ หน้าคอมพิวเตอร์นานๆ เพราะจะช่วยสร้างเซลล์ประสาทที่จอตา ช่วยชะลอปัญหาจอประสาทตาเสื่อม หรือตาบอดจากจอตาเสื่อมและยังรวมไปถึงผู้ที่โดนแดด ควัน และฝุ่นละอองบ่อยๆ หรือผู้ที่เป็นโรคมะเร็งหรือเป็นโรคอัลไซเมอร์ก็ควรรับประทานข้าวโพดเช่นกัน เพราะข้าวโพดมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่มาก
ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวโพด เกิดจากการนำข้าวโพดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารประเภทต่างๆ ได้แก่
– แป้งข้าวโพด เกิดจากการสกัดเอาแป้งจากเมล็ดข้าวโพดที่แก่และแห้งโดยการโม่ แป้งข้าวโพดที่ได้มี 3 ลักษณะ คือ ชนิดหยาบ เรียกว่า คอร์นกริท (Corn grit) ชนิดค่อนข้างละเอียด เรียกว่า คอร์นมิล (Corn meal) และชนิดละเอียด เรียกว่า แป้งข้าวโพด (Corn flour) ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารจากแป้งข้าวโพด ได้แก่ ขนมปังข้าวโพด และอาหารเช้าจากธัญพืช (Breakfast cereal)
– น้ำมันข้าวโพด ข้าวโพดจัดเป็นพืชน้ำมันชนิดหนึ่ง ได้จากการสกัดจากเมล็ดข้าวโพดแก่และแห้ง โดยน้ำมันข้าวโพดประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว และกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายอยู่มาก นับเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพเหมาะสำหรับการนำมาบริโภค สามารถใช้ในการประกอบอาหารได้หลายชนิด ได้แก่ น้ำสลัด ทำขนม และใช้ทอดอาหารต่างๆ
– น้ำเชื่อมข้าวโพด เป็นน้ำเชื่อมที่ได้จากการย่อยสลายแป้งข้าวโพด มักใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม และขนมหวานต่างๆ เนื่องจากมีคุณสมบัติไม่ตกผลึก และคงรูป (กรมวิทยาศาสตร์บริการ, 2561)
ข้อมูลด้านผลตอบแทนการปลูกข้าวโพด
- ผลผลิตเมล็ดข้าวโพดต่อไร่ เป็นเงิน 377.8 บาท
- ต้นทุนการผลิตต่อไร่ เป็นเงิน 7,145 บาท
- ต้นทุนการผลิตต่อกิโลกรัม เป็นเงิน 18.9 บาท
- ราคาจำหน่ายต่อกิโลกรัม เป็นเงิน 30 บาท
- รายได้ต่อไร่ เป็นเงิน 11,334 บาท
- ผลตอบแทนต่อไร่ เป็นเงิน 4,189 บาท
เมื่อนำรายได้ทั้งหมดมาหักลบด้วยต้นทุนทั้งหมดของเกษตรกรพบว่าเกษตรกรจะมีกำไรสุทธิ
เท่ากับ 4,189 บาทต่อไร่ ซึ่งเป็นจำนวนที่เกษตรกรค่อนข้างพอใจ (ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สุราษฎร์ธานี, 2562)
ข้าวโพดนับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่สำคัญของประเทศไทย สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน โดยเฉพาะเมล็ดเนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทำให้นิยมนำมาใช้ประโยชน์เป็นอาหารของมนุษย์ และอาหารสัตว์ รวมถึงใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ แป้งข้าวโพด น้ำมันข้าวโพด ผลิตภัณฑ์อาหารบรรจุกระป๋อง และอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ พลาสติก เชื้อเพลิง สิ่งทอ ทั้งนี้ ส่วนต่างๆ ของข้าวโพดทั้งใบ ลำต้น เปลือก และซัง ยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่มีคุณค่า เช่น กระดาษจากข้าวโพด ถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด และตุ๊กตาจากเปลือกข้าวโพด เป็นต้น ทำให้สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งลดปัญหาขยะจากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร โดยผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปข้าวโพดนอกจากจะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศ และส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีส่วนในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่งด้วย (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , 2547)
จากการลงพื้นที่หมู่ที่ 5 บ้านหนองสะแก ณ บ้านเลขที่ 80 บ้านหนองสะแก ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ คุณวารุณี ศรีชุมแสง เป็นเกษตรกรที่มีความสนใจในการปลูกข้าวโพด พันธุ์ข้าวโพดที่ คุณวารุณี ศรีชุมแสง ได้นำมาปลูกในแปลงคือ พันธุ์สวีทไวท์ 25 F1 เพราะจะให้ต้นแข็งแรง โตเร็ว ติดฝักสม่ำเสมอฝักยาวใหญ่เมล็ดขาวนวล เรียงเต็มถึงปลายฝัก เป็นพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนาให้มีเมล็ดหวานมากขึ้นถึง 25% เพื่อรสชาติหวาน อายุเก็บเกี่ยว 60-65 วัน หลังหยอดเมล็ด คุณวารุณี ศรีชุมแสง ได้เริ่มปลูกตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2564 และคาดว่าจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 ในเรื่องของการจำหน่าย คุณวารุณี ศรีชุมแสง จะนำผลผลิตที่ได้ไปจำหน่ายที่ตลาดประจำตำบล และจะมีตัวแทนโรงงานเอกชนมารับผลผลิตด้วยอีกส่วนหนึ่ง เนื่องจากข้าวโพดเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ง่าย เป็นพืชที่ค่อนข้างทนกับสภาพถูมิอากาศ และสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปีทำให้คนในชุมชนตำบลเจริญสุขหันมาให้ความสนใจกับพืชชนิดนี้เป็นอย่างมาก เพราะ สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้มากกว่าการทำนาปี และน่าปรังของคนในชุมชนถึง 5 เท่าของรายได้แต่ละปีจากการทำนาของคนในชุมชน ข้าวโพดจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรตำบลเจริญสุขเพื่อหารายได้เสริมให้กับครอบครัวในช่วงพักจากการทำนาปีค่ะ
จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณคุณวารุณี ศรีชุมแสง เป็นอย่างมากที่ให้โอกาสกับข้าพเจ้าได้เข้าชมพืชผักทางการเกษตรที่คุณวารุณี ศรีชุมแสงได้ปลูกไว้และให้ความรู้กับข้าพเจ้าเกี่ยวกับการปลูกข้าวโพดในครั้งนี้ ข้าพเจ้าและทีมงานขอขอบพระคุณค่ะ
บรรณานุกรม
Thai-Thaifood. (2559). ข้าวโพด . ผัก พืชสมุนไพร.
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์. (2564).
กรมวิทยาศาสตร์บริการ. (2561).
คณาจารย์ภาควิชาพืชไร่นา ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน. (2547). พืชเศรษฐกิจ. (2).
จินตน์กานต์ งามสุทธา. (26 เมษายน 2558). ธัญพืชมากประโยชน์ ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง.
บรรหาร ทินประบุตร และกองบรรณาธิการ. (2554). ข้าวโพดกินอร่อยต้านโรค. กรุงเทพฯ แบงค์คอกบุ๊คส์.
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ . (2547). พืชเศรษฐกิจ .
ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สุราษฎร์ธานี. (2562). การผลิตข้าวโพดในพื้นที่ปศุสัตว์ เขต 8.
สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2560). ถิ่นฐานดั้งเดิมของข้าวโพด.